ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นข่าวมากมายเกิดในพื้นที่ต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นข่าวน้ำท่วมภาคเหนือที่ยังเก็บกวาดทำความสะอาดโคลนไม่แล้วเสร็จ บางพื้นที่น้ำยังท่วมขัง ประเมินความเสียหายไม่หมด เงินเยียวยายังได้ไม่ครบ และไม่เพียงพอที่จะชดเชยค่าเสียหาย
หรือข่าวรถบัสเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ จนทำให้เกิดกระแสตามมา เช่น ต้องการให้ยกเลิกทัศนศึกษา
แล้วทั้ง 2 เหตุการณ์ข้างต้นทำให้เราเห็นอะไรบ้าง?
01
ขอเกริ่นก่อนว่า ผู้เขียนเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงช่วงมัธยมปลายในอำเภอที่มีระยะห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 78 กิโลเมตร มีรถเมล์โดยสารจากอำเภอเมืองสู่อำเภอเทิง และอำเภอเทิงสู่อำเภอเมืองแค่ 1 รอบต่อวัน
ดังนั้นข้อความหลังจากนี้จะเขียนขึ้นจากประสบการณ์จริง และความรู้สึกร่วมต่อเหตุการณ์เหล่านี้
เอาจริงๆ ตอนเด็กก็ไม่รู้หรอกว่า มีจังหวัดที่มีขนส่งสาธารณะดีกว่า รับส่งตั้งแต่เช้าถึงดึก ซึ่ง ณ เวลานั้น (ปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม) หากผู้เขียนจะเดินทางเข้าเมืองเพื่อมาดูภาพยนตร์สักเรื่องจะต้องตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ให้ทันรถเมล์รอบ 7 โมง และก็ต้องเป็นภาพยนตร์ในรอบสายหรือบ่ายเท่านั้น
จึงสามารถใช้นิ้วนับได้เลยว่า ตอนเด็กมีโอกาสดูหนังสักกี่เรื่อง
02
รถตู้รับส่งนักเรียน คือพาหนะที่รับส่งเช้าเย็นไปกลับโรงเรียนในทุกวัน ภาพในความทรงจำปรากฏรถตู้ที่มีความแออัดอัดแน่น เพราะเจ้าของนำเก้าอี้รถออกหมดและแปรเปลี่ยนเป็นเก้าอี้ไม้ยาว 3 แถว เพื่อให้บรรจุคนได้เยอะ “ขึ้นไปอีก เข้าไปอีก นั่งได้” คนขับเขาว่า
พอโตขึ้นมาหน่อยก็มีโอกาสได้ไปทัศนศึกษากับเขาบ้าง การเดินทางไปทัศนศึกษากับโรงเรียนกับเพื่อนถือเป็นหนึ่งในความทรงจำที่มีค่า แม้ว่าบางปีจะไม่ได้ไปไหนไกลเที่ยวในจังหวัดบ้านเกิด หรือบางปีก็ไปไกลถึงภาคกลาง
แต่พวกคุณเข้าใจใช่ไหมว่า ไม่ใช่เด็กและผู้ปกครองทุกคนจะมีเงินมีเวลา หรือแม้แต่มีรถยนต์ส่วนตัวพาลูกพาหลานไปเที่ยวในวันปิดเทอมหรือวันเสาร์อาทิตย์ แม้แต่การเที่ยวต่างอำเภอในจังหวัดเดียวกันก็เกิดขึ้นได้ยาก
แต่จะว่าบางครั้งมันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้มั้ง เพราะคนที่มีเงิน มีโอกาสเที่ยว หรือคนชนชั้นกลางบางคน ก็ไม่สามารถจินตนาการได้หรอกว่า ประเทศนี้แม่งมีคนจนจริงๆ และขาดโอกาสจริงๆ
ดังนั้นกระแสยกเลิกทัศนศึกษาที่ออกมาก่อนหน้านี้ ผู้เขียนจึงมองว่า เป็นความ Bullshit ไร้สาระ แต่เห็นด้วยที่รถรับส่งนักเรียน รถเมล์ รถบัส รถตู้ หรือรถโดยสารประจำทางอื่นๆ ต้องได้รับการตรวจสอบดูแลเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนของทุกชีวิต และออกแบบโปรแกรมทัศนศึกษาให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย
เพราะเด็กต่างจังหวัดบางคน การเห็นทะเลครั้งแรกในชีวิต บางครั้งก็มาจากโปรแกรมทัศนศึกษาเหล่านี้นี่แหละ
03
ภาพบ้านทั้งหลัง รถทั้งคันลอยไปกลับน้ำ สารภาพเลยว่าสิ่งนี้กรีดหัวใจพอๆ กับการพบศพผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยน้ำท่วม
ทำไมน่ะเหรอ? ก็สมบัติเกือบทุกอย่าง บ้านที่สร้างมาจากน้ำพักน้ำแรง ของผู้ประสบภัยบางคนไหลไปกับน้ำภายในพริบตา เพราะส่วนหนึ่งเรารู้ว่าคนที่มันลำบาก ไม่มีเงิน คือมันไม่มีเลยจริงๆ
ผู้ประสบภัยน้ำท่วมบางคนถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้ก็ไม่รู้จะใช้ชีวิตอย่างไรต่อเหมือนตายทั้งเป็น เพราะสิ้นเนื้อประดาตัว
หรือภาพข่าวน้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย ลุงเจ้าของบ้านพายเรือไล่ตามบ้านที่กำลังไหลไปตามกระแสน้ำ โดยหวังว่าจะสามารถตามและคว้าบ้านไว้ทันก่อนที่จะเสียหาย แต่สุดท้ายบ้านก็แหลกเพราะลอยไปชนกับตอม่อ จนลุงไม่เหลือคำพูดที่จะเอื้อนเอื่อยพูดได้เพียงว่า
“อยากให้หน่วยงานรัฐลองมาดู มาช่วยเหลือ”
แม้ว่าบ้านของผู้เขียนจะ ‘โชคดี’ ใช่ นาทีนี้ต้องพูดถึงโชคที่น้ำไม่ท่วม แต่นา สวนผัก ก็ราบคาบไม่เหลือ จึงเรียกว่าโชคดีได้ไม่เต็มปากนัก แต่หากเทียบกับผู้ประสบภัยคนอื่นๆ ที่ประสบทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม และน้ำเท้อ บ้านดิฉันคงนับว่าโชคดีกระมัง
“น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ไหม”
ในขณะที่จังหวัดเชียงรายยังเก็บกวาดโคลนจากอุทกภัยในพื้นที่ไม่แล้วเสร็จ ทั้งดินสไลด์และน้ำเท้อ รวมไปถึงจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงก็น้ำท่วมตามๆ กัน แต่คำถามที่มักจะตามมาเสมอคือ กรุงเทพฯ น้ำจะท่วมไหม
สารภาพตรงนี้เลยว่า เมื่อฟังแล้วก็มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจริงๆ ในขณะที่การช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังไม่ครอบคลุม เงินชดเชยเยียวยา ล่าช้า และยังไม่ได้รับ นี่ยังไม่พูดถึงความเสียหายที่มันสวนทางกับเงินเยียวยา 9,000 บาท
นี่มันน้ำท่วมแล้วมีโคลนนะโว้ย บ้านทั้งหลังลอยน้ำโว้ย ดินถล่มนะโว้ย ไม่ได้มีเพียงน้ำที่ไหลท่วมเหมือนสมัยปี 2554
ไม่ปฏิเสธว่ากรุงเทพฯ คือเมืองหลวง เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อมความเจริญที่กระจุกตัว และแน่นอนว่า ‘คนชนชั้นกลาง’ ก็เป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่
แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ณ ห้วงเวลาเหล่านั้น เราเห็นภาพการหนีตายเอาชีวิตรอด การทำความสะอาดบ้านเรือนของเพื่อนพ้อง ญาติ ที่ต้องเก็บกวาดโคลนและความเสียหายที่มาพร้อมกับอุทกภัย หรือผู้ประสบภัยบางคนที่ไม่แม้แต่จะเหลือบ้านให้เก็บกวาดหลังน้ำท่วม ท่ามกลางเงินเยียวยาหลักพัน นี่ยังไม่รวมถึงการเตือนภัยล่วงหน้าและระบบการจัดการยามประสบภัย
ความเสียหายและความเจ็บช้ำของคนต่างจังหวัดยังคงอยู่ แต่ไม่ว่าจะเวลานี้ หรือเหตุการณ์ไหน ความเสียหายหรือเสียงของคนต่างจังหวัดก็ไม่เคยดังหรือสำคัญเท่ากรุงเทพฯ เสียที
สถานีต่อไป ฝุ่น PM 2.5
มาดูกันว่า ปีนี้จะเหมือนครั้งก่อนๆ ก่อนๆ ที่ก็รับรู้รับทราบ
แต่แล้วยังไงต่อ?
…
Tags: ความเหลื่อมล้ำ, น้ำท่วม, From The Desk, เด็กต่างจังหวัด, รถบัส, ทัศนศึกษา