เตรียมอาหารเช้า คอยไปรับ-ส่งที่โรงเรียน และซักรีดผ้าทั้งหมดให้ลูก 

แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องดูแลช่วยเหลือลูกอันเป็นที่รักของตน แต่สำหรับเด็กที่เริ่มโตจนสามารถช่วยเหลืองานบ้านได้ หรือขึ้นรถประจำทางไปเรียนเองได้แล้ว ในบางครอบครัวกลับยังเคยชินที่จะอำนวยความสะดวกทุกขั้นตอนให้ลูกอยู่ดี จนติดเป็นนิสัย ‘สปอยล์เด็ก’ ที่อาจส่งผลเสียต่อลูกได้ หากพ่อแม่ไม่ยอมขี้เกียจเลี้ยงลูกสักครั้ง

จึงนำมาสู่เทรนด์การเลี้ยงลูกแบบ Lazy Parenting หรือเลี้ยงลูกแบบขี้เกียจ ที่ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นพ่อแม่ที่ขี้เกียจจะให้ความสนใจในตัวลูกเช่นนั้น แต่ในเว็บไซต์ Parents.com สื่อออนไลน์สำหรับครอบครัวระบุว่า การเลี้ยงลูกแบบนี้ หมายถึงการให้พ่อแม่ถอยหลังกลับมาสักหนึ่งก้าว แล้วปล่อยให้เด็กๆ ลองทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เพื่อสร้างเสริมความมั่นใจ มีอิสระในการตัดสินใจ และช่วยให้เด็กมีความรับผิดชอบ

ในเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าของบัญชี Tiktok ชื่อว่า @Leahova ซึ่งเป็นคุณแม่ลูกสี่จากซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์คลิปเพื่อแบ่งปันประสบการณ์การเลี้ยงลูก และพูดถึง Lazy Parenting ว่า พ่อแม่จำเป็นต้องขี้เกียจเลี้ยงลูกบ้าง โดยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เพื่อนของเธอซึ่งมีลูกวัย 15 ปี มาเยี่ยมเธอที่บ้าน และสังเกตเห็นว่า ลูกของเธอในวัยใกล้เคียงกันมีอิสระในบ้าน สามารถทำอาหารกินเองได้ เดินไปหยิบขนมมากินเอง แต่ในขณะที่ลูกของเพื่อนจะไม่กินมื้อเช้า ถ้าหากพ่อแม่ได้เตรียมไว้ให้ ซึ่งเธอได้แนะนำเพื่อนว่า ลองปล่อยให้ลูกดูแลตัวเองบ้าง

เรื่องนี้ เอมี แม็กเครดี (Amy McCready) นักเขียนและผู้ก่อตั้ง Positive Parenting Solutions กล่าวว่า พ่อแม่ทำทุกอย่างให้ลูกในนามของความรัก ต้องการเป็นคนที่พึ่งพาได้สำหรับลูก และลงมือทำเองเพราะไม่อยากเห็นลูกทำเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องยาก แต่ความจริงแล้วกลับเป็นการรังแกลูก ด้วยการขโมยทักษะสำคัญในการดำรงชีวิตไปจากลูก รวมถึงทำลายความมั่นใจของลูก

“หน้าที่ของพ่อแม่คือการนำพาลูกๆ จากจุดที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไปสู่จุดที่ลูกมีอิสระได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งสิ่งนี้คงจะไม่เกิดขึ้น หากลูกวัยรุ่นของคุณไม่เคยทำแซนด์วิชกินเองด้วยซ้ำ” แม็กเครดีกล่าวเสริม

ในขณะที่ เทสสา สตักคี (Tessa Stuckey) นักเขียนและที่ปรึกษาด้านจิตวิทยา แนะนำว่าผู้ปกครองควรเปลี่ยนจาก ‘ผู้แก้ไข’ เป็น ‘ผู้สนับสนุน’ แทน อีกทั้งยังระบุอีกว่า Lazy Parenting เป็นขั้วตรงข้ามของ Helicopter Parenting หรือการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์ ที่แม้ฟังดูเป็นเรื่องตลก แต่วิธีการนี้กลับไม่ใช่เรื่องขบขัน เพราะเป็นการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่คอยสอดส่องลูกตลอดเวลา เหมือนเฮลิคอปเตอร์ที่บินอยู่เหนือศีรษะอยู่

สตัคคียังกล่าวต่อไปว่า นอกจากการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์แล้ว พ่อแม่ต้องหลีกเลี่ยงการทำตัวเป็น ‘เครื่องตัดหญ้า’ ที่คอยจัดการอุปสรรคทุกอย่างที่ขวางหน้าลูก

“แน่นอนว่า มันทำให้เด็กไม่มีโอกาสได้สร้างความเป็นอิสระ ความมั่นใจ ความตระหนักรู้ในตัวเอง และทักษะในชีวิตที่จำเป็น” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

สำหรับการเริ่มต้นเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบขี้เกียจบ้าง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า อาจเริ่มจากการให้เด็กมีส่วนร่วมกับงานบ้าน แล้วขยับไปเป็นการสร้างความรับผิดชอบในการเรียน เช่น ให้ลูกส่งอีเมลหาคุณครูด้วยตัวเอง แทนที่พ่อแม่จะเข้าไปยุ่ง จะทำให้ลูกค่อยๆ พึ่งพาตัวเองได้ทีละเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติ

แม้คำว่า Lazy Parenting ดูเป็นศัพท์ใหม่ที่เริ่มใช้เมื่อไม่นานนี้ แต่ความจริงมีคนดังที่สมาทานวิธีการเลี้ยงลูกแบบนี้ อย่าง คริสเตน เบลล์ (Kristen Bell) นักแสดงชื่อดังระดับโลก ในปี 2020 เธอเคยโพสต์ภาพอาหาร ซึ่งเธอขอให้ลูกหัดทำอาหารเช้ากินเอง และดูเหมือนลูกของเธอก็ทำได้ดี

แก่นหลักของการเลี้ยงลูกแบบขี้เกียจ ไม่ใช่การปล่อยปละละเลยลูก แต่เป็นการสร้างความมั่นใจให้ลูกในการลงมือทำสิ่งต่างๆ และสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้ ในขณะที่พ่อแม่เองก็ได้ผ่อนคลายลงบ้าง

และอย่าลืมว่า วิธีเลี้ยงลูกไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว และหลายบ้านอาจใช้หลายวิธีมาผสม ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ หรือปรับให้เหมาะกับพื้นฐานนิสัยของสมาชิกในครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีเดียวอย่างสุดโต่ง

ที่มา

https://www.parents.com/what-is-lazy-parenting-and-is-it-a-good-thing-8709276 

https://www.mother.ly/life/celeb-moms-lazy-parenting 

Tags: , , ,