บ้านเรือนในชุมชนกำปงพลก (Kampong Phluk Commune) ตั้งเรียงรายในพื้นที่โตนเลสาบ ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบ้านเหล่านี้มีรูปแบบการสร้างที่ใช้เสาสูงยาวเป็นฐานราก มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรียกว่า ผะเตี๊ยะฮ์-เลอ-ตึก (Phteah-Leu-Tuk) หรือรู้จักกันในชื่อ ‘เรือนเสาสูง’ เพราะสามารถรับน้ำท่วมสูงได้ 7-10 เมตร

ชุมชนกำปงพลกเป็น 1 ใน 8 ชุมชน (Commune) ของอำเภอปราสาทบากอง (Prasat Bakong District) ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดเสียมเรียบ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 32 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม โดย 42% ของพื้นที่มีระดับความสูงไม่เกิน 50 เมตร จากระดับน้ำทะเลในช่วงฤดูแล้ง เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโลเลย (Roluos River) ตื้นเขิน ผู้คนในชุมชนจะสามารถขับขี่ยานพาหนะผ่านถนนดินลูกรังเข้าไปในตัวหมู่บ้านโดยตรงได้

แต่เมื่อถึงฤดูกาลน้ำหลาก ระดับน้ำในโตนเลสาบจะสูงขึ้นจากในหน้าแล้งได้ถึง 10 เมตร ซึ่งจะท่วมพื้นที่รอบชุมชนกำปงพลกส่งผลให้เป็นเกาะ ต้องโดยสารผ่านทางเรือเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านในชุมชนจำเป็นต้องมีเรือไว้ใช้งานอย่างน้อยครัวเรือนละ 1 ลำ เพื่อเดินทางในฤดูมรสุม และต้องปลูกบ้านในลักษณะที่มีเสาเรือนสูงเพื่อให้พ้นจากระดับน้ำ

โส (นามสมมติ) หนึ่งในชาวชุมชนกำปงพลก ระบุว่า เสาหลักที่เป็นฐานรากของเรือนจะใช้ไม้เนื้อแข็งที่นำมาจากเขตพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นป่าเต็งรัง แล้วนำมาลอกเปลือกชั้นนอกออก จากนั้นก็จะนำมาเหลาให้เป็นลักษณะกลม เหลือเฉพาะแกนกลางที่สามารถรับน้ำหนักได้ดี แล้วจึงนำมาขึ้นเป็นเสาเรือนและตัวคาน ส่วนบริเวณเสาบ้านและใต้ตัวบ้านที่นอกจากจะทำหน้าที่รับน้ำหนัก ใช้เก็บอุปกรณ์สำหรับทำประมง เช่น อวน มอง หรือเรือได้อีกด้วย

งานวิจัยเรื่อง ผะเตี๊ยะฮ์-เลอ-ตึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเรือนเสาสูงในลุ่มน้ำโตนเลสาบ โดย ดร.อิสรชัย บูรณะอรรจน์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า กำปงพลกเป็นชุมชนกึ่งน้ำกึ่งแผ่นดิน (Water and Land Based Settlement) ซึ่งเป็นการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ระหว่างทะเลสาบ และที่ราบลุ่ม บนที่อยู่อาศัยแบบเรือนยกพื้นสูง

ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนกำปงพลกกว่า 97% ประกอบอาชีพประมงที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติของโตนเลสาบ ทั้งการทำประมงโดยการออกเรือไปที่ทะเลสาบ โดยจะนำเรือออกไปแต่เช้าตรู่ เพื่อวางอวนจับปลาและจะกลับมาอีกครั้งในช่วงบ่าย รวมถึงการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งรวบรวมลูกปลาจากพื้นที่ป่าน้ำท่วมมาเลี้ยงในกระชัง ส่วนในหน้าแล้ง ชาวบ้านบางส่วนจะปรับตัวด้วยการทำเกษตรกรรม ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึง

อย่างไรก็ตามมีข้อกังวลถึงสุขอนามัยและความสะอาดของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเรือนเสาสูง เนื่องจากบางส่วนขับถ่ายลงน้ำโดยตรงในช่วงฤดูน้ำหลาก รวมถึงยังมีปัญหาด้านความยากจนและการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ห่างไกลตัวเมือง ไปจนถึงการทำประมงที่ถดถอยจากสภาพปัญหาระดับน้ำของโตนเลสาบผันผวน โดยมีปัจจัยจากการทำประมงเกินขนาด สภาพภูมิอากาศแปรปรวน รวมถึงการทำเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจากประเทศต่างๆ ที่อยู่ต้นน้ำ เช่น จีนและลาว

อ้างอิง: http://ithesis-ir.su.ac.th/dspace/bitstream/123456789/2494/1/57057805.pdf

Tags: , , , , , , ,