หลังจากเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา พระคเณศได้เสด็จกลับไปยังชั้นฟ้า เทวรูปของพระองค์ที่สร้างขึ้นมาจากดินปั้น วัสดุธรรมชาติต่างๆ ถูกแห่ไปทิ้งตามแหล่งน้ำใหญ่ ในขณะเวลาใกล้เคียงกัน อีกหนึ่งเทศกาลสำคัญก็เริ่มต้นขึ้น ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘พิตรุปักษะ’ (Pitru Paksha) คือช่วงเวลาแห่งการบูชาบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว
เป็นเรื่องน่าคิดว่า เทศกาลไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวอินเดีย มีห้วงเวลาที่เกือบทับซ้อนกับ ‘วันสารท’ ของวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นจากความสัมพันธ์ระหว่าง 2 พื้นที่ที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นไปได้ไหมที่เทศกาลทั้งสองจะมีความสัมพันธ์กัน แล้วบรรพชนในวัฒนธรรมอินเดียนั้นเป็นใคร ผีบรรพชนกับผีเปรตมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร เรามาลองวิเคราะห์กัน
ปิตฤ-เปรต
คำว่า พิตรุ คือภาษาสันสกฤตที่แปลว่า บรรพชน (Forefathers) หมายถึง ดวงวิญญาณของบรรพชนผู้ผ่านพิธีศพ (อันตเยสฏิ/ Antayesti) และลุถึงปิตฤโลก (Pitrloka) หรือดินแดนแห่งผู้วายชนม์ ซึ่งวิญญาณเหล่านี้มีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษกับเหล่าลูกหลานได้
ตามความเชื่อของชาวอินเดีย ระบุว่า ร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ แต่เมื่อผ่านพิธีศพเป็นที่เรียบร้อย ธาตุทั้ง 5 จะแตกสลายเหลือเพียงแค่ธาตุลมและอากาศ ซึ่งประกอบกันเป็นดวงวิญญาณและเดินทางไปสู่แดนแห่งผู้วายชนม์ ด้วยเหตุนี้เราซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาจึงไม่สามารถมองเห็นร่างกายของบรรพชนได้ เพราะร่างกายของพวกเขาไม่ได้อยู่ในภาวะที่ธาตุทั้ง 5 สมบูรณ์พร้อม
ทีนี้จะมีดวงวิญญาณอยู่กลุ่มหนึ่งเรียกว่า ‘เปรต’ ถ้าอิงตามไวยากรณ์ภาษาสันสกฤต คำนี้เกิดจากการประกอบของคำว่า ประ + อิตะ แปลว่า ‘ผู้ไปแล้ว’ ซึ่งหมายความรวมๆ ว่า ‘ผู้ที่ตายไปแล้ว’ ทว่าความแตกต่างระหว่างเปรตกับปิตฤตามทัศนะอย่างฮินดูคือ เปรตเป็นดวงวิญญาณที่มีความหิวโหยอย่างไม่จำกัด อันเป็นผลจากการประกอบพิธีศพที่ไม่ครบถ้วน ทำให้ดวงวิญญาณของผู้ตายต้องติดอยู่ระหว่างแดนมนุษย์เป็นกับแดนมนุษย์ตาย เปรตจึงไม่อาจได้รับสิ่งต่างๆ ที่ลูกหลานได้ ไม่สามารถให้คุณลูกหลานได้ ต้องเร่ร่อนไปมากอย่างหิวโหย ส่วนดวงวิญญาณบรรพชน ขณะที่ปิตฤนั้น คือดวงวิญญาณที่ไปถึงปิตฤโลกได้ จึงไม่มีความหิวโหย ให้คุณลูกหลานได้และปกป้องลูกหลานได้
ส่วนในมุมมองของพุทธศาสนาเหมือนจะมีแค่คำว่า เปรต เท่านั้น และที่สำคัญคัมภีร์ชั้นอรรถกถาอย่างเปตวัตถุอรรถกถา ยังอธิบายขยายความเรื่องของเปรตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยคำนี้ในทางศาสนาพุทธหมายถึง อมนุษย์พวกหนึ่งที่เกิดในเปตติวิสัยภูมิ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อบายภูมิ ทั้งนี้เปรตมีหลายประเภท เช่น ประเภทหนึ่งเรียกว่า ปรทัตตูปชีวิเปรต คือเปรตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยส่วนบุญที่มีผู้ทำอุทิศให้ หากไม่มีส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้ก็มักจะกินเลือดและหนองของตนเองเป็นอาหาร และอีกประเภทหนึ่ง เช่น ขุปปิปาสิกเปรต คือเปรตที่อดอยาก ทุกข์จากความหิวโหยอยู่เป็นนิจ แสวงหาของไปยังที่ต่างๆ เมื่อเจอน้ำหรืออาหาร แต่เมื่อจะเอาอาหารเหล่านั้นเข้าปาก อาหารเหล่านั้นก็จะกลายเป็นหินหรือทราย ไม่สามารถกินได้
ฉะนั้นหากมองในส่วนนี้ เปรตตามกรอบของพระพุทธศาสนาจะค่อนไปทางผีหรืออสุรกายเสียมากกว่าจะเป็นบรรพชนในแบบฮินดู พุทธศาสนาจึงมีมุมมองต่อการเป็นเปรตในเชิงลบ คือต้องกระทำบาปกรรมถึงประมาณ เช่น ทำร้ายพ่อแม่หรือทำร้ายพระสงฆ์ ถึงจะเกิดเป็นเปรตที่ต้องชดใช้กรรมของตน แต่อย่างที่กล่าวข้างต้น ความเป็นเปรตในระบบคิดของคิดอินเดียนั้นต่างไป เพราะเขามองเพียงว่า เปรตคือวิญญาณที่หิวโหยเพราะไม่มีลูกหลานดูแล ไม่มีใครทำบุญให้
อย่างไรก็ดี ในทางพระธรรมบาลียังพบข้อน่าสังเกตอยู่ประการหนึ่งคือ การทำพลีกรรมแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือการทำบุญอุทิศไปให้ผู้ตาย ให้เรียกว่า ‘เปตพลี’ หรือ ‘บุพเปตพลี’ ตามที่ระบุในลักขณสังยุตต์ ฉะนั้นในแง่หนึ่งพุทธศาสนาก็ยังคงเก็บความหมายที่ว่า เปรตคือบรรพบุรุษ เอาไว้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่า ภาพความเป็นปีศาจผู้มีบาปนั้นใหญ่กว่ามาก สุดท้ายแล้วในสังคมไทยและสังคมพุทธศาสนาอื่นๆ จึงรับเอาระบบคิดที่ว่า เปรตเป็นผี-โอปปาติกะ (ผู้ที่ผุดขึ้นเองจากอดีตกรรม มิต้องอาศัยการปฏิสนธิ) ตามไปด้วย
จากปิตฤ ปักษะ สู่งานสารท
แต่จะว่าไปแล้ว เรื่องของการบูชาบรรพบุรุษก็ไม่ใช่ของใหม่ เอาเข้าจริงก็มีความเก่าแก่มากเสียจนเราสามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในอินเดียพบแหล่งโบราณคดีหลายแห่งมีการฝังศพพร้อมกับของอุทิศในหลุม ก่อนจะนำหินขนาดใหญ่มาตั้งไว้ข้างบนเป็นหมุดหมาย แหล่งโบราณคดีโกทุมานัล (Kodumanal) และแหล่งโบราณคดีมัลลสันทรัม (Mallasandram) ในรัฐทมิฬนาฑู
เป็นเรื่องยากที่จะระบุลงไปให้ชัดว่า คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บูชาบรรพชนไปเพื่ออะไร ไม่ว่าจะเป็นด้วยความอาลัยรัก บูชาเพื่อโชคลาภ หรือเพียงแค่ฝังไปอย่างนั้น แต่ร่องรอยของการเคารพผู้วายชนม์ตั้งแต่ครั้งอดีตก็ยังหลงเหลือให้เห็นได้ และยังคงปฏิบัติสืบต่อกันในแทบจะทุกวัฒนธรรมทั่วโลก แม้จะมีรูปร่างหน้าตาและพิธีกรรมที่แปรเปลี่ยนไป ตามชุดคำอธิบายที่แตกต่างกัน
สำหรับเทศกาลไหว้บรรพชนของอินเดียในแบบปัจจุบันนั้น กินเวลาประมาณ 15 วัน โดยในห้วงเวลานี้เหล่าชาวฮินดูจะประกอบ พิธีศราทธ์ (Sraddha) คือการบูชาดวงวิญญาณบรรพชนด้วยก้อนข้าว (บิณฑะ ทานะ/Pinda Dana) นอกจากนั้นชาวฮินดูยังนิยมป้อนก้อนข้าวให้กับแม่วัว เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณของแม่วัวที่ให้นมตลอดทั้งปีเสมือนบุพการีของตน และบ้านที่พอจะมีเงินก็มักจะเลี้ยงอาหารชุดใหญ่และให้สิ่งของต่างๆ (ทักษิณา) กับเหล่าพราหมณ์ในหมู่บ้านด้วย
มีเรื่องเล่าชุดหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากคือ คนฮินดูเชื่อว่า สถานที่ซึ่งเหมาะกับการประกอบการบิณฑะ ทานะมากที่สุดในอินเดียคือ โพธิคยา (Bodhi Gaya) เมืองซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระสมณโคดม โดยพวกเขาอธิบายว่า ครั้งหนึ่งพระวิษณุได้ปราบอสูรตนหนึ่งชื่อ คยาสูร ด้วยการเหยียบให้จมดิน สุดท้ายอสูรตนนั้นได้บรรลุถึงโมกษะ พร้อมทั้งได้ให้คำมั่นว่า หากใครมาบูชาบรรพชนของเขาบนร่างของตน บุญทั้งหลายที่ทำจะนำพาให้บรรพชนถึงโมกษะเช่นเดียวกับตน ผลคือชาวฮินดูจำนวนมากนิยมเดินทางไปยังบริเวณพระมหาโพธิเจดีย์ เมืองพุทธคยา เพื่อประกอบพิธีศราทธบูชา โดยเชื่อว่า ตรงนั้นเป็นจุดที่พระวิษณุเคยทรงประทับพระบาทเอาไว้เหนือร่างของคยาสูร ในแง่หนึ่ง เรื่องนี้คงเป็นตำนานฝ่ายฮินดูทั่วไป แต่ในอีกแง่ก็คงเป็นหลักฐานของการแย่งชิงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสมัยโบราณ อันเป็นกิจกรรมที่กระทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว
วกกลับมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพบว่า พิธีกรรมชุดหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับพิธีศราทธ์ของชาวอินเดียคือ บุญเดือนเก้า (ข้าวประดับดิน) งานสารทไทย งานเดือนสิบ นอกนั้นในประเทศเพื่อนบ้านของเราก็ยังพบงานในลักษณะเดียวกัน เช่น แซนโฎนตา ของชาวไทยเชื่อสายเขมร ลักษณะอย่างหนึ่งที่ตรงกันของงานเหล่านี้คือ การทำบุญอุทิศให้กับวิญญาณบรรพบุรุษด้วยการถวายข้าว โดยเฉพาะบุญข้าวประดับดินในเขตพื้นที่ภาคอีสานของไทยและประเทศลาว ซึ่งมีการนำข้าวปลาอาหารใส่ในกระทงใบตองเรียกว่า ‘ยายห่อข้าวน้อย’ ก่อนจะนำไปวางไว้ตามพื้น ลักษณะเช่นนี้ คล้ายกับการบูชาข้าวบิณฑะ ทานะในอินเดียเป็นอย่างมาก เพราะคนอินเดียก็นิยมปั้นข้าวเป็นก้อนๆ แล้วนำไปวางไว้บนใบตองบนพื้นเพื่อให้พราหมณ์ทำพิธี
อีกพิธีหนึ่งที่ดูเหมือนจะเก็บความหมายของพิตรุปักษะเอาไว้ได้มากที่สุดคือ งานบุญเดือนสิบหรืองานชิงเปรตของภาคใต้ ข้อที่น่าสังเกตคือ ในงานเดือนสิบนั้นคำว่า เปรตในความหมายของคนใต้ ไม่ได้หมายถึงเปรตที่เป็นผีหิวโหยเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังแฝงเอาไว้ด้วยความหมายที่สื่อถึงผีปู่-ย่าด้วย ฉะนั้นจุดนี้ (อาจ) สะท้อนไปได้ถึงการรับระบบคิดแบบอินเดียเข้ามาอธิบายชุดความเชื่อแบบวิญญาณนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้รูปลักษณ์ของการบูชาบรรพชนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแบบอินเดียปนอยู่มาก
อย่างไรก็ดีส่วนตัวผู้เขียนยังไม่มองว่า คนเอเชียตะวันเฉียงใต้โบราณหยิบยืมวัฒนธรรมอินเดียมาใช้เลย หรือพิธีกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นได้เพราะวัฒนธรรมอินเดียเป็นต้นทางแบบ 100% เพราะความเป็นท้องถิ่นจำนวนมากก็ยังคงดำรงอยู่อย่างชัดเจน คำอธิบายต่างๆ ของพิธีกรรมเหล่านั้นก็เป็นชุดคำอธิบายที่แฝงไว้ด้วยความเป็นท้องถิ่น ที่ไม่สามารถนำไปโยงกับความเป็นอินเดียได้อย่างสนิท เช่น ที่มาของบุญข้าวประดับดินที่ระบุว่า พระเจ้าพิมพิสารต้องการทำบุญในพระญาติที่ไปเกิดในเปรตภูมิและมาหลอกหลอนคนในวังหลวง
แม้ว่าคำอธิบายนี้จะอุดมไปด้วยชื่อที่เป็นพุทธศาสนาอย่างมาก แต่กลับไม่มีเรื่องเล่านี้ในชาดกของพุทธศาสนาในอินเดียเลย ทั้งยังสะท้อนความเชื่อเรื่องวิญญาณให้คุณให้โทษ ซึ่งเป็นชุดความเชื่อที่เด่นมากของศาสนาผีที่เป็นศาสนาโบราณของอุษาคเนย์
ฉะนั้นอย่างที่กล่าวมาว่า บรรพบุรุษของเราในภูมิภาคนี้เพียงแต่หยิบยืมชุดคำอธิบาย พิธีกรรม ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างอินเดียที่สอดคล้องกับวิถีดั้งเดิมมาปรับใช้ โดยนำมาสวมครอบลงไปบนวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่งนิดเติมหน่อยให้คล้ายกับวัฒนธรรมอินเดียเดิมที่สำหรับพวกเขาอาจจะมองว่า เป็นสากล ในขณะนั้น
แหล่งที่มาข้อมูล
พระธรรมกิตติวงศ์ (2548) พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, กรุงเทพ: วัดราชโอรสาราม.
เอกรินทร์ พึ่งประชา. (2558). บุญข้าวสากในบริบททางสังคมและวัฒนธรรม “ไทด่าน”. Veridian EJournal, Silpakorn University, 8(2), 2481-2490.
Krishan, Y. (1985). “The Doctrine of Karma and Sraddhas of the Bhandarkar Oriental Research Institute.
Singh, Nagendra Kr (1997). Vedic Mythology. APH Publishing.
Mani, Vettam (2015). Puranic Encyclopedia: A Comprehensive Work with Special Reference to the Epic and Puranic Literature. Motilal Banarsidass.
Tags: วันสารท, บรรพบุรุษ, Indianiceation, Pitru Paksha, บุญเดือนสิบ