1
“นี่คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
บนทางหลวงที่มีความยาวถึง 725 กิโลเมตร พาดผ่านหลายเมือง บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแคนาดา
ในปี 2006 ถนนสายนี้ปรากฏการตั้งแคมป์ของกลุ่มคนที่รวมตัวกันประมาณ 12 คน แทบไม่มีผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงพื้นเมือง กิจกรรมของพวกเธอคือ เดิน เดิน และเดิน
เมื่อถึงกลางคืนก็ตั้งแคมป์พักผ่อน เช้าก็เริ่มเดินอีกครั้ง
ทุกคนก้าวเท้าที่จุดเริ่มต้นของถนนเส้นนี้ และร่วมกันเดินมาไกลกว่า 500 กิโลเมตรแล้ว สื่อสนใจ สังคมสงสัย คำถามมากมายผุดขึ้นมา พวกเธอทำไปเพื่ออะไร บนถนนที่โดนล้อมรอบด้วยความรกร้าง ประกอบไปด้วยป่า หิมะ ความหนาวเหน็บ พร้อมหยาดน้ำตา และซากศพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงพื้นเมือง
อาสาสมัครที่ร่วมเดินบอกกับนักข่าวว่า พลันที่ผ่านทางแยกของทางหลวงสายนี้ ความเจ็บปวดแล่นพล่าน ความทรงจำส่งสัญญาณเตือน
“มีทางแยกมากมายบนถนนสายนี้เป็นจุดที่พบศพผู้หญิง”
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ต่างมีประสบการณ์เจ็บปวดเลวร้าย ญาติของพวกเธอ คนในครอบครัว ล้วนสูญหายบนเส้นทางนี้ และหลายรายไม่เคยถูกพบศพ บางคนนอนไร้ลมหายใจ ณ ถนนดังกล่าว
เดิมทีทางหลวงนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ทางหมายเลข 16’ ซึ่งเต็มไปด้วยความลี้ลับ มันเป็นจุดสังหารที่ทุกคนร่ำลือกันในวงแคบ กระทั่งเหล่าหญิงสาวพื้นเมืองร่วมกันเดินเท้าเป็นทางไกล ในที่สุดสังคมแคนาดาก็ตื่นรู้ ประจักษ์ถึงความเลวร้ายนี้
ทางหลวงหมายเลข 16 ยังคงเป็นชื่อทางการของประเทศ
แต่เมื่อมีข้อมูลว่า ถนนเส้นนี้มีหญิงสาวถูกฆาตกรรม โดนสังหารโหด แล้วนำร่างมาทิ้งไว้มากมาย มีการแจ้งความกันถึง 50 ศพ สื่อจึงตั้งชื่อให้กับถนนเส้นนี้อย่างเจ็บปวดว่า
‘ทางหลวงสายน้ำตา’ (Highway of Tears)
ถนนที่เต็มไปซากศพของคนตาย และความเจ็บปวดของคนเป็น
2
ทุกอย่างเริ่มต้นมากว่า 50 ปีแล้ว เหล่าชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 16 ต่างรับรู้กันเป็นอย่างดีว่า มันเป็นถนนที่มีการฆาตกรรม มีคนถูกลักพาตัวเป็นจำนวนมาก
แต่กลับไม่เคยเป็นข่าว ไม่มีใครรับรู้
เพราะเหยื่อเหล่านั้นเป็นชนพื้นเมืองของแคนาดา เจ้าหน้าที่จึงเมินเฉย ไม่ใส่ใจที่จะทำคดี หรือสืบสวนหาตัวว่าเกิดอะไรขึ้น
จุดเปลี่ยนมาถึงในวันที่ 21 มิถุนายน 2002 เมื่อ นิโคล โฮร์ (Nicole Hoar) หญิงสาวอายุ 25 ปี ไปปลูกป่าใกล้กับทางหลวงหมายเลข 16 แล้วหายตัวไป
พลันที่ตำรวจรับแจ้งข่าว พวกเขากระตือรือร้นทันที เพราะนิโคลเป็นหญิงผิวขาว เมื่อนักสืบหาข้อมูล พวกเขาพบว่า เธอถูกพบเห็นครั้งล่าสุดที่ปั๊มน้ำมัน ขณะกำลังโบกรถอยู่
แม้เจ้าหน้าที่จะระดมกำลังอย่างเต็มที่ แทบพลิกภูเขาทั้งลูก ผืนป่าทั้งผืน และตลอดทางหลวงหมายเลข 16 นี้ แต่ไม่มีใครพบนิโคล ไม่มีใครเห็นศพ และไม่มีผู้ใดรู้ว่าเธออยู่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร
ข่าวการหายตัวไปของหญิงดังกล่าวดึงดูดความสนใจของคนทั้งแคนาดา เมื่อนักข่าวลงพื้นที่พวกเขาก็พบเรื่องสยองขวัญ เพราะหญิงผิวขาวอย่างนิโคล ไม่ใช่เหยื่อรายแรกของการสูญหาย กลายเป็นว่ามีผู้หญิงพื้นเมืองหลายคนหายตัวไปอย่างลึกลับเป็นจำนวนมาก ณ ทางหลวงหมายเลข 16
ยิ่งขุดคุ้ย ยิ่งพบความจริง เหมือนทำนบแตก สื่อต่างนำเสนอว่า ถนนสายนี้มีคนหายตัวไปจำนวนมาก บางรายไม่พบศพ และบางคนกลายเป็นร่างไร้ลมหายใจ สร้างความเจ็บปวดให้กับครอบครัวอย่างมาก
หญิงชราวัย 70 กว่าปีบอกกับนักข่าวว่า ลูกสาวสุดที่รักหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 1983 หรือเกือบ 19 ปีก่อน
“ลูกของฉันบอกว่า จะไปบ้านแฟนแค่ 15 นาที แล้วขอให้ทำก๋วยเตี๋ยวไว้รอ สุดท้ายแฟนลูกโทร.มาถามว่า ขอคุยกับน้องได้ไหมว่า เมื่อไรจะมาหา ตอนแรกฉันคิดว่าเป็นเรื่องตลก”
แต่สุดท้ายเมื่ออีกฝ่ายยืนยันว่า ลูกเธอไม่ได้เดินทางมาที่บ้าน คนเป็นแม่จึงรู้ว่า กำลังเกิดเรื่องเลวร้ายกับลูกสาวเสียแล้ว
เมื่อแจ้งความไป ตำรวจก็ไม่ทำอะไร อย่างไรก็ดียังมีเจ้าหน้าที่ออกตามหา จนพบเสื้อผ้าของลูกสาวห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร
แต่ไม่มีใครพบศพจนถึงปัจจุบัน
“ฉันอายุจะ 80 ปีแล้ว อย่างน้อยก่อนตายก็อยากรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับลูก เธอหายไปไหน”
ด้วยแรงกดดันมากมายขนาดนี้ ทำให้ตำรวจแคนาดาตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อสืบสวนคดีเก่าทั้งหมด แต่ไม่เพียงพอ ทุกอย่างดำเนินไปอย่างล่าช้า จนเหล่าครอบครัวเหยื่อ รวมตัวกันออกเดินเพื่อให้เป็นกระแสข่าว สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมสงสัยในปี 2006
การเดินเท้าเกือบพันกิโลเมตร แม้ไม่นำไปสู่ความจริงที่ทุกคนต้องการคือพบร่างคนรัก แต่ก็ทำให้ตำรวจต้องออกมายอมรับความผิดพลาด การเมินเฉย การไม่รีบเร่งจะสืบหาคนหาย ปล่อยมันสะสมอย่างยาวนาน จนถนนที่ใช้สัญจรกลายเป็นสุสานฝังศพที่น่าสยดสยองอย่างนี้
ครอบครัวเหยื่อเผยว่า สิ่งที่สังคมแคนาดากระทำต่อชนพื้นเมืองนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องละเลยต่อการสูญหายเท่านั้น แต่มันกระทำต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ ทั้งการจับเด็กพื้นเมือง แยกจากครอบครัว ส่งไปตามโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อจะได้เป็นคนแคนาดา
ผลของมันก็คือ เด็กๆ เหล่านี้ถูกฆาตกรรม ถูกละเมิดทางเพศ จนตายนับพันในช่วงระหว่างปี 1870-1996 นี่คือประวัติศาสตร์จากบาดแผลของหญิงชนพื้นเมือง
ยิ่งเจอกับทางหลวงสายน้ำตา ยิ่งทำให้คนพื้นเมืองเรียกการหายตัวไปจากถนนเส้นนี้ว่า
“มันไม่ควรถูกเรียกว่าการฆาตกรรม แต่คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกเราต่างหาก”
3
ทางตำรวจแคนาดาเร่งสืบสวนการก่อเหตุ แม้จะมีการจับกุมผู้ต้องหาที่ฆาตกรรม แต่ก็ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงพื้นเมืองที่สูญหายได้เพียง 3-5 ราย จากคนก่อเหตุเพียง 2-3 คนเท่านั้น ยังเหลือคดีอีกนับสิบที่ปิดไม่ได้
แถมเจ้าหน้าที่ยังยอมรับความผิดแบบหน้าตาเฉยว่า “ผมพูดกับครอบครัวเหยื่อว่า บางทีคดีเหล่านี้อาจปิดไม่ลง”
อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า จะมุ่งมั่นสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป
ปัญหาของการไขคดีนี้คือ ช่วงเวลาเกิดเหตุ ตำรวจที่รับผิดชอบไม่ได้มุ่งมั่นจะสืบคดีอย่างตั้งใจ บางกรณีพวกเขารับแจ้งและเมินเฉย ไม่สนใจจะขุดคุ้ยต่อ แค่ออกไปตามหาแบบขอไปที หรือบางครั้งก็รับแจ้งแล้วปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าตำรวจแคนาดาขี้เกียจหรือไม่อยากทำคดี แต่มันเกิดจากอคติที่ฝังอยู่ในหน่วยงาน เมื่อพวกเขาเห็นว่า คนที่มาแจ้งความเป็นหญิงพื้นเมือง ไม่ใช่ชาวผิวขาวเหมือนพวกเขา ทุกอย่างจึงนำไปสู่ข้อสรุปว่า เหยื่อหนีออกจากบ้านเอง หรือไม่ก็ไปเมาที่ไหนสักแห่ง ซึ่งบางทีก็อาจหนีออกจากเมืองเส็งเคร็งแห่งนี้ ไปใช้ชีวิตใหม่ในเมืองอื่น
“ลูกสาวฉันไม่เป็นแบบนั้น”
นี่คือคำยืนยันจากหนึ่งในแม่ของผู้สูญหาย
เมื่อข้อสรุปของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นแบบนั้น การทำคดีก็เลยเป็นแบบชุ่ยๆ ยิ่งมีการพบศพหญิงพื้นเมืองใกล้เคียงกับทางหลวงสายน้ำตา ตำรวจยิ่งฟันธงเลยว่า เกิดจากการเมาแล้วตาย หรือไม่ก็เพราะเหยื่อใจง่ายไปกับชายสักคน และเกิดการทะเลาะวิวาทจนนำไปสู่การเสียชีวิต
การสันนิษฐานที่ผิดพลาดนำไปสู่ความสะเพร่าของการเก็บหลักฐาน จนละเลยการตรวจลายนิ้วมือแฝงในจุดเกิดเหตุ พอปิดคดีไปแบบลวกๆ เมื่อเกิดการรื้อฟื้นเรื่องนี้มาทำต่อ นักสืบรุ่นหลังถึงกับปวดหัว เพราะพวกเขาไม่อาจหาหลักฐานเพิ่มเติมได้
แม้จะมีความพยายามใช้การสืบสวนยุคใหม่ที่สร้างผังดีเอ็นเอ เพื่อย้อนรอยหาตัวคนร้ายได้ แต่ในจุดเกิดเหตุไม่มีการเก็บดีเอ็นเออย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่จึงมาถึงทางตัน ยิ่งตลอดถนนสายนี้ไร้ซึ่งกล้องวงจรปิด จึงแทบจะไม่มีพยานหลักฐาน
แถมการที่ตำรวจมองคนพื้นเมืองด้วยอคติ จึงทำให้อีกฝ่ายไม่ไว้วางใจ และไม่กล้าจะให้ข้อมูล การห่างเหินระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายกับประชาชนในละแวกถนนมรณะนี้ จึงห่างกันยิ่งขึ้น เกิดเป็นความหมางเมินและเย็นชา
ทั้งหมดนี้แทนที่คดีควรจะถูกไขได้ จึงกลายเป็นปริศนาชั่วนิรันดร์
อย่างไรก็ดีหลังการเดินขบวนเรียกร้องของครอบครัวผู้เสียหาย ข้อมูลจากสื่อ แรงกดดันจากสังคม เจ้าหน้าที่จึงให้สัญญาว่า จะเพิ่มการลาดตระเวนในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงมีการตั้งด่านตรวจให้ถี่กว่าเดิม พร้อมชำระล้างนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจ ให้ลด ละ เลิก การอคติต่อชนพื้นเมือง
เจ้าหน้าที่เชื่อว่า ด้วยความที่บริเวณโดยรอบ มีบริษัทก๊าซธรรมชาติ จึงคลาคล่ำด้วยคนงานร้อยพ่อพันแม่ นั่นหมายความว่า อาจมีคนโฉดแฝงกายในแรงงานเหล่านี้
“เราเชื่อว่า อาจมีฆาตกรต่อเนื่องหรือฆาตกรสักคน ก่อเหตุล่าฆ่าหญิงสาวพื้นเมืองบนทางหลวงสายนี้”
4
ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา ทางหลวงสายน้ำตาปรากฏภาพกลุ่มสิงห์มอเตอร์ไซค์ ขับตระเวน ณ ถนนเส้นนี้ พวกเขาสอดส่องหาความผิดปกติ หากพบหญิงสาวหรือบุคคลต้องสงสัยในละแวกนี้ ก็จะรีบแจ้งตำรวจ สกัดจับและสอบถาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเลวร้ายขึ้นอีก
ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะ ไมค์ บัลเซอร์ (Mike Balczer) ชายชราผมสีดอกเลา ที่ลูกสาวของตนเองกลายเป็นศพในพุ่มไม้กลางดงหิมะ ใกล้กับทางหลวงหมายเลข 16
ในอดีตชีวิตคู่ของไมค์จบลงด้วยการหย่าร้าง ภรรยาเขาเป็นคนพื้นเมือง ลูกสาวอยู่กับแม่ การเลี้ยงดูที่เว้าแหว่งแตกร้าว ทำให้ลูกของไมค์ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร แต่นั่นไม่ทำให้ชายชราเลิกรัก เขาตามหาตัวบุตรกับหลานจนพบ แล้วขอร้องให้ไปอยู่ด้วยกัน
“ได้ค่ะพ่อ อีก 3 วันเจอกัน”
นั่นคือครั้งสุดท้ายที่ไมค์ได้ยินเสียงลูก
เมื่อถึงวันนัดหมาย บุตรสาวไม่ได้พาหลานมา การออกตามหาจึงเกิดขึ้น พวกเขาพบว่าหญิงสาวฝากลูกไว้กับญาติชนพื้นเมือง แล้วออกไปซื้อของ ก่อนหายตัวไปตลอดกาล
สุดท้ายไมค์รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า พบลูกสาวของเขาแล้ว น่าเสียดายที่เป็นร่างไร้ลมหายใจ
“ผมไม่กล้าไปดู เพราะอยากจำภาพลูกยามมีชีวิตอยู่มากกว่า”
กินเวลาหลายสัปดาห์ ไมค์จึงไปร่วมงานศพด้วยความโศกเศร้า
และแม้ตำรวจสัญญาว่า จะเพิ่มการสอดส่องมากยิ่งขึ้น แต่สุดท้ายก็มีคดีเหมือนลูกสาวไมค์เกิดขึ้นอีก นี่ยิ่งสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่ยังมีอคติ ยังเข้าเกียร์ว่าง จนพบศพแล้วศพเล่า บนทางหลวงสายน้ำตานี้
ต่อให้ข่าวจะลงอย่างครึกโครม แต่ฆาตกรที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใครหรือมีกี่ราย ยังคงลงมืออย่างเหี้ยมโหด เย้ยหยันกฎหมายจนถึงปัจจุบัน
ณ งานศพลูกสาว ไมค์พบคนมากมายเดินทางมาพบ บอกเล่าเรื่องราวว่า เกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวตนเองบ้าง มันจุดประกายให้ชายชราอุทิศชีวิตเพื่อลูก และหญิงสาวชนพื้นเมืองที่อยู่ในเมืองใกล้กับทางหลวงสายนี้
นี่จึงเป็นแรงดลใจที่นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญ เขาเลือกชีวิตเป็นยาม เป็นผู้ป้องกันภัยร่วมกับคนอื่นๆ ชายผมสีดอกเลาปาดน้ำตาแล้วยืนยันกับสื่อด้วยความเจ็บปวด แต่มุ่งมั่นด้วยปณิธาน
หากใครมีโอกาสขับผ่านทางหลวงหมายเลข 16 แล้วพบแก๊งมอเตอร์ไซค์ขับตระเวน โปรดอย่าตกใจ ไมค์บอกว่า ชุดที่ขึงขัง นอกจากจะขู่แก๊งค้ายาแล้ว มันยังช่วยให้คนในชุมชนโล่งใจด้วย
เพราะสิงห์รถบิดเหล่านี้มีภารกิจสำคัญ และไมค์ยืนยันว่า จะทำไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
“พวกเราสอดส่องช่วยเหลือผู้อ่อนแอ และปกป้องผู้หญิงกับเด็กในเมืองนี้ ให้พ้นภัยอันตรายจากทางหลวงสายน้ำตา
“ผมจะเป็นนักรบ เป็นผู้กล้าที่ทำให้ถนนสายนี้ปลอดภัย”
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.thedailybeast.com/canadas-highway-of-tears-why-are-women-disappearing
https://vancouversun.com/news/local-news/what-is-bc-highway-of-tears
https://www.aljazeera.com/features/longform/2021/11/8/the-stench-of-death-life-along-canadas-highway-of-tears
Tags: โศกนาฏกรรม, Haunted History, คนพื้นเมือง, แคนาดา, ฆาตกรรม