วันนี้ (13 กันยายน 2567) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายถึงแนวนโยบายแก้ไขปัญหาระบบรัฐราชการรวมศูนย์ของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ว่า ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องของแผนการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจ หรือการปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน
ศุภณัฐกล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาชนเรียกร้องการกระจายอำนาจ เพื่อปรับโครงสร้างของรัฐ ปัญหาที่พรรคประชาชนค้นพบคือ คอขวดที่เป็นอุปสรรคและกดความเจริญของกรุงเทพฯ คือรัฐบาลเอง โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่พบมี 5 ปัญหา ดังนี้
1. ‘ปัญหาการจราจร’ กลไกที่เป็นคอขวดคือ เรื่องของ ‘ตำรวจจราจร’ และ ‘ระบบขนส่งมวลชน’ ซึ่งล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล เช่น แม้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีอำนาจในการวางแผนออกแบบ วางระบบจราจร แต่อำนาจในการเปิด-ปิดเส้นทาง อำนาจในการบริหารการจราจร รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมผู้กระทำความผิดนั้นเป็นของตำรวจจราจร ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ กทม.
ดังนั้นภารกิจที่รัฐบาลต้องทำคือ การถ่ายโอนตำรวจจราจรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาให้ กทม.ดูแล อีกส่วนคือเรื่องของ ‘ขนส่งมวลชน’ ที่การเชื่อมต่อและการเปลี่ยนระบบขนส่งมวลชนไม่สะดวก ทั้งๆ ที่กรมขนส่งทางบก กรมขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม แต่กลับไม่สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศุภณัฐระบุว่า ผลงานเดียวที่เห็นคือ การใช้ภาษีของประชาชนอุดหนุนค่ารถไฟฟ้าแบบอัฐยายซื้อขนมยาย รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีในการกำกับและแก้ไขโครงสร้างแต่อย่างใด โดยได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาอย่าง การคมนาคมลอนดอน (Transport for London: TFL) ที่รวบอำนาจการดูแลระบบขนส่งมวลชนให้อยู่ภายใต้หน่วยงานเดียว เพื่อกำกับและควบคุมการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ
“หากรัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ จะต้องถ่ายโอนอำนาจการบริหารไปให้หน่วยงานท้องถิ่นอย่าง กทม.ของจังหวัดปริมณฑล ร่วมกันจัดตั้งหน่วยคมนาคมบริหารงานร่วมกัน” ส.ส.พรรคประชาชนกล่าว
2. ‘ปัญหาน้ำท่วม’ ที่รัฐบาลประสานไปยังกรมราชทัณฑ์เพื่อการขุดลอกท่อ แต่จากการทำงานจริงกรมราชทัณฑ์ไม่สามารถลอกได้ตามเป้าหายที่วางไว้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือ สุดท้ายแม้ กทม.จะอยากระบายน้ำ แต่ไม่สามารถระบายน้ำได้เพราะท่อตัน
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของโครงการป้องกันน้ำทะเลหนุนที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ขอโครงการตั้งแต่รัฐบาลสมัยที่แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลงทุนในรูปแบบใดออกมา
3. ปัญหางานก่อสร้างวนเวียนซ้ำซาก เพราะหน่วยงานแต่ละหน่วยงานไม่ได้วางแผนร่วมกัน เช่น หน่วยงานปรับปรุงทางเท้าเร่งรีบเพื่อส่งมอบงาน แต่งานสายใต้ดินยังไม่แล้วเสร็จ สุดท้ายต้องมาขุดใหม่อีกครั้ง
ศุภณัฐกล่าวย้ำแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ว่า ต้องถ่ายโอนภาคกิจการไฟฟ้า การประปา สายสื่อสาร ไปให้ กทม. เพื่อวางแผนและวางงบประมาณให้สอดคล้อง
4. ‘ปัญหาสายสื่อสาร’ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเมือง โดยประเด็นสำคัญคือ บริษัทโทรคมนาคมที่นำสายสื่อสารแบบลักลอบพาดเสา โดยไม่ได้จ่ายเงินให้กับหน่วยงานรัฐ รวมราว 5 หมื่นล้านบาท
“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องจัดระเบียบ และจัดการกับความมักง่ายของบริษัทโทรคมนาคมอย่างจริงจัง”
ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส.ส.พรรคประชาชนให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาทำงานช้า วันนี้สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการคือ ติดตามค่าพาดสาย เพื่อบีบผู้ประกอบการชำระเงิน
หรือหากนายกฯ รู้สึกว่า กสทช.ไม่ดำเนินการอันใด ศุภณัฐกล่าวร้องขอให้รัฐบาลเสนอกฎหมายปรับปรุง กทสช.ให้มีความยึดโยงกับฝ่ายบริหารมากขึ้นได้ มิเช่นนั้นอีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาสายสื่อสารก็ไม่สามารถแก้ไขได้
5. ‘ปัญหาที่อยู่อาศัยราคาแพง’ ศุภณัฐระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ที่อยู่อาศัยมีราคาแพงคือ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติผ่านนอมินี (Nominee) อีกทั้งในรัฐบาลชุดก่อนหน้ามีความพยายามทำนโยบายทรัพย์อิงสิทธิ 99 ปี (Leasehold) และให้ต่างชาติถืออาคารชุด 75% ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ให้ความชัดเจนว่า จะดำเนินการต่ออย่างไร
อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ ส.ส.พรรคประชาชนอภิปรายคือ เรื่องของราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.8% แต่ค่าจ้างเฉลี่ยกลับเพิ่มขึ้นเพียง 1.2% เท่านั้น
“ความห่างระหว่างรายได้และรายจ่ายขนาดนี้ นายกฯ แก้ไขปัญหาอย่างไร ในรัฐบาลที่แล้วมีการกระตุ้นให้ประชาชนซื้อบ้านเยอะ แต่มันแพงผ่อนไม่ไหว
“รัฐบาลมุ่งแต่เน้นให้ประชาชนก่อหนี้คือ ฝั่ง Demand Size แต่ไม่ได้ดูในฝั่งของ Supply Size รัฐบาล ไม่รู้เรื่องของต้นทุนผู้ประกอบการ เรื่องของราคาที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินให้คุ้มค่า การใช้กลไกภาษีอย่างไรเพื่อให้เกิดการคลายที่ดินของแลนด์ลอร์ด”
อีกทั้งการประเมินราคาที่ดินของกรมธนารักษ์ก็ยังเอื้อกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น ราคาประเมินตึกแถวย่านเพลินจิตอยู่ที่ตารางวาละ 1 ล้านบาท แต่พื้นที่ของห้างสรรพสินค้าดังในย่านเดียวกัน กลับมีราคาประเมินที่ 4.7 แสนบาทเท่านั้น
นอกจากนั้นศุภณัฐยังอภิปรายว่า ปัญหาการซอยแปลงที่ดินเพื่อเลี่ยงภาษี บีบราคาประเมิน แม้กระทั่งการจัดรูปที่ดิน จำพวกที่ดินไม่สวยและที่ดินตาบอด รัฐบาลยังไม่มีแนวทางชัดเจนเพื่อแก้ไข
“เพราะฉะน้ันวิธีการแก้ไขเรื่องราคาที่อยู่อาศัยคือ การแก้ไขกฎระเบียบการประเมินราคาที่ดินของกรมธนารักษ์ การใช้ภาษีรวมแปลง การเปิดเผยข้อมูลราคาซื้อขายที่ดินย้อนหลัง การจัดรูปที่ดินใหม่ รวมถึงการผลักดันการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เกิดกิจการเชิงพาณิชย์ (Transit-Oriented Development: TOD) เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนและนำรายได้ในเชิงพาณิชย์มาอุดหนุนเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาท ตามที่รัฐบาลอยากดำเนินการ
“จากปัญหาเรื้อรัง 5 ข้อของคนกรุงเทพฯ เราคงพอเห็นภาพเหมือนกันว่า แม้กระทั่งกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวง เมืองน่าเที่ยวในสายตาชาวต่างชาติ เป็นเมืองแห่งโอกาสในการเข้ามาทำงาน เป็นองค์กรส่วนบุคคลท้องถิ่นพิเศษได้เปรียบหลายจังหวัด แต่กรุงเทพฯ เองก็มีปัญหาเรื้อรังของตัวเองหลายอย่างที่ไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง เพราะยังมีโซ่ตัวที่ล็อกคอคนกรุงเทพฯ ไว้อยู่คือ รัฐบาล
“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องกระจายอำนาจ ถ่ายโอนภารกิจให้กับกรุงเทพมหานคร และนำโมเดลนี้ไปใช้ในการกระจายอำนาจกับจังหวัดอื่น รัฐบาลควรจะประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า จะเลิกเป็นคอขวดของปัญหาเสียที เพื่อเปิดให้ท้องถิ่นเดินได้ด้วยตัวเอง” ศุภณัฐอภิปรายทิ้งท้าย