วันนี้ (12 กันยายน 2567) เวลา 09.00 น. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังอาคารรัฐสภา เพื่อนำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยตอนหนึ่งระหว่างการแถลงระบุความมุ่งหวังว่า นโยบายของรัฐบาลจะสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้า เพื่อประโยชน์สุขของคนไทย ทั้งนี้การประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายนั้นจะมีด้วยกันทั้งสิ้น 2 วันในวันที่ 12-13 กันยายน 2567

แพทองธารแถลงต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยกว่าศักยภาพ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมการเมือง

“รัฐบาลจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนพลิกความท้าทายเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมกับสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนทุกคน

“และต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต พร้อมวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตร เพื่อตอบสนองปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ พลิกฟื้นความเชื่อมั่นของคนไทยและสากล” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ในส่วนของ ‘นโยบายเร่งด่วน’ ของรัฐบาลแพทองธารจะประกอบไปด้วยทั้งหมด 10 นโยบาย ได้แก่

1. ผลักดันให้เกิด ‘การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด’ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรถและบ้าน ช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและภาวะทางจริยธรรม

2. ‘ดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์’ ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้ SMEs

3. เร่งออกมาตรการ ‘ลดค่าพลังงานและสาธารณูปโภค’ ผ่านการปรับโครงสร้างราคา ควบคู่กับการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง, พัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคง, สำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม, เจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA) รวมถึงการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม เพื่อรองรับนโยบายค่าโดยสารราคาเดียว ในกรุงเทพมหานคร

4. สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำ ‘เศรษฐกิจนอกระบบภาษี’ (Informal Economy) และ ‘เศรษฐกิจใต้ดิน’ (Underground Economy) เข้าสู่ระบบ ที่คาดว่ามีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค

5. เร่ง ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ให้เกิดการจับจ่าย โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ

6. ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมเป็น ‘เกษตรทันสมัย’ โดยใช้แนวคิด ตลาดนำ-นวัตกรรมเสริม-เพิ่มรายได้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) รวมทั้งรื้อฟื้นนโยบาย ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก

7. ส่งเสริม ‘การท่องเที่ยว’ ในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวมนุษย์สร้างขึ้น เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า หรือสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex)

8. แก้ ‘ปัญหายาเสพติด’ อย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่ต้นตอการผลิตและจำหน่าย การสลัดกั้นการลักลอบลำเลียง การปราบปราม ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม

9. เร่งแก้ ‘ปัญหาอาชญากรรม’ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์

10. ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐ

“ในนามของนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ในนามรัฐบาล ดิฉันขอให้ความมั่นใจกับรัฐสภาแห่งนี้ว่า จะมุ่งมั่นตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

“เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทยและประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทย จากวันนี้ไปถึงอนาคต” แพทองธารกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับคำว่า ‘มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี‘ เป็นคำที่แพทองธารใช้ในการหาเสียงครั้งสุดท้ายของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นมีคำว่า ‘ปิดสวิตช์ ส.ว. ปิดสวิตช์ สาม ป. นำหน้าด้วย เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลข้ามขั้วด้วยเงื่อนไขจากรัฐธรรมนูญ 2560 สองวรรคแรกจึงหายไป

ขณะเดียวกัน หากย้อนกลับไปเมื่อการแสดงวิสัยทัศน์ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บิดาของนายกรัฐมนตรี ในเวทีเสวนา ‘Vision for Thailand’ ที่จัดขึ้นโดย Nation TV จะสังเกตได้ว่าแนว ‘นโยบายเร่งด่วน’ ของรัฐบาลของแพทองธารส่วนใหญ่ที่นำเสนอ ล้วนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งการดึงเศรษฐกิจนอกระบบภาษีเพื่อเป็นรายได้ใหม่ของรัฐ​ หรือสนับสนุนแนวคิดการสร้าง Entertainment Complex เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

Tags: , , ,