จากเหตุการณ์สะเทือนโลกเมื่อวานนี้ (14 กรกฎาคม 2024) ใครจะคิดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตผู้นำสหรัฐฯ และแคนดิเดตท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2024 จะเผชิญหน้ากับความตายระยะประชิด เมื่อชายคนหนึ่งมุ่งหมายสังหารเขาด้วยอาวุธปืนไรเฟิลระหว่างหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ (Butler) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ก่อนถูกวิสามัญโดยหน่วยอารักขา (Secret Service) ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น

นอกเหนือจากทฤษฎีสมคบคิดมากมายในโลกโซเชียลฯ ว่าด้วยเรื่อง ‘การจัดฉาก’ เพื่อสร้างคะแนนความนิยมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คำถามที่ตามมาคือ ชายผู้สังหารเขาคือใครกันแน่? และอะไรคือเหตุจูงใจ?

“เขาคือพวกอนุรักษนิยมอย่างแน่นอน”

คือข้อสังเกตจาก แม็กซ์ อาร์ สมิธ (Max R. Smith) อดีตเพื่อนร่วมชั้นของ โทมัส แมตทิว ครุก (Thomas Matthew Crook) มือปืนวัย 20 ปี ผ่านเดอะฟิลาเดเฟียอินไควเลอร์ (The Philadelphia Inquirer) ที่ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยตามมาว่า เหตุใดกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งจึงตัดสินใจลงมือปลิดชีพนักการเมืองที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกันเช่นนี้

สถานการณ์สอบสวนล่าสุด

นิวยอร์กไทม์ (New York Times: NYT) และบีบีซี (BBC) รายงานว่า สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (Federal Bureau of Investigation: FBI) ระบุตัวคนร้ายได้ในไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ โดยครุกใช้อาวุธปืนไรเฟิล AR-15 ที่พ่อของเขาซื้ออย่างถูกกฎหมายมาก่อเหตุ ซ่อนตัวบริเวณหลังคาบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากเวทีปราศรัย และยิงปืนออกไปทั้งหมด 8 นัด แม้กระสุนพลาดเป้าเฉี่ยวไปที่ใบหูของทรัมป์ แต่ก็ทำให้ผู้ที่มาฟังการปราศรัยเสียชีวิต 1 ราย คือ โครีย์ คอมเพอร์ราโตร์ (Corey Comperatore) ชายวัย 50 ปี และบาดเจ็บ 2 ราย 

เควิน พี โรเจก (Kevin P. Rojek) เจ้าหน้าที่ FBI ประจำเมืองพิตต์เบิร์กส์ (Pittsburgh) รัฐเพนซิลเวเนีย เชื่อว่า ผู้ร้ายลงมือเพียงคนเดียว ไม่มีการสมรู้ร่วมคิด และจงใจมุ่งเป้าไปที่ทรัมป์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องยกระดับการรักษาความปลอดภัยในประเทศ

ส่วน เมอร์ริก การ์แลนด์ (Merrick Garland) อัยการสอบสวนในคดีดังกล่าว แสดงความคิดเห็นว่า การลอบสังหารครั้งนี้บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ โดยเจ้าหน้าที่พร้อมจะระดมทรัพยากรเท่าที่มี เพื่อสอบสวนสิ่งที่เกิดขึ้นและเบื้องหลังของผู้ก่อเหตุ

ขณะเดียวกัน ก่อนก่อเหตุการณ์อุกอาจครั้งนี้ มีผู้พบเห็นคนร้ายฝึกซ้อมการใช้อาวุธปืน ที่สโมสรยิงปืนทางตอนใต้ของพิตต์บูสก์ ทว่าสโมสรไม่ให้ความเห็นใดๆ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการสอบสวนทางกฎหมาย 

ตัวตนของมือสังหารอดีตประธานาธิบดีจากคำบอกเล่าจากคนรอบตัว

ครุกสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมวิทยาศาสตร์ จากวิทยาลัยอัลเลเกนีเคานต์ตี (College of Allegheny County) ก่อนประกอบอาชีพผู้ช่วยด้านโภชนาการของบ้านพักคนชราที่บีเทลปาร์ก (Bethel Park) ในละแวกบ้าน ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะที่ย่านอยู่อาศัยของผู้มีอันจะกินและคนผิวขาว ขณะที่พ่อแม่ของเขาทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์

เพื่อนร่วมชั้นของครุกและคนรอบตัวลงความเห็นตรงกันว่า ครุกมีนิสัยเก็บตัว ขี้อาย และมีเพื่อนน้อย แต่เขาเป็นคนฉลาด ว่ากันว่าเขาคือเนิร์ดตัวยงที่สนใจ ‘หมากรุก’ และ ‘การเขียนโค้ด’ ทั้งยังเป็นนักเรียน 1 ใน 20 คนประจำปี 2024 ที่ได้รับทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.8 หมื่นบาท) ทั้งยังไม่เคยมีประวัติด้านอาชญากรรม ด้านสุขภาพจิต หรือปัญหาทางการเงินแต่อย่างใด

ซาราห์ ดิ แองเจโล (Sarah D’Angelo) หนึ่งในเพื่อนร่วมชั้นระบุว่า ครุกเป็นเด็กเงียบๆ ที่ดูไม่สนใจการเมืองหรือความรุนแรงแต่อย่างใด และเคยพูดคุยกันแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ขณะที่ เจสัน โคห์เลอร์ (Jason Kohler) เพื่อนร่วมชั้นอีกคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่า เพราะนิสัยสันโดษของครุก ทำให้เขามักถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้นอยู่บ่อยครั้ง

“ครุกมักไม่แสดงสีหน้า เขาไม่เหมือนกับคนอื่น เพราะฉะนั้น เขาจึงตกเป็นเป้าหมายได้ง่าย” โคห์เลอร์เล่า 

นอกจากนี้ เพื่อนคนอื่นยังให้ความคิดเห็นต่างออกไปว่า ผู้ก่อเหตุมีอุดมการณ์อนุรักษนิยมอย่างเห็นได้ชัด ท่ามกลางเพื่อนอีกหลายคนที่สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยม อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ พ่อแม่ของครุกเป็นกลุ่มเสรีนิยม โดยพ่อของเขาสนับสนุนพรรคลิเบอเทเรียน (Libertarian Party) ขณะที่แม่สนับสนุนพรรคเดโมแครต (Democrat Party) โดยข้อมูลจากทางการอ้างว่า เขาเป็นผู้ลงคะแนนเสียงรีพับลิกัน แต่ก็พบว่า เขาบริจาคเงิน 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 540 บาท) ให้กับกลุ่ม Progressive Turnout Project ที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตด้วย

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่สอบสวนพยายามรวบรวมข้อมูลของครุกเพิ่มเติม ทั้งการสอบสวนคนรอบตัว ผู้เกี่ยวข้อง และข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ปรากฏว่า เขาไม่มีแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดีย นอกจากดิสคอร์ด (Discord) อีกทั้งบริษัทยังระบุว่า เขาใช้งานน้อยมากและไม่พบร่องรอยที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด

อนาคตของ ‘อาวุธปืน’ ในสหรัฐฯ ท่ามกลางฉากทัศน์อันสยดสยอง?

เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่เสียงเรียกร้องการแบนอาวุธปืนในสหรัฐฯ​ โดย แบรดี (BRADY) กลุ่มเคลื่อนไหวการปฏิรูปกฎหมายอาวุธปืน ขอให้สภาคองเกรสออกกฎหมายสั่งห้ามใช้อาวุธปืนในที่สาธารณะ 

ขณะที่ เดวิด ฮ็อกก์ (David Hogg) นักเคลื่อนไหวที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่พาร์กแลนด์ (Parkland Shooting) ที่โรงเรียนมัธยมมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส (Marjory Stoneman Douglas) รัฐฟลอริดา ในปี 2018 แสดงความไม่พอใจว่า การแบนปืนไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการลอบสังหารผู้นำประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายถึงการรักษาชีวิตเด็ก ครอบครัว และประชาชนทั่วไปในเหตุการณ์กราดยิงครั้งอื่นอีกด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ข้างต้นคือภาพสะท้อนการปะทะระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายเสรีนิยม ดังที่ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามเรียกร้องให้สภาคองเกรสแบนอาวุธร้ายแรงหลายสิบครั้ง แต่ก็ไม่มีผลแต่อย่างใด ขณะที่ แบร์รี มัวร์ (Barry Moore) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน พยายามออกกฎหมายให้ AR-15 กลายเป็น ‘ปืนแห่งชาติ’ ของชาวอเมริกันในปี 2023 

สถิติจากวอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ในปี 2024 เปิดเผยว่า ปืนไรเฟิล AR-15 แพร่หลายในสังคมอเมริกันปัจจุบัน โดยมีรายงานว่า อาวุธชนิดนี้ทำยอดจำหน่ายอันดับหนึ่ง หรือคิดเป็น 1 ใน 20 คนของประชากรทั้งหมดที่ครอบครองอาวุธชนิดนี้อยู่

ขณะเดียวกัน AR-15 ยังอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของความรุนแรง สะท้อนจากการถูกใช้เป็นอาวุธในเหตุการณ์กราดยิง 10 ครั้งจากทั้งหมด 17 ครั้งตั้งแต่ปี 2012 ยังไม่รวมถึงสถิติจาก FBI ที่ระบุว่า AR-15 มียอดขายดีขึ้นในช่วงเหตุการณ์กราดยิงตามโรงเรียน หรือช่วงการเมืองร้อนแรงจากการเลือกตั้งอีกด้วย

ในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1994 อาวุธปืนถูกควบคุมภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาวุธปืนเพื่อความปลอดภัยสาธารณะและสันทนาการ (The Public Safety and Recreational Firearms Use Protection Act) ทว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้สิ้นผลบังคับใช้ในปี 2004 โดยสภาคองเกรสตัดสินใจไม่พิจารณาบังคับใช้อีกครั้ง

ความสำเร็จของกฎหมายข้างต้น แสดงให้เห็นจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสต์เธิร์น (Northwestern University) ที่พบว่า การแบนอาวุธปืนในสาธารณะช่วยลดเหตุการณ์กราดยิงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสถิติตลอดทั้ง 10 ปีที่บังคับใช้กฎหมายชี้ให้เห็นว่า การควบคุมอาวุธปืนสามารถลดเหตุกราดยิงได้ถึง 30 ครั้ง หรือหากคิดเป็นจำนวนคน คือผู้เสียชีวิต 339 คน และผู้บาดเจ็บอีก 1,139 คน

 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/us-news/article/2024/jul/14/trump-rally-suspected-gunman-what-we-know

https://www.theguardian.com/us-news/article/2024/jul/14/trump-rally-shooting-republican-convention

https://www.nytimes.com/2024/07/14/us/politics/trump-gunman-thomas-crooks.html

https://www.thedailybeast.com/trump-rally-gunman-thomas-crooks-was-definitely-conservative-classmate-recalls

https://news.sky.com/story/trump-shooting-latest-bloodied-trump-shouts-fight-as-hes-rushed-off-stage-secret-service-release-statement-13177655

https://news.northwestern.edu/stories/2021/03/assault-weapon-ban-significantly-reduces-mass-shooting/

https://www.washingtonpost.com/nation/interactive/2023/ar-15-america-gun-culture-politics/

https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-politics/trump-ar15-gun-control-shooting-b2579588.html

https://www.usatoday.com/story/news/investigations/2024/07/14/trump-shooting-gunman-father-ar-15/74401175007/

https://www.bbc.com/news/articles/c3gw58wv4e9o

Tags: , , , , , , , , ,