[1]
“พรรคไหนที่เอานโยบายที่เราเห็นว่าไม่ดี เช่น กัญชาเสรี มามอมเมาพี่น้องประชาชน มอมเมาลูกหลาน อย่าให้เขามามอมเมาพี่น้องว่า ทำกัญชาแล้วจะรวย อย่าให้เขาเอานโยบายนี้มาหลอกขายว่า ทำแล้วมันจะดี”
นี่เป็นคำปราศรัยของ เศรษฐา ทวีสิน บนเวทีหาเสียง เขตบางแค กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เป็นเป้าหมายชัดเจนว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลและเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี กัญชาต้องไม่เสรีอีกต่อไป แม้การเลือกตั้งปี 2566 มีผลลัพธ์คือ พรรคเพื่อไทยต้องรวมเสียงกับพรรคภูมิใจไทยเจ้าของนโยบายกัญชาเสรี มาร่วมโหวตนายกคนที่ 30 ของประเทศด้วยก็ตาม
จึงเป็นเรื่องง่ายหากรัฐบาลจะถอดถอนเสรีภาพในการใช้กัญชา และนำกลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีรัฐมนตรีชื่อ อนุทิน ชาญวีระกูล เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารสุขอีกต่อไป แต่เป็น สมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยนั่งแทน จึงเป็นเค้าลางว่า การนำกัญชาเข้ากรงขังอีกครั้งจะง่ายกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบาย ไม่ว่าโดยใคร จากพรรคการเมืองไหน ผลกระทบในลำดับต่อไปคือ ประชาชน
“ถ้าเป็นแบบนั้นผู้ประกอบการก็ต้องปิดร้านทั้งหมด”
รัฐพล แสนรักษ์ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการกัญชารายย่อย เจ้าของร้าน Highland Cafe ร้านกินดื่มที่เป็นทั้งจุดจำหน่ายกัญชา สถานที่จัดเสวนาทางกฎหมายและข้อถกเถียงต่างๆ ของกัญชา รวมถึงเป็นเซฟโซนแก่ผู้ชื่นชอบกัญชาในฐานะพืชสมุนไพร
แม้ว่าร้านจำหน่ายกัญชาแห่งนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตจนเรียกได้ว่าเป็น ‘อาณาจักรกัญชา’ ของรัฐพล แต่ในอาคาร 2 ชั้น 1 คูหานี้ มีอีก 3 ชีวิตที่ทำงานเป็นทั้งแคชเชียร์ ผู้จ่ายกัญชา กระทั่งเป็นเชฟทำอาหารจากส่วนผสมของกัญชาอยู่หลังครัว
“ตัวผมเป็นสมาชิกสมาคมผู้ค้ากัญชาเหมือนกัน เมื่อได้ยินข่าวว่ารัฐจะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด คำถามจากเจ้าของร้านหลายคนมุ่งมาที่ผม ถามว่าพนักงานของเขาจะตกงานกันไหม เพราะแต่ละคนมีภาระ เขาต้องใช้เงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บางคนมีครอบครัวต้องดูแล”
หลังการเลือกตั้งปี 2566 เศรษฐาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศที่ถามว่ากัญชาเป็นยาเสพติดหรือไม่ โดยคำตอบคือ กัญชาต้องกลับไปเป็นยาเสพติดภายใน 1 ปี
พูดให้เห็นภาพ เมื่อนโยบายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ดอกกัญชาบรรจุขวดโหล หรือแม้แต่ใบกัญชาที่ร้าน Highland Cafe ใช้ตกแต่งภายในร้าน จะกลายเป็นสิ่งเสพติดผิดกฎหมายทั้งหมด และผลลัพธ์นี้อาจบีบให้ผู้ประกอบการกัญชาไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่เป็นอันต้องล้มเลิกธุรกิจนี้ไป เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย
หลายคนอาจมองว่า หากการประกอบธุรกิจกัญชาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำได้อีกต่อไป เจ้าของร้านและพนักงานเพียงแค่ปิดร้าน แล้วหันหน้าไปประกอบอาชีพอื่น แต่สำหรับผู้ประกอบการกัญชามาหลายปีอย่างรัฐพล ปัญหานี้กระทบมากกว่าแค่การทยอยปิดตัวของร้านใดร้านหนึ่ง หรือส่งผลให้พนักงาน 3-4 คนที่กำลังปัดกวาดเช็ดถูอยู่ในร้าน Highland Cafe ต้องตกงานทันที แต่รวมถึงหลายหมื่นชีวิตที่กระจายอยู่ในร้านกัญชาทั่วประเทศ
“มองง่ายๆ ประเทศไทยมีผู้ประกอบการค้ากัญชาประมาณ 8,000 ร้านค้า แต่ละร้านมีพนักงานเฉลี่ย 5 คน แปลว่าร้านกัญชาทั้งประเทศมีพนักงานรวมกัน ประมาณ 4 หมื่นคน ยังไม่รวมฟาร์มปลูกกัญชาที่มีอยู่ประมาณ 3,000 ฟาร์มขนาดเล็กใหญ่ว่ากันไป
“ลองนึกภาพว่า ทุกคนตกงานพร้อมกันเป็นหมื่นคนอะไรจะเกิดขึ้น อาชญากรรมจากการว่างงานจะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แล้วพนักงานกลุ่มนี้ที่เคยค้ากัญชาเขาจะกลายเป็นอาชญากรผู้ค้ายาเสพติดหรือเปล่า”
อีกผลต่อเนื่องที่น่าสนใจคือ ในวันที่กัญชานำกลับมาเป็นยาเสพติดประเภท 5 และหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลของผู้บริโภค ผ่านระเบียบที่บังคับให้ร้านค้ากัญชาส่งข้อมูล ทั้งเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ-สกุลแก่หน่วยงานเรียบร้อยแล้ว คำถามคือผู้บริโภค ผู้ผลิต พนักงาน และผู้ประกอบการร้านค้ากัญชา จะแปรสภาพเป็นผู้มีประวัติการใช้ มีสารเสพติดไว้ในครอบครอง หรือมีประวัติอาชญากรรมหรือไม่
ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการนำกัญชามาเป็นยาเสพติด ริเริ่มตั้งโต๊ะหารือเป็นระยะ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีสาธารณสุขคนปัจจุบัน
[2]
ผู้ประกอบการกัญชาหลายคนเริ่มหมดหวัง บ้างปิดตัวไปบางส่วน บ้างเซ่นพิษจากความผันผวนด้านนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน ยังผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่ไว้ใจในการลงทุน
แม้มีอุปสรรคมากมายสำหรับผู้ค้ากัญชาในวันนี้ ทว่า จิรวัฒน์ ตันยาภิรมย์ เจ้าของร้านแสงไทยกัญชง ยังคงมีหวังผ่านการต่อสู้ในฐานะตัวแทนสมาพันธ์ผู้ประกอบการกัญชาประเทศไทย และการเป็นแกนนำต่อสู้ร่วมกับเพื่อนพ้องผู้ประกอบการธุรกิจกัญชาทั่วประเทศ ผ่านการเดินสายเรียกร้องอย่างสันติทั่วภูมิภาคของไทย
“ธงหลักของรัฐบาลในตอนนี้ คือการนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ตามมาด้วยข้อบังคับต่างๆ ที่ถ้าทำผิด ก็มีผลต้องจำคุก และถูกปรับเหมือนโทษยาเสพติดทั่วไป”
เมื่อไม่เห็นด้วยกับวิธีการของรัฐบาลที่มองกัญชาเป็นตัวร้าย จิรวัฒน์เลือกศึกษาหาข้อมูลทำความเข้าใจกับกฎหมาย วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียสืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเขาสรุปว่า การนำกัญชากลับสู่การเป็นยาเสพติดให้โทษอีกครั้ง นับเป็นการผลักผู้ประกอบการเฉียดหมื่นรายที่ทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดำดิ่งสู่ธุรกิจใต้ดินซึ่งเป็นปัญหาเก่า ที่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนไทยจะรู้จักกัญชาเสรีและสร้างปัญหาที่รัฐเกินจะควบคุม
“ตอนที่กัญชายังผิดกฎหมาย คนเขาก็แอบใช้กัน แต่รอบนี้จำนวนคนใช้เยอะกว่าเดิม เมื่อก่อนมีคนปลูกใต้ดินไม่กี่ร้อยราย ตอนนี้คนปลูกมีมากขึ้น มีคนลงทะเบียนปลูกกัญชา 1,150,000 คน พวกเขามีกัญชาอยู่ที่บ้านแล้ว คุณจะนำกลับไปเป็นยาเสพติดได้อย่างไร ในเมื่อกัญชามันอยู่ที่บ้านของเขา เอากลับไปยังไงคนก็ใช้ ผมไม่เชื่อว่าเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วคนจะเลิกใช้”
สอดคล้องกับความกังวลของรัฐพล เจ้าของร้าน Highland Cafe ที่มองว่า นอกจากการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดแล้ว กลับกันนโยบายดังกล่าวจะสร้างปัญหาใหม่ คือการเข้าถึงของเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ง่ายขึ้น จากแหล่งซื้อขายกัญชาใต้ดินที่พัฒนาระบบการซื้อขายตามยุคสมัยผ่านทางกลุ่มไลน์ เทเลแกรม หรือแม้แต่อินสตาแกรมก็แปรสภาพเป็นแหล่งซื้อขายกัญชาได้เช่นกัน
นอกเหนือจากปัญหาการเข้าถึงกัญชาของเยาวชนแล้ว อีกปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยในระบบราชการคือปัญหาส่วย เพราะ “หากนำเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 เมื่อไร ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ตำรวจก็พร้อมเข้ามาจับตัว และบอกให้คุณจ่ายเงินกับพวกเขา สุดท้ายก็จะวนกลับมาที่ปัญหาเรื่องส่วย” จิรวัฒน์ว่า
ดังนั้น การนำพืชสมุนไพร (ในสายตาผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา) กลับไปเป็นยาเสพติดจึงไม่ใช่หนทางแก้ปัญหายาเสพติดอย่างแท้จริง ในมุมมองของเขาและสมาพันธ์ยังมีทางเลือกที่ดีกว่า คือการคงนโยบายกัญชาปัจจุบันเอาไว้ และควบคุมการใช้โดยมี พ.ร.บ.กัญชาอีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจกัญชายังประกอบอาชีพนี้ต่อไปอย่างถูกกฎหมาย ป้องกันการผลักไสกัญชากลับสู่การเป็นธุรกิจมืด
ทว่าจากท่าทีของรัฐบาลชุดปัจจุบันดูเหมือนมีธงในใจชัดเจนแล้วว่า อย่างไรจะไม่เอา ‘กัญชาเสรี’ อย่างที่เป็นอยู่ จากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายต่อหลายครั้ง นี่อาจทำให้ความมุ่งหวังในการต่อสู้ให้ได้มาซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมกัญชาของผู้ประกอบการกัญชารายย่อยอย่างรัฐพล, จิรวัฒน์ และอีกหลายหมื่นคนทั่วประเทศริบหรี่ เพราะแม้ตอนนี้จะมีร่าง พ.ร.บ.กัญชามากถึง 5 ฉบับจากภาคประชาชน และพรรคการเมือง แต่กลายเป็นกฎหมายค้างท่อ ไม่ได้รับการพิจารณาให้แล้วเสร็จ
ที่สำคัญคือ ความเข้าใจและความรู้ในประเด็นยาเสพติดของหัวเรือใหญ่กระทรวงสาธารณสุข ดูจะน้อยนิดในสายตาของผู้ประกอบการกัญชา ที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถามอะไรก็ตอบไม่ได้” ถึงขนาดต้องยืมตัว ทอม เครือโสภณ นักธุรกิจผู้บุกเบิกกัญชง-กัญชา มาเป็นปากเสียงและมันสมองแทนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
“รัฐบาลตอบเรื่องยาเสพติดแทบไม่ได้ รายละเอียดเชิงลึกเล็กๆ น้อยๆ สมศักดิ์ไม่รู้เรื่องเลย เป็นเหตุผลว่า ทำไมเขาดึง ทอม เครือโสภณ มานั่งอยู่ในที่ประชุมด้วย เพื่อให้มาช่วยตอบคำถามเรื่องกัญชา พูดจริงๆ มันไม่ถูกกาลเทศะ ประชาชนกลับต้องมาตอบคำถามแทนกระทรวงสาธารณสุข ในเมื่อคุณต้องการที่จะนำเอากัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 คุณจำเป็นต้องมีความรู้มากกว่าประชาชน ไม่ใช่ประชาชนมีความรู้มากกว่าคุณ”
ทั้งนี้ยังมีอีกปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการกัญชา ที่จิรวัฒน์และผู้ประกอบรายอื่นต้องการสะท้อน คือการลักลอบนำกัญชาจากต่างประเทศเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐที่ชายแดนและการรับ ‘ส่วย’ กระทบผู้ปลูกกัญชาไทยต้องประสบปัญหาพื้นที่ทางการตลาด แต่รัฐบาลกลับไม่ใส่ใจปัญหานี้จากคำบอกเล่าของจิรวัฒน์ ที่ยกตัวอย่างการให้ทอมนั่งอยู่ในที่ประชุมในฐานะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีสาธารณสุข ขณะที่ทอมมีประวัติลักลอบนำกัญชาเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายมาก่อน
“ทอม เครือโสภณ ก็มีภาพลักษณ์เป็นนายทุนที่นำเอาช่อดอกกัญชาลักลอบเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย คนกลุ่มนี้ที่รัฐบาลพาเข้ามาเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทำไมรัฐบาลถึงยังเอาเขามาเป็นที่ปรึกษา เท่ากับว่า ภาพลักษณ์ของรัฐบาลไม่ได้แคร์เลยว่า ประชาชนจะเดือดร้อนจากสิ่งนี้หรือไม่” จิรวัฒน์ตั้งคำถาม
[3]
“เหล้า บุหรี่ เป็นยาเสพติดเหมือนกัน แต่สถานะทางกฎหมาย ไม่เหมือนกับกัญชาเท่านั้นเอง”
จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจกัญชาทั้ง 2 ร้าน สิ่งที่เห็นตรงกันคือ กัญชาถูกทำให้เป็น ‘ตัวร้าย’ ทางสังคม เห็นได้จากการระบุโทษทางกฎหมายอย่างรุนแรงสำหรับผู้ผลิต จำหน่าย และผู้มีไว้ในครอบครอง แต่ในมุมมองของคนที่ประกอบอาชีพกับกัญชาทั้งจิรวัฒน์และรัฐพล กัญชาไม่ได้มีโทษแตกต่างไปกว่า สุราหรือบุหรี่ ขณะที่ 2 อย่างหลังมี พ.ร.บ.ควบคุมแยกต่างหาก ซึ่งกัญชาไม่มี
“เวลาเราพูดถึงสิ่งเสพติด เราต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า เหล้า บุหรี่ และกัญชา เป็นสิ่งเสพติดเหมือนกัน เพียงแต่เหล้ากับบุหรี่มี พ.ร.บ.ควบคุมต่างหาก ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายยาเสพติด พูดง่ายๆ มันเป็นยาเสพติดที่ถูกควบคุมโดยกฎหมายของ พ.ร.บ.”
รัฐพลเปรียบเทียบว่า “ความรุนแรงระหว่างกัญชา เหล้า และบุหรี่ ไม่ได้หนีห่างกัน แต่การควบคุมและการยอมรับทางสังคม รวมทั้งความเข้าใจและการศึกษาเกี่ยวกับกัญชากลับแตกต่างจากเหล้าและบุหรี่”
อคติทางสังคมมีส่วนทำให้คนมีทัศนคติกับกัญชาแตกต่างจากสุราและบุหรี่ หลายคนมองว่า สุราเป็นเครื่องดื่มเพื่อการเข้าสังคม เห็นได้จากวลีเก่าแก่ว่า ‘คอแข็ง’ ถูกใช้เพื่อยกยอคอสุรา หรือ ‘สิงห์อมควัน’ ที่ใช้กับผู้สูบบุหรี่จัด แต่กับกัญชานั้นแรงต้านมีมากกว่าหลายเท่า
ในสายตาของจิรวัฒน์ คนไทยมองกัญชาในแง่ลบมากกว่า ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจประโยชน์ที่มีอยู่ในพืชชนิดนี้ และเพราะรัฐบาลสร้างความเข้าใจให้ประชาชนไม่เพียงพอ และดึงดันใช้ข้อมูลชุดเก่าที่แสดงให้เห็นว่า กัญชาเป็นผลเสีย มากกว่าใช้ผลสำรวจชุดปัจจุบัน
“กระทรวงสาธารณสุขต้องเปิดข้อมูลเปรียบเทียบโทษกัญชา เหล้า และบุหรี่ชุดใหม่ในปี 2567 ไม่ใช่เปิดข้อมูลเก่าที่ผ่านมากว่า 20 กว่าปีก่อน แล้วบอกว่ากัญชาไม่ดี” จิรวัฒน์ระบุ
โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลของวัยรุ่น ประโยชน์และข้อเสียของกัญชาย่อมมีมากกว่าคนในวัย 60-70 ปี ที่หลายคนไม่มีทักษะมากพอจะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับภาพจำของสังคมในอดีตที่ประกอบสร้างให้กัญชาเป็นพืชสำหรับกลุ่มขี้ยา พวกไร้การศึกษา หรือเป็นผู้ขาดตกบกพร่องทางสังคม การเติบโตมาพร้อมกับกระแสสังคมที่หล่อหลอมเหล่านี้สร้างความ ‘เคยชิน’ ต่อภาพลักษณ์ในเชิงลบของกัญชาได้ดี
ในทางตรงกันข้าม จิรวัฒน์กล่าวว่า หากใครเกิดมากับยุคการโฆษณาเหล้าและบุหรี่ในทางเท่เก๋ ย่อมต้องชินตาและไม่หวาดกลัวกับเหล้าและบุหรี่มากเท่า
“จริงๆ ในอดีตช่วงหนึ่งมีการรณรงค์ให้คนงดสูบบุหรี่มากเหมือนกัน แต่หลังจากนั้นอีก 10 ปี คนไทยก็ชินกับบุหรี่แล้ว ถึงวันนี้เด็กเล็กจะสูบบ้างพ่อแม่บางคนยังไม่ว่า เด็กคว้าบุหรี่ไฟฟ้ามาสูบ พ่อแม่ยังรู้สึกเฉยๆ ทั้งที่ต่างคนต่างรู้ว่าโทษของการใช้บุหรี่มันเป็นอย่างไร”
สำหรับจิรวัฒน์และรัฐพลที่ลงเรือลำเดียวกันในฐานะผู้ประกอบการกัญชา ไม่ได้มุ่งหวังให้สังคมชินกับกัญชาเหมือนสุราและบุหรี่ แต่ต้องการให้คนไทยมองกัญชาอย่างหลากหลายมุม เป็นเหตุผลให้ทั้งสองและสมาชิกของสมาพันธ์ผู้ประกอบการกัญชาไทย ตระเวนชุมนุมทุกภูมิภาคเพื่อเปิดมุมมองกัญชาในแง่ที่คนไม่รู้ และสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงภาครัฐให้ฉุกคิดถึงปัญหา หากว่าสุดท้ายกัญชาต้องกลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้งหนึ่ง
อาจดูริบหรี่ แต่การเดินทางเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการของทั้งสอง ต่อความหวังแก่ผู้ประกอบการกัญชารายย่อยที่ยังหลงเหลืออยู่ ให้มีแรงทำกินอย่างสุจริตเช่นนี้ต่อไปได้
ประโยคสุดท้ายของจิรวัฒน์ให้ไว้ในบทสนทนา เป็นข้อสรุปของปัญหา ขณะเดียวกันก็เป็นทางออก ในมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา และตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพกัญชาทั่วประเทศ
“ทุกวันนี้ปัญหามาจากหน่วยงานของพรรคการเมือง กัญชากำลังตกอยู่ในเกม กลายเป็นข้อต่อรองทางการเมือง หากคุณหยุดเล่นการเมืองโดยใช้กัญชาเป็นข้อต่อรอง กัญชาจะกลายเป็นยาวิเศษ แต่ตอนนี้อย่างไรกัญชาก็ถูกมองว่าแย่” จิรวัฒน์ทิ้งท้าย
Fact Box
- เศรษฐา ทวีสิน กล่าวปราศรัยว่า อย่าเลือกพรรคที่มีนโยบายไม่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกัญชา บนเวทีหาเสียงเขตบางแค เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566
- ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย ที่มีนโยบายกัญชาเสรี และประกาศใช้นโยบายไปแล้วในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2565
- สมศักดิ์ เทพสุทิน ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดประชุมพบผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา โดยมี ทอม เครือโสภณ เป็นผู้ให้คำปรึกษาและตอบคำถามในเรื่องยาเสพติด
- ข้อมูลเปรียบเทียบโทษของกัญชา สุรา และบุหรี่ เป็นข้อมูลสำรวจชุดเก่า โดยขณะนี้ได้มีการเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเร่งเปิดข้อมูลเปรียบเทียบโทษที่เป็นข้อมูลชุดใหม่ นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567
- ปัจจุบัน ผู้ใช้กัญชาและเดินทางไปซื้อกัญชาที่หน้าร้าน ต้องลงข้อมูลทั้งชื่อ-สกุล อายุ และเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อแก่เจ้าหน้าที่ภายในร้าน เพื่อส่งกลับไปยังหน่วยงานภาครัฐ
- ความน่ากังวลอีกหนึ่งประการสำหรับรัฐพลคือ การสูบกัญชานอกสถานที่ ซึ่งเขาบอกว่า ปัจจุบันแม้จะมีร้านกัญชาตั้งอยู่หลายพันแห่งทั้งประเทศ ทว่าผู้ซื้อกลับไม่สามารถใช้กัญชาภายในร้านได้
- ปัจจุบัน ทั้งรัฐพลและจิรวัฒน์เป็นสมาชิกสมาพันธ์ผู้ประกอบการกัญชาประเทศไทย ซึ่งมีการนัดทำกิจกรรมตามจังหวัดเศรษฐกิจ เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา โดยเป็นการชุมนุมอย่างสงบ ไม่มีการปิดถนน และมีกฎว่าห้ามรบกวนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง