ในช่วงปี 1990s บริษัทนวัตกรรม Cybermotion พยายามจะประดิษฐ์และจัดจำหน่ายหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยให้กับพิพิธภัณฑ์ในอเมริกา พวกมันมีระบบคลื่นเสียงและอินฟราเรดเพื่อวิเคราะห์ระดับความชื้นในห้องนิทรรศการให้คงที่สำหรับวัตถุจัดแสดง รวมไปถึงสามารถจับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติและส่งสัญญาณเตือนภัยได้ด้วย

แม้ว่าโปรเจคต์นี้จะไม่ได้รับความนิยมตามที่คาด (บริษัท Cybermotion ปิดตัวลงในปี 2001) แต่มันก็ชวนให้เราหันมาทบทวนภาพลักษณ์และบทบาทของเจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์ ด้วยคำถามที่ว่า งานของพวกเขาในพิพิธภัณฑ์ สามารถทดแทนด้วยหุ่นยนต์ได้จริงหรือไม่?

หากมองตามลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) แล้ว ความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างด้านกายภาพ และด้านความปลอดภัยหรือความมั่นคง ต้องได้รับการตอบสนองก่อน จึงจะสามารถไปสนใจสนองความต้องการลำดับที่ไกลกว่าได้ เช่น ความรู้สึกรัก หรือชื่นชอบ ไปจนถึงการคิดวิเคราะห์หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฯลฯ

ดังนั้นแล้ว หากพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ ต้องการที่จะนิยามตัวเองเป็น ‘พื้นที่ของการเรียนรู้’ อันเป็นความต้องการขั้นถัดออกไป นอกจากจะต้องออกแบบพื้นที่ให้น่าใช้แล้ว ตำแหน่งที่มักจะถูกมองข้ามในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ อย่างแม่บ้านหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก ในการเติมเต็มประสบการณ์ของพิพิธภัณฑ์ เพราะพวกเขาคือกลุ่มบุคคลที่ผู้เยี่ยมชมจะต้องพบเจอเป็นอันดับแรกๆ (ซ้ำยังมีแนวโน้มจะได้สนทนาด้วยมากกว่าภัณฑารักษ์หลายเท่า) และมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้ชมต่อองค์กรโดยตรง ซึ่งจะดีแค่ไหนหากว่าพวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่เพียงยืนนิ่งเพื่อมอบความรู้สึกปลอดภัย แต่พวกเขายังเป็นอะไรได้ยิ่งกว่านั้น

การสร้างบทบาทหน้าที่และให้ความสำคัญกับแม่บ้าน และรปภ. มีส่วนช่วยยกระดับให้เกิดความมั่งคงทางจิตใจแก่เจ้าหน้าที่ ทำให้พวกเขาเกิดความรักในงานของพวกเขาว่าไม่ได้ถูกมองข้าม ตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนระหว่างปฏิบัติงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งต่อไปถึงผู้ชมได้ด้วยเช่นกัน ผ่านการปฏิบัติหน้าที่ที่ใสใจต่อผู้คนและองค์กรมากขึ้น ผู้เยี่ยมชมเอง เมื่อความรู้สึกมั่นคงที่เป็นพื้นฐานได้รับการตอบสนองแล้ว แม่บ้านหรือ รปภ. ยังสามารถมีส่วนที่ทำให้เกิดทัศนคติและประสบการณ์ที่ดีในการเข้าพิพิธภัณฑ์ด้วย

ผู้รักษาความปลอดภัยอาจจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเบื้องต้น ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ ว่าในองค์กรมีบุคลากรฝ่ายไหนบ้าง แล้วตนอยู่ตรงไหน ไปจนถึงการปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม หรือมากไปกว่านั้น อาจอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์เบื้องต้น และสามารถแนะนำได้ว่าผลงานชิ้นไหน ในบริเวณไหนของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่น เป็นต้น

ในต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา บทบาทของรปภ.ไปไกลกว่าเพียงแค่รักษาความปลอดภัยมากโข ไดนิต้า ไบรอันท์ (Dynita Bryant) ประธานสหภาพเจ้าหน้าที่ รปภ.แห่งฟิลาเดเฟีย และเป็น รปภ.ประจำที่พิพิธภัณฑ์ Philadelphia Museum of Art กล่าวว่า เธอได้รับกำลังใจจากผู้ชม และได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดในพิพิธภัณฑ์ กระตุ้นให้เธอได้คิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เธอจะชอบไปยืนใกล้ๆ ภาพเหล่านั้น ไม่ใช้เพราะหน้าที่ที่ต้องทำ แต่มันเป็นความสุข

ลินดา สมิตธ์ (Linda Smith) รปภ. ประจำพิพิธภัณฑ์ Baltimore Museum of Art รู้สึกว่าคนมักมองข้ามรปภ. ทั้งที่คนเหล่านี้ถูกพบเห็นได้มากที่สุด เธอจึงตัดสินใจเป็นภัณฑารักษ์ จัดแสดงงานศิลปะที่สรรค์สร้างโดยรปภ.เสียเอง มีทั้งผลงานของเพื่อนร่วมงานและของตัวเธอเอง ซึ่งมีคนซื้อกลับไปเสียด้วย! ซึ่งมันช่วยให้พวกเขาไม่รู้สึกเกรงกลัวกับงานศิลปะที่แสดงบนผนังพิพิธภัณฑ์อีกต่อไป

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกฝ่าย โดยมีการจัดการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่รปภ. โดยเริ่มต้นจากการให้ความรู้ ทำความเข้าใจ ผ่านการล้อมวงคุย ไม่ยัดเยียดความรู้ทางศิลปะมากนัก แต่เน้นที่สิ่งที่ต้องนำไปใช้ โดยกำหนดเนื้อหาคร่าวๆ 4 ประเด็น ได้แก่

  1. หอศิลปกรุงเทพฯ มีความเป็นมาอย่างไร (ประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์)

  2. หอศิลปกรุงเทพฯ มีอะไรให้ดูบ้าง

  3. ผลงานศิลปะ ที่จัดแสดงอยู่ในหอศิลปะกรุงเทพฯ นั้น สำคัญอย่างไร

  4. สามารถดูแลรักษาผลงานศิลปะ ที่จัดแสดงอยู่ในหอศิลปกรุงเทพฯ ด้วยวิธีการใดได้บ้าง

การอบรมนี้มีจุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ รปภ.ทุกคนมีความมั่นใจที่จะเข้าไปพูดคุย แนะนำกับผู้ชมมากขึ้น ผ่อนคลายความตึงเครียดและความเป็นทางการของหอศิลป์ไปได้มาก พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจงานทุกชิ้นอย่างลึกซึ้ง แต่อย่างน้อย ‘มนุษย์’ ที่จะเข้าไปสื่อสารต่อกัน อาจช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อพิพิธภัณฑ์ทั้งสำหรับผู้เข้าชมเอง รวมถึงตัวพวกเขาเอง ที่รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ที่มากไปกว่าการเฝ้าดูอย่างเคร่งเครียดราวกับหุ่นยนต์

อย่างที่เราพยายามเสนอในคอลัมน์ Museums NOW ว่าในยุคที่ความรู้สามารถหาได้ง่ายและเร็ว (และฟรี) จากอินเตอร์เน็ต พิพิธภัณฑ์จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนิยามตนเองใหม่ ไม่ใช่แค่การเลือก คัด และจัดแสดงเท่านั้น แต่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อม และรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไปจากเดิม ต้องทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุก สามารถประยุกต์ใช้ความรู้นั้นได้ในชีวิตประจำวัน และทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ที่ได้จากการเข้าไปในพิพิธภัณฑ์อย่างไม่สิ้นสุด

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพิพิธภัณฑ์มองข้ามฟันเฟือนสำคัญ และศักยภาพของบุคคล ที่สามารถสร้างความเป็นมนุษย์ให้กับองค์กร สร้างความรื่นรมย์ให้กับผู้ใช้ และที่สำคัญเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมในสังคม

ที่มา:

ขอบคุณภาพถ่าย และข้อมูล จาก อาจารย์อนิวัฒน์ ทองสีดา และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

https://th.wikipedia.org/wiki/ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

https://www.nytimes.com/2013/03/21/arts/artsspecial/museum-guards-on-life-beyond-the-galleries.html

Tags: , , , , ,