วันนี้ (18 มิถุนายน 2567) ก่อนวุฒิสภาจะลงมติผ่านพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เริ่มต้นผลักดันสมรสเท่าเทียม ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum โดยแสดงความรู้สึกยินดีกับประชาชนทุกคน และกล่าวถึงการต่อสู้ในสภาฯ ที่ได้สะท้อนให้เห็นว่า ความเท่าเทียมนั้นสำคัญอย่างไร
“โดยส่วนตัว มองว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดก่อน โดย ณ วันนั้นมีการพูดถึงเรื่องกฎหมาย ‘คู่ชีวิต’ กับกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นยังมีข้อถกเถียงอยู่มาก จนมาถึงสมัยนี้พบว่า สมรสเท่าเทียมได้กลายเป็นแคมเปญหาเสียงของหลายพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี
“ทุกคนเข้าใจว่าการสูญเสียโอกาสของผู้มีความหลากหลายทางเพศมันเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ในที่สุดมันก็เกิดขึ้นในประเทศไทย รู้สึกว่านี่คือชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง”
สำหรับหลักการสำคัญคือ เพศหลากหลายสามารถจดทะเบียนสมรสโดยได้รับสิทธิในทางกฎหมาย ได้รับสวัสดิการต่างๆ ในฐานะคู่สมรส โดยยังมิใช่สามีภรรยา รวมถึงสิทธิในมรดก รวมถึงสามารถรับบุตรบุญธรรมได้
ในวันนี้ ภาคประชาสังคมได้เตรียมเฉลิมฉลองกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านที่ประชุมวุฒิสภา โดยจะเคลื่อนขบวนจากอาคารรัฐสภาไปยังทำเนียบรัฐบาล และเคลื่อนไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในช่วงเย็นต่อไป
ขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาล พรรคก้าวไกล และฝั่งภาคประชาชนเตรียมผลักดันต่อได้แก่กฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านาม โดยเป็นร่างกฎหมายให้บุคคลสามารถเลือกใช้คำนำหน้านามให้ตรงกับเจตจำนงในเพศสภาพ ตามความสมัครใจ และให้สิทธิในการเลือกคำหน้านามที่เป็นกลาง หรือสิทธิไม่ระบุคำหน้านาม เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศ
แม้ร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ของพรรคก้าวไกล ถูกปัดตกไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ธัญวัจน์ยังเตรียมร่างฉบับใหม่เพื่อเสนอต่อสภาฯ ขณะที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าจะผลักดันร่างกฎหมายนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ ธัญวัจน์ยังเดินหน้ากฎหมายให้ ‘เปลี่ยนเพศ’ โดยนับจากนี้ต้องการให้ประชาชนเดินไปยังที่ว่าการอำเภอ แล้วสามารถ ‘เปลี่ยนเพศ’ ได้เหมือนกับเปลี่ยนชื่อ โดยอยู่ในความรับผิดชอบชองกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการทำทะเบียนราษฎร โดยร่างฉบับนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม ธัญวัจน์ยังกังวลว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านอาจไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว และขอให้ประชาชนคอยจับตาดูต่อไป
นอกจากนี้ ยังฝากถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ บทบัญญัติ กฎกระทรวง ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่กล่าวถึงคำว่า ‘สามีภรรยา’ ให้หมายรวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียม ทั้งด้านการจัดการทรัพย์สิน ผลประโยชน์ในด้านภาษี และสวัสดิการในฐานะคู่สมรส
“เพราะถ้าไม่ผ่าน มันก็ไม่เท่าเทียม แต่เชื่อว่าผ่าน แล้วจะมีแค่ 2 ประเด็นเท่านั้นที่จะต้องรอแก้กฎหมายต่อไป คือการตั้งครรภ์ทางเทคโนโลยี กับเรื่องการขอสัญชาติให้คู่สมรส ที่ยังเป็นที่ถกเถียง” ธัญวัจน์ทิ้งท้าย
Tags: สมรสเท่าเทียม, ครูธัญ, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, Love Right(s) Here, ก้าวไกล