(1)
เศรษฐกิจไม่ดี หุ้นตก ปลดพนักงาน กลายเป็นภาพอันคุ้นชินของวงการสื่อไทย นับเนื่องตั้งแต่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีตัดสินใจปิดกิจการ ‘เลย์ออฟ’ พนักงานมากกว่า 100 คน จนตามมาด้วย ‘โดมิโน’ วงการสื่อ หลายช่องตัดสินใจเลย์ออฟพนักงานแบบเปิดเผย แบบ ‘เป็นข่าว’ ขณะที่อีกหลายช่องเลือกจะเลย์ออฟพนักงานอย่างเงียบเชียบ ไม่ให้เสียชื่อเสียง
ขณะที่สื่ออื่นๆ บางแห่งตัดสินใจ ‘แช่แข็ง’ จำนวนพนักงาน ไม่ให้รับเพิ่ม บางแห่งตัดสินใจลดต้นทุน ตัดโปรเจกต์ใหม่ๆ เป็นการเตรียมตัวรับมือหากเจอลมพายุพัดเข้ามา
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการประมาณการณ์ว่า ในปี 2567-2568 นี้ เศรษฐกิจจะไม่ได้ดีอย่างที่ใครหลายคนคาดการณ์ ภาระผูกพันของวงการสื่อไทยคือทุกอย่างถูกผูกติดกับ ‘งบโฆษณา-ประชาสัมพันธ์’ ที่ห้างร้านองค์กรก็ไม่กล้าจ่าย ลดได้ลดเช่นกัน เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทยังไม่กล้าแม้แต่จะลงทุน ลังเลที่จะขยายงาน ขยายขนาด ผลกระทบก็ลงมาที่องค์กรสื่อสารมวลชนอันเป็น ‘ปลายทาง’
เป็นระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น หลังจากเมื่อหลายปีก่อน วงการ ‘นิตยสาร’ และหนังสือพิมพ์ เคยเจอมาก่อนหน้าแล้ว ปิดตัวไปแล้วระยะหนึ่ง
และเป็นภาพที่หลายคนไม่เคยคิดล่วงหน้าเท่าไรนัก
(2)
หากย้อนเวลากลับไป ประเทศไทยในปี 2556 วันที่เริ่มเปิดประมูลทีวีดิจิทัล ครั้งนั้น บรรดาคนที่อยู่ในแวดวงอย่างผม ต่างตื่นเต้นกับการประมูล ทุกคนรู้ดีว่าทศวรรษก่อนหน้านั้น ช่องโทรทัศน์ที่อยู่ใต้สัญญาณของรัฐ คือ 3 5 7 9 นั้น ‘อู้ฟู่’ มากเพียงใด เอเจนซีต่างแย่งชิงกันหาสล็อตโฆษณาในรายการของผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ทั้งรายการเล่าข่าวตอนเช้า รายการเล่าข่าวตอนกลางคืน ‘ข่าว’ กลายเป็นสิ่งที่ทำเงินมากที่สุด เม็ดเงินโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ปี 2555 นั้นอยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านบาท เป็น 58% ของเงินโฆษณาทั้งหมด
ตอนนั้นทุกคนหวังว่า 6.8 หมื่นล้าน ที่อยู่ในเค้กก้อนเดิม เมื่อหั่นให้เค้กจำนวนชิ้นมากขึ้น จะทำให้ทีวีช่องใหม่ๆ เข้ามาแชร์เม็ดเงินโฆษณาเหล่านี้ได้อีกเท่าตัว สำทับด้วยหากเศรษฐกิจดีขึ้น เส้นทางอนาคตรุ่งโรจน์ ก็จะทำให้เม็ดเงินโฆษณาเข้ามาอีกหลายเท่าตัว มีการพูดถึงตัวเลขโฆษณาหลักแสนล้านเพียงในระยะเวลาไม่กี่ปี
นั่นทำให้เมื่อถึงเวลาประมูลทีวีดิจิทัล ต่างคนต่างกดกันจนมันมือ เวิร์คพอยท์กดไป 2,355 ล้านบาท สำหรับช่องคุณภาพ SD ช่อง 3 เสนอประมูลทีวีดิจิทัลสูงสุด 3,530 ล้านบาท กลุ่มทีวีพูลประมูลทีวีดิจิทัลไป 2 ช่อง ช่องข่าว 1,328 ล้านบาท ช่องเด็กประมูลไป 648 ล้านบาท โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจุดจบจะมาเร็วกว่าที่คิด
(3)
ต้องไม่ลืมว่า การเริ่มออกอากาศทีวีดิจิทัลนั้นอยู่ที่ช่วงเดือนเมษายน 2557-พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานของการเมืองไทยพอดิบพอดี กระทั่งมีการ ‘ยึดอำนาจ’ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทีวีดิจิทัลที่เคยหวังว่าจะเป็น ‘อนาคต’ ก็เจอ Shortcut ด้วยการห้ามเสนออะไรแหลมคม ช่องข่าวที่กระทบทันทีก็เช่นอมรินทร์ทีวี ที่เคยหวังว่าจะเป็นช่องข่าวคุณภาพ มีรายการอย่าง Amarin Newsnight ออกอากาศ หวังจะเป็นแบบ BBC Newsnight มีคนอย่าง ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สร้างทีมขึ้นมาใหม่ พอต้องพูดเรื่องแหลมคมช่วงนั้น อย่างเรื่องการวิพากษ์การรัฐประหาร ก็กลายเป็นทีมนี้ต้องอันตรธานหายไปจากหน้าจอทันที และอมรินทร์ก็กลายเป็นเด่นด้วยรายการอย่าง ทุบโต๊ะข่าว มานับจากนั้น
ขณะที่อีกหลายช่องถูกล็อกด้วยกฎของ กสทช. ที่กลายเป็นหนึ่งในเครื่องไม้เครื่องมือของ คสช. ซึ่งออกกฎไว้ดักทางว่า ห้ามนำเสนอข่าวที่สร้างความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ช่องอย่างวอยซ์ทีวีก็ต้องหยุดเสนอข่าวการเมืองไประยะหนึ่ง เพื่อหนีการถูกจับตามองโดย กสทช.
โทรทัศน์ไทยในยุคที่ไร้สิทธิเสรีภาพ ถูกควบคุมโดยรัฐบาล กลายเป็นโทรทัศน์ที่ขาดสีสัน ช่วงเวลาที่คนดูทีวีน้อยที่สุดคือช่วงเวลาที่ควรจะมีคนดูมากที่สุดอย่างวันศุกร์ เวลา 20.00 น. ซึ่งกลายเป็นรายการทีวี คืนความสุขให้คนในชาติ ที่ฉายทุกช่อง ไม่เว้นกระทั่งช่องการ์ตูน โดยมีตัวละครสำคัญคือผู้นำรัฐประหารออกมาคุยกับประชาชนอย่างน่าเบื่อหน่าย
แล้วยุคของ คสช.ก็จากไป พร้อมกับหลายเจ้าที่เริ่มอยากขอคืนใบอนญาต โดยมี ‘ทีวีพูล’ เป็นผู้กรุยทางนำร่อง
(4)
แต่แน่นอนเรื่องสิทธิเสรีภาพไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียว เรื่องสำคัญอีกรอบก็คือการ ‘ปิดตัว’ เพราะค่าใช้จ่ายในการทำทีวีนั้นสูงเกินไป เป็นการ Disrupt แบบเดียวกับที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารเคยเจอเมื่อสื่อออนไลน์มาถึง
จากเดิมนั้น การทำทีวีเป็นสิ่งที่ต้นทุนสูง การจะถ่ายทอดสดจากในสนามจำเป็นต้องมีรถถ่ายทอดสดคันใหญ่ ยิงสัญญาณดาวเทียมก่อนส่งกลับมายังสถานีโทรทัศน์ ในเวลาต่อมา การถ่ายทอดสดเหลือเพียงเป้ใบเดียว และในที่สุด เพียงโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวก็ถ่ายทอดสดได้ ขณะที่ในสตูดิโอนั้น เดิมอาจต้องมีคนทำงานพร้อมกันนับสิบ แต่ ณ วันนี้ 3 คน ก็สามารถอัดรายการสด ออกอากาศไปได้ ไม่ใช่แค่ทั่วประเทศ แต่ออกอากาศได้ทั่วโลก
สื่อทีวีเจอ Disrupt ทั้งจากกระบวนการทำงาน ทั้งจากแพลตฟอร์ม บางช่องเวลาละครเคยเป็นเงินเป็นทอง กลายเป็นช่องที่ฉายแต่ละครรีรัน แม้แต่รายการข่าวที่เคยขายโฆษณาแพงที่สุด ยังต้องเปิดช่องในยูทูบ เพราะไม่ต้องห่วงเรื่องสล็อตเวลาและไม่ต้องกังวลเรื่องกฎ กสทช.
ขณะที่วิธีคิดการทำทีวีแบบเดิม ยิ่งทำยิ่งเข้าเนื้อ ยิ่งขาดทุนสะสมไปเรื่อยๆ ผู้ประกาศข่าวที่เคยเงินเดือนเป็นแสน เงินเดือนหลายแสน กลายเป็นหมดความจำเป็น เมื่ออินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์หลายคนน่าเชื่อถือกว่า มีความรอบรู้มากกว่า ไม่ใช่เพียงอ่านอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ทับถมกันจนกลายเป็นเหตุให้ถึงเวลาต้องหยุดการจ้างงานแบบเดิม กลายเป็นตั้งโจทย์ใหม่ ทำอย่างไรให้องค์กรนั้น Lean ที่สุด ยังอยู่ในระดับที่ทำให้องค์กรพออยู่รอดได้ โดยไม่ต้องขาดทุนสะสมหนักกว่านี้
วิกฤตในโลกทีวีรอบนี้อาจต่างกับวิกฤตรอบก่อนๆ ทุกคนรู้ดีว่าที่ต้องจากลากันวันนี้ จะไม่มีวันไหนในอนาคตที่ทุกคนได้กลับมาพร้อมหน้ากันอีกแล้ว
(5)
คำถามสำคัญในวันที่วงการเต็มไปด้วยความยากลำบากก็คือแล้ว ‘โดมิโน’ รอบนี้ จะไปจบวงที่ตรงไหน บางคนบอกว่าเป็น ‘อุปาทานหมู่’ ด้วยเห็นว่า เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร ที่มีทั้งอำนาจรัฐ ทั้งเงิน ยังแบกวอยซ์ทีวีต่อไม่ไหว บรรดาช่องที่ขาดทุนมากกว่า หรือมีสายป่านสั้นกว่า ต่างก็รีบลดขนาด ลดต้นทุนกันก่อนที่จะจมหนักกว่าเก่า แต่สุดท้ายเห็นจะไม่ใช่ องค์กรสื่อที่มีขนาดเกิน 200 คน เริ่มกลับมามองที่ขนาดไม่เกิน 100 คนอีกครั้ง ขณะที่องค์กรที่มีขนาดเกิน 1,000 คน ตั้งเป้าว่าทำอย่างไรให้ไม่เกิน 500 คน
ใช่, สัญญาณเศรษฐกิจของประเทศยังแย่ต่อไป ประเมินจีดีพีของปีนี้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาด เม็ดเงินโฆษณาของปี 2566 ยังอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้าน น้อยกว่าเมื่อปี 2555 อยู่ 1.4 หมื่นล้าน ขณะที่ประเมินปี 2567 ยังคาดว่าจะน้อยกว่าเดิม เค้กที่มีหลายก้อนจะมีหลายก้อนเท่าเดิม แต่ถูกแชร์ไปยังฝั่งออนไลน์ และอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น แน่นอนวิธีทั้งหมด ไม่ได้ ดูดี การ ‘ข้ามสื่อ’ ไปใช้บริการอินฟลูเอนเซอร์ ยิ่งทำให้วงการนี้แย่ลงๆ
แต่นั่นคือวิถีของโลกยุคใหม่ ยุคที่ทุกคนไม่ได้จำเป็นกับโลก และโลกเหลือแค่คนที่จำเป็นเท่านั้น
ทีวีดิจิทัลจะหมดสัญญาในอีก 4 ปี ในวันนั้นอาจไม่มีใครเหลือต่อสัญญาประมูลรอบต่อไปอีกแล้ว ผมเคยคิดเล่นๆ ว่าถึงวันนั้น ทีวีของไทยอาจกลับไปเหลือไม่กี่ช่องเหมือนเดิม โดยเฉพาะช่องที่ไม่ต้องเสียค่าประมูล ขณะที่ช่องอื่นๆ เพียงเปิดแอ็กเคานต์ยูทูบ อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทีวีสามารถลิงก์ได้โดยตรง
แต่ก็อีก ทั้งหมดนี้คือเรื่องของวันนี้ ไม่มีใครอาจจินตนาการได้ว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า หน้าตาสื่อจะเป็นอย่างไร เพียงแต่หากสภาพแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจยังเป็นเช่นนี้ เราล้วนเป็นหนึ่งในโดมิโนที่คอยดูว่าคนหน้าๆ จะล้มมาก่อนเมื่อใด
วาระสุดท้ายวันนี้ คนวงการสื่อทีวีจึงต้องหาทางเอาตัวรอดทางอื่น หลายคนหาทางเปิดช่องตัวเอง หาคนที่มีบุคลิก ‘ออนไลน์’ เพื่อเอาตัวรอด แต่หลายคนจะไม่สามารถไปต่อได้ในวงการนี้
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่โลกบีบให้เราล้วนกลายเป็นคนที่จำเป็นน้อยลง
Tags: สื่อ, สื่อมวลชน, ทีวีดิจิทัล, From The Desk