รถไฟเทียบชานชาลา เวลา 05.00 น. เสียงระฆังปลุกให้ผู้โดยสารรถไฟสายใต้ตื่นจากการหลับใหล แม้เวลานี้ฟ้ายังไม่สาง แต่แสงไฟรอบข้างชานชาลาก็ส่งตรงมายังสายตาของคนด้านในตัวรถ จนมองเห็นสภาพแวดล้อมรอบกายชัดเจน 

“ถึงพัทลุงแล้ว” ช่างภาพสะกิดเราให้ตื่น

ตลอดระยะทาง 856 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดพัทลุง ผ่านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน สิ่งเดียวที่ช่วยยืนยันว่า รถไฟขบวนนี้เข้าใกล้เมืองพัทลุงแล้ว คือ ‘เทือกเขาบรรทัด’ ที่กินพื้นที่ 4 จังหวัดตั้งแต่พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล

คำว่า ‘บรรทัด’ มาจากลักษณะการวางตัวของทิวเขาที่ตรงเสมอไม่เหลื่อมกัน ชาวบ้านจึงเปรียบการวางตัวของภูเขาเสมือนกับความตรงของไม้บรรทัด เทือกเขาบรรทัดจึงกลายมาเป็นชื่อที่นิยมเรียกขานกันมาจนถึงปัจจุบัน 

เสมือนบิดามารดาตั้งชื่อให้บุตร คนพัทลุงตั้งชื่อให้ภูเขา เหตุเพราะคนพื้นถิ่นอิงอาศัยความอุดมสมบูรณ์จากเทือกเขาลูกนี้เลี้ยงปากท้องมาตั้งแต่บรรพกาล สัตว์น้ำและของป่าล้วนสรรหาได้บนเทือกเขาบรรทัด กระทั่งยุคสมัยแห่งเงินตรา สินค้าที่ชาวพัทลุงเก็บหามาค้าขายก็มีที่มาจากป่าเขา 

‘สายน้ำเมืองลุง’ เป็นอีกทรัพยากรที่เทือกเขามอบให้คนพื้นที่ราบ ทั้งสายน้ำจากคลองทรายขาว คลองส้านแดง คลองใหญ่ ฯลฯ ล้วนมีต้นกำเนิดจากตาน้ำบนเทือกเขาบรรทัด หอบเอาความอุดมสมบูรณ์ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มเมืองพัทลุง ทว่าพักหลังนี้ สายน้ำแห่งเมืองลุงกลับไม่อิสระเหมือนเก่า นับแต่การเข้ามาของโครงการจัดการน้ำโดยกรมชลประทาน ตั้งแต่โครงการระดับเล็กไปถึงโครงการระดับใหญ่ แปรสภาพคลองน้ำธรรมชาติหลายจุดเป็นคลองคอนกรีต ถอนต้นไม้ สูบทราย ดูดกินมรดกจากเทือกเขาจนไม่หลงเหลือเค้าความเป็นธรรมชาติใดๆ เอาไว้

น้ำที่แห้งเหือดไม่สามารถเสริมประมงน้ำจืดหว่านแหจับปลา ส่วนป่าที่ถูกถอนก็มิใช่ระบบนิเวศที่เอื้อแก่เหล่าสัตว์ป่ามาอยู่กิน แม้โปรเจกต์น้อยใหญ่จากหน่วยงานภาครัฐจะมาจากความ ‘หวังดี’ อยากคิด อยากทำ เพื่อประชาชน แต่เสียงร่ำร้องขอให้ยุติของชาวบ้านกลับเป็นเสียงดังที่ไร้การเงี่ยหูฟังจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 

“ถ้าไม่มีน้ำในคลองแล้ว ผมก็ไม่รู้จะเอาวัวไปอาบน้ำที่ไหน ก็คงต้องไปหาคลองอื่น ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน” 

เด็กเลี้ยงวัวพูดขึ้น มองด้วยแววตาไร้หนทาง แม้แต่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ก็ยังมิอาจรู้ได้ว่า ชีวิตที่ไม่มีคลองจะเป็นอย่างไรต่อไป

เด็กกำลังอาบน้ำให้วัว ใต้เงาของต้นคล้ายอายุหลายร้อยปี

1

ต้นคล้าย ทราย คลอง 

ในปี 2548 เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านควนอินนอโม และบริเวณที่ลำน้ำส้านแดงพาดผ่าน รับรู้การมาของโครงการขุดลอกคลองส้านแดง โครงการภายใต้การดูแลของกรมชลประทานที่ 16 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสภาพคลองส้านแดงให้เป็นคลองรับน้ำ แก้ปัญหาอุทกภัยพื้นที่โดยรอบ 

ตามโครงการของกรมชลฯ หากโครงการผ่านคลองธรรมชาติแห่งนี้จะขยายความกว้างของตลิ่งรวม 40 เมตร ขุดลอกคลองเพื่อเพิ่มความลึก โดยมีพื้นที่ดำเนินโครงการตามแนวลำน้ำคลองส้านแดงระยะทางเกือบ 20 กิโลเมตร งบประมาณดำเนินโครงการอยู่ที่ 700 ล้านบาท 

บ้านควนอินนอโมอยู่ในพื้นที่โครงการ 

นี่เป็นเหตุผลที่ในวันนี้เราอยู่ ณ บ้านควนอินนอโม อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง

เดือนพฤษภาคมเป็นต้นฤดูฝนแดนใต้ บ้านควนอินนอโมยังร้อนร้าย ความร้อนขับไล่ทั้งคนและสัตว์ออกนอกพื้นที่แจ้ง หาใต้ถุนบ้านและชายคาเป็นที่กำบังแสง ท่ามกลางความเวิ้งว้างเงียบเชียบ มีสิ่งดึงดูดใจโบกพลิ้วตามลมอยู่หน้าหมู่บ้าน 

“ชาวอำเภอตะโหมด ขอคัดค้านโครงการขุดลอกคลองส้านแดง หยุดทำลายธรรมชาติ

“หยุดโครงการขุดลอกคลองส้านแดง พวกเราไม่ต้องการให้ขุดลอกคลองส้านแดงแห่งนี้”

ป้ายข้อความขนาด 4 บรรทัด จัดเรียงเล็กใหญ่เพื่อเน้นหนักข้อความที่ต้องการให้ผู้อ่านสนใจ ทุกป้ายมีคำว่า ‘ส้านแดง’ เขียนไว้โดดเด่น หากกะระยะด้วยสายตา ดูเหมือนว่าป้ายเหล่านี้จะมีมากกว่าป้ายจราจรในควนอินนอโมเสียอีก 

คลองส้านแดงเป็นคลองน้ำธรรมชาติ รับน้ำจากเทือกเขาบรรทัด ไหลรวมกับแหล่งน้ำสายอื่นจากทิศตะวันตกผ่านหมู่บ้านควนอินนอโม สายน้ำหล่อเลี้ยงทุกชีวิตที่มันพาดผ่าน นำความอุดมสมบูรณ์จากเทือกเขาสูงลงสู่ที่ราบ ต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นอยู่เต็มริมคลอง แม้แต่คำว่า ส้านแดง ก็ยังมีที่มาจากไม้พื้นถิ่นที่ขึ้นอยู่ริมธารน้ำสายนี้

ทว่าความอุดมสมบูรณ์นี้กำลังถูกทำให้อยู่ใต้อาณัติของรัฐอย่างเงียบๆ มานับ 10 ปี

ป้ายคัดค้านโครงการขุดลอกคลองส้านแดงถูกติดไว้บริเวณศาลารอรถ

 

“นี่ก็รอบที่ 3 แล้วที่ชาวบ้านออกมาสู้ ห่างกันในแต่ละรอบก็ประมาณ 5-6 ปี”

ชาวบ้านกลุ่มท่องเที่ยวพัทลุงเริ่มบอกเล่าการต่อสู้ สำทับข้อมูลที่อยู่บนป้ายไวนิล 

“ถ้าโครงการเริ่ม เรากระทบแน่นอน ท่องเที่ยวพัทลุงมีจุดขายคือธรรมชาติ เราต้องการลำน้ำ หากเขาทำลายธรรมชาติทุกอย่างก็จบ”

ความอุดมสมบูรณ์ไม่ได้นำมาเพียงกุ้งและปลาที่เลี้ยงปากท้องชาวบ้าน หากแต่ความงดงามของไม้ใหญ่และเหล่าก้านไผ่ที่สานกันเป็นอุโมงค์ในลุ่มน้ำแห่งนี้ กลายเป็นเหตุผลให้คนทั้งในถิ่นและต่างถิ่น ตบเท้ามาเยี่ยมเยือน ด้วยหวังสัมผัสธรรมชาติและความยิ่งใหญ่จากสายน้ำคลองส้านแดง 

“นี่คือต้นคล้าย หรือระฆังเงินระฆังทอง อายุก็ประมาณ 300 ปีได้ ตั้งแต่ผมยังไม่เกิด ตอนนี้ผมอายุ 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ผมเกิดต้นไม้ต้นนี้ก็โตเท่านี้แหละ น้ำป่าไหลมาไม่รู้กี่รอบต้นไม้ต้นนี้ก็ยังอยู่ที่เดิม จะมีแค่ส่วนบนเท่านั้นที่อาจหักออกไปบ้าง แต่มันก็แตกยอดขึ้นมาใหม่” ชาวบ้านว่า 

ต้นคล้ายกลายเป็นตัวละครเอกที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างเข้ามาชื่นชม ลำต้นอวบอ้วน สูงใหญ่ พร้อมดอกขาวสวย เป็นเสน่ห์จากการสรรสร้างของสายน้ำ นอกจากสายน้ำที่มอบต้นคล้ายเป็นทรัพย์สมบัติแก่คนในท้องที่ และมอบให้กับเด็กเล็กได้ปีนป่าย สิ่งที่ชาวบ้านตอบแทนต้นไม้ คือการจัดกิจกรรมชมดอกคล้ายคลายเหงาใต้ต้นไม้ใหญ่ในทุกปี  

ทว่าโครงการขุดลอกคลองส้านแดง มุ่งหมายปรับสภาพคลองตลอดแนวคลองเดิม เมื่อริมตลิ่งทั้งสองฝั่งน้ำถูกขุดขยาย ในตอนท้ายของโครงการ คลองดินถูกปรับสภาพกลายเป็นคลองคอนกรีต และด้วยการขยายคลองขึ้นไปบนฝั่งมากกว่า 20 เมตร ต้นคล้ายริมฝั่งคลองก็มิวายต้องถูกถอนออกจนราบ และไม้ไผ่ที่ให้ความชุ่มชื้นริมคลองก็จะถูกยกหายไปด้วย

“เขาจะขยายฝั่งคลอง ขุดเข้าไปบนฝั่ง ฝั่งละ 20 เมตร ต้นไม้บริเวณริมฝั่งเดิมก็จะหายไปหมดเลย และความชุ่มชื้นของคลองก็จะหายไปด้วย เพราะไม้ไผ่เป็นไม้ที่สร้างความชุ่มชื้น สร้างน้ำไว้ในตัว ตอนกลางคืนต้นไผ่จะคลายน้ำ”

ที่สำคัญคือ การถอนดึงไม้ใหญ่ริมคลอง ดาดคอนกรีตริมตลิ่งทั้งสองฟาก อาจทำให้ส้านแดงสูญเสียอัตลักษณ์ในฐานะคลองน้ำธรรมชาติ และอาจเป็นอย่างชาวบ้านกลุ่มล่องแก่งว่า หากโครงการขุดลอกรุกคืบเข้ามา อาชีพริมน้ำที่เคยสร้างรายได้ก็เป็นอันต้องจบลง ด้วยเหตุผลที่ว่า “คงไม่มีใครอยากล่องแก่งชมคลองคอนกรีต”

ยังไม่ทันออกจากการสนทนากับชาวบ้าน เรือคายักลำแรกแล่นผ่านตาเราไป สายน้ำกลั่นแกล้งเขย่าเรือให้โคลงเคลงเล็กน้อย พอทำให้ผู้โดยสารบนเรือส่งเสียงกรีดร้องด้วยความตื่นเต้น ตามมาด้วยสีหน้าแย้มยิ้มเล็กๆ ในภายหลัง

“ยิ้มให้กล้องหน่อย” ฉันพูด 

หากวันหนึ่งต้นไม้ริมคลองส้านแดงที่เรือลำน้อยๆ เหล่านี้แล่นผ่านถูกถอนดึง และสายน้ำที่เคยไหลเอื่อยกลายเป็นซากธารน้ำเหือดแห้ง ไม่เพียงแต่วิถี ‘กินกับป่าหากับน้ำ’ ของควนอินนอโมที่จะหายไป แต่รอยยิ้มพิมพ์ใจที่เราได้รับจากเด็กน้อยบนเรือคายัก ก็จะสูญหายไปเช่นเดียวกัน

สีหน้าของเด็กน้อยบนเรือคายัก ล่องผ่านลำน้ำส้านแดง

สภาพปัจจุบันของคลองลายพัน

2

ลายพัน

“ที่ชาวบ้านเขาเห็นด้วย เพราะเห็นว่าได้ค่าเวนคืนกันหรอก แต่ช่วงหลังเขาเห็นคลองลายพันไม่สวย ชาวบ้านแถวคลองลายพันก็ไม่ได้เงินเวนคืนสักบาทหนึ่ง เขาก็เลยส่งซิกกันว่า น้องๆ อย่าให้เขาขุดนะ พี่โดนหลอกแล้ว” 

บังหลี-รอสลี ยาพระจันทร์ ชมรมการท่องเที่ยวชุมชน ยืนคุยกับเราท่ามกลางแดดร้อนจ้าที่บ้านควนอินนอโม 

จากคำบอกเล่าของรอสลี โครงการขุดลอกคลองลายพันเกิดขึ้น ก่อนการมาของโครงการขุดลอกคลองส้านแดง และการก่อสร้างบริเวณคลองลายพันนี้ ยังดำเนินไปภายใต้ความไม่รู้ของชาวบ้านบางส่วน กระทั่งโครงการแล้วเสร็จในปี 2567 ภาพความสมบูรณ์ของโครงการจึงปรากฏขึ้นแก่สายตาผู้มีเรือกสวนไร่นาริมคลอง

ห่างจากคลองส้านแดงเพียง 21 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของคลองลายพัน อดีตคลองน้ำธรรมชาติที่รับน้ำมาจากเทือกเขาบรรทัด ด้วยเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติไม่แตกต่างจากคลองส้านแดง ระบบนิเวศโดยรอบจึงไม่แตกต่างกันมากนัก เพิ่มเติมเข้ามาจากประวัติการใช้คลองคือการสัญจรของชาวบ้านที่ใช้คลองลายพันเป็นเส้นทางหลัก

เมื่อเข้าสู่ปี 2566 คลองลายพันก็กลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างของชลประทานที่ 16 ชาวบ้านบางส่วนรับรู้ความเคลื่อนไหวของกรมชลประทานผ่านเสียงกล่อมให้มอบที่ดินแลกกับเงินค่าเวนคืนพื้นที่ บางส่วนรับรู้ผ่านการเรียกไปรับไม้ริมคลองที่ถูกตัดแบ่งเป็นท่อน 

“อยู่ๆ ก็เข้ามาทำ” ว่าพรือ ทอนตรน เพจท้องถิ่นของคนชุมชนกงหรา อำเภอกงหรา ย้อนพูดถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ชลประทานเริ่มลงเสาเข็ม ขุดคลองลายพัน 

เจ้าของเพจว่าพรือ ทอนตรน มีที่ดินอยู่ในพื้นที่ริมคลองที่โครงการของชลประทานพาดผ่าน แต่กลับไม่รับรู้ข่าวสารใดอันเกี่ยวข้องกับการขุดลอกคลองที่เกิดขึ้น หลังโครงการแล้วเสร็จเขารับรู้ผ่านการถูกเรียกให้ไปเอาไม้

“รัฐบาลไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่สำรวจผลกระทบต่อชาวบ้าน ไม่ทำอะไรเลย

“เขาตัดไม้ เเล้วมาบอกชาวบ้านทีหลัง ว่าให้ไปเอาไม้นะ” 

ความเงียบ และความไม่ชัดเจน เป็นกลยุทธ์หลักของชลประทานในแต่ละโครงการชลประทาน ไม่เพียงแต่การขุดลอกคลองลายพันเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกโครงการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตในพัทลุง 

เสียง “จะให้ค่าเวนคืน” จากกรมชลฯ ที่กล่อมเกลาให้ชาวบ้านยอม ‘เสียสละ’ ผืนดินให้ กลายเป็นเสียงสยองที่ชาวบ้านบอกเล่ากันปากต่อปาก แม้ว่าพื้นที่คลองลายพันเป็นหนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการไหลบ่าของธารน้ำบนเทือกเขาสูง ทำให้พื้นที่แห่งนี้น้ำท่วมบ่อย ครั้นท่วมไม่เกินชั่วโมงก็เหือดแห้งไป และหากมองความเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตาบนคลองลายพัน ที่โครงการจากชลประทานมอบให้ในวันนี้ สิ่งที่ได้ยังคงไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสีย 

“ปลาน้อยลงมาก ตั้งแต่โครงการเข้ามา”

เสียงจากชายหาปลาที่เคยไม่ห่างจากคลองลายพัน 

สภาพคลองน้ำของชายหาปลาในวันนี้เริ่มเน่าเหม็น และหากกวาดสายตาไปทางด้านซ้ายเรากลับพบกับการพังทลายของคอนกรีตนวัตกรรมทานกระแสน้ำจากกรมชลฯ​ 

คงไม่ทันแล้วหากจะให้คลองลายพันกลับมาเป็นเหมือนเก่า ทว่าภาพเหล่านี้จะกลายเป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับทุกชีวิตในคลองส้านแดงในวันที่โครงการขุดลอกได้รุกคืบเข้ามาใกล้ชุมชน 

คนหาปลาในลำน้ำใกล้เคียงกับคลองลายพัน

ปลาน้ำจืดที่ชาวบ้านจับได้

3

บทเรียนราคาแพง

17 คือตัวเลขโครงการอ่างเก็บน้ำและเขื่อนตามแนวต้นน้ำบนเทือกเขาบรรทัด ในจำนวนนี้มี 5 จุดที่ดำเนินการแล้ว ยังไม่นับรวมโครงการพื้นที่ลุ่มน้ำอีกนับ 10 โครงการ ความเหมือนกันของโครงการนับ 10 นี้คือการมีเบื้องหลังเป็นกรมชลประทาน 

“ตั้งแต่ปี 2533 เราไม่เคยมีชาวบ้านเรียกร้องเลยสักครั้งว่าให้สร้างเขื่อน มีแต่บอกว่าให้กรมชลฯ แก้ปัญหาเรื่องน้ำ” 

เอ (นามสมมติ) นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งในจังหวัดพัทลุง บอกกับเราถึงความไม่ยึดโยงกันระหว่างชลประทานกับชาวบ้านผู้กินอยู่ในพื้นที่ 

25 ธันวาคม 2557 เป็นวันแรก ที่ชาวบ้านในพื้นที่เหมืองตะกั่ว อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง รับรู้ว่ามีบางสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นเหนือหลังคาบ้านตัวเอง สิ่งนี้เป็นคอนกรีตขนาดยักษ์ตั้งขวางเส้นทางน้ำคลองเหมืองตะกั่วที่เคยไหลรินอย่างอิสระ 

“ที่ชาวบ้านแถวนี้รู้ เพราะว่าอยู่ดีๆ กรมชลฯ ก็มาบอกจะมาจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดินให้”

ในสายตาของคนเหมืองตะกั่วที่เห็นผลกระทบของเขื่อนข้างเคียงถึง 2 แห่ง นำมาซึ่งความกลัวของเหล่าเกษตรกรทั้งปลูกผัก เลี้ยงปลา ด้วยว่ามีบทเรียนจากโครงการชลประทานก่อนหน้า ทั้งเขื่อนคลองหัวช้างที่กลายสภาพเป็นคลองเน่าเหม็น และภาพจำความแห้งแล้งของเขื่อนป่าบอนที่ปรากฏสู่สายตาในทุกปี 

“คนจากเขื่อนป่าบอนเขาเป็นเครือญาติกันกับคนเหมืองตะกั่ว เขาก็จะมาเล่าให้ฟังว่าเขาสูญเสียอะไรไปบ้าง และคนที่อยู่ล่างเขื่อนป่าบอน เขานอนไม่หลับนะ เพราะกังวลว่าในช่วงหน้าฝนเขื่อนจะพังไหม เพราะเขื่อนไม่ได้แข็งแรง”

งบประมาณเกือบ 100 ล้านบาท ถูกใช้เพื่อซ่อมแซมเขื่อนผุพัง เหตุเพราะแล้งน้ำเหนือเขื่อน ทว่าเขื่อนป่าบอนยังคงดำรงตั้งอยู่ โดยไม่ยี่หระกับเสียงด่าทอของชาวบ้าน ในพื้นที่ที่สูญเสียทรัพยากรล้ำค่าอย่าง ‘น้ำ’ ไป สิ่งเดียวที่พอทำได้คือการบอกปากต่อปากเตือนผู้คนที่อยู่อีกฝั่งให้ระวังการมาของความหวังดี ในรูปแบบของเขื่อนชลประทาน 

หลุมทราย เป็นร่องรอยจากการดูดทรายเพื่อนำไปขาย

สิ่งที่น่ากังวล คือการ ‘ฮั้ว’ กันในผลประโยชน์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ปลายสายบอกข้อมูลสำคัญกับเราอีกอย่างคือ ‘กลุ่มอิทธิพล’ ที่มีเบื้องหลังเป็นนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีผลประโยชน์ร่วมจากโครงการนี้ทั้งจากการกินเปอร์เซ็นต์เงินโครงการ และการ ‘ขายไม้-ค้าทราย’ ที่ถูกถอน ถูกดูดจากพื้นที่เขตการสร้างเขื่อน 

ข้อกล่าวหาก็คืออาจมีนักการเมืองระดับชาติ-เครือข่ายได้รับประโยชน์จากเปอร์เซ็นต์ของโครงการ ทั้งยังได้จากค่าต้นไม้ที่ถูกถอนออกจากป่ามูลค่ามหาศาล อย่างโครงการหัวช้างก็เสียต้นไม้ไปเกือบหมื่นไร่

เสียงจากปลายสายยังตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีหน่วยงานบางอย่างในจังหวัดที่ได้ผลประโยชน์ชนิด ‘ตามน้ำ’ จากโครงการเหล่านี้ด้วยเป็นทอดๆ 

หน่วยงานราชการมิอาจค้านตัดกำลังการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว ด้วยว่า “ไม่อยากมีปัญหากับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เนื่องจากข้าราชการมาดำรงตำแหน่งไม่นานก็ต้องย้าย อีกทั้งยังเกรงกลัวว่าจะมีผลต่อความก้าวหน้าของราชการ” และอาจต้องระวังไว้ซึ่งชีวิตเมื่อตั้งตัวตรงข้ามหน่วยงานรัฐ เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคม 2557 หลังการเสวนาคัดค้านเขื่อนเหมืองตะกั่วเพียง 3 วัน บ้านของผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ก็พรุนไปด้วยอาวุธหนัก ทั้งยังถูกกล่าวหาว่า จัดตั้งคนเพื่อคานการมาของโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว 

นอกจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเหล่าแกนนำที่ทานต่ออิทธิพลมืด โครงการของชลประทานก็มีหลายจุดที่พิสดาร ทั้งการปลอมแปลงการประชุมนำชื่ออ้างทำประชาคมเขื่อน หรือจะเป็นการศึกษาสิ่งแวดล้อมแบบ Copy-Paste จากเขื่อนนอกพื้นที่ใส่ลงไปในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนเหมืองตะกั่ว

ปี 2546 ภายใต้ความเงียบงันของโครงการ หน่วยงานราชการกลับมีการเรียกคุยกันเฉพาะกลุ่มอย่างลับๆ แน่นอนว่าไร้การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ มีเพียงผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายก อบต.ที่ตบเท้าเข้าร่วมการประชุมและตั้งตนเป็นปากเสียงแทนชาวบ้านโดยไม่จำเป็น 

“กลุ่มนี้เข้าไปคิดแทนชาวบ้าน ในสมัยนั้นชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย เพราะข้อมูลไม่ถึงชาวบ้าน แค่ผู้ใหญ่รับทราบ ชาวบ้านก็ถือว่ารับทราบแล้ว” เอระบุ 

ครั้งหนึ่งระหว่างปี 2545-2546 มีการจัดประชุมภายใต้หัวข้อเศรษฐกิจพอเพียง แต่เมื่อชาวบ้านต่างจับจองที่นั่ง สิ่งที่ได้รับกลับกลายเป็นข้อมูลโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว พร้อมกับการเร่ขอรายชื่อเพื่อเป็นหลักฐานสำทับว่าหน่วยงานรัฐได้ทำประชาคมกับประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

“ช่วงปี 2545-2546 เป็นการประชุมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ไปเปลี่ยนหัวข้อว่าเป็นการประชุมอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว และขอรายชื่อคนที่เข้าประชุมเอาไปใช้สำหรับการประชาคม รายชื่อที่เข้ามาประชุมมาในนามโครงการเศรษฐกิจพอเพียง แล้วเอารายชื่อนั้นไปประชุมเรื่องเขื่อน แล้วบอกว่าคุยเรื่องเขื่อนไปด้วย เอามาแทรกนิดหนึ่ง แล้วบอกว่าชาวบ้านได้ผ่านกระบวนการรับทราบการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่วแล้ว” เอเล่า

ไม่เพียงการประชุมกำมะลอที่ล่อหลอกชาวบ้านเข้าร่วม แต่กระบวนการอื่นใดอันเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ก็ถูกปลอมแปลงไปเสียจนไม่รู้ว่าข้อมูลที่มีอยู่จริงหรือเท็จ เชื่อถือได้มากน้อยขนาดไหน หลักฐานที่สำคัญคือการคัดลอกข้อมูลการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) ที่ศึกษาโดยรัฐล้วน ไร้การขอความร่วมมือจากองค์กรอิสระและประชาชน 

ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา IEE อ่างเก็บน้ำเหมือนตะกั่วในครั้งนี้ คือการ ‘คัดลอก’ เอาผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นจากอ่างเก็บน้ำคลองท่าพล จังหวัดเพชรบูรณ์

“ชลประทานแก้ไขข้อมูลในการศึกษาสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นไม่หมด เพราะเล่มหนามาก บางส่วนของหนังสือมีคำว่าคลองท่าพล เพชรบูรณ์ หรือบอกว่าพัทลุงเป็นส่วนหนึ่งของภาคเหนือ ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นของจังหวัดเพชรบูรณ์เยอะมาก รวมทั้งชื่อของอ่างเก็บน้ำก็เป็นชื่อของอ่างเก็บน้ำในพัทลุง” 

การทำ IEE อย่างจริงจังอาจทำให้เห็นผลลัพธ์ที่มากกว่าแค่การสูญเสียป่า และระบบนิเวศทั้งเหนือ-ท้าย อ่างเก็บน้ำ และท่าทีของชลประทานอาจตีความได้ว่า ‘กลัว’ จะไม่ได้ทำโครงการจนต้องกระเสือกกระสนหาหนทาง เพื่อให้โครงการได้บรรลุอย่างที่ใจหวัง 

แม้ในวันนี้เขื่อนเหมืองตะกั่วจะถูกชะลอโครงการออกไป และไม่ชัดเจนว่าสัญญาณของโครงการจะกลับมาในช่วงใดอีก ทว่าความไม่ชัดเจนนี้เองที่เป็นสูตรสำคัญ นำมาซึ่งความสับสน ตามมาด้วยความเงียบ ไม่แตกต่างจากคลองลายพันในวันนี้ 

มากกว่าทรัพยากร เราอาจต้องมาถกเถียงว่าเหตุใด ชีวิตของคนหนึ่งคน หรือหลายคนจึงอันตราย เพียงเพราะต่อสู้ คัดค้านโครงการรัฐที่มีผลลบต่อวิถีชีวิตของตนเอง ดังเช่นที่เอถามไถ่เราในช่วงท้ายการสนทนาว่า “ผมกลัวอันตราย ขอใช้นามสมมติแทนได้ไหม”

สปิลเวย์อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง

4

ชีวิตริมฝั่งคลองส้านแดงในวันนี้ยังคงเงียบสงบ ไร้การรบกวนจากโครงการภาครัฐ ด้วยพลังการคัดค้านของคนในพื้นที่ ยังผลให้โครงการขุดลอกคลองต้องชะลอออกไป

เมื่อไม่มีภัยคุกคามจากภาครัฐ ต้นไม้น้อยใหญ่ ทราย และสัตว์น้ำยังคงอยู่คู่คลองแห่งนี้ เป็นมรดกจากเทือกเขาบรรทัดอันอุดมสมบูรณ์มอบให้แก่ชีวิตเบื้องล่าง 

เสียงกรีดร้องของเด็กเจือสุขปนมากับสายลม เคล้าเสียงนก และเสียงน้ำยังยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของที่แห่งนี้อย่างชัดเจน 

“สนุกไหม” เราถามเด็กที่อยู่ล่างคลองส้านแดง ผลุบๆ โผล่ๆ อยู่บนน้ำ 

“สนุก ผมมาเล่นทุกวัน” เด็กน้อยขานตอบ

“ถ้าเขาทำเป็นคลองปูน จะมาเล่นน้ำในคลองนี้อีกไหม” เราย่อยคำให้เด็กน้อยเข้าใจได้ง่ายที่สุด ทว่าเรากลับได้คำตอบ “ไม่อยากให้เป็นปูน อยากให้เป็นทราย” 

ฟังดูไม่มีอะไรอื่นนอกจากความไร้เดียงสา ที่เป็นปกติของเด็กวัยซน แต่หากลองมองสีหน้าของเด็กในคลองวันนี้ และกลับมามองสีหน้าใหม่ในวันที่โครงการเริ่มขึ้น

คำถามก็คือเราจะยังมี ‘โอกาส’ ได้ยืนมองพวกเขาในคราบแห่ง ‘ความสุข’ แบบที่เราเห็นในวันนี้อีกหรือไม่

อุโมงค์ต้นไผ่คลองส้านแดง

พื้นน้ำในคลองส้านแดงส่วนใหญ่เป็นดินทราย

Fact Box

  • คลองส้านแดง เกิดจากการรวมตัวของธารน้ำโหล๊ะจันกระ คลองหัวช้าง และคลองนุ้ย รวมกัน ณ บริเวณบ้านโหล๊เหรียง หมู่ที่ 8 และบ้านหัวช้างหมู่ที่ 2 ในพื้นที่ตำบลตะโหมด จังหวัดพัทลุง
  • คลองน้ำมีลักษณะคดเคี้ยว มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ริมฝั่งเป็นจำนวนมาก รากของไม้ใหญ่เหล่านี้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในคลองส้านแดง
  • น้ำในคลองไหลไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่ทะเลสาบสงขลา รวมระยะทาง 15 กิโลเมตร
  • พื้นที่ริมคลองส้านแดงเป็นพื้นที่เกษตร เช่น ยางพารา สวนผลไม้
  • ด้วยลำน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีปลาอาศัยอยู่ในคลองส้านแดงหลายชนิด เช่น ปลาหวด ปลาหลวน ปลาแก้มช้ำ ปลาขี้ขม ปลาขะหยา ปลาขอ ปลาหมู ปลาข้าว
  • คลองส้านแดงถูกใช้เป็นเส้นทางการคมนาคมติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆ หรือใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญในอดีต เช่น กล้วย ของป่า น้ำมันยาง

Tags: , , , , , , , ,