Asexuality ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปคุ้นเคยสักเท่าไหร่

ในภาษาไทย มีคนแปล Asexuality ว่า การ ‘ไม่ฝักใจทางเพศ’ ซึ่งทำให้หลายคนคิดว่า คนที่เป็น Asexual นั้น เป็นพวกถือพรหมจรรย์ จนมีอะไรบางอย่างเหมือนพระสงฆ์หรือบรรพชิตไปโน่น

ที่จริงแล้ว การเป็น Asexual นั้นเป็นเรื่องที่ทั้ง ‘ซับซ้อน’ และ ‘เจ็บปวด’ กว่าการถือพรหมจรรย์ (Celibecy) มากนักนะครับ

บทความ ‘How the internet created the asexual movement’ ได้เล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งในสมัยที่เธอเรียนมัธยมปลาย เธอรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากเพื่อน เพราะในขณะที่เพื่อนๆ กระโจนเข้าสู่ภาวะวัยรุ่น มีความปรารถนาทางเพศต่างๆ นานา กรี๊ดกร๊าดกิ๊วก๊าวกับผู้ชาย เธอกลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นแบบนั้น

ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าเธอไม่ ‘ตกหลุมรัก’ กับใครนะครับ เพราะเธอมีอาการ Crush On หรือสะดุดตาปิ๊งปั๊งกับผู้ชายอยู่เหมือนกัน แต่เป็นอาการปิ๊งปั๊งแบบที่ไม่ได้มี ‘แรงขับทางเพศ’ (Sexual Pull) เข้ามาเกี่ยวข้อง เธอไม่เข้าใจว่าคนเราสามารถมีเซ็กซ์ได้อย่างไร โดยเฉพาะเซ็กซ์กับคนที่ไม่ได้รัก

เธอบอกว่า สมัยนั้น คำว่า Asexual มีใช้เฉพาะในวิชาชีววิทยาเท่านั้น คือพูดถึงพืชที่ไร้เพศ ไม่ได้แบ่งเป็นเพศผู้-เพศเมีย แต่เธอไม่ได้เป็นพืช เธอก็เลยลองค้นคว้าหาข้อมูลดู แล้วในที่สุดเธอก็ไปพบกับเว็บไซต์ชื่อ AVEN หรือ asexuality.org (AVEN ย่อมาจาก Asexual Visibility and Education Network)

ในหน้าเพจของ AVEN บอกไว้ว่า การเป็น Asexual นั้นไม่เหมือนการ ‘ถือพรหมจรรย์’ หรือ Celibacy นะครับ เพราะว่าการถือพรหมจรรย์เป็น ‘ทางเลือก’ (Choice) แต่ Asexuality นั้้นเป็น Sexual orientation อย่างหนึ่ง แล้วที่สำคัญก็คือ คนที่เป็น Asexual นั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนเฉยชา ไม่รู้สึกรู้สมอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่จำเป็นต้องเป็นคนด้านชา ไร้หัวจิตหัวใจนะครับ เพราะ Asexual ก็สามารถมีอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เหมือนคนทั่วไปได้ทั้งนั้น รวมทั้งอารมณ์รัก อารมณ์เกลียดด้วย และ Asexual ก็สามารถและต้องการความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดด้วยเหมือนกัน เพียงแต่เขาหรือเธอไม่ได้ต้องการ ‘เซ็กซ์’ เท่านั้น

ผู้ก่อตั้ง AVEN คือเดวิด เจย์ (David Jay) เขามีความรู้สึกแบบเดียวกับเด็กสาวในบทความข้างต้น โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้กับ The Atlantic ว่าพอเข้าสู่วัยรุ่น จู่ๆ ดูเหมือนทุกคนรอบตัวก็หันไปหมกมุ่นกับเรื่องเดียวกันหมด คือเรื่องเพศ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเรื่องการพยายาม ‘แสดงออก’ ทางเพศด้วย เช่น ผู้หญิงก็แต่งหน้าทาปาก ผู้ชายก็หันไปสมาทานวัฒนธรรมแบบแมนๆ ขับรถ กินเหล้า สูบบุหรี่ เพื่อจะได้ดึงดูดเพศตรงข้าม หรือพูดคุยกันถึงดาราหนังที่เซ็กซี่ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เดวิดไม่เข้าใจเลยสักนิด

เขาบอกว่าเขาเหมือนไม่มี ‘จุดอ้างอิง’ (Reference Point) ที่จะเอาไว้เข้าใจสิ่งที่คนพวกนี้กำลังเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทำให้เขาหวาดกลัว มันอาจฟังดูน่าขันสำหรับคนอื่น แต่ถ้าเป็นคนที่ตกอยู่ในสภาวะแบบนั้นจริงๆ ก็เหมือนเด็กชายในซีรีส์ Stranger Things ที่เผชิญหน้ากับภาวะที่คนอื่นไม่เข้าใจเลย

ฟรอยด์บอกเราว่า สำหรับคนทั่วไป เซ็กซ์คือ ‘แรงขับ’ อย่างหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ และเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้เราทำโน่นนั่นนี่ แสดงออกแบบนั้นแบบนี้ แต่สำหรับเดวิดแล้วไม่ใช่เลย เซ็กซ์ไม่ใช่แรงขับใดๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่ส่วนสำคัญแม้สักกระผีกริ้นในชีวิตของเดวิดด้วย นั่นทำให้เดวิดต้องพยายามทำความรู้จักกับตัวเอง เรียนรู้ว่า Asexuality มันคืออะไรกันแน่ แล้วในที่สุด เขาก็ก่อตั้ง AVEN ขึ้นมาในปี 2001 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างความเข้าใจให้กับคนที่เป็น Asexual ทั้งหลายในโลก

AVEN ให้นิยาม Asexuality เอาไว้ว่าหมายถึง ‘Someone who does not experience sexual attraction’ คือหมายถึงคนที่ไม่มี ‘ประสบการณ์’ ในเรื่องการดึงดูดหรือชอบพอทางเพศ แต่ปัญหาก็คือ มันไม่มีเครื่องตรวจอะไรจะมาวัดได้ว่า คนนั้นคนนี้เป็น Asexual หรือเปล่า เพราะบางคนก็อาจคิดว่าตัวเองเป็น Asexual ช่วงหนึ่งในชีวิตก็ได้ โดยเฉพาะขณะกำลังสำรวจ ตั้งคำถาม หรือยังไม่แน่ใจกับ Sexuality ของตัวเอง

Asexual นั้น แม้ไม่ได้สนใจเรื่องเพศหรือขาดความสนใจทางเพศในคนอื่น (ไม่ว่าจะเป็นเพศใดๆ น่ะนะครับ) แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังอาจมีความสัมพันธ์แบบ ‘โรแมนติก’ ได้ คือพวกเขาสามารถ ‘รัก’ ได้โดยไม่อยาก ‘ใคร่’ แล้วที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่ว่าคนกลุ่มนี้จะมีเซ็กซ์ไม่ได้นะครับ ถ้าเป็น Asexual ที่ไม่ได้มีความผิดปกติทางร่างกายจนมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ Asexual บางคนก็สามารถมีเซ็กซ์ได้เหมือนกัน แต่ใน Asexual บางคน ก็ทำไม่ได้แม้กระทั่งสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง อย่างในผู้ชายอาจมีการฝันเปียก แต่ตัว ‘ความฝัน’ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องเพศ (เช่น ไม่ได้ฝันถึงเพศตรงข้ามที่เย้ายวนเซ็กซี่) เป็นเพียงการกำจัดน้ำอสุจิส่วนเกินของร่างกายออกมาเท่านั้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าคนที่เป็น Asexual สามารถสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองได้ เนื่องจากการสำเร็จความใคร่ไม่ได้มีเป้าหมายทางเพศเสมอไป แต่สามารถใช้เป็นกิจกรรมปลดปล่อยความเครียดได้ด้วย หรือในบางกรณี Asexual ก็สามารถมีเซ็กซ์กับคนที่ตนรักได้ ซึ่งถ้าดูจากภาพนอกก็อาจจะบอกว่า อ้าว! ไหนว่าเป็น Asexual ไง ทำไมมีเซ็กซ์ได้ แต่มีการศึกษาพบว่า คนที่เป็น Asexual อาจถูก ‘ปลุกเร้า’ (Arouse) ทางร่างกายได้ ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวในชาย หรือคลิตอริสแข็งตัวในหญิง แต่ลึกลงไปในระดับจิตใจและอารมณ์แล้ว พวกเขาไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองถูกปลุกเร้าทางเพศอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้ร่างกายจะตอบสนองทางเพศ แต่จิตใจไม่ได้รู้สึกอะไรด้วย นั่นจึงทำให้ Asexual เป็นอาการที่คนเข้าใจได้ยาก

Asexuality ถูกนำไปเปรียบเทียบกับอาการผิดปกติทางเพศที่เรียกว่า Hypoactive Sexual Desire Disorder หรือ HSDD ซึ่งคนคนนั้นจะมีความรู้สึกทางเพศหรือมีความอยากทางเพศน้อยกว่าคนทั่วไป แต่ Asexuality ไม่เหมือนกับ HSDD เพราะคนที่เป็น HSDD อาจรู้สึกเป็นทุกข์ที่ตัวเองมีแรงขับทางเพศน้อย จึงนำไปสู่อาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีภาวะซึมเศร้า บุคลิกภาพแปรปรวน ฯลน ทว่า Asexual ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ จึงมีภาวะผิดปกติอื่นๆ น้อย Asexual จึงไม่ถือว่าเป็น Disorder หรือความผิดปกติ รวมทั้งไม่ใช่ความบกพร่องทางเพศ (Sexual Dysfunction) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนที่เป็น Asexual จะไม่ยอมรับวิธีคิดที่ว่า Asexuality เป็นความบกพร่องทางเพศอย่างหนึ่ง แต่ถือว่านี่เป็น Sexual orientation เหมือนกับการเป็น LGBTQ หรือเป็นหญิงเป็นชาย โดยมีการประมาณตัวเลขคนที่เป็น Asexual ว่า ในโลกนี้มีประชากร Asexual อยู่ราว 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้คนที่เป็น Asexual ทุกข์ทรมาน เพราะหาคนที่เป็นเหมือนกันและเข้าใจกันและกันไม่ได้ แต่เมื่อเกิดโลกออนไลน์ขึ้น คนที่เป็น Asexual ก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ แลกเปลี่ยนเรื่องราว ประสบการณ์​ และหาวิธีต่อสู้ต่อรอง รวมถึงทำความเข้าใจกับโลกร่วมกันได้

ใครสงสัยว่าตัวเองเป็น Asexual ลองเข้าไปอ่านเรื่องของ Asexuality ใน AVEN ดูได้นะครับ เผื่อจะเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น

Tags: , ,