เกมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์โลกประจำปี 2018 กำลังเริ่มขึ้น ถ้วยรางวัลสำหรับทีมชาติผู้ชนะวางรออยู่อย่างสงบนิ่ง ผิดกับการแข่งขันในปี 1966 ที่จู่ๆ ถ้วยรางวัลก็หายไปกลางวันแสกๆ ก่อนที่อังกฤษ ซึ่งได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ จะทำพิธีเปิดเกมการแข่งขันด้วยซ้ำ

ทั้งสองเป็นพี่น้องกัน ที่ลงรอยกันบ้าง ไม่ลงรอยกันบ้างในบางเรื่อง แต่สิ่งที่หนุ่มผู้เป็นพี่ชายอวดให้ดูในวันที่ 20 มีนาคม 1966 นั้น ทำเอาน้องชายถึงกับพูดไม่ออก

ซิดนีย์ คูกัลเลียร์ (Sidney Cugullere) เดินไปพบเรจ คูกัลเลียร์ (Reg Cugullere) ซึ่งยืนรออยู่ที่โถงด้านหน้าเวสต์มินสเตอร์ เซ็นทรัล ฮอลล์ และแย้มเสื้อแจ็กเก็ตของตนให้น้องชายดู เขาซุกรูปปั้นคล้ายเทพกรีกสีทองไว้ในนั้น ความสูงของมันประมาณ 35 เซนติเมตร น้ำหนักราวสี่กิโลกรัม

เรจ คูกัลเลียร์รู้จักรูปปั้นนั้นตั้งแต่แวบแรกที่เห็น คนทั่วทั้งอังกฤษรู้จัก รวมถึงคนทั้งโลกก็รู้จัก มันคือถ้วยรางวัลแชมป์ฟุตบอลโลก ที่ประติมากรชาวฝรั่งเศสเป็นคนออกแบบในยุคทศวรรษ 1920s มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘คูป ฌูลส์ ริเมต์’ (Coupe Jules Rimet) เพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานฟีฟ่า-ฌูลส์ ริเมต์ ผู้มอบหมายให้จัดทำถ้วยรางวัลขึ้น

ซิดนีย์ คูกัลเลียร์ เป็นคนขโมยถ้วยรางวัลนี้ไป ในบริเวณที่ไม่ไกลจากสำนักงานใหญ่ของสก็อตแลนด์ยาร์ด ไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่เกมการแข่งขันฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้น แม้ปีนั้น เจ้าภาพอังกฤษจะคว้าชัยเหนือคู่แข่งทีมชาติเยอรมนีไป 4 ต่อ 2 ในรอบชิงชนะเลิศ แต่ชาวอังกฤษคนแรกที่ถือถ้วยรางวัลชูขึ้นฟ้ากลับไม่ใช่บ็อบบี มัวร์ (Bobby Moore) กัปตันทีมชาติอังกฤษ หากเป็นซิดนีย์ คูกัลเลียร์ สมาชิกแก๊งหัวขโมยแห่งลอนดอน ที่มีชื่อเล่นว่า ‘มิสเตอร์ คราฟตี’ (Mr. Crafty)

แม้ว่าจะสามารถติดตามเอาถ้วยรางวัลที่ถูกขโมยไปกลับคืนมาได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ก็ตาม ทว่าเรื่องราวการสูญหายของมันกลับกลายเป็นปริศนาอยู่นานกว่าสิบปี และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสืบอยู่นับสิบคน

มีการค้นคว้าประวัติอาชญากรรมนานถึงสิบเดือน มีการพูดคุยกับพยานแวดล้อม และมีการรื้อค้นเอกสารต่างๆ ก่อนจะพบข้อมูลและชื่อของคนขโมยถ้วยรางวัล แหล่งข่าวหนึ่งมาจาก แกรี คูกัลเลียร์ ลูกชายของเรจ คูกัลเลียร์ ซึ่งเป็นน้องชายของหัวขโมย

สองพี่น้องไม่อาจพูดเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อีกแล้วเพราะเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้หลายปี เพียงแต่มีข้อสงสัยเกิดขึ้นระหว่างพิธีฝังศพของพวกเขา เจ้าหน้าที่สืบสวนพบพิรุธบางอย่างบนหลุมฝังศพ มันคือพวงหรีดที่ประดิษฐ์ขึ้นตามแบบและรูปทรงของถ้วยรางวัลที่โด่งดัง

แต่เรื่องราวมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครจะสามารถขโมยสิ่งของสำคัญอย่างเช่นถ้วยรางวัลสำหรับการแข่งขันระดับโลกอย่างนั้นได้ตอนกลางวันแสกๆ จากสถานที่จัดนิทรรศการซึ่งมีผู้คนสัญจรเข้าออกมากมาย ท่ามกลางการอารักขาอย่างดี

มันเริ่มต้นจากกระบวนการประชาสัมพันธ์ สมาพันธ์ฟุตบอลอังกฤษต้องการให้ชาวอังกฤษรู้สึกอินและมีส่วนร่วมกับเกมการแข่งขันระดับโลก ที่ประเทศของตนเป็นเจ้าภาพ จึงทำเรื่องยืมถ้วยรางวัลมาวางโชว์ในนิทรรศการ ซึ่งปกติแล้ว ถ้วยรางวัลนี้จะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีที่สำนักงานใหญ่ของฟีฟ่าในเมืองซูริค เมื่อสมาพันธ์ฟุตบอลอังกฤษทำเรื่องขอไป จึงมีการอนุญาต ภายใต้ข้อแม้ว่าจะต้องดูแลและเฝ้าถ้วยรางวัลตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

บริษัท สแตนลีย์ กิบบอนส์ (Stanley Gibbons) รับถ้วยรางวัลต่อจากสมาพันธ์ฟุตบอลอังกฤษ เพื่อมาโชว์ในนิทรรศการ ‘กีฬาและแสตมป์’ ของตน ในช่วงเดือนมีนาคม 1966 ภายในเวสต์มินสเตอร์ เซ็นทรัล ฮอลล์

ถ้วยรางวัลซึ่งถูกยืมมาจัดแสดงนั้น ไม่เพียงเป็นที่ดึงดูดใจเฉพาะผู้เข้าร่วมงานทั่วไป หากยังเป็นที่ต้องตาของสองพี่น้องหัวขโมยด้วย ซิดนีย์ คูกัลป์เลียร์ ที่เคยต้องโทษจำคุกด้วยข้อหาต่างๆ นานามาแล้วถึง 25 ปี ไม่ได้คิดอยากขโมยถ้วยรางวัลเพราะเงิน เขาลงมือขโมยเพียงเพราะอยากกวนประสาทเล่นเท่านั้น เนื่องจากการอารักขาของเจ้าหน้าที่หละหลวมเกินไป

ถ้วยรางวัลอันทรงค่าและมีประกันในวงเงิน 30,000 ปอนด์ แต่กลับถูกละเลย ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยออกไปกินมื้อกลางวันที่ด้านนอก และทิ้งถ้วยรางวัลไว้ในห้องที่ล็อกกุญแจ อีกทั้งตู้กระจกที่วางครอบถ้วยรางวัลไว้นั้นก็ไม่ได้ติดสัญญาณหรือป้องกันการขโมยแต่อย่างใด

แกรี-ทายาทตระกูลคูกัลเลียร์ที่ยังมีชีวิต บอกเล่ากับนักข่าวของหนังสือพิมพ์ เดอะ มิร์เรอร์ ซิดนีย์แทบไม่เชื่อตัวเองด้วยซ้ำว่า เขาสามารถเข้าไปหยิบถ้วยรางวัลมาได้อย่างง่ายดายขนาดนั้น หลังจากนั้นเขากับน้องชายยังเดินชมนิทรรศการต่อ โดยมีถ้วยรางวัลที่ขโมยมาได้ และข้าวของอื่นๆ ซุกซ่อนอยู่ในเสื้อแจ็กเก็ต

แต่เหตุผลของการขโมยถ้วยรางวัล จะเป็นเพราะต้องการกวนประสาทเสียทีเดียวคงไม่ใช่ หลังจากนั้นสองพี่น้องได้ยื่นข้อเสนอกับทางสมาพันธ์ฟุตบอลอังกฤษเป็นเงิน 15,000 ปอนด์เพื่อไถ่ของคืน ระหว่างการส่งมอบเงินค่าไถ่ เอ็ดเวิร์ด เบ็ตช์ลีย์ (Edward Betchley) ตัวกลางที่ไปรับมอบเงิน ถูกตำรวจจับกุม และต่อมาถูกตัดสินโทษจำคุกสองปี เนื่องจากเขาไม่ยอมปริปากสารภาพความจริง การขโมยครั้งนั้นจึงยังเป็นปริศนา

หนึ่งสัปดาห์หลังจากถูกขโมย ถ้วยรางวัลใบนั้นก็ไปโผล่ขึ้นที่ย่านอัปเปอร์ นอร์วูด ทางใต้ของกรุงลอนดอน งานนี้ต้องขอบคุณสุนัขชื่อ ‘พิกเคิลส์’ ที่บังเอิญไปเจอ และไม่ช้ามันก็กลายเป็นสุนัขขวัญใจชาวอังกฤษ พิกเคิลส์เป็นสุนัขของเดวิด คอร์เบ็ตต์ (David Corbett) คนขับเรือข้ามฟากแม่น้ำเธมส์ ในวันนั้นเขาพาสุนัขคู่ใจออกไปเดินเล่นที่ถนนริมฝั่งแม่น้ำ เจ้าพิกเคิลส์ตรงเข้าไปในพุ่มไม้ข้างทาง ก่อนกระชากลากสิ่งของในห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ออกมา

คอร์เบ็ตต์แกะห่อกระดาษนั้นออก และรีบพุ่งไปที่สถานีตำรวจทันที เจ้าของสุนัขได้รับเงินรางวัล 6,000 ปอนด์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่ารายได้ทั้งปีของเขาถึงสี่เท่า นอกจากนั้นประชาชนชาวอังกฤษยังตอบแทนพิกเคิลส์ด้วยความรัก แฟนฟุตบอลนับร้อยส่งขนมและอาหารกระป๋องให้มัน และแน่นอน ในพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลกมันก็มีโอกาสไปนั่งอยู่บนชั้นวีไอพี ชาวอังกฤษหลายคนเชื่อว่า พิกเคิลส์เป็นตัวนำโชคที่นำชัยชนะมาสู่ประเทศเจ้าภาพในปีนั้น

เป็นเรื่องน่าแปลกอยู่เหมือนกันที่ไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่า ถ้วยรางวัลใบนั้นถูกทิ้งขว้างอยู่ในพุ่มไม้ได้อย่างไร อาจเพราะถ้วยรางวัลนั้นโด่งดังเกินกว่าจะไปเที่ยวเร่ขายให้ใคร นั่นเป็นการคาดเดาของแกรี คูกัลเลียร์ อีกทั้งสองพี่น้องหัวขโมยไม่ได้นำมันไปหลอมหรือทำลาย คงเพราะมันเป็นถ้วยรางวัลระดับโลก

ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลให้พวกเขาตัดสินใจนำของไปคืน

 

 

อ้างอิง:

Fact Box

‘คูป ฌูลส์ ริเมต์’ เป็นถ้วยรางวัลรูปปั้นเทพกรีกที่เริ่มมีตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมีการเรียกชื่อรางวัลว่า ‘World Cup’ และเปลี่ยนเป็น ‘Challenge Cup’ (ถ้วยรางวัลที่ให้เมื่อได้ชัยชนะมากกว่าหนึ่งครั้ง) ซึ่งทีมชาติบราซิลได้รับตอนเป็นแชมป์โลกครั้งที่สาม ในปี 1970 (แต่ในปี 1983 ถ้วยรางวัลของบราซิลถูกขโมยไปและไม่มีใครพบเห็นอีกเลย)

หลังจากปี 1970 เริ่มมีถ้วยรางวัลใหม่ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘FIFA World Cup’ เป็นผลงานของนักออกแบบชาวอิตาเลียนชื่อ ซิลวิโอ กัซซานิกา (Silvio Gazzaniga) เป็นรูปทรงสูง 36 เซนติเมตร น้ำหนัก 6.175 กิโลกรัม ทำจากทองคำ 18 กะรัต ฐานของถ้วยมีเส้นสองชั้นทำจากมรกต บริเวณใต้ฐานของถ้วยสลักปีและชื่อของทีมผู้ชนะเลิศฟุตบอลโลก ซึ่งในปี 1974 แชมป์โลกคือ เยอรมนีตะวันตก และเป็นชัยชนะครั้งที่สองถัดจากปี 1954

หากไม่นับสมาชิกฟีฟ่าจำนวนไม่กี่คนแล้ว จะมีก็เพียงผู้บริหารประเทศและนักฟุตบอลทีมที่ชนะเลิศเท่านั้น ที่มีโอกาสได้สัมผัสกับถ้วยรางวัลฟีฟ่า เวิลด์ คัพ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 1974 จวบถึงปัจจุบัน แชมป์โลกที่มีโอกาสได้สัมผัสถ้วยรางวัล มีราว 220 คน

Tags: , , , ,