หลายครั้งที่โซเชียลมีเดียเป็นกระจกสะท้อนความต้องการของคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TikTok แอปพลิเคชันขวัญใจของคนทุกรุ่นทุกวัย ที่เพียงแค่ปัดหน้าจอขึ้นลง ก็จะพบกับเทรนด์หลากหลายและหัวข้อมาแรงในแต่ละชั่วโมงไม่ซ้ำหน้า
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพสะท้อนดังกล่าวอาจถูกบิดเบือน จนชี้นำความคิดของสังคมอย่างผิดพลาด ปรากฏการณ์ดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่แฮชแท็ก #LeggingLegs เลือนหายไปจาก TikTok ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ขณะที่ใครหลายคนกำลังงุนงงว่า ลำพังการใส่กางเกงรัดรูปจะเป็นพิษภัยต่อมนุษยชาติได้อย่างไร?
แม้ทางแอปพลิเคชันไม่ได้ให้คำตอบอย่างแน่ชัด แต่หลายฝ่ายทั้งนักวิเคราะห์และอินฟลูเอนเซอร์กำลังตั้งข้อสังเกตว่า การแบนแฮชแท็กครั้งนี้อาจเชื่อมโยงกับค่านิยมมาตรฐานความงามในเรื่อง ‘รูปร่าง’ นำไปสู่พฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ หรือ ‘Eating Disorder’ ในบรรดากลุ่มผู้หญิง
จาก ‘Thigh Gap’ สู่ ‘Legging Legs’: มาตรฐานความงามของหุ่นที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เมื่อขาที่ดีคือ ‘ขาที่ไม่เบียด’
“ดูต้นขาของฉันสิ ฉันมีช่องว่างระหว่างขา”
“ขาของฉันเล็กมาก เมื่อใส่เลกกิง”
แม้ดูผิวเผินวิดีโอของผู้หญิงที่สวมใส่กางเกงรัดรูปจะไร้พิษสง แต่ในอีกด้านของความสวยงาม เทรนด์ดังกล่าวกำลังสร้างค่านิยมเรื่องรูปร่างผอมเพรียว ไร้เซลลูไลต์เกาะตามร่างกาย โดยเน้นย้ำบริเวณส่วนต้นขาจาก ‘ช่องว่างระหว่างขา’ เมื่อยืนเท้าชิดกัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญว่า พวกเธอเหล่านั้นผอมมากพอที่ ‘ขาไม่เบียดกัน’
อันที่จริงหากย้อนกลับไปในช่วงปี 2010-2013 เทรนด์ดังกล่าวเคยแพร่หลายในโซเชียลมีเดียในชื่อ ‘Thigh Gap’ และถูกยกย่องให้กลายเป็นค่านิยมทางความงามในยุคนั้น สะท้อนจากจำนวนแฮชแท็กในอินสตาแกรม (Instagram) มากกว่า 1.02 แสนโพสต์ และกระทู้ ‘ฮาวทู’ (How to) จำนวนมากที่พยายามแบ่งปันเรื่องราวของการให้ได้มาซึ่งต้นขาในอุดมคติ
ทว่าสิ่งที่ตามมาไม่ใช่รูปร่างตามมาตรฐานความงาม แต่คืออาการป่วยทางจิตและร่างกาย เมื่อผู้หญิงหลายคนกลายเป็นโรคการกินผิดปกติและโรคคลั่งผอม (Anorexia) เพราะการไดเอ็ต ‘ขั้นสุดโต่ง’ เพื่อให้ได้รูปร่างตามที่สังคมยอมรับ
นอกจากนี้ ค่านิยมดังกล่าวยังเป็นความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อน โดย เอลิซาเบ็ธ ซี. การ์ดเนอร์ (Elizabeth C. Gardner) ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ให้ข้อมูลกับอินไซเดอร์ (Insider) ว่า การมีช่องว่างระหว่างขาเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและความแตกต่างทางกระดูกของแต่ละคน อีกทั้งไม่ควรทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้
แม้เวลาผ่านไป แต่ค่านิยมบางอย่างยังคงหมุนวนกลับมา เช่นเดียวกับในห้วงเวลานี้ แอชลีย์ โรส ฮาร์เลย์ (Ashlee Rose Harley) อินฟลูเอนเซอร์ที่นิยามตนเองในฐานะ ‘สาวพลัสไซซ์’ แบ่งปันประสบการณ์ผ่านคลิปวิดีโอใน TikTok หลังจากเห็นเทรนด์ดังกล่าวแพร่หลายบนโซเชียลฯ ว่า เธอร้องไห้เป็นเวลา 4 ชั่วโมง เพราะไม่มีต้นขาแบบที่คนอื่นมี
“ฉันร้องไห้ประมาณสี่ชั่วโมง เพราะฉันไม่มีขาเล็กเรียว และแฟนของฉันต้องพยายามปลอบตลอดเวลา ฉันขอโทษที่รู้สึกแบบนั้น แค่อยากบอกให้พวกคุณรู้ว่า พวกคุณสวยเสมอ ไม่ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
“ค่านิยมนั้นถูกสร้างให้แค่คนเฉพาะกลุ่ม แต่มันช่างโดดเด่นเหลือเกิน” ฮาร์เลย์แสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแม้แต่คนที่มีความมั่นใจในรูปร่างอย่างเธอ ก็ยังรู้สึกไขว้เขวได้อย่างง่ายดาย
ขณะที่ ฮอลลี เอสส์เลอร์ (Holly Essler) นักบำบัดชื่อดัง วิจารณ์การแพร่หลายของเทรนด์ดังกล่าวว่า ‘น่ารังเกียจ’ และเป็นการตีตราหุ่นของผู้หญิงที่ใส่เลกกิงอย่างเฉพาะเจาะจง
“อย่าให้โซเชียลมีเดียบอกคุณว่า ร่างกายแบบนี้คือเทรนด์” เอสส์เลอร์ระบุในช่วงหนึ่งของคลิป ขณะที่คอมเมนต์บางส่วนกล่าวขอบคุณที่เธอออกมาพูดถึงค่านิยมอันเป็นพิษ ทำให้ผู้หญิงหลายคนไร้ความมั่นใจในรูปร่าง
ข้อวิจารณ์อีกด้าน: การแบน #LeggingLegs อาจไม่เพียงพอ เพราะอัลกอริทึมยังผันผวนไปตามความสนใจ
ก่อนหน้านี้ งานวิจัยใน International Journal of Environmental Research and Public Health ของปี 2023 เผยว่า การหมกมุ่นในโซเชียลมีเดียอาจนำไปสู่ความไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง และเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการกินผิดปกติ
อแมนดา ราฟฟูล (Amanda Raffoul) ผู้เชี่ยวชาญโรคการกินผิดปกติประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard Medical School) และโรงพยาบาลเด็กบอสตัน (Boston Children’s Hospital) ให้ความเห็นผ่านนิวยอร์กไทม์ (New York Times) ว่า ความเชื่อมโยงดังกล่าวเกิดจากวิวัฒนาการของโลกอินเทอร์เน็ต เมื่ออัลกอริทึมมักแนะนำคอนเทนต์ที่คล้ายคลึงกัน
เธอยกตัวอย่างในกรณีของวัยรุ่นคนหนึ่งที่ต้องการเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับ ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ แน่นอนว่าสิ่งที่ปรากฏคือวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับอาหารแคลอรีต่ำ แต่ต่อมากลับเชื่อมโยงกับคอนเทนต์การลดน้ำหนัก และบางครั้งก็นำมาสู่ข้อมูลผิดพลาดหลายประการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เมื่อคุณแบนแฮชแท็กหนึ่ง แฮชแท็กต่อไปก็จะปรากฏตัวขึ้น” ราฟฟูลเน้นย้ำให้ปรากฏการณ์ในโลกโซเชียลฯ เมื่ออัลกอริทึมมีส่วนสำคัญในการปลุกเร้าทัศนคติของคนในสังคม
ด้าน โจฮันนา แคนดัล (Johanna Kandal) ประธานบริหารองค์กร National Alliance for Eating Disorders แสดงนัยสำคัญถึงหน้าที่และบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่า ปัญหาดังกล่าวมากกว่าเสรีภาพในการแสดงออก แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นพฤติกรรมการกินผิดปกติ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น
“ฉันไม่คิดว่า เราควรเพิกเฉยภัยที่เกิดขึ้นจากอัลกอริทึม เพราะความจริงที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนสามารถเริ่มเส้นทางการดูแลสุขภาพได้ แต่ภายในชั่วขณะ พวกเขาก็เข้าสู่วังวนเนื้อหาที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกัน” แคนดัลระบุให้เห็นความผันผวนของโลกโซเชียลฯ
อ้างอิง
https://www.independent.co.uk/life-style/legging-legs-tiktok-ban-b2490004.html
https://www.nytimes.com/2024/02/06/well/move/tiktok-legging-legs-eating-disorders.html
https://abcnews.go.com/GMA/Style/legging-legs-banned-viral-tiktok-trend/story?id=106827970
https://www.businessinsider.com/guides/health/mental-health/thigh-gap
https://www.thenewdaily.com.au/life/2024/02/01/social-media-legging-legs
Tags: มาตรฐานความงาม, Beauty Standard, ความผอม, Anorexia, ผอม, ขาเบียด, Legging Legs, Thigh Gap ขาเล็ก, รูปร่าง, ค่านิยมด้านรูปร่าง, TikTok