เมื่อวานนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2024) สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) รายงานสถานการณ์ของ ลูอาดา (Lù A Da) นักเคลื่อนไหวชาวม้งจากเวียดนาม ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากสำนักงานกักกันคนเข้าเมือง (Bangkok Immigration Detention Center: IDC) ว่าถูกเจ้าหน้าที่จากเวียดนามข่มขู่ส่งตัวกลับประเทศ
ในอดีต ลูอาดาเคยเป็นมิชชันนารีและนักเทศน์ที่โบสถ์นอร์ธเธิร์น อีวานเจลลิเคล (Northern Evangelical Church) ในเวียดนาม รวมถึงหัวหน้ากลุ่มแนวร่วมสิทธิมนุษยชนชาวม้ง (Hmong Human Rights Coalition) ทว่าเขาต้องหนีออกประเทศตั้งแต่ปี 2020 หลังเผชิญการประหัตประหารทางศาสนาและเชื้อชาติ และเข้ามาในประเทศไทยเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ ลูอาดาถูกคุมขังในสำนักงานกักกันคนเข้าเมืองในวันที่ 7 ธันวาคม 2023 ด้วยข้อหาเข้าเมืองและอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมาย หลังเขาปรากฏตัวในวิดีโอของกลุ่ม Boat People SOS (BPSOS) และประณามรัฐบาลเวียดนามที่ปราบปรามและสลายการชุมนุมกลุ่มม้งใน 2 สัปดาห์ก่อนการจับกุม
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในวันที่ 28 ธันวาคม 2023 เขาพบกับเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตเวียดนามในประเทศไทย และบอกว่าทางการจะทำเอกสารเพื่อส่งเขากลับประเทศก่อนช่วงตรุษจีน ทว่าลูอาดาไม่ยอม แต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวข่มขู่ว่า จะทำร้ายญาติและคนในครอบครัวของเขา
“นายอยู่ประเทศไทย นายจะทำอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ แต่ก็ให้คิดถึงบรรดาญาติของนายที่เวียดนามไว้” ลูอาดาเล่าถึงคำพูดของเจ้าหน้าที่เวียดนามกับเรดิโอฟรีเอเชีย โดยที่เขาก็ไม่ทราบว่า บุคคลดังกล่าวมีตำแหน่งอะไรในสถานเอกอัครราชทูตเวียดนามในประเทศไทย อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยอาจให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่ข่มขู่
นอกจากนี้ ลูอาดายังแสดงความกังวลถึงพี่ชายของเขาที่กำลังตกอยู่ในสถานะยากลำบาก เพราะชาวบ้านไม่ไว้ใจหลังจากลูอาดาและครอบครัวหนีไป ทำให้ต้องย้ายไปอาศัยในจังหวัดอื่น
หลังการให้สัมภาษณ์ของลูอาดา เรดิโอฟรีเอเชียติดต่อสถานทูตเวียดนามในประเทศไทยเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานถึงการตอบกลับแต่อย่างใด
ปัจจุบัน ลูอาดาได้รับการประกันตัวด้วยเงิน 6,000 บาท จากความช่วยเหลือของทนายความ และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commission for Refugees: UNHCR) ระหว่างที่ถูกคุมขัง หลังถูกปฏิเสธในก่อนหน้านี้
สำหรับชะตากรรมของชาวม้งในเวียดนาม ลูอาดาเผยว่า พวกเขาคือชนกลุ่มน้อยที่ต้องเผชิญกับการกีดกันทางสังคม การเลือกปฏิบัติ จนถึงการทำร้ายร่างกาย อีกทั้งรัฐบาลยังพยายามปราบปรามและพรากสิทธิด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการไม่อนุมัติใบเกิด บัตรประชาชน หรือทะเบียนสมรสให้กับชาวม้งจำนวนมาก รวมถึงไม่ให้สิทธิการเข้าถึงการศึกษา การทำงาน หรือโครงการประกันสุขภาพดังที่ชาวญวณและคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับ
เหตุผลทั้งหมดนี้เกิดจากปัจจัยความแตกต่างทางศาสนา ถึงแม้รัฐธรรมนูญเวียดนามรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา ทว่าศาสนาคริสต์ที่ชาวม้งนับถือมีความเชื่อดั้งเดิมว่า พระเมสสิอาห์ (Messiah) จะเดินทางมาตั้งอาณาจักรของชาวม้งในเวียดนาม ซึ่งสั่นคลอนต่อความมั่นคงและบูรณภาพทางดินแดนของรัฐ
อ้างอิงจากรายงานของ UNHCR คือ The Annual Report on International Religious Freedom ในปี 2002 รัฐบาลเวียดนามคุกคามชาวม้งที่นับถือศาสนาคริสต์ด้วยวิธีการต่างๆ นับตั้งแต่การลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคริสตจักร การบุกค้นบ้าน และการทำลายโบสถ์หรือไบเบิล
ครั้งหนึ่ง สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) เคยรายงานในปี 2020 ว่า ศาลเวียดนามจำคุกชายม้ง 2 คนตลอดชีวิต ในความผิดฐานพยายามโค่นล้มระบอบการปกครองและก่อตั้งรัฐใหม่
ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการขอสถานะผู้ลี้ภัย มีรายงานในเดือนธันวาคม 2023 ระบุว่า ชาวม้งมากกว่า 1,000 คนเข้ามาอาศัยอยู่ในไทย ทว่าจำนวนไม่น้อยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจับกุมโดยไม่มีมูลเหตุรองรับ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย (1951 Refugee Convention) ที่รัฐมีพันธกรณีต้องคุ้มครองผู้ลี้ภัยผ่านกฎหมายและข้อปฏิบัติ
อ้างอิง
https://www.rfa.org/english/news/vietnam/activist-threatened-02062024141427.html
https://www.reuters.com/article/vietnam-security-trials-idINKBN2152NE/
https://webarchive.archive.unhcr.org/20230525034146/https://www.refworld.org/docid/3df4bec54.html
https://www.rfa.org/english/news/vietnam/hmong-03152012144659.html
Tags: ชาวม้ง, กฎหมายผู้ลี้ภัย, เวียดนาม, ผู้ลี้ภัย, ชาติพันธุ์, ม้ง