1.
“นายไม่คิดจะให้เกียรติคนทำงานจริงๆ เหรอ”
“ค่าของคนทำงานจริงอยู่ที่ไหน”
“#สนับสนุนศิลปินที่มีชีวิต”
สารพัดคำชี้แนะและคำติบนโลกโซเชียลฯ นับตั้งแต่เทคโนโลยี ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ ‘AI’ เข้ามามีอิทธิพลต่อโลกคนทำงานสร้างสรรค์ ยกแรกจากวงการนักเขียนและครีเอทีฟ ที่ต้องปวดสมองรับมือพร้อมปรับตัวกับการมาของ ChatGPT จนถึงนานาแชตบอตสมองใส
ล่าสุด ดูเหมือนกระแสวิพากษ์ดังกล่าวจะกลับมาอีกครา แต่เปลี่ยนเป็นมุมของคนประกอบอาชีพกราฟิกดีไซน์ ที่ต้องสู้รบปรบมือกับการมาของเทคโนโลยี AI Art Generator เมื่อเทคโนโลยีนี้สามารถรังสรรค์ภาพดุจใจนึกเพียงแค่ปลายนิ้ว
ขณะเดียวกัน เหตุการณ์จากอีเวนต์ Bangkok Design Week 2024 ยิ่งเป็นดังน้ำมันซัดสาดกองเพลิงเจ้าปัญหานี้ลุกโชนหนักกว่าเดิม หลังชาวโซเชียลฯ ตาดีเผอิญสังเกตเห็นว่า โปสเตอร์ทางการที่ใช้โปรโมตงานอาจเป็นการใช้เทคโนโลยีเอไอช่วยสร้างภาพขึ้นมา เพราะปรากฏข้อผิดพลาดบนภาพชัดเจน เช่นมือของตัวการ์ตูนที่กำลังปั่นจักรยานแต่มือที่ควรจะจับแฮนด์กลับหายไปเสียอย่างนั้น
2.
ต่อมาไม่นาน เพจเฟซบุ๊ก AriAround ซึ่งเป็น Co-Host รับหน้าที่สื่อประชาสัมพันธ์และจัดงานเฉพาะโซนย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ให้งาน Bangkok Design Week 2024 ออกแถลงการณ์ต่อคำวิจารณ์ข้างต้น โดยให้เหตุผลว่า ด้วยระยะเวลาด้านข้อจำกัดและงบประมาณ ส่งผลให้ทีมงานจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเอไอสร้างภาพโปสเตอร์นี้ขึ้นมา เพื่อให้งานที่วางกำหนดการไว้แล้วเดินหน้าต่อไปได้
แม้แถลงการณ์รับผิดชอบจะพอลดดีกรีความร้อนแรงของดราม่านี้ลงระดับหนึ่ง ทว่าคำถามส่วนใหญ่ที่หลายคนหลงเหลือในใจ คือคุณค่าวิชาชีพของนักสร้างสรรค์ ที่ส่อแววถูกลดทอนมูลค่าลงทีละนิด สวนทางกับภาพลักษณ์ที่ผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเราต้องการสถาปนากรุงเทพฯ ให้เป็น ‘พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy Districts) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับศิลปินความสามารถศิลปินในประเทศ
กรณีนี้เสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกมองว่า ถ้านี่เป็นอีเวนต์ยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จริง ไฉนเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ผู้จัดกลับละเลยไม่ให้เกียรติศิลปินมาร่วมงาน ที่หากวางแผนให้ดีหรือยื่นมือขอความช่วยเหลือ เชื่อว่ามีศิลปินไม่น้อยเต็มใจช่วยวาดโปสเตอร์แน่นอน จนถึงการตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณ 350 บาทที่ใช้จัดงานเฉลี่ยมาช่วยไม่เพียงพอจริงหรือ?
ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าปัญหานี้เป็นเรื่องเล็กน้อย หากมองลึกถึงเจตนาจริงของผู้จัดมากกว่านี้ ถึอเป็นบทเรียนไว้แก้ไขในครั้งต่อๆ ไป
3.
กรณี ‘สติปัญญามนุษย์ VS เทคโนโลยี’ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในอีเวนต์ใหญ่ระดับประเทศ แต่ยังลุกลามไปถึงแวดวงธุรกิจเล็กธุรกิจน้อย ที่เมื่อปราศจากเงินถุงเงินถังจึงหันมาใข้เทคโนโลยีนี้เพื่อผลประโยชน์ด้านการตลาด หรือแม้แต่สื่อออนไลน์บางสำนักก็เริ่มที่จะใช้เทคโนโลยี AI Art Generator สร้างคอนเทนต์ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาในการสร้างสรรค์มากกว่าฝีมือคนธรรมดา
คำถามสำคัญคือการใช้ AI Art Generator เข้าข่ายละเมิดหรือเบียดเบียนลิขสิทธิ์ทางภูมิปัญญาของศิลปินหรือเปล่า?
คำถามดังกล่าวคงต้องยกเรื่องของ ‘ลิขสิทธิ์’ เป็นตัวชี้วัดคำตอบ ยกตัวอย่างกรณีโด่งดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯ เมื่อปี 2023 หลัง สตีเฟน ทาเลอร์ (Stephen Thaler) เจ้าของบริษัทเอไอ Imagination Engines พยายามจดทะเบียนผลงานที่ชื่อว่า ‘Creativity Machine’ ซึ่งสร้างด้วยเครื่องมือ AI Art Generator
ถึงกระนั้น เบอริล เอ. โฮเวลล์ (Beryl A. Howell) ผู้พิพากษารัฐโคลัมเบีย ตัดสินยกคำร้องของทาเลอร์ โดยระบุชัดเจนว่า ผลงานที่เกิดขึ้นจากเอไอไม่สามารถจดทะเบียนลิขสิทธิ์ได้ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม โดยยกเหตุผลว่า ผลงานที่สามารถจดทะเบียนได้ต้องเกิดจากฝีมือมนุษย์เท่านั้น ฉะนั้น ต่อให้เอไอสร้างภาพนั้นดีหรือสมบูรณ์เพียงใดก็หมดสิทธิปริยาย
4.
ส่วนข้อกฎหมายในประเทศไทยในเวลานี้กับกรณีการใช้ AI Art Generator ยังคลุมเครือไร้ความชัดเจน มีเพียงนโยบายบางส่วนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่าด้วยเรื่อง ‘แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์’ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564
นโยบายดังกล่าวไม่ได้เจาะลึกแง่การใช้ AI Art Generator แต่อธิบายภาพรวมถึงจริยธรรมการใช้เอไอเพียงสั้นๆ 3 ข้อ นั่นคือ
1. หลักการและเหตุผลการปฏิบัติตามจริยธรรม
2. การมีจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์
3. กรอบแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์
(สามารถดูนโยบายดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ www.etda.or.th)
ที่น่าสนใจคือนโยบายที่กล่าวมานั้น ส่วนใหญ่มักอธิบายในเชิงแง่ความเป็นส่วนตัว ความโปร่งใส ความเท่าเทียม ความน่าเชื่อถือ ฯลฯ ว่าง่ายๆ คือเล่าถึง ‘ภาพกว้าง’ แต่ยังปราศจากการเจาะลึกข้อพิพาทสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับใช้ รวมถึงการใช้เอไอในเชิงพาณิชย์ ที่ ณ เวลานี้กำลังมีอิทธิพลต่อสังคมขึ้นเรื่อยๆ
5.
ถึงตรงนี้ ประเด็นข้อพิพาทระหว่างมนุษย์กับเอไอยังไร้บทสรุปชัดเจนว่า ฝั่งที่ใช้หรือฝั่งที่ปฏิเสธเทคโนโลยีนี้ถูกหรือผิด คงต้องประวิง ‘เวลา’ ให้สังคมโลกปรับตัวและทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีล้ำยุคนี้ เพื่อหาจุดร่วมแท้จริงโดยที่ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบเสียเปรียบ
ดังที่บริษัทผู้ให้บริการภาพถ่ายหลายเจ้าทยอยปรับตัว เช่น Getty Images หรือ Shutterstock ที่พยายามรังสรรค์งานภาพผ่านการใช้เครื่องมือเอไอเพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิก
แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าภาพต้นฉบับที่ใช้สร้างเป็นการละเมิดสิทธิ หรือนำภาพของใครคนอื่นมาใช้โดยไม่บอกกล่าวหรือไม่
ฉะนั้น เราคงไม่อาจกล่าวโทษเทคโนโลยีได้ 100% แต่ต้องย้อนกลับมาถามมนุษย์อย่างเรา ซึ่งเป็นผู้ควบคุมว่าเรารู้จักดีพอ ใช้อย่างถูกวิธีจริง และมีกฎข้อบังคับชัดเจนมากำหนดได้เมื่อไร ไม่เช่นนั้น ปัญหาลักษณะนี้คงจะวนกลับมาให้เราถกเถียงไม่รู้จบ
อ้างอิง:
– https://www.theverge.com/2023/8/19/23838458/ai-generated-art-no-copyright-district-court
– https://www.eff.org/deeplinks/2023/04/ai-art-generators-and-online-image-market
Tags: AI Art Generator, ธุรกิจ, Feature, AI, เทคโนโลยี, เอไอ, ลิขสิทธิ์, Generative AI