ผลพวงคดีร้อนอย่างคดีฆาตกรรม ‘ป้ากบ’ นำมาสู่การตั้งคำถามของสังคมว่า เหตุใดบทลงโทษของตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบังคับขู่เข็ญให้ ‘ลุงเปี๊ยก’ รับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ทั้งที่ไม่ได้ลงมือฆ่าภรรยาของตนเอง จนกลายเป็น ‘แพะรับบาป’ แทนกลุ่มเยาวชนวัย 13-16 ปี จึงเป็นเพียงการ ‘โยกย้าย’ เท่านั้น
เมื่อวานนี้ (17 มกราคม 2567) มีเอกสารคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้วที่ 12/2567 ลงวันที่ 17 มกราคม 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีปรากฏคลิปเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ มีคำสั่งให้ พันตำรวจโท พิชิต วัฒโน รองผู้กำกับการสืบสวน สถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ ไปช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้วมอบหมาย
วันนี้ (18 มกราคม 2567) มีเอกสารอีกหนึ่งชุดเป็นคำสั่งให้ พันตำรวจเอก พิเชษฐ์ ศรีจันทร์ตรา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ ไปช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้วมอบหมายเช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าเรื่องการสั่งย้ายตำรวจไม่ได้เป็นครั้งแรก หลายครั้งหลายกรณี ทั้งที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ตำรวจอาจเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม ยัดคดี อุ้มฆ่า ซื้อขายตำแหน่ง เกี่ยวข้องกับบ่อนการพนัน ความผิดเดียวคือการ ‘สั่งย้าย’ ไปก่อน
การสั่งย้ายหลายคนอาจคิดว่านั่นเป็น ‘บทลงโทษ’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสั่งย้ายไม่ใช่บทลงโทษ หากแต่เป็นการทำให้ข้าราชการไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงหรือยุ่มย่ามกับพยานและหลักฐาน ระหว่างที่คณะกรรมการสืบสวนกำลังไต่สวนข้อเท็จจริงของคดีเพื่อหาข้อสรุป
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 88 ระบุโทษทางวินัยหากข้าราชการพลเรือนสามัญกระทำผิดไว้ คือ
1. ภาคทัณฑ์ (กล่าวคือการตำหนิโทษ)
2. ตัดเงินเดือน
3. ลดเงินเดือน
4. ปลดออก
5. ไล่ออก
การสั่งย้ายจึงทำให้ ‘ศูนย์ปฏิบัติการ’ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในกรุงเทพฯ แน่นขนัดไปด้วยตำรวจที่โดนสั่งย้าย เพราะไม่ว่า ‘มีข้อสงสัย’ ในเรื่องใด ก็มักจะถูกสั่งประจำที่นี่ไว้ก่อนจนกว่าจะสอบสวนเสร็จ แล้วหลายครั้งก็ถูกจัดให้เป็น ‘Delay Tactic’ คือย้ายให้เรื่องเงียบไว้ก่อน แล้วเมื่อเรื่องซาก็ค่อยโยกกลับมาทีหลัง
สำหรับการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการพลเรือน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ระบุไว้อย่างชัดเจน คือ
1. เมื่อมีการกล่าวหาหรือกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าข้าราชการกระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาต้องรายงานผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุข้าราชการ
2. เมื่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุข้าราชการได้รับรายงานแล้ว จะต้องรีบดำเนินการหรือสั่งการให้สืบสวนเบื้องต้นว่า กรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาหรือไม่ หากไม่มีมูลสามารถยุติเรื่องได้
3. กรณีหากมีมูลความผิดไม่ร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งลงโทษตามสมควรโดยไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้ แต่หากมีมูลความผิดร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุข้าราชการตั้งคณะกรรมการสอบสวน
4. หากพบว่าเป็นการกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้สั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือน ตามเหมาะสมกับความผิด หากกระทำผิดวินัยร้ายแรงให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงของกรณี
สำหรับข้าราชการตำรวจ ขั้นตอนหลังจากย้าย สิ่งที่ต้องเริ่มต้นทันทีคือ
1. ตั้งคณะกรรมการ 3 คนในการสืบสวนข้อเท็จจริง
2. กำหนดระยะเวลาเบื้องต้น 15 วัน สำหรับการสืบสวนข้อเท็จจริง และหากยังไม่ลุล่วง สามารถขยายเวลาเพิ่มได้อีก 15 วัน
3. หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อไป
ส่วนคำนิยามการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ใน พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ระบุไว้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งมีถึง 8 ลักษณะ ได้แก่
1. การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ทางราชการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง
2. ละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง
3. ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกิน 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของราชการ
4. การกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
5. ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง หรือทำร้ายประชาชนผู้ติดต่อราชการอย่างร้ายแรง
6. กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือหนักกว่าจำคุก
7. ละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนมาตรา 83 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
8. ละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 80 วรรคสอง และมาตรา 82 (11) หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 83 (10)
ด้วยเหตุนี้ การสั่งย้ายออกจากพื้นที่ไปพลางก่อน จึงเป็นการกระทำตามขั้นตอนของข้าราชการตำรวจ เพื่อไม่ให้ตำรวจชุดที่มีปัญหายุ่งกับพยานหลักฐาน เมื่อยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตำรวจคนนั้นกระทำผิดทางอาญาร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม หากมีหลักฐานชัดว่าทำผิดทางอาญาร้ายแรง ศาลไม่ให้ประกันตัว ชนิดฆ่าคนตาย สั่งตัวฝากขังกับศาลแล้วศาลไม่ให้ประกันตัว เรื่องแนวนี้ ผู้บังคับบัญชาอาจเห็นว่าร้ายแรง อย่างไรก็เป็นความผิดวินัยร้ายแรงแน่ หากไม่ไล่ออกก็อาจขาดราชการเกิน 15 วันอยู่ดี จึงอาจเข้ากรณีที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
Tags: ตำรวจ, ป้ากบ, ฆาตกรรม, กฎหมาย, อาชญากรรม