ฮ่องกงเพิ่มการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น หลังเริ่มต้นพิจารณาคดีเกี่ยวกับ ‘ความมั่นคงระดับชาติ’ ครั้งสำคัญ จากกรณีของ จิมมี ไหล่ เจ้าพ่อสื่อและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Apple Daily ที่ต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งปัจจุบันถูกปิดไปแล้ว โดยสื่อรายงานว่า จิมมีถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ และอาจต้องเผชิญโทษจำคุกตลอดชีวิต
ทั้งนี้มีรายงานว่า เช้าวันนี้ (จันทร์ 18 ธันวาคม 2566) จิมมี ไหล่ เดินทางถึงศาลเวสต์เกาลูน เมื่อเวลาประมาณ 07.30 น. โดยรถตู้บริการของราชทัณฑ์ ก่อนที่เวลา 08.15 น. จะมีกลุ่มผู้สนับสนุนประมาณ 100 คน มารวมกลุ่ม ก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มในเวลา 10.00 น. รายงานระบุว่า บางคนมารอนับชั่วโมง รวมถึงบางคนสวมเข็มกลัดธงจากออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และแคนาดา
จิมมี ไหล่ ถูกนำตัวไปที่ท่าเรือหลังเวลา 10.00 น. ไม่นาน โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ขนาบข้าง เขาสวมแจ็กเก็ตสูทสีเทา โบกมือไปที่แกลเลอรีสาธารณะ และยิ้มให้ผู้สนับสนุนของเขาที่มาเฝ้ารอ โดยในกลุ่มผู้สนับสนุนดังกล่าว มีโจเซฟ เซน (Joseph Zen) พระคาร์ดินัลนิกายโรมันคาธอลิกแห่งฮ่องกง รวมอยู่ด้วย ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีจำนวนมากกว่ากลุ่มผู้สนับสนุนจิมมี ไหล่ เตรียมสุนัขดมกลิ่น รถหุ้มเกราะ ‘เซเบอร์ทูธ’ ที่ผลิตในจีน และรถเก็บกู้วัตถุระเบิดประจำการอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
“ผมคิดว่าไม่ควรมีใครถูกตัดสินจำคุกจากเพียงเพราะคำพูดของพวกเขา” นักศึกษารายหนึ่งจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ประสงค์ออกนาม หนึ่งในกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมระบุ โดยเขากล่าวว่าได้อ่านเรื่องของจิมมี ไหล่ ผ่านแอปพลิเคชัน X และอยากรู้ว่าผลการพิจารณาคดีจะเป็นอย่างไร
คาดว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวจะใช้เวลาหลายเดือน และนับเป็นหนึ่งในการดำเนินคดีที่โด่งดังที่สุดในแง่ของ ‘การปราบปรามฝ่ายค้าน’ ของรัฐบาลฮ่องกง และถูกประณามอย่างกว้างขวางจากกลุ่มต่างๆ
จิมมี ไหล่ วัย 76 ปี ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Apple Daily ที่ถูกสั่งบังคับปิดโดยรัฐบาลของแครี แลม และมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหนังสือพิมพ์จำนวนมาก โดยจิมมีถูกกล่าวหาว่า ‘สมรู้ร่วมคิด’ กับกองกำลังต่างชาติที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และสมคบคิดเผยแพร่เนื้อหาที่ปลุกปั่นยุยง
ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการพิจารณาคดีดังกล่าวระบุว่า หากถูกตัดสินว่ามีความผิด จิมมี ไหล่อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต โดยข้อน่าสังเกตคือ คดีดังกล่าวจะถูกพิจารณาต่อหน้าผู้พิพากษาความมั่นคงแห่งชาติ 3 คนที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาล ได้แก่ เอสเธอร์ โทห์ (Esther Toh), ซูซานา ดิอาลมาดา เรเมดิโอส (Susana D’Almada Remedios) และอเล็กซ์ ลี (Alex Lee)
ด้านความเคลื่อนไหวต่างประเทศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 ธันวาคม 2566) เดวิด คาเมรอน (David Cameron) รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรและอดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาประณามการดำเนินคดีของฮ่องกงว่า เป็น ‘คดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง’ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว จิมมี ไหล่
“กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกงถือเป็นการละเมิดปฏิญญาร่วมระหว่างจีนและอังกฤษอย่างชัดเจน การดำรงอยู่และการถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นการแสดงให้เห็นว่าจีนฝ่าฝืนพันธกรณีระหว่างประเทศ
“ในฐานะนักข่าวผู้เปิดเผยและตรงไปตรงมา จิมมี่ ไหล่ ตกเป็นเป้าหมายในความพยายามอย่างชัดเจน เพื่อหยุดยั้งการใช้สิทธิที่เสรีภาพในการแสดงออกและการเคลื่อนไหวอย่างสันติ” คาเมรอนกล่าว
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ประณามการพิจารณาคดีดังกล่าวเช่นกัน โดยตั้งข้อสังเกตว่า จิมมี ไหล่ ‘ถูกปฏิเสธ’ การเลือกที่ปรึกษากฎหมายของตนเอง รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวจิมมี ไหล่ เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ทั้งหมดที่ถูกจำคุก
Tags: ประท้วงฮ่องกง, จิมมี่ ไหล่, Hong Kong, Jimmy Lai, ฮ่องกง