คำถามสำคัญในวันที่ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือมนุษย์จะใช้ชีวิตร่วมกับ AI อย่างไรไม่ให้ถูก AI ครอบงำ ไม่ให้ AI แย่งตำแหน่งงาน จนทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหาย และจะใช้ชีวิตกับ AI อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ถึงวันนี้ ประเด็นที่ถกเถียงกันมากก็คือ วันที่ AI ในฐานะ ‘ของใหม่’ เริ่มรุกล้ำชีวิตมนุษย์ สิ่งสำคัญคือจะเตรียมความพร้อมอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่า AI ยังมีประเด็นที่ต้องเรียนรู้อีกมาก ทั้งในเชิงข้อมูล เทคโนโลยี กฎหมาย สิทธิเสรีภาพ เรื่อยไปจนถึง ‘จริยธรรม’ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องใหญ่
ลองนึกภาพตามก็ได้ว่า วันนี้ AI กลายสภาพมาอยู่กับชีวิตมนุษย์ผ่านการเลือกสรร ‘ฟีด’ ทั้งบนเฟซบุ๊ก TikTok หรืออินสตาแกรม AI ถูกใช้เป็น ChatBot ทำหน้าที่คุยกับผู้บริโภค คุยกับลูกค้า เมื่อเกิดข้อสงสัย เกิดปัญหาทั้งในสินค้าและงานบริการ
ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับหนึ่งของไทย จัดงาน ‘AI Gets Good’ ขึ้นที่อาคารจามจุรีสแควร์ เพื่อพูดถึงขีดความสามารถของ AI ในปัจจุบัน การเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานในการใช้งาน AI และอยู่ร่วมกับ AI รวมถึงประเด็นความรับผิดชอบและมาตรฐานทางจริยธรรมของ AI
ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร และผู้บริหารที่ดูแลงาน Digitalization และ Transformation ของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า วันนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น นำการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) มาช่วยในงานบริหารลูกค้า รวมถึงปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยเตรียมความพร้อมให้เป็นการดำเนินงานแบบไร้กระดาษ 100% ภายในปี 2566 และตั้งเป้าว่า ภายในปี 2570 จะใช้ระบบอัตโนมัติ 100% ในงานพื้นฐานในชีวิตประจำวัน
ขณะเดียวกัน ศูนย์บริการของทรูและดีแทค รวมถึงตัวแทนร้านค้า ยังนำโซลูชัน AI เข้ามาใช้งาน เพื่อช่วยในการวินิจฉัยปัญหาและเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้ทันที
ประเด็นสำคัญก็คือ การเตรียมพร้อม ‘คน’ ให้เข้ากับยุคปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งทุกอย่างจะถูก Disrupt อย่างหนัก และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ดร.ชนนิกานต์ จิรา หัวหน้า ทรู ดิจิทัล อคาเดมี กล่าวว่า AI มีส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดี สิ่งที่ท้าทายคือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอไอจะทำงานร่วมกันอย่างไร ฉะนั้น ทรูจึงเตรียมกำลังคนต่อความสัมพันธ์อันซับซ้อนนี้
“True Digital Group มีปณิธาน มีพันธกิจ เพื่อช่วยสนับสนุน Digital Transformation และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน โดยมีโซลูชันต่างๆ ที่ตอบความต้องการผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นแผนก Digital Home, Digital Health, Digital Media โดยใช้ AI มาเสริมศักยภาพในแต่ละอุตสาหกรรมที่ True เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในเรื่องสินค้าเกษตร เรื่องสุขภาพ เรื่องระบบโลจิสติกส์”
ตัวอย่างสำคัญที่ ดร.ชนนิกานต์ยกถึงก็คือ True Analytics ที่มีการใช้ AI ตัดสินใจในบริบทต่างๆ เป็นต้นว่าการทำแคมเปญโฆษณาให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดนใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น หรือการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ การทำความเข้าใจกับผู้บริโภค และการทำความเข้าใจคู่แข่ง ขณะเดียวกัน AI ยังช่วยจัดการ ‘ความต้องการ’ ของผู้บริโภค ในรูปแบบเฉพาะบุคคลได้
ไม่เพียงเท่านั้น True Analytics ยังทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ ในโซลูชันอื่นๆ เช่น การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้น หรือในฝั่ง Cybersecurity ก็มีการใช้ระบบ AI ประเมินช่องโหว่ของระบบความปลอดภัย เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลลูกค้า
สิ่งสำคัญที่ ดร.ชนนิกานต์ฉายภาพให้เห็นก็คือ ในอีก 5 ปีจากนี้ 44% ของกำลังคนจะต้องเปลี่ยนตามเทคโนโลยี AI ทว่าความพร้อมในการพัฒนาคนตามแผน AI แห่งชาติบอกว่าอยู่เพียง 39% เท่านั้น ซึ่งยังมีช่องว่างในการพัฒนาอีกมาก
ดร.ชนนิกานต์ระบุว่า ‘เชื่อ’ ในสิ่งที่ เจนเซน ฮวง (Jensen Huang) ประธานบริหารและซีอีโอ ของ NVIDIA บริษัทเทคระดับโลกเคยพูดไว้ว่า “ข้อสำคัญไม่ใช่การที่ AI จะมาแย่งงาน หากแต่คือคนที่เชี่ยวชาญด้าน AI มากกว่า ว่าจะเตรียมพร้อมกำลังคนอย่างไรให้เข้าใจ AI และมนุษย์จะทำงานร่วมกับ AI อย่างไร ให้ได้ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด”
เพราะฉะนั้น ทักษะสำคัญในโลก AI ก็คือ
1. ความเข้าใจในเทคโนโลยี ว่า AI ทำงานอย่างไร Big Data ทำงานอย่างไร มนุษย์จะปฏิสัมพันธ์ และบูรณาการด้วยแบบไหน
2.Creative Thinking ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อต่อยอดงานจาก AI ได
3. Analytical Thinking การทำงานกับ AI วิเคราะห์งาน AI อย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่ AI ประมวลออกมาสมเหตุสมผลหรือไม่
ขณะเดียวกัน True Digital Group ยังพยายามสนับสนุนทักษะ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ให้มี ‘ความยืดหยุ่น’ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งยังแสวงหาความร่วมมือจากภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้เรื่อง AI อย่างรอบด้าน
ดร.ชนนิกานต์บอกด้วยว่า ขณะนี้ True Digital Group กำลังทำงานอย่างจริงจังในการสร้างบุคลากร Reskill บุคลากรให้พร้อมต่อการทำงานในโลก AI พร้อมกับยกตัวอย่างว่า ได้ Reskill พนักงานที่จบอักษรศาสตร์บางส่วนทำหน้าที่เป็นเซลส์ เป็นอดีตนักบินฝึกหัด ให้กลายเป็น Junior Data Scientist ได้ โดยปัจจุบัน True Digital Group ยังเดินหน้า Reskill บุคลากรทั้ง 4 หมื่นคนเรื่อยไป เพื่อเตรียมพร้อมกับโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
สำหรับประเด็น ‘จริยธรรม’ ในโลกของปัญญาประดิษฐ์เป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนัก นักวิชาการ-นักเทคโนโลยีต่างก็กังวลว่า หากไม่มี ‘จริยธรรม’ เพื่อควบคุมและกำกับนับตั้งแต่ออกแบบระบบ AI อาจส่งผลเสียต่อมนุษย์อย่างใหญ่หลวง เพราะ AI ไม่มีขีดจำกัดในการเรียนรู้ สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล เคยแสดงความกังวลไว้ว่า วันหนึ่ง AI อาจก้าวข้ามสติปัญญาของมนุษย์ และในอนาคตอันใกล้ AI ที่มีความเฉลียวฉลาดอาจเป็นอันตรายกับมนุษยชาติ ขณะที่ มาร์วิน มินสกี (Marvin Minsky) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ก็เคยเขียนว่า สิ่งที่สำคัญมากในการพัฒนา AI ก็คือเรื่องความโปร่งใส และความรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน แนวทางในการใช้ AI ควรเป็นไปเพื่อ ‘ลดอคติ’ และไม่ทำให้ความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่รุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ หากใช้ให้ถูกที่ถูกทาง AI ยังมีศักยภาพในการแก้ปัญหาความท้าทายระดับโลก สามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มความเข้าใจในมนุษย์ได้
ฉะนั้น จริยธรรมในโลกของปัญญาประดิษฐ์จึงเป็นเรื่องใหญ่ ตั้งแต่การ ‘เลือก’ ตัดสินใจของ AI ความเป็นห่วงว่า AI จะคิดแทนมนุษย์ได้ถึงขั้นไหน ความถูกต้องของ AI ในการตัดสินใจบางอย่าง และการ ‘แทนที่’ มนุษย์ในอนาคต ล้วนเป็นความท้าทายอย่างยิ่งกับการประยุกต์ใช้ AI ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ทรู คอร์ปอเรชั่นตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2570 จะนำระบบ Automation ไปใช้งานพื้นฐานประจำวันได้ โดยเมื่อปี 2566 ยังเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการของทั้งทรูและดีแทค ให้ดำเนินการแบบไร้กระดาษ 100% แล้ว
นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังพัฒนาพนักงานกว่า 200 คน ให้เป็น Citizen Developers โดยเปิดโอกาสสร้างบุคคลหลากหลายในองค์กรที่ไม่ต้องมีทักษะนักพัฒนาโปรแกรมให้สามารถสร้างระบบดิจิทัลได้ รวมถึงยังมุ่งให้ AI ช่วยลดการใช้พลังงาน มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 42% ได้ภายในปี 2573 อีกทั้งยังใช้ AI ในการลดเวลาดำเนินการของศูนย์บริการและคอลเซ็นเตอร์
ทว่าการใช้งาน AI ทั้งหมด ทรู คอร์ปอเรชั่นได้เล็งเห็นความสำคัญของกฎบัตร AI และได้กำหนดหลักการ 4 ประการ ในการใช้งานอย่างมีจริยธรรม ได้แก่
1.จรรยาบรรณที่ดี (Good Intent) – AI ควรใช้เพื่อประโยชน์ต่อมนุษย์เท่านั้น
2.ความเป็นธรรมและลดอคติ (Fairness and Bias Mitigation) – AI ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อการใช้งาน
3.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (Data Privacy and AI Functionality) – ควรคุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย
4.ความโปร่งใส (Transparency) – การตัดสินใจของปัญญาประดิษฐ์ต้องสามารถอธิบายได้
ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น นำเสนอหลักจริยธรรมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น กฎบัตร AI ของทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มุ่งเน้นความสำคัญของจริยธรรมในการจัดการกับความเสี่ยง ที่อาจเกิดอคติในระบบปัญญาประดิษฐ์ ขณะเดียวกัน กระบวนการแก้ไขปัญหามีลำดับขั้นตอน สามารถนำมาอธิบายได้อย่างชัดเจนต่อคนหรือผู้ใช้ เพื่อความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง
Tags: Branded Content, ทรู, AI, ปัญญาประดิษฐ์