“ไม่มีครับ”
“ไม่คิดจะมีครับ”
“เลี้ยงตัวเองก็แย่ละค่ะ”
คือคำตอบของคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย เมื่อ ‘ผู้ใหญ่’ ถามว่า เมื่อไรจะแต่งงาน สร้างครอบครัว หรือมีลูกเสียที
เพราะผู้อาวุโสทุกคนล้วนอยาก ‘อุ้มหลาน’ และในความทรงจำของพวกเขาที่ผ่านมา การมีลูกสักคน ย่อมเติมเต็มความหมายของ ‘ครอบครัว’ ให้สมบูรณ์ในที่สุด
แต่การ ‘ไม่อยากมีลูก’ ดูจะเป็นจุดร่วมกันของครอบครัวไทยสมัยใหม่มานานแล้ว ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดของเด็กไทยลดฮวบฮาบ แม้วิวัฒนาการทางการแพทย์จะล้ำหน้ามากขึ้น ทว่าในแต่ละปี มีเด็กไทยเกิดใหม่เพียง 5 แสนคน น้อยกว่าคนตายที่อยู่ที่ปีละ 5.9 แสนคน
ถามว่าวิกฤตมากเพียงใด หากย้อนกลับไปในปี 2536 เรามีเด็กเกิดมากกว่าปีละ 9.5 แสนคน ปี 2546 แม้น้อยลงบ้าง ก็ยังมีเด็กเกิดมากกว่าปีละ 8.5 แสนคน ปี 2556 ก็ยังอยู่ที่แตะ 8 แสนคน แต่นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา กราฟเด็กเกิดใหม่ก็ลดลงจนน่าใจหาย จนอัตราการตายมากกว่าการเกิดในที่สุด
วิกฤตนี้จะส่งผลเป็นอย่างยิ่งในอนาคต เป็นที่รู้กันว่าประเทศไทยอยู่ในสังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้คือประเทศจะขาดวัยแรงงานอย่างหนัก ซึ่งจะกระทบกับผลิตผล กระทบกับระบบเศรษฐกิจ และวัยแรงงานที่มีน้อยนิดจำต้องอุ้มคนแก่
ขณะที่วัยแรงงานที่มีฝีมือจำนวนไม่น้อย ก็อาจตัดสินใจไปค้าแรงงานยังต่างประเทศ หากสภาพยังเป็นเช่นนี้
แล้วด้วยเหตุและปัจจัยอะไร ทำไมเราจึงต้องเผชิญกับสภาพเช่นนี้ ขณะเดียวกัน คำถามสำคัญก็คือแล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
1. สภาพ ‘การเมือง’ มีผลอย่างยิ่ง
จะคิดว่าการเมืองไม่เกี่ยวก็แล้วแต่ แต่ตัวเลขเด็กเกิดที่ลดลงนั้นสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการเมืองที่ ‘ไม่นิ่ง’ ในทศวรรษที่สูญหาย ภายหลังการรัฐประหาร กันยายน 2549 มาจนถึงวันนี้
การเมืองไม่นิ่ง ส่งผลชะงักตามมาถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้สูงนัก การลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัว ในเวลาเดียวกับที่ประเทศเพื่อนบ้านมองเห็นโอกาส แต่ประเทศไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่สามารถโตด้วยอุตสาหกรรมภายใน ไม่สามารถเป็นประเทศที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ยังมากขึ้นเรื่อยๆ คนรวยสามารถสะสมทรัพยากรได้มากขึ้น เป็นเจ้าของที่ดิน เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น ส่งให้ค่าครองชีพแพงขึ้นลำบากลงมาถึงชนชั้นกลาง ทำให้ยิ่งยากที่จะขยับสถานะ ส่วนคนจนก็จนต่อไป
2. ค่าใช้จ่ายในการมีลูกนั้นแพงแสนแพง
ประเทศไทยไร้การควบคุมราคาที่เกี่ยวข้องกับการ ‘เลี้ยงลูก’ สักคน หากแต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และในเวลาเดียวกัน ก็มีเอกชนที่สร้างตัวได้จนร่ำรวยจากระบบเช่นนี้
ลองนึกดูว่า ในเวลาที่วอร์ดเด็กโรงพยาบาลรัฐหนาแน่นจากการที่เด็กป่วยด้วยเชื้อไวรัสจากโรงเรียนพร้อมกัน โรงพยาบาลเอกชนนั้นมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร จากการที่ผู้ปกครองต้องจ่ายหลายหมื่นบาทให้ลูกตัวเองได้รับการรักษาที่ดีที่สุด…
เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชน–ประเด็นสำคัญก็คือรัฐไม่สามารถขยายโรงเรียนรัฐบาล ‘เรียนฟรี’ ให้มีคุณภาพในจำนวนมากพอได้ ขณะที่ฟากเอกชนพร้อมอ้าแขนรับด้วยค่าเทอมหลายหมื่นบาท พร้อมเสริมโปรแกรมพิเศษให้เรียน English Program สำทับด้วยภาษาจีน ในราคาที่งอกจากราคาเรียนมาตรฐาน 2-3 เท่า
คำถามก็คือ จะดีกว่านี้หรือไม่หากรัฐสามารถสร้างมาตรฐานโรงพยาบาลรัฐ ที่มีบริการพรีเมียมราคาไม่แพงมากสำหรับพ่อแม่ที่พอมีกำลังจ่าย เพื่อไม่ต้องถูกขูดรีดจากโรงพยาบาลเอกชนราคาแพง หรือภาครัฐมีหนทางหรือไม่ หากให้โรงเรียนรัฐที่ ‘เรียนฟรี’ มีทั้งปริมาณ และคุณภาพมากพอ ในการโอบรับความหลากหลาย เปิดหลักสูตรที่เปิดกว้างสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกได้ร่ำเรียนหลักสูตรคุณภาพในราคาสมเหตุสมผล ขณะเดียวกัน ก็ต้องหาหนทางให้ราคาจากภาค ‘เอกชน’ ในประเทศนี้ มีมาตรฐาน ไม่ได้ค้ากำไรเกินควร
หากยังปล่อยให้เอกชนโตขึ้นในลักษณะนี้ คำถามจึงคลุมเครือเหลือเกินว่า พ่อแม่วัยแรงงานที่สร้างผลิตภาพ-ผลิตผลให้กับประเทศมากที่สุด ต้องเตรียมเงินไว้เท่าไรสำหรับการมีลูกสักคน
3. ระบบการศึกษาที่มีปัญหา
ต้องยอมรับว่าด้วยเวลาสิ่งที่เปลี่ยนไป ปัญหาที่รัฐไทยแก้ไม่ตกคือปัญหาการศึกษา โรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศที่ ‘เรียนฟรี’ จำนวนไม่น้อย เป็นโรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ หลักสูตรการสอนเต็มไปด้วยการท่องจำเรื่องไร้สาระ ไม่เคยเน้นพัฒนาการตามช่วงวัย และแม้จะเทงบประมาณลงไปเท่าไร ก็ไม่สามารถเข้าใจรากเหง้าได้ว่า การศึกษาควร ‘ปฏิรูป’ ที่ตรงไหน ที่ครู ที่หลักสูตร ที่โรงเรียน ที่กระทรวง หรือทั้งกระบวนการ
อันที่จริงมีตัวอย่างมากมายทั่วโลกกับประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาแล้วสำเร็จ แต่รัฐไทยยังย่ำอยู่กับที่ การศึกษาไทยจึงรั้งท้ายไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ขณะที่วิชาประวัติศาสตร์ก็เต็มไปด้วยอภินิหารภายใต้ราชาชาตินิยม
เสียงบ่นจากวัยทำงานก็คือ ด้วยระบบการศึกษาเช่นนี้ พวกเขาไม่อาจไว้ใจได้เลยว่าลูกเขาจะเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ และหากอยากได้คุณภาพ ก็ต้องหาเงินเติมเข้าไปให้ลูกได้เรียน ระบบการศึกษาไทยที่ดูเหมือนต้องการให้คนโง่ลง จึงทำให้หลายคนชะงักที่ต้องการให้ลูกเกิดและเติบโตในประเทศนี้
4. ขาดแรงจูงใจจากรัฐในการเพิ่มจำนวนประชากร
เมื่อไม่นานมานี้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพิ่งออกมาบอกว่า วิกฤตประชากรกำลังจะเกิด และต้องส่งเสริมให้เด็กเกิดมากขึ้น ผ่านการดันให้ ‘ส่งเสริมการมีบุตร’ เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ โดยรัฐบาลจะแบ่งเบาค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูบุตร ช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก แก้กฎหมายให้ใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ได้ง่ายขึ้น และให้คนกลุ่มต่างๆ LGBTQIA+ มีลูกได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังเป็นเพียงหัวข้อ ยังไม่มีรายละเอียด…
หากย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา กระทั่งตอนนี้ แทบไม่มีนโยบายหรือแรงจูงใจจากภาครัฐใดๆ ให้คนไทยอยากมีลูก ราวกับไม่เคยเห็นปัญหาในเรื่องนี้
ขณะที่เวลาเดียวกัน ในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสแกนดิเนเวีย ยุโรป หรือออสเตรเลีย ถ้าคุณมีลูก รัฐบาลจะช่วยลดภาษีให้ในหลักแสนบาท มีค่าเลี้ยงดูให้ มีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ พ่อ–แม่สามารถลาหยุดได้ตั้งแต่ก่อนและหลังคลอด โดยอาจสูงสุดถึง 180 วัน การบังคับให้ออฟฟิศต้องมีศูนย์เด็กเล็ก มีที่ให้นมลูก คำถามก็คือประเทศนี้มีอะไรบ้าง
คำตอบคือไม่มี ปู่ย่าตายายก็เลี้ยงกันไป พ่อแม่ก็ต้องทำงานหาเงินเพื่อจ่ายเงินก้อนใหญ่ และเก็บเงินก้อนโตเตรียมให้ลูกเข้าโรงเรียนดีๆ ที่ไม่ใช่โรงเรียนของรัฐ และภาวนาทุกวันว่าลูกจะไม่ซวย ไปติดโรคอะไรแปลกๆ แล้วต้องเข้าโรงพยาบาลอีก
5. หนีไม่พ้นวิกฤตแรงงาน-วิกฤตสังคม
ตัวเลขประมาณการในขณะนี้ก็คือ หากเด็กยังเกิดใหม่ในอัตรานี้ เป็นไปได้ที่จำนวนประชากรจะลดลงเรื่อยๆ วัยแรงงานจะเป็นวัยที่อุ้มผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งที่มีจำนวนน้อยกว่ามาก รัฐบาลในอนาคตจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขยายอายุเกษียณออกไป ให้คนแก่ทำงานมากขึ้น พร้อมกันนี้ ก็ยังเลี่ยงไม่ได้ที่จะ ‘การันตี’ ว่า วัยแรงงานที่จะเติบโตมาในประเทศนี้จะเป็นวัยแรงงานที่มีคุณภาพเพียงพอ ตรงกับความต้องการกับตลาดแรงงาน
ปัญหาเด็กเกิดน้อยในเวลานี้เริ่มเห็นผล บางสาขา บางคณะ ในมหาวิทยาลัยมีคนเรียนน้อยลง มหาวิทยาลัยเอกชนไม่สามารถทำกำไรได้เหมือนเดิมจนต้องให้ต่างชาติรับเหมาบางส่วนไปบริหารจัดการแทน แล้วดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามา ขณะที่บางมหาวิทยาลัยรัฐของไทยอาจต้องปิดตัวใน 10-20 ปีข้างหน้า หากสภาพยังเป็นเช่นนี้
ขณะเดียวกัน ในระยะยาว การนำเข้าแรงงานมาทำหน้าที่แทนแรงงานไทยอาจกลายเป็นเรื่องที่ ‘ต้องทำ’ มากขึ้น มากกว่าจะหลับตาข้างหนึ่งแล้วปล่อยให้เข้ามากันมากขนาดนี้
วาระเร่งด่วนของรัฐในการให้เด็กเกิดใหม่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนจริง และต้องแก้ปัญหาจริง แต่ปัญหานี้ยังไม่เห็นทางแก้ที่ง่าย และได้รับการยอมรับของคนทุกเพศ ทุกวัย
แต่ถ้าการเมืองดี ถ้าเศรษฐกิจดี ถ้าพอเห็นภาพอนาคต ทุกคนก็ย่อมอยาก ‘มีลูก’ กันมากขึ้น ยากก็ตรงที่สภาพนั้น ณ วันนี้ ยังห่างไกลจากความเป็นจริง
Tags: เด็กเกิดใหม่, วัยแรงงาน, ประชากร