ช่วงปีหลังๆ มานี้ข้อดีของการชมละครเวทีสำหรับผู้เขียนคือการได้เดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ หรือละแวกที่ไม่คุ้นเคย เพราะสถานที่การแสดงละครในยุคนี้สามารถลื่นไหลไปตามที่ต่างๆ โดยไม่ต้องยึดติดว่าต้องเล่นใน ‘โรงละคร’ (แต่นั่นก็สะท้อนถึงปัญหาในวงการที่ขาดพื้นที่ทำการแสดงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว) โดยคราวนี้ละครเวทีเรื่อง Medium (and the secret chamber of Jubjang) นำพาผู้เขียนไปยัง Sheldon ร้านบอร์ดเกมย่านเอกมัย
ตอนแรกนั้นก็งงว่าละครเวทีมันจะไปเล่นในร้านบอร์ดเกมได้ยังไง แต่สรุปคือบริเวณด้านหลังร้านจะมีห้องส่วนตัวที่ชื่อ Quiet Room ซึ่งทางกลุ่ม The Producer and I ขอยืมพื้นที่มาทำการแสดงเป็นการชั่วคราว เมื่อเข้าไปด้านในก็ต้องให้บวกหนึ่งคะแนนกับทีมอาร์ตของละครเป็นอันดับแรก ด้วยพร็อพห้อยฟรุ้งฟริ้งต่างๆ นานา และการจัดแสงโทนสีสันจัดจ้าน เพื่อเกริ่นให้คนดูทราบว่าคุณกำลังเดินเข้าสู่ ‘โลกเฉพาะ’ บางอย่างเข้าแล้ว
ตัวละครใน Medium มีเกือบสิบคน ซึ่งผู้เขียนไม่มีปัญญาจะจำได้ว่าใครเป็นใคร ชื่อตัวละครล้วนเป็นรหัสพิสดาร เช่น DG1150023 หรือ JJ1154578010 หรือ FH(-)000000092 (เออ พอเถอะ) แต่โดยคร่าวๆ คือพวกเขาเป็นชาวเมืองอะไรสักอย่างที่ถูกปกครองโดย ‘มีเดียม’ พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวและหลบซ่อน แต่ก็ดั่งละครแอบเสิร์ด Waiting for Godot ที่ไม่ได้บอกว่าโกโดต์คืออะไรหรือรอไปทำไม ในเรื่องนี้ดูจนจบแล้วเราก็ไม่ได้รู้เพิ่มเติมเลยว่ามีเดียมคืออะไร ต้องการอะไร เป็นใคร หรือกฎของมีเดียมคืออะไรกันแน่
นอกจากชื่อตัวละครรหัสยาวเหยียดที่ไม่มีวันจำได้ ละครเรื่องนี้ยังมีวัจนภาษาที่เฉพาะตัว ด้วยศัพท์ต่างๆ ที่พรั่งพรูออกมาโดยไม่แคร์ว่าคนดูจะงงหรือเปล่า ทั้ง ‘มีเดียม’ ‘มะ’ ‘กระทรวง’ ‘พิธีกรรม’ ฯลฯ หรือในด้านอวัจนภาษา เหล่าตัวละครทำท่าทางแปลกประหลาดไม่ว่าจะการทักทายหรือขอโทษ อีกทั้งละครยังมีจังหวะและการพูดที่ค่อนข้างเร็ว (ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจ) ดังนั้นช่วงสิบห้านาทีแรกผู้ชมบางคนอาจจะเกิดอาการอุทานกับตัวเองว่า “นี่มันห่าอะไรกันวะ!” ก็เป็นได้
แต่เนื่องจากผู้เขียนไปชมการแสดงในรอบหลังๆ จึงพอรับรู้สไตล์ของละครมาบ้างและเตรียมสภาพร่างกายไปจูนกับ Medium อย่างเต็มที่ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการเลือกวิธีการนำเสนอแบบนี้เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะเอาเจ้าจริงแล้วแก่นเรื่องของ Medium ไม่ใช่อะไรใหม่นัก มันเป็นพล็อตคลาสสิกว่าด้วยอำนาจบางอย่างที่กดทับเรา เรื่องราวที่บอกเล่ามาตั้งแต่หนังสือ 1984 เช่นนั้นแล้วละครจึงน่าสนใจขึ้นมาด้วยการเลือกไวยากรณ์เฉพาะตัวของตัวเอง แม้ว่ามันจะประสาทบ้าบอขนาดไหนก็ตาม (นี่คือคำชมนะจ๊ะ)
Medium กำกับโดย ญาดามิณ แจ่มสุกใส ซึ่งผลงานก่อนหน้าอย่าง ‘สุดแสนเจ๊กใจ ม๊าหายไป 6 เดือน ฯลฯ’ (ละครดราม่าว่าด้วยพี่น้องเชื้อสายจีน 4 คน) และ Medium ล้วนสร้างปฏิกิริยาต่อผู้เขียนในทำนองเดียวกัน กล่าวคือเมื่อพิจารณาโปสเตอร์และการพีอาร์ทั้งหลาย ผู้เขียนจะเลิกคิ้วด้วยคำถามว่า “มันจะเวิร์คเหรอวะ!?” แต่ญาดามิณก็พิสูจน์มาสองครั้งแล้วว่าเธอทำให้อะไรที่ดูไม่น่าเวิร์คออกมาเวิร์คได้ นี่ยังต้องชมไปถึงสื่อโปรโมตทั้งหลายของ Medium ไม่ว่าจะโปสเตอร์ ภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ ที่ทำออกมาคุมธีมสีพาสเทลน่าสนใจ แม้ว่าช่วงแรกจะเข้าใจยากไปสักนิดก็ตาม
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องชมคือนักแสดงทุกคนใน Medium เพราะละครเรื่องนี้แสนจะวุ่นวาย ดำเนินเรื่องเหมือนรถยนต์เหยียบมิดคันเร่งที่ไม่ได้ใส่คันเบรคมาด้วย ที่ผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษคือ คิ้ว—อนงค์นาถ ยูสานนท์ ในบทสาวแอ๊บแบ๊วน่ารักน่าต…. เอ๊ย น่าหมั่นไส้ ที่จังหวะจะโคนของเธอดีใช้ได้ ส่วนอีกคนคือนักแสดงผู้ไว้ใจได้เสมออย่าง พิช—วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล ผู้มาด้วยมุกจังหวะนรก (คำชมเช่นกัน) ที่มาแบบนิ่งๆ แต่เรียกเสียงฮาสนั่นทั้งห้อง
มีอีกสามประเด็นที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจใน Medium หนึ่ง—คือเรื่องพิธีกรรมลับๆ ของเหล่าตัวละครที่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่านักว่ามีความโยงใยกับเมืองไทยในช่วงนี้หรือเปล่า แต่มันเป็นเรื่องปกติที่หากประชาชนถูกกดทับมากๆ ทางออกคือการการหาทางปลดปล่อยด้วยกิจกรรมอะไรสักอย่างในแบบ ‘ใต้ดิน’ หรือเมื่อถูกกดทับมากๆ เข้าสักวันแรงปฏิกิริยาโต้กับจะกลายเป็นแรงระเบิด ดูได้จากเพื่อนๆ นกหวีดผู้น่ารักของผู้เขียน ที่หลายคนตอนนี้กลับลำมาบ่นลุงคนนั้นกันหมดแล้ว อิอิ
สอง—ช่วงจบของ Medium ที่เรียกง่ายๆ ว่าเซอร์แดกสุดๆ ราวกับหนังเรื่อง eXistenZ (1999) ของเดวิด โครเนนเบิร์ก เพราะอยู่ดีๆ เรื่องราวในมีเดียมก็เป็นเพียงแค่เกม และเรื่องราวในเกมก็อาจเป็นการซ้อมละครเวทีเรื่องหนึ่ง และดูเหมือนตัวละครจะไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในโลกไหนกันแน่ เช่นเดียวกับคนดูที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรต่อไปพอกัน ในแง่หนึ่งผู้เขียนคิดว่ามันเป็นการแลนดิ้งที่ออกจะรุงรังไปเสียหน่อย แต่ในอีกแง่มันก็เปิดช่องของการตีความได้ดีทีเดียว
สุดท้ายคือ บรรดาฉากที่ตัวละครได้เลือกทางออกของตัวเอง ปรากฏในรูปของชอยส์สามตัวเลือกที่ขึ้นมาบนจอ ดูเผินๆ เหมือนว่าตัวละครได้แสดงเจตจำนงของตัวเอง แต่มันก็เป็นเพียงการเลือกที่อยู่ในกรอบบางอย่าง (ชวนให้นึกถึงละครเวทีเรื่อง ‘นี่ไม่ใช่การเมือง’ ของจารุนันท์ พันธชาติ) คำถามคือ-ใครคือผู้เสนอตัวเลือก? ใช่มีเดียมหรือเปล่า? แล้วตัวละครพอใจกับตัวเลือกเหล่านั้นหรือไม่? หรือตัวละครไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ได้
แต่จะว่าไปแล้วตัวละครใน Medium อาจจะยังโชคดีกว่าเราที่อย่างน้อยยังได้เลือกอะไรบ้าง ในขณะที่คนไทยเลือกอะไรไม่ได้มาสี่ปีแล้ว และ ‘การเลือก’ ครั้งหน้าของเราก็ดูจะถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีสิ้นสุด และอาจจะยาวนานยิ่งกว่าการคอยโกโดต์เสียด้วย
Fact Box
- Medium (and the secret chamber of Jubjang) แสดงถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ณ Sheldon Ekamai ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/327917351067073/