นับเป็นอีกหนึ่งข่าวน่าเศร้า เมื่ออุโมงค์ต้นสนยักษ์ซีคัวยาหรือ Pioneer Cabin Tree ในอุทยานแห่งชาติ Calaveras Big Trees State Park รัฐแคลิฟอร์เนีย ถูกพายุฝนกระหน่ำโค่นลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นอันปิดตำนานอุโมงค์ต้นไม้ยักษ์ที่คาดกันว่ามีอายุหลายพันปี
พายุฝนครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ชุมชนในแถบชานเมืองของรัฐแคลิฟอร์เนียอย่างรุนแรง ประชาชนกว่า 2,000 คน ที่อาศัยอยู่พื้นที่ใกล้เคียงกับซาคราเมนโตต้องอพยพออกจากพื้นที่ สืบเนื่องจากมีฝนตกหนักและน้ำท่วม
วาระสุดท้ายของสนยักษ์เก่าแก่แห่งแคลิฟอร์เนีย
จิม ออลเดย์ (Jim Allday) อาสาสมัครรายหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ ชี้แจงว่าต้นไม้ยักษ์ได้โค่นลงเวลาประมาณบ่าย 2 โมงของวันอาทิตย์ พร้อมกับเศษไม้แตกหักกระจายเป็นเสี่ยงๆ เต็มพื้น ขณะที่โจน ออลเดย์ (Joan Allday) ภรรยาซึ่งทำงานอาสาสมัครเช่นเดียวกันกล่าวว่า ต้นสนยักษ์นั้นเปราะบางเต็มที “มันแทบจะไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว จะมีก็แต่ส่วนยอดเท่านั้น”
ในช่วงปี 1880 ฐานของต้นส้นยักษ์ซีคัวยาได้ถูกคว้านออกและทำเป็นอุโมงค์ให้คนและรถลอดผ่านอย่างปลอดภัย ต่อมาอุโมงค์ต้นไม้แห่งนี้ได้กลายเป็นไฮไลต์สำคัญที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเวียนแวะเข้ามาชื่นชมความมหัศจรรย์ของต้นสนยักษ์โบราณ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ทางเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้แห่งสหรัฐอเมริกาได้อนุญาตเฉพาะนักปีนเขาลอดอุโมงค์นี้ผ่านเข้าไปในรัศมีไม่เกิน 1.5 ไมล์เท่านั้น
“พายุครั้งนี้รุนแรงเกินกว่าที่ต้นไม้จะทานไหว” กลุ่มไม่แสวงหาผลกำไร Calaveras Big Trees Association ได้โพสต์ข้อความและภาพอันน่าสลดของ Pioneer Cabin Tree ที่ถ่ายโดยจิม ออลเดย์บนเฟซบุ๊ก โดยมีผู้คนพากันไปคอมเมนต์แสดงความเสียใจต่อโพสต์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
แม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันอายุที่แท้จริงของ Pioneer Cabin Tree แต่ทางเว็บไซต์อุทยานแห่งชาติได้ชี้แจงว่า ต้นไม้จำนวนมากในอุทยานมีอายุมากกว่าพันปี ขณะที่ต้นสนยักษ์ซีคัวยาหรือเซียร์ราเรดวูดนั้นอยู่ได้นานกว่า 3 พันปี และมักจะพบในบริเวณพื้นที่สูงชันทางฝั่งตะวันตกของเทือกเขาเซียร์ราเนวาดา
Pioneer Cabin Tree มีความสูงประมาณ 100 ฟุต และถูกขนานนามให้เป็นหนึ่งในบรรดาอุโมงค์ต้นไม้เก่าแก่ที่สวยงามและโด่งดังที่สุดในโลก เช่นเดียวกับต้นวาโวนาในอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี (Yosemite)
มายาคติเกี่ยวกับอุโมงค์ต้นไม้และการจัดการภูมิทัศน์เมือง
แม้ว่าอุโมงค์ต้นไม้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับอุทยานต่างๆ ทว่าทางอุทยานแห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้ชี้แจงถึงแนวคิดและมายาคติเกี่ยวกับอุโมงค์ลอดต้นไม้ที่เปลี่ยนไปในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาว่า ในอดีตเจ้าหน้าที่เชื่อว่าการตัดต้นไม้ซีคัวยาให้กลายเป็นอุโมงค์ลอดนั้นจะทำให้อุทยานมีชื่อเสียงและได้รับการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งนับเป็นการกระทำเพื่อปกป้องทรัพย์สินส่วนบุคคล ณ ช่วงเวลานั้นมากกว่าจะมุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ ปัจจุบันทางอุทยานแห่งชาติได้ตระหนักว่าอุทยานเหล่านี้คือภาพสะท้อนของภูมิทัศน์เก่าแก่ที่หลงเหลืออยู่ในอเมริกา และจะพยายามให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตตามธรรมชาติ โดยมีมนุษย์เข้าไปแทรกแซงน้อยมากที่สุดเท่าจะเป็นไปได้
ทาง The Momentum ได้พูดคุยกับ กบ-อนันตา อินทรอักษร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรี (BIG Trees) กลุ่มเครือข่ายต้นไม้ในเมืองที่ ‘ไม่ได้ทำเรื่องต้นไม้ใหญ่ แต่ทำเรื่องใหญ่ของต้นไม้’ เกี่ยวกับประเด็นนี้และแนวทางการจัดการตัดแต่งต้นไม้ในปัจจุบัน
“ถ้าพูดถึงเรื่องของมายาคติ หรืออุดมคติของการมีต้นไม้ที่ถูกตัดแต่งเพื่อประเทืองใจ เรามองว่ามันเป็นงานด้านรุกขกรรม ซึ่งเป็นวิชาชีพเกี่ยวข้องกับต้นไม้ใหญ่ในเชิงภูมิทัศน์ ไม่ใช่ต้นไม้เล็ก เน้นเรื่องของการประเทืองใจ จะมองเป็นเรื่องของอุดมคติหรือมายาคติ แต่มีผลในเรื่องของจิตใจและเศรษฐกิจ เพราะคนก็ได้เรื่องของความประเทืองใจเวลานั่งรถผ่านทุกวัน
“อย่างงานด้านรุกขกรรมบนถนนทางหลวงในบ้านเรา ทางกรมป่าไม้ก็คุยให้ฟังว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างไหม คนเริ่มใส่ใจการปลูกต้นไม้ริมทางถนนกันมากขึ้นแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของคนในพื้นที่ จริงๆ มันไม่ได้มีนโยบายที่แน่นอน มันเป็นเรื่องของสำนึก
“หรือกรณีอุโมงค์ต้นไม้ใน จ.น่าน คนขับรถแก๊สยังคุยกับเราว่าช่วยบอกผู้มีอำนาจว่าอย่าตัดได้ไหม มันช่วยมาก นี่คือจุดเดียวที่เหลืออยู่ เพราะที่อื่นมันหายไปหมดแล้ว นี่คือประเทืองใจหรือเปล่า หรือประเทืองชีวิต อันนี้อาจจะต้องตีความกันต่อ”
ไม่ว่าอุโมงค์ต้นสนยักษ์ซีคัวยาจะล้มลงด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความผิดพลาดในอดีต หรือเป็นผลกระทบมาจากสภาพภูมิอากาศที่ผันเปลี่ยนด้วยน้ำมือของมนุษย์ วาระสุดท้ายของ Pioneer Cabin Tree ได้มอบโจทย์ให้มนุษย์เราขบคิดกันต่อไปว่า เราจะจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่ให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคตได้อย่างไร
อ้างอิง:
- www.bbc.com/news/world-us-canada-38561877
- www.nps.gov/seki/faqtunnel.htm
- www.parks.ca.gov/NewsRelease/720
- www.nytimes.com/2017/01/09/us/pioneer-cabin-tree-sequoia.html?smprod=nytcore-iphone&smid=nytcore-iphone-share&_r=0