บ่อยครั้งที่ศิลปินแนว Conceptual Art เลือกหยิบยืมผลงานชิ้นสำคัญในอดีตมากระทำบางอย่าง เพื่อสร้างความหมายใหม่ หรือล้อเลียนเสียดสี จนถึงตอกย้ำความหมายดั้งเดิมของมัน และ ‘พัทธ์ ยิ่งเจริญ’ ก็อีกหนี่งศิลปินไทยที่เลือกใช้การหยิบยืมภาพวาดชิ้นเอกในอดีตมาตีความใหม่ ในนิทรรศการ ‘MYTH ปรัมปรา’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม – 26 พฤษภาคม 2561 ที่ Number 1 Gallery

และด้วยชื่อของนิทรรศการคือ Myth หรือ ปรัมปรา ก็อาจจะสามารถชักชวนผู้สนใจงานศิลป์ รวมถึงสาวกเทพปกรณัมกรีกโบราณให้ลองเข้ามาชมเพื่อจะพบว่าเทพเจ้ากรีก (หรือกระทั่งเทพเจ้าใกล้ตัวอย่าง ‘ราม’) ได้ถูกแปลงร่างและบิดเบือดไปมาก ซึ่งในงานหลายๆ ชิ้นของเขา อาจต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับ เทพปกรณัม ประวัติศาสตร์โลกรวมถึงประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อจะร่วมรู้สึกรู้สากับการเสียดสีของศิลปิน (หรืออันที่จริงหากใครจะเสพโดยใช้อารณม์ล้วนก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด)

ทั้งหมด 17 ภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการ ศิลปินได้หยิบยืมภาพในอดีตไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพเขียน หรือภาพพิมพ์ ฯลฯ มาสร้างขึ้นใหม่ด้วยการเพิ่มเติม ลดทอน ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบ และสีสันต่างๆ อย่างแยบยล จนได้ภาพใหม่ที่อนุญาตให้เค้าโครงเดิมหลงเหลืออยู่เท่าที่เขาอยากให้มีอยู่

อย่างภาพ Drunken Silenus Supported by Satyrs จากภาพจิตรกรรมต้นฉบับในยุคบาโรคจากสตูดิโอของปีเตอร์ พอล รูเบน (Peter Paul Rubens) ออกแบบและวาดภาพโดยอันโตนี ฟาน ไดกค์ (Anthony Van Dyck) และศิลปินคนอื่นๆ ในสตูดิโอ ซึ่งพัทธ์หยิบมาใช้โดยคงเหลือไว้เพียงภาพเทพไซเลนุสเฒ่าขี้เมาตามต้นฉบับ แต่เลือกที่จะไม่ตัดแขนเซเทอร์ที่โอบอุ้มไซเลนุสอยู่ตามต้นฉบับออก ปล่อยทำให้ผู้ชมสะดุดตากับแขนซึ่งดูแปลกประหลาดและผิดที่ผิดทางจนไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นแขนของใคร เพราะบุคคลทั้งหมดในภาพไม่มีใครอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องกับแขนนั้นเลย

ส่วนบุคคลที่เหลือในภาพต้นฉบับกลายเป็นบุคคลร่างกายซูบผอมจนเห็นกระดูก ตรงข้ามกับร่างอ้วนท้วมสมบูรณ์ของไซเลนุสอย่างเห็นได้ชัด ผิวของผู้รายล้อมก็คล้ำหม่นตรงข้ามกับผิวสีเหลืองทองเปล่งปลั่ง ภาพที่เคยแสดงถึงความบันเทิงสุดแสนของไซเลนัส ผู้สูงส่งแถมอายุยืน—เป็นถึงอาจารย์ของไดโอนีซุสเทพเจ้าแห่งไวน์ จึงเปลี่ยนความหมายไป เขาอาจยังเมามายอยู่เหมือนเดิม แม้สิ่งแวดล้อมของเขาจะไม่ได้เป็นอย่างในเทพปกรณัมอีกต่อไป แล้วยิ่งกว่านั้นใครกันที่โอบอุ้ม ‘เขา’ ที่เมาเละเทะอยู่ท่ามกลางคนยาก หรือหากอยากรู้ต่อว่าความเมาของเขามาจากสุขหรือเศร้ามากกว่ากัน ข้อนี้ก็อาจต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้เสพแต่ละคนเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในตอนหนึ่งของปกรณัม เมื่อกษัตริย์ไมดัสถามถึงสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต เทพไซเลนุสผู้เมามายก็ตอบกลับไปว่า “สิ่งที่ดีที่สุดนั้นเกินกว่าที่คุณจะไขว้คว้า (เพราะ) มันคือการไม่เกิด การไม่มีอยู่ การไม่มีอะไรเลย แต่สิ่งที่ดีที่สุดรองลงมาก็คือตายไวๆ” (What is best of all is utterly beyond your reach: not to be born, not to be, to be nothing. But the second best for you is—to die soon.)

ตัวอย่างอีกภาพหนึ่งคือ ‘Raft’ หรือ แพ ซึ่งพัทธ์ได้ดัดแปลงภาพ Raft of the Medusa จิตรกรรมชิ้นเอกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยจิตรกรชาวฝรั่งเศสธีโอดอร์ เจรีโคลต์ (Théodore Géricault) โดยพัทธ์วาดภาพหญิงสาวผู้อพยพที่กำลังอุ้มเด็กเพิ่มเข้าไปและยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบดั้งเดิมของภาพต้นฉบับ ซึ่งตัดทอนมาเฉพาะส่วนหนึ่งของภาพเท่านั้น และเปลี่ยนโทนสีของภาพให้เป็นสีเท่าหม่นแบบเดียวกับภาพหญิงผู้อพยพ

ศิลปินคัดลอกภาพต้นฉบับมาเพียงส่วนหนึ่งทำให้ไม่เห็นองค์ประกอบทั้งหมดของภาพที่เดิมทีเป็นภาพกลุ่มคนจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่บนแพสภาพผุพังกำลังลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร ขณะเดียวกันภาพนี้มีรายละเอียดบางอย่างที่สะดุดตาผู้ชม ทำให้รู้สึกถึงความไม่เป็นเรื่องราวเดียวกันอยู่บางประการ เช่น ลักษณะการยืนของหญิงสาวที่ยืนตรงหันหน้าปะทะกับผู้ชมด้วยสายตามืดหม่น ณ ตำแหน่งกึ่งกลางของภาพ ตรงข้ามและขัดแย้งกับท่าทางของบุคคลที่เหลือซึ่งคงไว้ตามภาพต้นฉบับ จึงสร้างความแตกต่างและโดดเด่นให้หญิงสาวผู้นั้นบวกกับเงาของหญิงสาวที่ตกกระทบที่ฝั่งซ้าย จึงดูเหมือนว่าเธอยืนอยู่เบื้องหน้าของภาพวาดอีกทีหนึ่ง ไม่ได้เป็นตัวละครร่วมในภาพนั้น Raft ของพัทธ์จึงเป็นดั่ง ‘ภาพซ้อนภาพ’ ที่ชวนให้นึกต่อว่าใครเป็นใครและเหตุใดจึงมีคนมายืนประจันหน้ากับเราอยู่แบบนั้น

อย่างไรก็ตาม บางภาพในนิทรรศการ ศิลปินใช้วิธีวาดภาพทั้งกรอบซ้อนทับลงไปบนอีกภาพคล้ายงานตัดปะ (Collage) เลือกเปลี่ยนเพียงโทนสีและวิธีการวาดให้ภาพดูเบลอเล็กน้อย แต่ก็ยังเหลือเค้าโครงภาพต้นฉบับแบบที่ผู้ชมเห็นภาพก็รู้ทันทีว่าคือภาพอะไร เนื่องจากภาพที่ศิลปินหยิบยืมมาใช้นั้นเป็นที่โด่งดังและผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดี อย่างในงานชิ้น Apocalypse project no.2 (Red Horse) พัทธ์ก็ได้หยิบเอาภาพ Napalm Girl ภาพถ่ายเด็กที่กำลังวิ่งหนีระเบิดในสงครามเวียดนามโดยช่างภาพชาวเวียดนามนิค อุท (Nick Ut) มาตัดแปะเข้ากับภาพวาดคลาสสิกซึ่งคราวนี้เราเองอาจไม่รู้ว่ามันคือภาพอะไร หากแต่เราก็ยังได้รับมวลอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างจากภาพนี้เข้าไปอยู่ดี

อันที่จริงอีกสิ่งหนึ่งที่เราพบว่า ช่วยสร้างความเข้าใจกับผู้ชมได้อย่างที่ไม่ควรพลาด ก็คือสูจิบัตรของงาน ที่ระบุว่า

“เป็นการเล่าเรื่องเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เพื่อเป็นกระจกสะท้อนมาสู่ปัจจุบันผ่านทัศนะของตัวศิลปิน ประวัติศาสตร์ของไทยนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวของ “อำนาจ” และ “ความศักดิ์สิทธิ์” พัทธ์ จึงหยิบยกปกรณัมนิทานปรัมปราของเหล่าเทพเจ้าทั้งตะวันตกและตะวันออก รวมถึงเรื่องราวในคัมภีร์ทางศาสนา มนุษย์พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่เหนืออำนาจในการควบคุมของตนเพื่อเอาตัวรอดในธรรมชาติที่อันตราย

เราอาจนิยามว่าเป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจและตามใจเทพเจ้าหรือพระผู้เป็นเจ้า เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่อาจเกิดขึ้น เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาสังคมไทยร่วมสมัย อำนาจเหนือธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ผูกพันธ์อย่างลึกซึ้งกับโครงสร้างทางสังคมในทุกระดับ ตั้งแต่การเมือง การปกครอง สถาบันต่างๆ จนกระทั่งความคิดและความเชื่อ อาจกล่าวได้ว่าอำนาจในรัฐไทยสมัยใหม่คือการอวตาร เปลี่ยนรูป แปลงร่างของเทพเจ้าในสมัยบรรพกาล

การทำความเข้าใจอำนาจเหนือธรรมชาติด้วยความหวั่นเกรง และตระหนักถึงอำนาจอันไร้ขอบเขตของเทพเจ้าโบราณ เพื่อปรนนิบัติ ตามใจ อย่างไร้ทางสู้เพื่อเอาตัวรอด กับการใช้ชีวิตภายใต้โครงสร้างทางอำนาจที่ซับซ้อนในสังคมไทยสมัยใหม่ จึงกลายเป็นเรื่องเดียวกัน จึงสามารถตีความเชิงอุปมา หรืออุปลักษณ์ เทียบเคียงมาสู่ประวัติศาสตร์ไทย กระทั่งเหตุการณ์ร่วมสมัยในชาติได้อย่างแนบเนียน”

พบว่ามีหลายคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจ และการที่ศิลปินเลือกใช้เทพปกรณัมกรีกมาผูกโยงกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็น่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากเทพเจ้ากรีกเรียกได้ว่าเป็นเทพเจ้าที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์เอง มีบุคคลิกนิสัยอย่างมนุษย์โลกทุกประการโดยเฉพาะกิเลสตัณหา รัก โลภ โกรธ หลง รวมถึงได้กลายเป็นตำนานหรือ ‘ตัวละคร’ ที่พ้นยุคสมัยไปแล้ว เหตุนี้เรื่องราวของเทพเจ้ากรีกจึงมักถูกนำมาใช้ในงานศิลปะเพราะสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างเสรี ไม่ต้องกังวลถึงความไม่สมเกียรติหรือความศักดิ์สิทธิ์ที่มักติดอยู่กับเทพเจ้าของความเชื่ออื่นๆ

ขณะเดียวกันสิ่งที่เทพเจ้ากรีกมีเหมือนเทพอื่นๆ คือความหมายที่ยึดโยงกับ ‘อำนาจ’ และ ‘การเมือง’ ดังนั้นการเลือกหยิบยืมผลงานชิ้นเอกในอดีตที่เป็นที่รู้จักกันดีพร้อมพกเอาความหมายของมันมาด้วย จึงเป็นการสื่อสารที่นับว่าประสบความสำเร็จทีเดียว

นอกจากนั้น พื้นที่ภายในแกลเลอรียังถูกออกแบบให้มีแสงสว่างน้อยและมืดสลัวบวกกับโทนสีของภาพวาดที่หม่น ซีด ประกอบกับเทคนิคการวาดดวงตาของตัวละครในภาพเกือบทั้งหมดเป็นลักษะการใช้สีเข้มหรือสีเทาลงในพื้นที่ดวงตา ทำให้แทบไม่เห็นแววตาของตัวละคร การใช้สีลักษณะดังกล่าวจึงทำให้ทุกตัวละครในนิทรรศการดูไร้ชีวิตจิตใจ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้พื้นที่ภายในแกลเลอรีอบอวลไปด้วยกลิ่นของความตายอย่างน่าพิศวง รูปแบบการจัดแสดงจึงสอดรับกับเนื้อหาในภาพวาดแต่ละภาพได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันในแวดวงศิลปะก็ได้มีศิลปินจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาทำงานสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและการเมือง ที่ผ่านมาก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ เช่นภาพถ่ายแนวสารคดีซึ่งเป็นภาพถ่ายชีวิตในสลัม โดยลูอิส ไฮน์ (Lewis Hine) ช่างภาพชาวอเมริกัน ที่สามารถเป็นตัวผลักดันให้เกิดกฏหมายคุ้มครองแรงงานเด็ก ซึ่งนั่นอาจะเป็นไปได้ยากในยุคสมัยนี้ แต่ผลงานเหล่านี้ก็ได้ทำหน้าที่สื่อสารไปยังผู้ชมให้ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดอยู่รอบๆ ตัวเราตลอดเวลา บ้างก็ไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ หรือถ้าหากจะบจบลงจริงก็อาจจะลงในแง่ร้ายกว่าที่คาดคิด

อ้างอิง

http://www.number1gallery.com/Artist.aspx?name=pat-yingcharoen

สุธี คุณาวิชยานนท์, ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย : ตะวันตกและไทย, โครงการหนังสือและตำราทฤษฎีศิลป์ ภาค/สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2561, 176.

Tags: , , , , ,