วันนี้ (27 ตุลาคม 2023) สภาผู้ปกครอง (Conference of Rulers) หรือสภาสุลต่านแห่งมาเลเซีย เข้าประชุมเพื่อเลือกกษัตริย์องค์ใหม่ในเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดย สุลต่านอิบราฮิมแห่งยะโฮ (Sultan Ibrahim ibni Almarhum Sultan Iskandar) หรือสุลต่านแห่งยะโฮห์ (Sultan of Johor) จะทำหน้าที่ต่อจาก อัล สุลต่าน อับดุลเลาะห์ (Al-Sultan Abdullah) หรืออับดุลเลาะห์แห่งปาหัง (Abdullah of Pahang)
เบื้องต้น มาเลเซียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล ขณะที่พระมหากษัตริย์หรือ ‘ยังดีเปอร์ตวนอากง’ (Yang di-Pertuan Agong) มีบทบาทในเชิงประมุขแห่งรัฐเท่านั้น
ทว่าระบบการครองราชย์ของกษัตริย์มาเลเซียแตกต่างจากประเทศอื่น เพราะมีการ ‘หมุนเวียน’ สุลต่าน 9 รัฐ (จากทั้งหมด 13 รัฐ) เพื่อดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศเป็นเวลา 5 ปีเต็ม แม้ในช่วงอดีตที่ผ่านมา (หลังมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1957) จะใช้วิธีคัดเลือกกษัตริย์ใหม่จากความคิดเห็นของสุลต่านผู้อาวุโสที่สุด
ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า สุลต่านอิบราฮิมแห่งยะโฮจะเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปจาก อัล สุลต่าน อับดุลเลาะห์ หลังจะสิ้นสุดวาระในวันที่ 30 มกราคม 2024
สุลต่านอิบราฮิมแห่งยะโฮเป็นชาวมาเลย์เชื้อสายอังกฤษ มีความสนใจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เคยได้รับการฝึกทางทหารและศึกษาต่อที่ Fletcher School of Law and Diplomacy รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา ในหลักสูตรยุทธศาสตร์ศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกฎหมายทะเล
นอกจากนี้ สุลต่านอิบราฮิมแห่งยะโฮยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจผู้ร่ำรวยจากอสังหาริมทรัพย์และเหมืองแร่ อีกทั้งยังเป็นนักสะสมรถสปอร์ตหรูตัวยง และมีไลฟ์สไตล์ผาดโผนจากความคลั่งไคล้กีฬา
อย่างไรก็ตาม การขึ้นมาของกษัตริย์องค์ใหม่ของมาเลเซียกำลังได้รับการจับตามองอีกครั้ง เมื่อสังคมเกิดข้อวิจารณ์การกระทำของอัล สุลต่าน อับดุลเลาะห์ เพราะทรงเข้ามามีบทบาททางการเมือง ด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง คือ มูห์ยิดดิน ยัสซิน (Muhyiddin Yassin) โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญของมาเลเซียในมาตรา 43 (2)
ยังไม่รวมการแสดงพระราชดำรัสที่ตรัสเป็นนัยสำคัญว่า สมาชิกรัฐสภาควรฟังเสียงของพระองค์เพื่อหาทางออกของประเทศร่วมกัน ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในเวลานั้น
ทั้งหมดนี้เป็นการหักล้างธรรมเนียมดั้งเดิมในอดีต เมื่อประมุขแห่งรัฐจะไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ แม้สมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมมัดที่ 5 แห่งกลันตัน (Sultan Muhammad V) เคยพระราชทานอภัยโทษในปี 2018 ให้กับ อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หลังถูกจำคุกในข้อกล่าวหามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักและคอร์รัปชัน
จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้สื่อต่างชาติและสาธารณชน สนใจบทบาทของสุลต่านอิบราฮิมแห่งยะโฮ เพราะในอดีตที่ผ่านมา เขาเป็นผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังกล่าวว่า ตนมีความสัมพันธ์อันดีกับอันวาร์
“อันวาร์รู้ว่า รัฐบาลกำลังมีเสถียรภาพการเงินที่ติดขัดตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผมคิดว่าเขาต้องการเวลามากกว่านี้” สุลต่านอิบราฮิมแสดงความคิดเห็นในเดือนสิงหาคม 2023 โดยเผยว่า เขาโล่งใจมากที่การเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีให้ผลประโยชน์ต่อมาเลเซียอย่างมหาศาล
นี่จึงเป็นปฐมบทแรกของการเมืองมาเลเซียในปี 2023 ที่ต้องติดตามกันต่อไป ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังร้อนระอุไม่แพ้ประเทศไหนในภูมิภาคเดียวกัน
อ้างอิง
https://www.thestar.com.my/news/nation/2023/08/27/give-anwar-time-to-fix-economy-says-sultan-ibrahim
https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/why-malaysia-rotates-its-kings-and-who-s-next-in-line
https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/10-things-to-know-about-the-sultan-of-johor
https://www.the101.world/pas-sultan-malay/
https://www.malaysiakini.com/news/565929
Tags: มาเลเซีย, อันวาร์ อิบราฮิม, กษัตริย์, สถาบันกษัตริย์, กษัตริย์มาเลเซีย, สถาบัน, การเมืองมาเลเซีย