พิพิธภัณฑ์โปร่งใสแค่ไหน? คำถามนี้เราไม่ได้หมายถึงการทุจริตงบประมาณของพิพิธภัณฑ์แต่อย่างใด เพราะ ‘ความโปร่งใส’ ในที่นี้ หมายถึงเรื่องของการนำเสนอเนื้อหาในพิพิธภัณฑ์ ที่มองเผินๆ อาจดูธรรมดาและเป็นกลาง แต่ที่จริงแล้วมันอาจจะสร้างภาพลักษณ์บางอย่างต่อเหตุการณ์ในอดีต ให้คนเห็นตามไปในทิศทางนั้นๆ ได้ หรือแม้แต่การเลือกนำเสนอบางอย่างและไม่นำเสนอบางอย่าง เพียงแค่นี้ก็ส่งอิทธิพลต่อความคิดของคนที่เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ได้แล้ว เพราะในสายตาประชาชน พิพิธภัณฑ์ย่อมมีความ ‘ถูกต้อง’ เสมอ
ดังนั้น พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่มีการตรวจสอบและตั้งคำถามกับตัวเอง จึงต้องคอยระวัง เพื่อให้สิ่งที่ตัวเองทำหรือนำเสนอมีอคติให้น้อยที่สุด หรือถ้ามีอคติก็บอกกันไปตรงๆ เลยว่าที่เลือกทำเช่นนี้ เพราะอะไร อย่างไร
การกระทำเหล่านี้ในทางพิพิธภัณฑ์มีคำเรียกคือ Radical Transparency หรือแปลได้ตรงๆ ว่าความโปร่งใสอย่างสุดโต่ง ซึ่งเจเน็ท มาร์สไตน์ (Janet Marstine) ผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ New Directions in Museum Ethics ว่า Radical Transparency ถือเป็นหลักการสำคัญในหลักสิทธิมนุษยชน ที่ผู้คนจะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเท่าเทียม ทั้งยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพิพิธภัณฑ์อีกด้วย
จะขอยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ Museum of London Docklands ที่ถือเอาหลักโปร่งใสอย่างสุดโต่งนี้มาแสดงให้เราเห็นกัน โดยในปี 2007 ทางพิพิธภัณฑ์ได้เปิดตัวนิทรรศการถาวรใหม่ที่ชื่อ London, Sugar & Slavery ว่าด้วยประวัติศาสตร์การค้าทาสของลอนดอนในอดีตที่สร้างความร่ำรวยให้กับเมืองอย่างมหาศาล และเป็นการระลึกถึงวาระครบรอบ 200 ปีกฎหมายยกเลิกการค้าทาสด้วย
เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการหยิบยกประเด็นที่พูดยากในประวัติศาสตร์ของชาติมาเล่าแบบไม่อ้อมค้อม เพราะทาง Museum of London เล็งเห็นว่านี่เป็นประเด็นถูกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงมาตลอด แต่ทว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมาก ในการทำความเข้าใจว่าลอนดอนเป็นอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร นิทรรศการนี้เล่าเรื่องราวการค้าขายที่ได้ทำให้ลอนดอนกลายมาเป็นท่าเรือค้าทาสที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกและส่งทาสชาวแอฟริกันนับสิบล้านคนไปยังทวีปอเมริกา เพื่อทำงานในไร่อ้อย และผลผลิตน้ำตาลจากไร่เหล่านั้นเอง ก็กลับมาตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำตาลที่พุ่งสูงมากของลอนดอนในช่วงศตวรรษที่ 18 ตามความนิยมในการดื่มกาแฟที่เพิ่มขึ้น
ความโหดร้ายของการค้าทาสได้ถูกนำมาแสดงผ่านคอลเลคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนหรือภาพพิมพ์ต่างๆ ที่แสดงภาพการใช้แรงงานรวมไปถึงการลงโทษเฆี่ยนตีทาสผิวสีเหล่านี้ มีแผนผังแสดงการจัดวางทาสกว่า 600 คนอย่างเบียดเสียดในท้องเรือเพื่อให้ขนข้ามทวีปไปให้ได้มากที่สุด ทั้งยังมีการเล่าเรื่องผ่านเสียงของผู้เป็นเหยื่อการค้านี้ผ่านการใช้เทคโนโลยีจำลองเสียง และผ่านบันทึกต่างๆ เช่น จดหมายของของนายอิกนาเชียส ซานโช (Ignatius Sancho) ชาวแอฟริกันซึ่งเกิดบนเรือค้าทาสและถูกนำตัวมายังประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุสองขวบ นอกจากนี้ยังมีบันทึกประจำวันที่บันทึกการทำงานของทาสในไร่ รวมถึงรายชื่อของทาสจำนวนมาก ซึ่งผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์หลายคนมาเพื่อสืบค้นชื่อบรรพบุรุษของตนในบันทึกนี้
แน่นอนว่านิทรรศการแรงขนาดนี้ ย่อมมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ซึ่ง Museum of London ก็แสดงความโปร่งใสในการเปิดเผยเสียงตอบรับนี้โดยใส่คอมเมนต์ที่หลากหลายไว้ในหนังสือประกอบนิทรรศการ มีทั้งเสียงที่แสดงความชื่นชมในความโปร่งใสและการกล้าเปิดเผยเรื่องราวที่น่าสยดสยองนี้ให้ได้รู้จักเป็นครั้งแรก แต่ก็ยังไม่วายมีเสียงตรงข้าม ที่บอกว่าที่นี่นำเสนอเรื่องราวอย่างลำเอียงและมีมุ่งหมายทางการเมืองแอบแฝง! ซึ่งคอมเมนต์ทั้งหมดก็ถูกโชว์ไว้ให้ผู้เข้าชมทุกคนอ่านได้และเลือกที่จะเห็นด้วยหรือไม่โดยวิจารณญาณของตัวเอง
อีกกรณีหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้คือที่พิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert Museum ที่ลอนดอน ซึ่งผู้อำนวยการได้ออกมาแถลงเมื่อต้นเดือนเมษายนว่า ทางพิพิธภัณฑ์จะขอคืนสมบัติของประเทศเอธิโอเปียที่ทหารอังกฤษปล้นมาในการสู้รบที่เมืองมักดาลา (Magdala) เมื่อปี 1868 (แต่ที่จริงก็ใช่ว่าจะคืนไปเลย ต้องเรียกว่าเป็นการให้ยืมระยะยาวโดยที่ความเป็นเจ้าของยังอยู่กับทางพิพิธภัณฑ์มากกว่า) อย่างไรก็ดี นี่นับเป็นแรงกดดันต่อวงการพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษไม่น้อย เพราะหลายสถาบันเองก็ได้คอลเลคชั่นมากจากประเทศต่างๆทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วงล่าอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ อาทิ British Museum หรือ British Library ก็มีของจากเอธิโอเปียอยู่เช่นกัน คำถามต่อไปคือ แล้วพวกเขาจะลุกขึ้นมายอมรับและจัดการ กับความไม่ถูกต้องทางจริยธรรมบางอย่างในองค์กรของเขา ตาม Victoria and Albert Museum หรือไม่? อย่างไร?
นอกจากวงการมิวเซียมแล้ว กระแสแนวคิด Radical Transparency ยังคงส่งผลในวงการอื่นๆ ด้วย เช่นนิตยสาร National Geographic ที่เพิ่งลุกขึ้นมาเปิดเผยและโจมตีความไม่เป็นกลางของตัวเองเหมือนกัน โดยบรรณาธิการบริหารซูซาน โกลด์เบิร์ก (Susan Goldberg) ได้ออกมาแถลงถึงความอคติในเรื่องเหยียดชนชาติของนิตยสาร National Geographic ที่มีมาตลอดหลายทศวรรษ ในนิตยสารฉบับพิเศษว่าด้วยเรื่องเชื้อชาติ (RACE Issue) ที่วางแผงไปสดๆ ร้อนๆ ในเดือนเมษายน 2018
เธอกล่าวว่าในเมื่อตัวองค์กรสามารถที่จะบุกป่าฝ่าดงไปทำสกู๊ปในที่ห่างไกลที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง มันจึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องนำเสนอเรื่องราวที่ถูกต้องมากที่สุดให้กับผู้คน แต่หลายครั้งหลายครา องค์กรมักจะนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นด้วยภาพลักษณ์ของความล้าหลัง ความด้อยพัฒนา แสดงให้เห็นพิธีกรรมที่ดูเป็นคนป่า ที่คนยังนุ่งห่มตนด้วยใบไม้ เป็นต้น หรือแม้แต่ภาพที่ดูธรรมดาอย่างชาวป่าที่ดูตื่นตาตื่นใจกับสนใจอุปกรณ์ทันสมัยของช่างภาพ ก็ตอกย้ำภาพลักษณ์ความไร้เดียงสาต่อความความเจริญในโลกตะวันตก อีกทั้งการตีพิมพ์รูปถ่ายชาวอะบอริจินจากออสเตรเลียในปี 1916 ที่มีคำประกอบภาพถ่ายว่านี่คือคนป่าที่มีระดับมันสมองต่ำสุดในมวลมนุษย์ทั้งปวง! และที่สำคัญคือการขาดหายไปของ ‘เสียง’ ของคนผิวสี ในการถ่ายทอดเรื่องราวของวัฒนธรรมของพวกเขาเอง
บรรณาธิการบริหารใจกล้าท่านนี้ได้ชี้แจงว่ามันเจ็บปวดที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่น่าขยะแขยงในอดีตของตัวนิตยสารเช่นนี้ แต่หากจะทำเนื้อหาที่เน้นเรื่องเชื้อชาติแล้ว เราควรสำรวจตัวเองก่อนจะไปมองคนอื่น เพราะหากไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ก็ไม่สามารถจะเอาชนะมันได้ เราชาวพิพิธภัณฑ์จึงอยากจะขอรัวมือให้กับความกล้าหาญที่ออกมาโจมตีตัวเองอย่างอาจหาญ รวมทั้งอีกสองพิพิธภัณฑ์ข้างต้น ที่ยกเรื่องของจริยธรรมและมนุษยธรรมให้อยู่เหนือกว่าการปกป้องภาพลักษณ์ขององค์กร เพราะมันไม่ง่ายจริงๆ ที่จะโปร่งใส โดยเฉพาะเมื่อความโปร่งใสนั้นคือการยอมรับว่าตัวเองไม่ได้ถูกต้องเสมอไป
อ้างอิง
Bailey, M. (2018). V&A opens dialogue on looted Ethiopian treasures. [online] Theartnewspaper.com. Available at: https://www.theartnewspaper.com/amp/news/v-and-a-opens-dialogue-on-looted-ethiopian-treasures?__twitter_impression=true [Accessed 13 Apr. 2018].
Bressey, C. and Wareham, T. (2010) Reading the London, Sugar & Slavery gallery. London: Museum of London Docklands.
Goldberg, S. (2018). For Decades, Our Coverage Was Racist. To Rise Above Our Past, We Must Acknowledge It. [online] Nationalgeographic.com. Available at: https://www.nationalgeographic.com/magazine/2018/04/from-the-editor-race-racism-history/ [Accessed 13 Apr. 2018].
Marstine, J., Bauer, A. and Haines, C. (2013). New directions in museum ethics. Oxon: Routledge.
Tags: radical transparency, race, History, museum