การทำงานหนักในวัฒนธรรมญี่ปุ่นใช่ว่าจะเกิดแต่กับมนุษย์ออฟฟิศ แต่ยังรวมถึง ‘พระ’ จากวัดในเทือกเขาโคยะ ที่เป็นมรดกโลก และเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยว
สำนักข่าว AFP รายงานข่าวการละเมิดสิทธิแรงงานในสังคมพระ ใช้พาดหัวว่า ‘Far from zen’ หรือ ห่างไกลนักจากวิถีเซน หลังมีพระรูปหนึ่งออกมาบอกว่า เขาถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้หยุดเลย เพื่อเตรียมอาหารให้นักท่องเที่ยว ปริมาณงานที่มากเกินไปทำให้เขาเป็นโรคซึมเศร้า
พระสงฆ์อายุ 40 กว่าปีรูปนี้ตัดสินใจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 8.6 ล้านเยน (ประมาณ 2.5 ล้านบาท) จากวัดแห่งหนึ่งในเทือกเขาโคยะ หรือโคยะซัง มรดกโลกซึ่งเป็นพื้นที่พุทธศาสนาที่ศักดิ์สิทธิ์ของญี่ปุ่น
โนริทาเกะ ชิราคุระ ทนายของพระบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2018 ว่า แม้พระจะได้รับค่าจ้าง แต่ก็ถูกบังคับให้ทำงานหนักเกินหน้าที่ทางจิตวิญญาณ และต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน โดยพระรูปนี้เริ่มทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2008 และการทำงานทำให้เขาเป็นโรคซึมเศร้าในปี 2015
ตารางการทำงานของพระเริ่มจากการเตรียมตัวเพื่อรับแขกที่จะมาสวดมนต์ตอนตีห้า จัดห้องพักสำหรับพระและศาสนิก บางครั้งเขาต้องทำงานอยู่จนดึกและทำงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากวัด
“ถ้าคุณทำงานในฐานะพระ คุณจะต้องทำงานโดยปราศจากการบริหารเวลาบ่อยๆ” ชิราคุระกล่าว
“คุณใช้แรงงาน แต่คุณถูกบอกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม และถ้านี่เป็นการปฏิบัติธรรม คุณต้องอดทน แม้ว่ามันจะทำให้คุณลำบาก ในคดีนี้ เราจะแย้งว่าประเด็นนี้ล้าสมัยแล้ว”
ชิราคุระปฏิเสธที่จะบอกชื่อลูกความหรือวัดที่เขาฟ้อง เพราะเป็นความต้องการของพระรูปนี้ เพื่อที่ว่าเขาจะหางานทำได้ในชุมชนพระสงฆ์เล็กๆ ต่อไป
ในปี 2015 ตอนที่โคยะซังฉลองครบรอบ 1,200 ปี พระรูปนี้ถูกบังคับให้ทำงานติดต่อกัน 64 วัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว บางวัน เขาต้องทำงานติดต่อกัน 17 ชั่วโมง ทำหน้าที่หลายอย่างในวัด รวมทั้งการรับแขก
พระรูปนี้เพิ่งชนะจากการร้องเรียนต่อหน่วยงานด้านแรงงานระดับท้องถิ่น ซึ่งรับรองว่าการทำงานติดต่อกันเวลานานหลายวันโดยไม่มีวันหยุดเป็นการทำงานหนักเกินไป
เทือกเขาโคยะมีวัดทั้งหมด 117 วัด เป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2004 แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวประมาณ 200,000 – 400,000 คน เมื่อปี 2015 มีนักท่องเที่ยว 440,000 คน ซึ่งมากกว่าปี 2013 เกือบสามเท่า
การถกเถียงเกี่ยวกับแรงงานในแวดวงจิตวิญญาณเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในญี่ปุ่น
ในปี 2017 วัดฮิกาชิ ฮงกันจิ (Higashi Honganji) วัดดังของเกียวโตต้องออกมาขอโทษต่อสาธารณะจากการไม่จ่ายเงินล่วงเวลาและการละเมิดแรงงาน
การทำงานหนักเกินไปเป็นปัญหาสำคัญของญี่ปุ่น การเสียชีวิตจากการทำงานเป็นปรากฏการณ์ที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง และมีศัพท์ที่เรียกเฉพาะว่า “คะโรชิ” จากรายงานของรัฐบาลเมื่อปีที่แล้วพบว่า ในช่วง 12 เดือน มีกรณี “คะโรชิ” เกิดขึ้น 191 กรณี และพนักงานชาวญี่ปุ่น 7% ทำงานล่วงเวลามากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ที่มา:
- https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/monk-sues-temple-at-mount-koya-world-heritage-site-citing-overwork
- https://www.channelnewsasia.com/news/asia/far-from-zen–japan-monk-sues-temple-for-overwork-10242822
- https://www.japantimes.co.jp/news/2018/05/17/national/crime-legal/monk-sues-temple-mt-koya-world-heritage-site-heavy-workload/