วันนี้ (18 กรกฎาคม 2023) รอยเตอร์ (Reuters) รายงานท่าทีของสหรัฐอเมริกาต่อการเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย แมตธิว มิลเลอร์ (Matthew Miller) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามถึงสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันว่า
“เรากำลังติดตามอย่างใกล้ชิดถึงสถานการณ์หลังเลือกตั้งของประเทศไทย รวมไปถึงพัฒนาการทางกฎหมายที่กำลังเป็นกังวลอยู่” เขาตอบพร้อมระบุว่า สหรัฐฯ ไม่โน้มเอียงต่อผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าฝ่ายใดได้รับชัยชนะ ก็จะสนับสนุนกระบวนการที่สะท้อนเจตจำนงของคนไทยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นถึงแนวโน้มการตัดสิทธิทางการเมืองของพรรคก้าวไกล และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไทยรับคำร้องให้การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการล้มล้างการปกครอง
“ผมจะไม่คาดเดาถึงวิธีการที่พวกเราจะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น” เขากล่าว และทิ้งท้ายว่า ความคืบหน้าการบังคับใช้กฎหมายของไทยยังคงเป็นเรื่องน่ากังวลเช่นเดิม
แม้จะเป็นการกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยเพียงเล็กน้อย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สหรัฐฯ ให้ความสนใจกับการลงคะแนนเสียงครั้งนี้ และแสดงท่าทีเป็นนัยสำคัญ หลังเคยระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาที่ ‘ละเอียดอ่อน’ นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2023 เป็นต้นมา
“เราติดตามการเลือกตั้งอย่างระมัดระวัง นี่คือช่วงเวลาละเอียดอ่อนในการจัดตั้งรัฐบาล
“มีหลายหน่วยงานลงทุนที่ประเทศไทย และเรามีแผนงานอันแข็งแกร่งด้านการทหารและปฏิสัมพันธ์กับกองทัพไทย” เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) ผู้ประสานงานภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ กล่าวกับสถาบันฮัดสัน (Hudson Institution) ตามรายงานของรอยเตอร์ในวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แคมป์เบลล์ไม่ปฏิเสธว่า การเมืองไทยเปราะบางและต้องการการสนับสนุนเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งจากนานาชาติ
“ผมปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองไทยมีความเปราะบางเป็นระยะเวลายาวนาน และซับซ้อน แผนของสหรัฐฯ คือการสนับสนุนกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานได้ต่อจากนี้” เขาทิ้งท้าย
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะลดน้อยถอยลงจากอดีต เพราะวอชิงตันให้ความสนใจประเด็นความมั่นคงบริเวณทะเลจีนใต้และเอเชียตะวันออกเป็นหลัก รวมถึงความสัมพันธ์ของไทยกับจีน ประเทศที่ท้าชิงความเป็นใหญ่กับสหรัฐฯ บนเวทีโลก ที่แน่นแฟ้นขึ้นนับตั้งแต่ช่วงรัฐประหารปี 2014 เป็นต้นมา
แต่หากวิเคราะห์ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ ยังคงให้ความสนใจประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิก ‘พี่ใหญ่ในอาเซียน’ อยู่ เมื่อนักวิเคราะห์หลายคนวิเคราะห์ว่า หากพิธาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไทยอาจเป็นตัวตั้งตัวตีในการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา ที่อาเซียนและสหรัฐฯ ล้มเหลวมาตลอด หลังพิธาแสดงท่าทีกระตือรือร้นต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นพิเศษ
นี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป หากผลการเลือกนายกรัฐมนตรีวันที่ 19 กรกฎาคม ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของสังคมไทย สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจะมีท่าทีรับมือต่อสถานการณ์นี้อย่างไร
อ้างอิง
Tags: เลือกตั้ง 2023, แมตธิว มิลเลอร์, สหรัฐอเมริกา, ล้มล้างการปกครอง, จีน, อาเซียน, ศาลรัฐธรรมนูญ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, เมียนมา, สหรัฐฯ, พรรคก้าวไกล, การเลือกตั้งไทย