บริษัทสตาร์ตอัปในแคลิฟอร์เนียเสนอ ‘Promise’ แอปพลิเคชันทางเลือก เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังที่ไม่สามารถจ่ายเงินประกันตัว และลดต้นทุนการคุมขังผู้ต้องหาโดยไม่จำเป็น

แอปพลิเคชันนี้ได้ Jay-Z แรปเปอร์ชื่อดังและผู้บริหาร Roc Nation มาเป็นโต้โผในการระดมทุนซึ่งตอนนี้ได้มาแล้ว 3 ล้านดอลลาร์ เขาได้ออกมาต่อต้านระบบยุติธรรมของอเมริกาผ่านบทความใน Time และ The New York Times เมื่อปีที่แล้ว และกล่าวสนับสนุนทีมผู้พัฒนาแอปฯ ผ่านแถลงการณ์ของ Roc Nation ว่า “มันจะช่วยนำพาอิสรภาพและความยุติธรรมมาสู่เราทุกคน”

ปกติแล้วเมื่อถูกจับกุม หากผู้ต้องขังไม่มีเงินประกันตัว เขาจะต้องถูกคุมขังเป็นเวลานานก่อนจะได้ขึ้นศาล ทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และอาจสร้างรอยแผลร้าวลึกในใจ ซึ่งหากพวกเขาพยายามหาเงินมาประกันตัว ก็อาจจะลงเอยที่การกู้เงินจาก Bail shop ที่มีอยู่มากมายและคิดดอกเบี้ยสูงลิ่ว จนถือเป็นอีกธุรกิจที่ทำเงินเป็นล่ำเป็นสัน

ฟาเอดรา เอลลิส-แลมกินส์ CEO ของ Promise กล่าวว่าในท้ายที่สุดมีผู้ต้องหาถึง 70% ที่ถูกตัดสินว่าไม่ได้ทำผิด ทีมจึงพัฒนาแอปฯ ขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับบุคคลเหล่านี้ ที่ในบางครั้งก็เป็นผู้บริสุทธิ์ ทำผิดลหุโทษ หรือทำผิดจริงแต่ยังไม่ถูกตัดสินโดยศาล แต่ต้องถูกคุมขังเป็นเวลานานเกินกว่าเหตุ

Promise จะสอบถามความต้องการและวิเคราะห์ความเสี่ยงของการกระทำของผู้ต้องขัง ก่อนจะออก Individualized Care Plan (ICP) เครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานผ่านกระบวนการประกันตัวไปได้อย่างราบรื่น ทั้งระบบแชทเพื่อขอข้อมูลและการสนับสนุน ระบบแจ้งเตือนวันเข้าพบศาลหรือนัดต่างๆ การช่วยผู้ต้องหาเขียนรายงานหลังเข้าพบศาล และบริการ GPS ติดตามตัวผู้ต้องหาหากมีความจำเป็นเพื่อแสดงถึงความโปร่งใส

ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการประกันตัวผู้ต้องหามีมาช้านาน ประเด็นแรกคือเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยรายงานของ National Association for the Advancement of Colored People กล่าวว่าประชากรอเมริกัน 32% เป็นแอฟริกัน-อเมริกันและฮิสแปนิค (ชาวอเมริกันที่สืบเชื้อสายมาจากสเปนและเม็กซิโก) และ 56% ของผู้ถูกคุมขังทั้งหมดในปี 2015 นั้นก็เป็นสองชนชาติดังกล่าว

นั่นเอง จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ระบบประกันตัวที่ยืนพื้นอยู่บน ‘ความมั่งคั่ง’ นั้นมีส่วนในการกีดกันคนผิวสีและคนยากจนออกจากสังคมและการเข้าถึงความยุติธรรมและความเท่าเทียมหรือไม่

ประเด็นที่สองคือเรื่องต้นทุนทางเศรษฐกิจ โดยข้อมูลของ Prison Policy Initiative นั้นให้ข้อมูลว่าอเมริกามีอัตราการคุมขังมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก นั่นคือมากกว่า 2 ล้านคน โดยมีต้นทุนที่ต้องจ่าย 8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี โดยมีงานวิจัยว่า 2 ใน 3 ของผู้ต้องขังทั้งหมดคือคนที่ไม่สามารถจ่ายค่าประกันตัวได้

นอกจาก Promise แล้ว ยังมีแอปพลิเคชันชื่อ Appolition (มาจากคำว่า ‘app’ และ ‘abolition’) ระบบที่ให้ผู้ใช้งานลิงค์บัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือบัญชี PayPal ของตัวเองเข้ากับแอพฯ เพื่อที่จะตัดเศษสตางค์ที่ถูกปัดขึ้นจากการใช้จ่ายมาเป็นทุนประกันตัวให้กับผู้ที่มีความจำเป็น เงินที่ถูกตัดจากบัญชีจะถูกบริจาคให้กับองค์กร National Bail Out ที่เคลื่อนไหวเรื่องเงินประกันตัวเพื่อคนผิวสีโดยเฉพาะ เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนผิวสีเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมาโดยตลอด

การเกิดขึ้นของแอปพลิเคชันทั้งสองและการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของ NGO กลุ่มต่างๆ นำไปสู่การตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมของอเมริกามาเป็นเวลานาน แต่ในขณะเดียวกัน แอปฯ เหล่านี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำงานได้ดีไม่เท่ามนุษย์ และมีพลังไม่มากพอ

อย่างไรก็ดี ในบางเมืองก็ตื่นตัวและเริ่มออกนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์บ้างแล้ว อย่างในปี 2015 นิวยอร์กและชิคาโกก็ได้ปล่อยผู้ต้องขังหลายพันคนกลับบ้านจนกว่าคดีจะคลี่คลาย โดยมีข้อแม้ว่ายังต้องอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ ส่วนนิวเจอร์ซีก็ออกนโยบายที่คล้ายคลึงกัน จนลดจำนวนผู้ต้องขังได้ถึง 20%

 

ที่มา:

Tags: , , , ,