วันนี้ (4 กรกฎาคม 2566) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการเสนอชื่อรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เสนอชื่อ วิทยา แก้วภราดัย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นตัวแทนแข่งขันกับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล

ทั้งนี้ วิทยาเคยเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบความไม่ชอบมาพากลในโครงการ ไทยเข้มแข็งของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมถึงเป็นแกนนำ กปปส. นำผู้ชุมนุมเข้ายึดกระทรวงการคลัง และแกนนำเวทีชุมนุมที่แยกศาลาแดงและสวนลุมพินี 

วิทยากล่าวตอนหนึ่งในการแสดงวิสัยทัศน์ว่า ต้องยึดหลักความเป็นกลาง รักษาองค์กรนิติบัญญัติให้เป็นรัฐสภาที่ทรงเกียรติ ศักดิ์สิทธิ์พอในการออกกฎหมายให้กับบ้านเมือง โดยระบบนิติรัฐต้องบริหารด้วยกฎหมาย ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย องค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร คือสถานที่ที่ออกกฎและกติกาของสังคมทั้งหมด 

“ถ้าผมทำหน้าที่ ผมพร้อมปฏิบัติตาม ผมมั่นใจว่า ผมจะรักษาเกียรติภูมิและหน้าตาของรัฐสภา สภานิติบัญญัติให้เป็นที่เชื่อมั่น เชื่อถือของประชาชน จะวางตัวเป็นกลาง รักษาเกียรติภูมิสภาฯ เรา ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น

“บางยุคสมัย ประชาชนเบื่อหน่าย รำคาญ สภาฯ ที่ไร้ระเบียบ ไร้วินัย ให้ส่วนนี้ของสภาฯ มีเกียรติภูมิอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะหนึ่งปี สองปี หรือสามปี จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางและรักษาเกียรติภูมิให้ดีที่สุด”

ขณะที่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อปดิพัทธ์เป็นรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง โดยปดิพัทธ์แสดงวิสัยทัศน์ระบุว่า อยากเห็นประชาชนกลับมามั่นใจสภาฯ อีกครั้ง ในกระบวนการนิติบัญญัติที่กฎหมายถูกพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ และอยากให้สภาผู้แทนราษฎร มีตัวตน มีศักดิ์ศรี ไม่อยู่ใต้อาณัติของฝ่ายบริหาร ตามที่มีภารกิจได้ดูสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 

“ทั้งหมดจะเป็น Smart Parliament เสริมสร้างกระบวนการนิติบัญญัติให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล จำเป็นต้องมุ่งมั่นยกระดับกระบวนการนิติบัญญัติให้มีมาตรฐานสากลให้ได้ สิ่งที่อยากเสนอคือกระบวนการตรวจสอบนิติบัญญัติที่ประชาชน สื่อมวลชน ให้เพื่อนสมาชิกติดตามการผ่านร่างกฎหมายได้มีประสิทธิภาพ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียติดตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายได้”

นอกจากนี้ จะมีการแปลกฎหมายที่ผ่านมติวาระที่ 3 ให้เป็นภาษาอังกฤษ ส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างสมาชิก และให้ ส.ส.ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี มีบทบาทในการขับเคลื่อนสภาฯ อย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้กระบวนการตรากฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น การฟังความเห็น เป็นไปแค่ตามระเบียบหรือไม่ ขณะเดียวกัน จะทำให้สำนักงานเลขาธิการฯ มีขีดความสามารถ สมรรถนะสูง สามารถบริการ ส.ส.ได้อย่างประสิทธิภาพ และพัฒนาองค์กรนี้ให้มีขีดความสามารถสูงสุด ตอบสนองการให้บริการกับประชาชน

สำหรับปดิพัทธ์ เดิมเป็นผู้ที่พรรคก้าวไกลเสนอให้เป็นประธานสภาฯ แต่สุดท้ายมีการตกลงกับพรรคเพื่อไทย เสนอให้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ ทำให้ปดิพัทธ์กลายเป็นรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง

Tags: