ตลอดทั้งสัปดาห์มานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจและเป็นเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของ หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมือง เธอเป็นผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย ณ ขณะนี้
ชื่อของหยกถูกพูดถึงยับตั้งแต่ตอนที่หยกออกมาเคลื่อนไหวจนกระทั่งถูกดำเนินคดี #saveหยก ถูกหยิบยกมาพูดจนเป็นกระแสสังคมในทวิตเตอร์ เมื่อเธอถูกโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปฏิเสธและผลักไสโดยอ้างว่าเธอพ้นสภาพการเป็นนักเรียน จึงไม่สามารถเข้ามาเรียนดังเพื่อนๆ ได้
หลากความเห็นปะทุขึ้นในสังคม หลายบทสนทนาผลักการพิจารณาในมิติอื่นออกแล้วบอกแค่ว่าเป็นเพราะการกระทำของหยก ‘ก้าวร้าว’ เกินไป หรือกระทั่ง ‘สมควรแล้ว’ ที่โดนเช่นนี้
คำถามก็คือ หรือ ‘ผู้ใหญ่’ กำลังใจร้ายเกินไปและรู้สึกสะใจจากการที่เด็กคนหนึ่งถูกรังแกจากระบบ? สิ่งที่หยกกำลังเผชิญขณะนี้เป็นภาพสะท้อนบางอย่างหรือไม่? หรือแท้จริงแล้ว ระบบอำนาจนิยมยังคงฝังรากลึกในสังคมไทย และทำงานอย่างมากในระดับความคิดและจิตใจ จนเราไม่เคยไปไหนได้ไกลเลย
ว่าด้วยปัญหาอำนาจนิยม สิทธิเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สิ่งที่เกิดขึ้นรอบรั้วสถานศึกษาเป็นสิ่งที่ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ถูกพูดถึงและตั้งคำถามกันอย่างหนักหน่วง เช่น การบังคับให้รับน้องด้วยวิธีโซตัส การรณรงค์ไม่เข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร การเสนอให้แต่งกายตามเพศสภาพโดยไม่ผิดกฎมหาวิทยาลัย ฯลฯ
ในรั้วโรงเรียน การเคลื่อนไหวของเยาวชนหลายกลุ่มถูกตั้งคำถามทั้งในแง่ของระบบและความเป็นอยู่ เรามักเห็นเยาวชนจำนวนไม่น้อยเริ่มออกมาวิพากษ์ปัญหาและแสดงความเห็นเกี่ยวกับกฎระเบียบ เช่น การบังคับใส่ชุดนักเรียน การทำสีผมให้ดำสนิท การห้ามแต่งหน้าหรือใส่เครื่องประดับ ฯลฯ ที่หลายคนมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้และเปลี่ยนแปลงได้ โดยอธิบายถึง ‘สิทธิเนื้อตัวร่างกาย’ ว่า ถึงการเป็นนักเรียนจะไม่ได้แต่งกายด้วยชุดนักเรียนเต็มยศ ทำสีผม แต่งหน้า ก็สามารถเป็นนักเรียนได้เช่นเดียวกัน เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกับการเรียนเลยแม้แต่น้อย
‘การยกเลิกบังคับใส่ชุดนักเรียน’ เกิดขึ้นท่ามกลางข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย เสียงที่ต่างกันออกไปมีตั้งแต่ไม่สนับสนุนให้เลิกชุดนักเรียน เพราะชุดนักเรียนยังคงสถานะการแยก ‘เด็ก’ และ ‘ผู้ใหญ่’ บางคนยังสนับสนุนให้บังคับใส่ชุดนักเรียนก็เพราะเป็นการเสริมสร้างความเท่าเทียม เพราะทุกคนจะได้ใส่ชุดเดียวกันด้วยสถานะที่เหมือนกัน เป็นการป้องกันการเกิดความเหลื่อมล้ำของสถานะทางสังคมในสถานศึกษา ส่วนอีกฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเลิกบังคับใส่ชุดนักเรียนตอบโต้ว่า ชุดนักเรียนเป็นเครื่องหมายของความไม่เท่าเทียมกันต่างหาก เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวจะจ่ายค่าเครื่องแบบนักเรียนได้ อีกทั้งชุดนักเรียนไทยยังมีความเรื่องมากในแง่ของอุปกรณ์ด้วย
อาจกล่าวได้ว่า ประเด็น ‘ชุดนักเรียน’ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเวลาพูดถึงการปะทะทางความคิดระหว่าง ‘คนรุ่นใหม่’ กับ ‘คนรุ่นเก่า’
ตัวแสดงแทนจึงไม่ได้มีแค่ ‘กฎระเบียบ’ ของโรงเรียน หากแต่มีตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ ครู ผู้ปกครอง ไปถึงผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในสังคมที่เห็นดีเห็นงามกับการที่เด็ก ‘ก้าวร้าว’ คนหนึ่งถูกจำกัดสิทธิ และถัดมาคือปัญหาความไม่เข้าใจสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิในอีกเรื่องที่ตามมา คือหยกถูกละเมิดสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิทธิที่เป็นฐานแรกๆ ที่เยาวชนคนหนึ่งพึงได้รับ
อีกความน่าสนใจอันพิลึกพิลั่นก็คือ กระทั่งคนรุ่นใหม่บางส่วนที่ออกตัวว่า ‘ต่อต้านอำนาจนิยม’ หากแต่ถึงคราวนี้พวกเขากลับเห็นด้วยกับการที่หยกถูกระบบทำร้ายและจำกัดสิทธิเช่นนี้
สิ่งที่เราอาจมองไม่เห็น คือนอกเหนือไปจาก ‘อำนาจนิยม’ แล้ว ในเรื่องของหยกยังแฝงฝังไปด้วย ‘อนุรักษนิยม’ เช่นกัน สิ่งที่หลายคนอาจมองข้ามคือที่จริงแล้วอนุรักษนิยมและอำนาจนิยมเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมกัน เพราะอำนาจนิยมเองเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เหล่าอนุรักษนิยมมักหยิบยกมาใช้ในฐานะความชอบธรรมในการธำรงรักษาทั้งอำนาจ ความคิด และทัศนคติ
นี่จึงเป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่า ‘อำนาจนิยม’ เป็นความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของ ‘คนรุ่นเก่า’ เท่านั้นหรือไม่ หรือ ‘คนรุ่นใหม’ ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอนุรักษนิยมได้เหมือนกัน
เพราะเหตุใดสังคมไทยจึงเป็นภาพนี้?
การอธิบายถึงสภาวะลักลั่นระหว่าง ‘การเป็นคนรุ่นใหม่ที่สมาทานอนุรักษนิยม’ อาจไม่สามารถอธิบายได้ตายตัว เพราะบริบทในแต่ละครั้งต่างกันออกไป แต่สำหรับในเรื่องของ ‘หยก’ อาจสังเคราะห์ออกมาได้ 3 ประการ ดังนี้
1. การติดหล่มวาทกรรม ‘อาวุโสนิยม’ ว่า ‘เด็ก’ ไม่ควรก้าวร้าวต่อ ‘ผู้ใหญ่’
ด้วยการแสดงออกทั้งวิธีพูด การกระทำ และการแสดงออกความคิดเห็นของหยกเอง อาจเป็นไปในทางที่ค่อนข้างก้าวร้าวและมีลักษณะถอนรากถอนโคน (Radical) สำหรับผู้เขียนมองว่า หยกเป็นเยาวชนที่กล้าหาญมาก แต่ถึงอย่างนั้น การแสดงออกหลายครั้งก็อาจทำให้ ‘ผู้ใหญ่’ รู้สึกว่าเด็กไม่ควรแสดงออกอย่างชัดเจนด้วยอารมณ์รุนแรงเช่นนั้น
ภาพนี้เราอาจมองไม่เห็นเมื่อพูดถึงเยาวชนคนอื่นที่เป็นนักกิจกรรม อาจด้วยเพราะสถานะของคนที่เหลือมักเป็น ‘นักศึกษา’ ในมหาวิทยาลัย หรือกระทั่งนักกิจกรรมคนอื่นที่เป็น ‘นักเรียน’ ส่วนใหญ่ ก็มักมีข้อเรียกร้องหลักเกี่ยวกับระบบการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ และมักขับเคลื่อนในนามกลุ่ม
แต่สำหรับหยกเป็นเยาวชนที่ขับเคลื่อนในนามตัวเอง และพูดถึงเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่อันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากมาย บวกกับด้วยโทนที่ใช้แสดงออก หยกจึงกลายเป็นเป้านิ่งของการถูกโจมตีจากหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยหรือไม่ แต่รวมไปถึงผู้ที่ยังคงมีความคิดอนุรักษนิยมในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย
2. ‘อนุรักษนิยม’ และ ‘อำนาจนิยม’ ที่ฝังรากลึกกับคนไทยมายาวนาน
เวลาเราพูดถึง ‘อนุรักษนิยม’ มากไปถึง ‘อำนาจนิยม’ หลายคนมักนึกถึงในแง่เศรษฐกิจและแนวทางการปกครองเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าให้อธิบายโดยสั้นอาจกล่าวได้ว่า ‘อนุรักษนิยม’ คือแนวความคิดที่ชอบการปฏิรูปสิ่งเดิมๆ มากกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน มักไม่เชื่อในเรื่องของการรื้อของเก่าทิ้งทั้งหมด หากแต่ถ้าจะแก้ไขอะไรสักอย่าง ก็มักเป็นไปด้วยความละมุนละม่อมมากกว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโค
‘อำนาจนิยม’ จึงเป็นส่วนสำคัญมากอย่างหนึ่งของความคิดแบบอนุรักษนิยม เพราะช่วยธำรงรักษาให้ทุกอย่างยังคงอยู่ได้เหมือนเดิมตามปกติ ขั้วอำนาจใดที่อยู่เหนือก็มีความพยายามที่จะอยู่เช่นนั้นไปเรื่อยๆ
กรณีของหยกท้าทายกับหลักอาวุโสและอำนาจนิยมหลายประการ ตั้งแต่การออกมาเรียกร้องในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ จนถึงสิทธิเนื้อตัวร่างกายจากการที่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปโรงเรียน และสุดท้ายคือการตั้งคำถามและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จนถูกตราหน้าว่า เป็นเด็กที่ไม่ดี ก้าวร้าว ไม่เหมาะสมแก่การเป็นเยาวชนของชาติ
ภาพทุกวันนี้จึงยิ่งแสดงออกและตอกย้ำให้ได้เห็นว่า แท้จริงแล้วสังคมไทยยังคงติดหล่มกับอาวุโสนิยมและอำนาจนิยมอยู่มาก กล่าวคือการที่สนับสนุนประชาธิปไตย หรือกระทั่งความก้าวหน้าในด้านอื่นๆ ไม่ได้การันตีว่าสังคมไทยก้าวพ้นอนุรักษนิยม และเรายังคงอยู่ที่เดิมไม่ไปไหนเลย
3. สังคมไทยขาด ‘การตั้งคำถาม’ และ ‘ความคิดเชิงวิพากษ์’ (Critical Thinking)
อาจกล่าวได้ว่าเราเคยชินกับความ(ไม่)ปกติมานานจนกลายเป็นความปกติ การตั้งคำถามกับความอยุติธรรมกลายเป็นสิ่งที่ Woke จนดูเรื่องมาก
น่าเสียดายว่า ประเทศกำลังไปได้ไกลมากจากการขับเคลื่อน และตั้งคำถามในประเด็นใหญ่ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ หากแต่ยังติดหล่มในแง่ความคิด ทัศนคติ และการกระทำเหล่านี้ทำให้ประเทศไม่ได้ไปไกลจาก ‘ความเชื่อง’ ทั้งหลายที่ระบบหล่อหลอมมาก่อนหน้านี้
สิ่งที่น่ากังวลก็คือ หากไม่ตั้งคำถามกับความไม่ปกติเหล่านี้ คือสักวันหนึ่ง ‘เราอาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เราเกลียด’ เพียงเพราะเคยชินกับระบอบโครงสร้างต่างๆ ที่มีอยู่ และแรงอนุรักษนิยมบางประการที่ฝังรากในความคิดและทัศนคติ บวกไปด้วยการขาดการตั้งคำถาม ขาดการคิดวิเคราะห์ นั่นจึงเป็นแนวคิดอันตรายว่า หากวันหนึ่งเรามองความไม่ปกติให้ปกติ วันนั้นเราอาจไม่ต่างอะไรจาก ‘อีแก่’ ที่เราเคยวิจารณ์พวกเขาเหล่านั้นเอาไว้
ในวันก่อน เราอาจเคยโมโหปนผิดหวังที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจในการพยายามแสดงออก ดังเช่นในวัยเด็กที่เรามักถูกสั่งสอนให้ทำตามกฎระเบียบ แต่เราก็มักหาทางแหวกขนบด้วยการต่อต้านบางอย่าง ในวันนั้น หากเราเคยสงสัยและเคยตั้งคำถามเหล่านั้นเช่นกัน แต่ไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กเกเรก้าวร้าว ในวันนี้หยกก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเราในวันนั้น เพียงแค่การแสดงออกอาจไม่ถูกใจตามใครคาดหวัง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือหยกได้ตั้งคำถามและตีแผ่ความไม่เป็นธรรมหลายประการในสิ่งที่เราไม่กล้าแม้แต่จะคิดหรือทำในตอนที่อายุเท่าหยกเสียด้วยซ้ำ
สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดเข้ามาแล้ว และหวังว่าจะไม่พัดผ่านไปโดยไร้การเปลี่ยนแปลง
Tags: อนุรักษนิยม, อำนาจนิยม, The Momentum ANALYSIS, SAVEหยก