ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ อยุธยา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาครั้งแรก ในการศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย และครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ซึ่ง ‘กลุ่มเซฟอโยธยา’ ยื่นรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อในแคมเปญ ‘Saveอโยธยา สนับสนุนรถไฟความเร็วสูง แต่ไม่ควรทำลายเมืองโบราณ’ ณ ที่ประชุม

ที่มาที่ไปของโครงการรถไฟความเร็วสูงในไทย

โครงการรถไฟความเร็วสูงคือความร่วมมือไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เกิดขึ้นในยุครัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟของกลุ่มประเทศแถบแม่น้ำโขงไว้ด้วยกัน และพัฒนาการคมนาคมและเศรษฐกิจในอนาคต โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2557 หรือเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้กฎหมาย มาตรา 44 ดำเนินการให้เกิดความร่วมมือ

การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 โครงการระยะที่ 1 คือช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ผ่านกรุงเทพฯ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา) ระยะทางรวม 253 กิโลเมตร และระยะที่ 2 จากขอนแก่น-หนองคาย (ผ่านขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย) ระยะทางรวม 354 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 607 กิโลเมตร

รถไฟความเร็วสูงเป็นระบบขนส่งที่คนไทยเฝ้ารอใช้บริการ เพื่อการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็ว ด้วยระบบรางครอบคลุมหลายจังหวัด โดยสถานะปัจจุบันของรถไฟความเร็วสูงอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างโครงการระยะที่ 1

แต่จากการล่ารายชื่อผ่านอินเทอร์เน็ตของกลุ่ม Saveอโยธยา ทำให้ทราบว่า รถไฟความเร็วสูงที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง ติดปัญหาที่สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งตามแผนคือก่อสร้างบนตำแหน่งเดิมของสถานีรถไฟอยุธยาในปัจจุบัน โดยสร้างอาคารใหม่คร่อมอาคารหลังเก่า และปรับปรุงเป็นศูนย์ข้อมูลหรือพิพิธภัณฑ์ ทว่าในพื้นที่ดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของเขตเมืองเก่าอโยธยา ทางทิศตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา

อยุธยา เมืองเก่าของเราแต่ก่อน แต่ ‘เมืองอโยธยา’ เก่ากว่า

‘อโยธยา’ เป็นเมืองที่นักวิชาการเชื่อว่า เกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ราชธานีไทยตามประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลัก ซึ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 19

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล รองศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ข้อมูลว่า ก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) จะสร้างเมืองที่หนองโสนในเกาะเมืองอยุธยา เคยมีเมืองเก่าอยู่ทางฝั่งตะวันออกมาก่อน คือบริเวณใกล้เคียงกับสถานีรถไฟในปัจจุบัน

“เมืองอโยธยาสำคัญตรงที่ว่า เป็นเมืองที่เก่ากว่าปี 1893 ก่อนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มาสร้างกรุงศรีอยุธยาที่หนองโสน เพราะฉะนั้น รากฐานของความเป็นอยุธยาจึงเกิดจากตรงนี้”

รศ.ดร.รุ่งโรจน์เสริมว่า เมื่อประมาณปี 2509 ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา เสนอว่า จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติอยู่ที่นี่ โดยมีประจักษ์พยานอยู่บริเวณนั้น ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน พงศาวดาร หรือแม้แต่บันทึกความทรงจำของคนสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่กล่าวถึงวัดสมณโกฎฐาราม ในพื้นที่อโยธยา หนึ่งในมหาธาตุที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา เป็นหลักฐานยืนยันความสำคัญของเมืองอโยธยา

“ไม่เพียงแค่สถานีรถไฟอยุธยา แต่เส้นทางรางรถไฟที่ผ่ากลางเมืองอโยธยา กระทบต่อวัดหลายวัด ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดี นอกจากจะทำลายแหล่งโบราณคดีแล้ว ยังทำลายพื้นที่ประวัติศาสตร์ชาติไทย รากเหง้าของประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา”

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า ที่ตั้งของสถานีรถไฟอยุธยา ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปิดใช้เมื่อปี 2450 หรือเมื่อ 116 ปีมาแล้ว ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีมากเท่าทุกวันนี้ ประกอบกับต้องการสร้างรางรถไฟอำนวยความสะดวกในการเดินทาง จึงสร้างสถานีรถไฟอยุธยาที่อำเภอเมือง ซึ่งอยู่บนพื้นที่เมืองเก่าอโยธยา

อยุธยาอาจถูกถอดจากมรดกโลก ไม่ใช่การตีตนก่อนไข้

เนื่องจากพื้นที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองมรดกโลกจากยูเนสโก (UNESCO) มีขนาดกว้างถึง 1,810 ไร่ ทำให้การสร้างรถไฟความเร็วสูงต้องประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดก (Heritage Impact Assessment: HIA) เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดกับแหล่งมรดกโลก ทั้งผลกระทบในระยะก่อสร้างและผลกระทบถาวรเมื่อรถไฟความเร็วสูงเปิดใช้งาน

การทำ EIA ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 และการทำ HIA เกิดขึ้นหลังจากยูเนสโกส่งหนังสือท้วงติงมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในขั้นเตรียมส่งผลรายงานการศึกษาผลกระทบต่อยูเนสโก

แม้ที่ตั้งสถานีรถไฟอยุธยาบนพื้นที่อโยธยา ไม่รวมอยู่ในพื้นที่มรดกโลก 1,810 ไร่ และมีระยะห่างถึง 1.5 กิโลเมตร ซึ่งหากอิงจากข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็สามารถสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงได้ แต่นักวิชาการกลุ่ม Saveอโยธยามองว่า การสร้างรางรถไฟและสถานีรถไฟความเร็วสูงบริเวณนี้อาจกระทบโบราณสถานจนทำให้ยูเนสโกถอดอยุธยาออกจากเมืองมรดกโลก นอกจากนี้ เขตเมืองเก่าอโยธยาที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานก่อนอยุธยา มีหลายจุดที่ยังไม่ได้ขุดค้นทางโบราณคดีอีกมาก จึงเรียกร้องให้พิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดแก่พื้นที่โบราณคดี

“ผมเชื่อว่า หากเดินหน้าสร้างสถานีอยุธยาบนพื้นที่เดิม อยุธยาจะถูกถอดออกมรดกโลกแน่นอน แต่ประเด็นแรกคือ รัฐเคยให้ข้อมูลกับประชาชนหรือเปล่า หากถูกถอดจากมรดกโลกแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เพราะคนต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวอยุธยาเพราะเป็นมรดกโลก ประเด็นที่สองคือ จุดประสงค์ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เพื่อปกป้องแหล่งวัฒนธรรมของประเทศโลกที่สาม ซึ่งรัฐบาลไม่ควรทำลาย”

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ย้ำชัดถึงจุดยืนว่า นักวิชาการกลุ่มเซฟอโยธยาไม่ได้ต่อต้านการสร้างรถไฟความเร็วสูง เพราะเห็นความสำคัญและสนับสนุนการสร้างรถไฟ รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ แต่ตั้งคำถามกับการรถไฟถึงความจำเป็นในการสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางเมือง

การพิจารณาพื้นที่ใหม่ในการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง หมายความว่ารัฐต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมในการสร้าง ทั้งการสำรวจ หรือการเวนคืนที่ดินใหม่ แต่เป็นสิ่งที่รัฐสมควรทำ เพราะเม็ดเงินนี้สามารถปกป้องพื้นที่มรดกโลก ซึ่งคนทั้งโลกเห็นพ้องต้องกันว่าควรอนุรักษ์ไว้ งบประมาณที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยรักษาแหล่งโบราณคดี และคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันประเมินค่าไม่ได้

“ในอดีตวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน เคยสอนคุณว่า พม่าทำลายอยุธยา แต่ต่อไปรุ่นลูกคุณจะบอกว่า รฟท.นั่นแหละที่ทำลายอยุธยา” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของนักวิชาการกลุ่มเซฟอโยธยา คือขอให้พิจารณาพื้นที่ใหม่ในการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยานอกเขตเมืองเก่าอโยธยา และขอให้การรถไฟรวมถึงนักวิชาการออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อให้ความเจริญกับโบราณสถานอยู่คู่กันสืบไป