มันอาจเป็นการหัวเราะที่เศร้าสุดๆ ท่ามกลางบทสนทนาเกี่ยวกับการขยับนิ้วก้อยเท้า เส้นขนที่มีหรือไม่มีในกล่องลับ การลงคะแนนเสียงที่กำลังจะมาถึงในโลกของละคร หรือการขุดศพของพ่อขึ้นมาเผา และเรื่องราวอีกมากที่ผุดขึ้นมาในหัวของสองพี่น้องซึ่งกลับมาพบกันปีละครั้งเพื่อไหว้พ่อผู้ล่วงลับ ในบ้านเก่าหลังเล็กๆ ที่อาจจะเห็นดวงจันทร์เป็นบางคืน หรืออาจจะไม่เห็นอีกแล้วเพราะตึกสูงถูกสร้างขึ้นบัง ไม่มีใครรู้แน่ชัด ทั้งคู่มาที่นี่กันแค่ปีละครั้ง

สองพี่น้องพูดคุยกันมากมาย แต่แสดงความรู้สึกออกมาน้อยนิด เราพบว่านี่เป็นความเรียลอย่างยิ่ง นิ่ง อบอุ่น ขบขัน สะเทือนอารมณ์ และกรีดลึกลงในชีวิตแสนสามัญของมนุษย์

คล้ายว่า Buffalo Bridge Gallery คือบ้านเก่าของสองพี่น้องจริงๆ และพวกเขาก็มีตัวตนอยู่จริง พูดจากันอย่างนั้นจริงๆ ไม่น่าเชื่อว่าในห้องเล็กๆ บนตึกแถวย่านสะพานควาย ทีมงานชมรมสุดวิสัยและ For What Theater จะทำให้เรารู้สึกอะไรต่อมิอะไรได้มากมายขนาดนั้น

 

 

นี่เป็นงานรีสเตจของผู้กำกับเบส—วิชย อาทมาท ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยดูผลงานของเขาเรื่อง ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ ที่เป็นงาน interactive พาผู้ชมเดินเข้าห้องโน้นออกห้องนี้ จำกัดความรับรู้ของเราด้วยการให้เลือกฟังเพียงบางตัวละครที่ทั้งกระซิบกระซาบสลับตะโกน และไม่มีทางรับรู้สิ่งที่เกิดในห้องอีกฝั่ง ทั้งยังเข้มข้นไปด้วยกลิ่นอายการเมือง เราแอบเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับอะไรแบบนั้น แต่เรื่องนี้ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง’ ปล่อยให้เรานั่งอยู่ที่เดิมจนจบและฟังทุกอย่างใกล้ๆ ให้ตัวละครค่อยๆ เล่าเศษเสี้ยวชีวิตของตัวเองออกมาอย่างเรียบง่ายแต่เอาอยู่ ทั้งคู่ไม่ฟูมฟาย แต่เรารู้ว่าพวกเขาต่างก็คิดถึงพ่อหรืออะไรบางอย่างที่หายไปตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้

ละครใช้วิธี keyword improvisation ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้กำกับและนักแสดง ระหว่างดำเนินเส้นเรื่องหลักอันเรียบง่ายแต่หนักหนา มุกเล็กมุกน้อยอย่างการเล่นคำ การแซวกันเอง จนถึงมุกประเด็นสังคมถูกส่งออกมาไม่หยุดหย่อนผ่านน้ำเสียงราบเรียบเหมือนไม่มีอะไรสลักสำคัญ เราจำไม่ได้ว่าขำไปกี่รอบ ระหว่างขำก็คล้ายจะน้ำตาคลอในบางซีน เมื่อตัวละครเริ่มขุดค้นลงไปในความทรงจำวัยเด็กอันเลือนราง พาเราล่องลอยไปกับเพลงจีนยุคเลสลี จาง และเพลงจบแสนเศร้าของการ์ตูนอิกคิวซัง

สารภาพตรงนี้ว่าเราเป็นแฟนลับๆ ของคุณอิ๋ว—ปานรัตน กริชชาญชัย เจ้าแห่งความตลกหน้าตาย ที่เล่นเรื่องไหนก็ดูเหมือนจะทำให้ตัวละครนั้นกลายเป็นเธอไปหมด แต่ก็ทำให้คนดูเชื่อได้ทุกเรื่องไป และสำหรับบทพี่สาวขี้บ่นที่หลงเหลือความจีนไว้ในเส้นเลือดมากหน่อย คอยถามไถ่น้องชาย ใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิต อินการเล่นโยคะ มีป้าจิ๊เป็นไอดอล วิ่งตอนเช้าตามรอยพี่ตูน เรียนทำอาหารตามสั่ง รู้จักละครเวทีแต่ในนามรัชดาลัยเธียเตอร์ เธอทำให้เราหลงรักตัวละครได้อีกเช่นเคยด้วยวิธีพูดจากับจังหวะระดับเซียน

ขณะที่คุณชวน—จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ ผู้รับบทน้องชายก็ต่อบทกันได้เฉียบขาด น้องชายผู้เรียน cultural study ทำละครเวที เชื่อมั่นในอุดมการณ์ คิดอะไรเป็นหลักดูเป็นการกว่าพี่สาว บางครั้งก็ดูไม่ยี่หระกับชีวิต ซึ่งในคำพูดทีเล่นทีจริงและการอิมโพรไวส์ขั้นเทพของนักแสดงที่หยิบบางส่วนในชีวิตจริงมาแซวเล่นกัน ในช่วงหนึ่งมันได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับละครเวทีและวิถีชีวิตของพวกเขาเอง คิดว่าน่าจะกระเทือนใจผู้เล่นและคนดูสายละครเวทีอยู่ไม่น้อย แต่ทุกคนก็แปลงมันออกมาเป็นเสียงหัวเราะครืน อาจเพราะบางคนมีขวดเบียร์ในมือ บรรยากาศก็เลยยิ่งดีเข้าไปใหญ่

ในห้องเก่าเราซึบซับกลิ่นอายความจีนวินเทจได้เต็มปอด ขณะเดียวกันก็รับรู้ได้ถึงเมืองใหญ่ที่ล้อมรอบ เราได้ยินเสียงของความรวดเร็วและวุ่นวายข้างนอกได้ไม่ยาก แต่บางช่วงเวลาได้ถูกสตัฟฟ์เอาไว้ที่นี่ คล้ายเป็นพื้นที่สมมติให้สองพี่น้องได้หยุดพักและกลับสู่รากของตัวเองสักชั่วขณะหนึ่งในแต่ละปี และกลิ่นข้าวที่หุงขึ้นมาจริงๆ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มความอบอุ่นในบรรยากาศ การเถียงกันเรื่องปริมาณน้ำในหม้อหุงข้าวก็ยิ่งทำให้นี่ใกล้เคียงคำว่า ‘บ้าน’ เข้าไปอีก รวมถึงแสงไฟที่ถูกจัดมาอย่างดี ภาพดวงดาวนับพันที่ถูกฉายขึ้น ท่วงทำนองเพลงจีน เพลงแปลงจากซูบารุเป็น ‘ดาวประดับใจ’ ควันบุหรี่ และด้านหลังของสองพี่น้องก็ทำให้เข้าใกล้คำว่า ‘ฝัน’ ที่มีความจริงล้อมรอบอยู่ไม่ห่างด้วยเช่นกัน

ในโลกทุนนิยมที่แต่ละคนต่างก็มีภาระหน้าที่ของตัวเอง ศพของพ่อในฮวงซุ้ยที่ไม่แน่ใจว่าอยู่ชลบุรีหรือสระบุรีกันแน่ กลายเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ต้องวางแผนจัดการ และด้วยเงื่อนไขที่มากมายของชีวิต แผนเกี่ยวกับศพพ่อจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ลงท้ายก็ต้องจัดการกันในแบบที่ไม่จีนแต่จำเป็น

ละครยังให้รายละเอียดระหว่างทางอีกเต็มไปหมด อย่างความน่ารักของสองพี่น้องที่จู่ๆ พี่สาวก็หยิบกระดาษกงเต็กมาพับเป็นกระดาษใส่นิ้วเสี่ยงทาย “เอาเลขอะไร กี่รอบ” หรือการพูดถึง ‘กล่องเขา’ ที่เก็บความลับในวัยเด็กของน้องชายที่พี่สาวเคยแอบเปิดดูแล้วเพิ่งบอกกัน แฝงการพยายามเลียบเคียงถามเรื่องเพศสภาพของน้อง ซึ่งเป็นตัวตนอีกด้านที่พี่สาวไม่เคยได้เข้าไปรู้จัก และคนน้องก็ไม่ได้มีท่าทีอยากเปิดเผยหรือหยิบขึ้นมาแชร์กัน พี่สาวเองก็ไม่ได้เผยด้านอ่อนแอของตัวเองให้น้องเห็น แม้จะต้องปิดสตูดิโอโยคะหรือต้องขายรถ เธอก็ไม่ได้ใช้ไหล่ของน้องชายเป็นที่พึ่งพิง แต่ถึงอย่างนั้นทั้งคู่ก็อาจไม่ได้ปฏิเสธที่จะมีกันละกัน น้องชายก็ยังชวนพี่สาวไปดูละครเวที ขณะที่คนพี่ก็ชวนน้องไปวิ่งด้วยกัน แน่นอนว่าไม่มีใครตอบรับคำชวนของใคร แต่เชื่อว่าคำชวนก็คงทำให้อีกฝ่ายอุ่นใจอยู่ไม่น้อย

พวกเขาอาศัยอยู่ในโลกคนละใบ อินกันคนละเรื่อง มีปัญหาใหญ่ในชีวิตกันคนละก้อน แต่การโคจรมาพบกันในจักรวาลของบ้านหลังเก่าปีละครั้ง ก็อาจจะเป็นวาระสำคัญของทั้งคู่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีวันนั้นอีกไหมหากบ้านนี้ไม่มีอยู่อีก หรือกระทั่งถ้าเถ้ากระดูกของพ่อถูกลอยอังคารไปแล้ว ในทางหนึ่ง มันอาจจะเป็นการปลดภาระหน้าที่ที่จำเป็นออกจากชีวิต แต่ก็อาจจะเป็นการปลิดตัวเองออกจากคำว่าครอบครัวไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่เหลืออยู่อาจเป็นเพียงความทรงจำอย่างเช่น เพลงที่พ่อเคยร้อง หรือบทสนทนาที่เคยนั่งคุยกันในห้องนี้

และนั่นเองคือสิ่งที่สั่นสะเทือนเราได้มากที่สุด กับการนึกไปถึงวันข้างหน้าอันเคว้งคว้างของคนทั้งคู่ รวมถึงสิ่งที่เคยมีอยู่แต่จะไม่มีอีกแล้ว แต่เราก็จะยังทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นกันต่อไปอยู่อย่างนั้น

เราอาจจะสปอยล์เนื้อหาไปหลายข้อ แต่เพียงเท่านี้ไม่ได้ให้อรรถรสเท่าฉากหนึ่งของละครด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่เราจะได้รับคืออารมณ์ความรู้สึกและบรรยากาศ ซึ่งทรงอิทธิพลถึงขั้นที่ละครจบแล้ว เรายังคงนึกถึงท่าทีเหงาๆ ของทั้งคู่ แล้วก็อดไม่ได้ที่จะสะท้อนนึกถึงตัวเอง พ่อแม่ที่บ้าน อะไรอะไรที่ต้องผ่อน ความฝัน อุดมการณ์ที่คิดว่ามี —ตลอดทั้งเรื่องเราหัวเราะมากขนาดนั้น อบอุ่นหัวใจขนาดนั้น แต่ขณะเดียวกันมันก็เศร้าขนาดนั้นนั่นแหละ

 

ขอบคุณภาพจาก ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ และ อติคุณ อดุลโภคาธร ทีมงาน For What Theater

Fact Box

  • เพลงนี้พ่อเคยร้อง 2018 [3 Days In May] แสดงตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม – 9 เมษายน 2018 (ไม่แสดงวันอังคารและพุธ) ณ Buffalo Bridge Gallery (BTS สะพานควาย) ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/events/150040625704057
  • ละครเวทีเรื่องนี้ได้รับรางวัลจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC) ในเทศกาลละครกรุงเทพปี 2015 ในสาขาละครพูดยอดเยี่ยม ทั้งยังเข้าชิงรางวัล บทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม, การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชาย (จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ) และการแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงหญิง (ปานรัตน กริชชาญชัย)
Tags: , , ,