เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส พร้อมกับเออร์ซูล่า ฟอน แดร์ เลเยิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เข้าพบ สี จิ้นผิง (Xi Jingping) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหารือการเจรจาสันติภาพในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี และไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง
ทั้งนี้ มาครงขอให้สี จิ้นผิง ช่วยเป็นตัวกลางในการหยุดสงครามครั้งนี้ โดยเรียกร้องให้จีนสนับสนุนการเจรจาเพื่อสันติภาพ และหาทางออกร่วมกันทางการเมือง อีกทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประชาคมโลก ควรมีความยับยั้งชั่งใจอย่างมีเหตุผล
มาครงกล่าวว่า รัสเซียไม่ควรใช้อาวุธนิวเคลียร์แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หลังจากวางแผนใช้อาวุธร้ายแรงนี้ในประเทศเบลารุส ซึ่งใกล้กับพรมแดนของกลุ่มประเทศพันธมิตรนาโต (North Atlantic Treaty Organization: NATO)
“เราไม่สามารถมียุโรปที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพได้ ตราบใดที่ยูเครนยังถูกยึดครอง นั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เมื่อสมาชิกแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ละเมิดกฎบัตรขององค์การ
“ผมรู้ว่าผมสามารถวางใจคุณ (สี จิ้นผิง) ในการทำให้รัสเซียตระหนัก และนำทุกฝ่ายกลับเข้าสู่การเจรจา” มาครงกล่าวกับผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่
ในขณะเดียวกัน สี จิ้นผิงยืนยันว่า ทั้งจีนและฝรั่งเศสต่างมีความสามารถและความรับผิดชอบในการปกป้องสันติภาพของโลกเหมือนกัน ราวกับจะผลักประเด็นดังกล่าว เป็นการจัดการร่วมกันของคนทั้งโลก ไม่ใช่แค่เพียงจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น
บรรยากาศของการเข้าพบเต็มไปด้วยความแปลกประหลาด ผู้นำแห่งยุโรปพยายามใช้น้ำเสียงอย่างจริงใจระหว่างการเจรจา และมักจะหันหน้าไปทางฝ่ายที่ถูกขอร้องเสมอ ในทางกลับกัน สี จิ้นผิงกลับมีสีหน้าเรียบเฉย ตรงกันข้ามกับมาครงอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งมาครงและเลเยินต่างแยกการประชุมในการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ โดยตัวแทนแห่งคณะกรรมาธิการยุโรปได้แสดงความคิดเห็นว่า หากจีนจัดหาอาวุธให้รัสเซีย จะขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และส่งผลเสียอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรป อีกทั้งจีนควรมีบทบาทส่งเสริมสันติภาพอย่างเที่ยงธรรม
เธอเน้นย้ำว่า จะยืนหยัดอย่างมั่นคงเพื่อสนับสนุนแผนสันติภาพของ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ผู้นำยูเครนในเบื้องหลัง ซึ่งเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารจากยูเครนทั้งหมด ในขณะที่สี จิ้นผิงกล่าวว่า “ผมเต็มใจเป็นอย่างยิ่งในการเจรจาระหว่างเซเลนสกี หากเวลาและเงื่อนไขเหมาะสม”
ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็เน้นย้ำบทบาทของจีนว่า มีศักยภาพและมีอำนาจไกล่เกลี่ยในสงครามครั้งนี้ “แต่สถานการณ์กับยูเครนนั้นซับซ้อน จนถึงตอนนี้ไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะมีข้อตกลงอย่างสันติ” โฆษกแห่งเครมลินกล่าว รวมถึงเน้นย้ำว่ารัสเซียไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากทำสงครามต่อไป
บทบาทของจีนมีความสำคัญอย่างไรต่อการเจรจาสันติภาพในสงครามรัสเซีย-ยูเครน?
จีนมีความสำคัญอย่างมากต่อการเป็นตัวกลางในการเจรจาสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองประเทศ
ในฝั่งของยูเครน ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์อันดีในทางเศรษฐกิจอย่างไม่น่าเชื่อ ในสายตาหลายคน นักลงทุนจีนและรัฐบาลยูเครนลงนามข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน จนช่วงเวลาหนึ่ง คู่ค้าอันดับหนึ่งของยูเครนกลายเป็นจีน แซงหน้ารัสเซียในปี 2019 อีกทั้งในปี 2021 มูลค่าการค้าของสองประเทศ เพิ่มขึ้นราว 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2013 หรือคิดเป็น 80% ของทั้งหมด
ความสัมพันธ์ทางการเมืองของยูเครน-จีนยังแข็งแกร่งอย่างมาก เพราะทั้งสองประเทศ มีข้อตกลงร่วมกันในปี 2013 ว่า จีนจะรับรองความปลอดภัยของยูเครน ในฐานะที่ยูเครนเป็นรัฐปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ในกรณีเคียฟถูกข่มขู่หรือถูกรุกรานจากประเทศอื่นว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้าง ซึ่งในทางวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จีนกำลังทำหน้าที่เป็น ‘ร่มนิวเคลียร์’ (Nuclear Umbrella) หรือการรับประกันความปลอดภัยจากรัฐที่มีนิวเคลียร์ ให้กับรัฐที่ไม่มีนิวเคลียร์ ราวกับที่สหรัฐอเมริกาให้ความคุ้มครองกับญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้นั่นเอง
ในขณะที่ความสัมพันธ์ของจีนและรัสเซียมีความแนบแน่นเป็นทุนเดิม ดั่งที่ทุกคนทราบกันดี นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ทางด้านการทูตของสองประเทศ คือการเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เหมือนกัน อีกทั้งยังมีศัตรูร่วมกันอย่างสหรัฐฯ นั่นจึงทำให้ปักกิ่งและมอสโกต่างมีการพบกันอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการสร้างข้อตกลงอย่าง ‘ไม่มีขีดจำกัด’ ทางการทูตในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้จึงทำให้จีนเหมาะสมกับฐานะ ‘ตัวกลางในการเจรจา’ มากกว่าหลายประเทศ ท่ามกลางความคาดหวังต่อประชาคมโลก ในขณะที่จีนเองก็พยายามเดินหน้าเป็นตัวกลาง เช่น การเปิดแผนสันติภาพเจรจา 12 ข้อระหว่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน
วิเคราะห์บทบาทของจีน: ปักกิ่งจะสามารถเป็นตัวกลางในสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้หรือไม่?
แม้ว่าแผนการสร้างสันติภาพ 12 ข้อของจีนได้รับคำชม แต่บางส่วนก็มองว่า เป็นแผนการที่สวยหรูแค่เปลือกอย่างเดียว เพราะบทบาทความเป็นกลางของจีนในข้างต้นถูกตั้งคำถามจากการกระทำในความเป็นจริงอย่างมาก
เริ่มจากผู้แทนของจีนงดออกเสียงประณามรัสเซียในองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) สื่อบางส่วนในประเทศสนับสนุนการโจมตีของรัสเซียในยูเครน และแถลงการณ์ของปักกิ่งที่ประณามชาติตะวันตก ถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับมอสโก รวมถึงคำพูดของ หวัง อี้ (Wang Yi) ผู้อำนวยการคณะกรรมการแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ด้านการต่างประเทศ ที่ว่า “เป้าหมายเดียวของจีน คือหลีกเลี่ยงการทำร้ายตนเองบนเวทีโลก”
อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์บางส่วนว่า จีนไม่ได้ชื่นชอบความสัมพันธ์กับรัสเซียขนาดนั้น จากความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ระหว่างสองชาติช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1960-1970 และจีนกำลังใช้ความสัมพันธ์กับรัสเซีย เป็นเครื่องมือสร้างผลประโยชน์แห่งชาติ เหมือนกับคำพูดของหวัง อี้ ที่มีนัยสำคัญ
ซึ่งเห็นได้ชัดผ่านข้อตกลงพันธมิตรอย่างไม่มีขีดจำกัดระหว่างจีนกับรัสเซียล่าสุด มอสโกต้องแลกมากับการส่งออกก๊าซธรรมชาติในไซบีเรียด้วยราคาถูก ไปยังปักกิ่งถึง 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมถึงมีการเพิ่มส่งออกน้ำมันระหว่างสองประเทศอีกด้วย ทำให้หลายคนมองว่า จีนกำลังกอบโกยผลประโยชน์จากรัสเซียโดยใช้วิกฤตการณ์ในสงคราม
นอกเหนือจากนี้ จีนยังสามารถใช้ประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว ในการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union: EU) เพื่อดึงให้ถอยห่างจากพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ โดยอาศัยช่องว่างที่แตกขั้วของหลายฝ่ายใน EU หลังจากไม่มีฉันทมติแน่ชัดว่า สมาชิกประเทศจะจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนอย่างไร เมื่อประเทศกลุ่มยุโรปตะวันออก ซึ่งเคยตกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ต้องการให้จีนเกี่ยวข้องใดๆ กับยุโรปทั้งนั้น ในขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีน ในฐานะคู่ค้าที่ดีไว้ โดยเฉพาะบางประเทศในยุโรปอย่างฝรั่งเศส เชื่อว่าจีนสามารถเป็นตัวกลางแก้ไขความขัดแย้งได้
ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังมีเรื่องความขัดแย้งกับไต้หวัน ที่อาจเป็นประเด็นใหญ่โต นำมาสู่สงครามและความรุนแรงในเอเชียตะวันออก หากวู่วามสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือมีส่วนร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้อย่างเต็มตัว จีนเสียผลประโยชน์บางอย่างในอนาคตก็เป็นได้
ทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่า จีนกำลังอยู่ในสภาวะ ‘น้ำท่วมปาก’ ท่ามกลางการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศแบบกำกวม เพราะมีข้อผูกมัด คือเรื่องราวของไต้หวัน รวมถึงการมีผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้งสำคัญ ดังนั้น บทบาทตัวกลางในการเจรจาสันติภาพของปักกิ่ง อาจจะล้มเหลวและเป็นไปอย่างยากลำบาก ต่างจากความคาดหวังของหลายประเทศในท้ายที่สุด
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-65198757
https://thediplomat.com/2023/03/explaining-chinas-diplomatic-strategy-on-ukraine/
https://www.reuters.com/world/high-hopes-china-eu-leaders-prepare-xi-talks-2023-04-06/
https://www.aljazeera.com/news/2023/3/21/chinas-xi-says-ties-with-russia-entering-new-era
Tags: ฝรั่งเศส, รัสเซีย, การเมืองยุโรป, วลาดีมีร์ ปูติน, NATO, สงครามรัสเซียยูเครน, เอ็มมานูเอล มาครง, EU, สี จิ้นผิง, จีน