ทุกวันนี้ โลกกำลังสูญเสียปะการังในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลังจากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น และมหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้น
อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนปีที่แล้ว (2560) ทำให้บางพื้นที่ใน ‘เกรตแบร์ริเออร์รีฟ’ (Great Barrier Reef) พืดหินปะการังความยาว 2,300 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย สูญเสียปะการังไปมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์
เมื่อปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของออสเตรเลียให้ข้อมูลว่าเกรตแบร์ริเออร์รีฟสูญเสียปะการังราวครึ่งหนึ่งในช่วงเวลาเพียงสองปี และนายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ (Malcolm Turnbull) ก็ประกาศว่าจะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย สำหรับการฟื้นฟูคุณภาพน้ำและระบบนิเวศ
ผ่านมาหนึ่งปี ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ในการปกปักรักษามรดกโลกชิ้นนี้ก็นำมาสู่ ‘แผ่นฟิล์มป้องกันแสงอาทิตย์’ (sun-shield) ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ใช้เกิดภาวะปะการังฟอกขาว
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แผ่นฟิล์มที่ถูกฉีดพ่นลงบนผิวน้ำจะทำหน้าที่เป็นหลังคาป้องกันไม่ให้น้ำทะเลอุ่นร้อนจนส่งผลกระทบต่อปะการัง
แอนนา มาร์สเดน (Anna Marsden) จากมูลนิธิเกรตแบร์ริเออร์รีฟ บอกว่า การศึกษาวิจัยในพื้นที่ขนาดเล็กแสดงให้เห็นว่าแผ่นฟิล์มช่วยลดแสงอาทิตย์ได้มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และจากการทดลองในหลายพื้นที่ พบว่า มันช่วยลดภาวะปะการังฟอกขาวได้ในปะการังเกือบทุกชนิด
แผ่นฟิล์มดังกล่าวมีขนาดบางกว่าเส้นผมของมนุษย์ราว 50,000 เท่า มันทำมาจากแคลเซียมคาร์บอเนต และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยถูกออกแบบให้ลอยอยู่บนผืนน้ำเหนือปะการัง แทนที่จะห่อหุ้มปะการังโดยตรง
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแผ่นฟิล์มนี้มีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้เกรตแบร์ริเออร์รีฟได้รับความเสียหายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ 348,000 ตารางกิโลเมตรของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ในช่วงเริ่มแรก วิธีนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงมากกว่าการนำไปใช้ในพื้นที่ขนาดใหญ่
มาร์เดนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แนวคิดนี้จำเป็นต้องมีการพัฒนาและศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ก่อนที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้ มันก็เป็นการพัฒนาที่น่าตื่นเต้นในช่วงขณะที่เราจำเป็นต้องสำรวจทุกทางเลือกที่เป็นไปได้ เพื่อให้แน่ใจว่า เกรตแบร์ริเออร์รีฟจะคงอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป”
เกรตแบร์ริเออร์รีฟคือพืดหินปะการังที่ยาวที่สุดในโลก มันเป็นบ้านของปะการังราว 400 ชนิด และเป็นที่อยู่ของปลาราว 1,500 สายพันธุ์ รวมทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนในแต่ละปี
นักวิทยาศาสตร์เริ่มสำรวจภาวะปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในเกรตแบร์ริเออร์รีฟตั้งแต่ทศวรรษ 1990 (เหตุการณ์ครั้งใหญ่สุดเกิดขึ้นในปี 2559 และ 2560) และประมาณการว่าพื้นที่สองในสามของเกรตแบร์ริเออร์รีฟเผชิญกับภาวะนี้
ที่มา:
http://www.dw.com/en/great-barrier-reef-coral-bleaching-even-worse-than-expected/a-39021583
Tags: พืดปะการัง, แนวปะการัง, แผ่นฟิล์มลดแสงอาทิตย์, เกรตแบร์ริเออร์รีฟ, Great Barrier Reef