‘She loves me, she loves me, she loves me. A love from outer space.’ ท่อนหนึ่งของเพลง A love from outer space ของวง Tahiti 80 เพลงที่พูดถึงความรักจากนอกโลก คือแรงบันดาลใจให้ ยอร์ช-มงคล รัตนภักดี หรือ NEV3R ต้องการรังสรรค์งานแสดงศิลปะเล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘Yarn’ ขึ้นมา 

ในแง่หนึ่ง Yarn (ยาน) อาจหมายถึง สิ่งทอ เส้นด้าย เส้นไหมที่ถักลงบนผืนพรม ทว่าอีกความหมายหนึ่งก็พูดถึงเรื่องเล่า ความลึกลับที่เป็นจินตนาการเช่นกัน เลยกลายเป็นชื่อหลักของโปรเจกต์นี้ นำเสนอเรื่องเล่าของ 7 ศิลปิน มาจัดแสดงลงวัสดุพิเศษอย่างผืน ‘พรม’ ที่ Siam Carpets Manufacturing เป็นผู้ถ่ายทอด

“งานนี้มาจากส่วนตัวผมเองนิดหน่อย เรื่องของเรื่องคือผมอยากจัดงาน Exhibition เดี่ยวๆ ของผมเอง จากเพลงๆ นี้ แต่ไปๆ มาๆ ก็อยากชวนแขกรับเชิญ ตอนแรกจากมี 2-3 คน จนตอนนี้มีมากกว่า 7 คน ก็เลยไม่อยากโซโล่แล้ว ทำงานกลุ่มเลยดีกว่า” NEV3R หรือ ‘พี่ยอร์ช’ เล่าให้เราฟัง

ส่วนเหตุที่เป็นพรม เพราะก่อนหน้านี้ ในงานที่ทำร่วมกับโรงแรม The Standard หัวหิน มีโอกาสได้ทำงานศิลปะบนพรมกับ Siam Carpets เลยติดใจ จึงชวนกลุ่มศิลปินที่ทำงานหลากหลาย แตกต่างกัน มาร่วมแจม Yarn เลยมีทั้งศิลปินที่มาจากสายช่างภาพนิ่ง สายสตรีทอาร์ต สายกราฟิตี รวมถึงสาย Fine Arts มานำเสนองานตัวเองบนผืนพรม

The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับศิลปิน NEV3R ผู้จัดงาน และศิลปินอีก 4 คนที่ร่วมแสดงผลงาน ไม่ว่าจะเป็น ชยาภรณ์ มณีสุธรรม, ALEX FACE, วุฒิกร คงคา และ ‘KULT’ ธีระวุฒิ พลารชุน ถึงความหมายของงานศิลปะบนเส้นไหม และความแตกต่างของงานทีจัดแสดงหลากมุมอย่างลงตัว

นิทรรศการ YARN จัดขึ้นที่ 515 Victory สามารถเข้าชมฟรีได้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 13.00-20.00 น.

สำหรับงานของ มงคล รัตนภักดี หรือชื่อในวงการว่า NEV3R นั้น โดยปกติจะเป็นลักษณะสตรีทอาร์ตและเป็นนักวาดกราฟิตี แต่ปัจจุบัน เขามีอีกหมวกหนึ่งคือเป็นผู้บริหารของ Bridge Art Agency ทำหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ให้กับงานแสดงศิลปะหลายแขนง 

 ในงานนี้ NEV3R ชวนศิลปินรุ่นพี่ รุ่นน้อง และรุ่นเพื่อน จากต่างแขนงมา ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านพรม งานที่มี Texture เฉพาะ ซึ่งศิลปินแต่ละคนต่างก็ตื่นเต้น 

“ในงานนี้ ศิลปินจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ บางคนอาจจะเคยทำพรมแล้ว แต่ก็เป็นลักษณะของงานพีอาร์ หรือเป็นของ Merchandise สำหรับจำหน่าย แต่รอบนี้ คือการนำงานศิลปะมาทอเป็นพรม”

สำหรับ NEV3R การทำพรมนั้นมีการแยกเลเยอร์ แยกสีที่ต่างจากงานวาด งานเพนต์ หรืองานกราฟิก แน่นอนว่าสีที่ออกมาย่อมไม่ตรงกับตัวแบบ แต่ความไม่ตรงกับตัวแบบนั้น เมื่อผลิตออกมาก็กลับกลายเป็นสีใหม่ เป็นสีที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันออกไป

“ในงานพรมนั้น คุณจะแยกออกเป็นเลเยอร์ คุณก็แยกยาก เพราะน้ำหนักของมันย่อมไม่เท่ากับมือวาด แล้วเมื่อไปถึงขั้นตอนการผลิต ทางโรงงานพรมเขาต้องแยกสีใหม่หมดเลย เพราะบางสีเขาก็ไม่เคยมี กลายเป็นว่าต้องใช้เวลาทำนานมาก ครึ่งปีเป็นอย่างต่ำ และทาง Siam Carpets ก็ต้องคุยกับบรรดา Artist อย่างละเอียด เพื่อให้ออกมาตรงใจเจ้าของผลงานมากที่สุด”

NEV3R เล่าว่างานนี้ Siam Carpets เองก็ถือเป็นตัวจักรสำคัญ เพราะจะเป็นครั้งที่ทางโรงงานพรมได้ทำงานศิลปะกับศิลปินขึ้นมาจริงๆ

“โดยปกติโรงงานพรมเขาก็จะมี Pattern ของเขาเอง เช่น โรงแรมนี้จะต้องมีพรมแบบนี้ สีแบบนี้ เขาเองก็อยากทำลายขีดจำกัดของเขา และดูศักยภาพของเขาเองว่าจะไปได้ถึงจุดไหน หากได้แบบที่ Artist ทำงานขึ้นมาจริงๆ ก็จะข้ามผ่านการทำงานแบบเดิมๆ เป็นงานศิลปะขึ้นมาจริงๆ”

สำหรับงานเพนต์ของ NEV3R เป็นงานที่มาจากเพลง A Love From Outer Space โดยตรง เล่าถึงเรื่องราวของความรัก ไม่ว่าจะรักคน สัตว์ สิ่งของ หรือรักที่มาจากต่างดาว นำเสนอผ่านเส้นและสี เท็กซ์เจอร์ของสีสเปรย์ที่ไหลละลายจากการพ่นและเพนต์

“ของผมเป็นงานลายเส้นกับสี เท็กซ์เจอร์ของสีสเปรย์ก็จะฟุ้งๆ หน่อย ทีนี้ พอเอามาทำเป็นพรม ก็จะดึงแค่เส้นกับสี ให้ดูเป็นกราฟิกพอ ขณะที่งานจริง ก็โชว์เทคนิคของสีที่เราใช้เพนต์ คือไม่ใช่ทุกคนที่เอางานจริงมาทำเป็นพรม เราอยากให้ทุกคนสนุกกับงานที่ทำมากที่สุด”

จุดมุ่งหมายของงานนี้ NEV3R อยากให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสำหรับผู้รักงานศิลปะกับศิลปินได้พูดคุยกัน เรียนรู้ในงานของกันและกัน และทำความเข้าใจกับงานและสิ่งที่ศิลปินตั้งใจสื่อสารมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พางานศิลปะข้ามพรมแดนจากการเพนต์บนวัสดุแบบเดิมๆ

แน่นอนว่าการทำงานกับพรมนั้น ‘สนุก’ กว่าที่คิด และหลังจากนี้ จะมีงานศิลปะจากพรมสนุกๆ ตามมาอีกอย่างแน่นอน

ที่ผ่านมา ALEX FACE ถือเป็นศิลปินชั้นแนวหน้า จากการสร้าง ‘น้องมาร์ดี’ เด็กน้อย 3 ตาหน้าบึ้ง กับชุดมาสคอตกระต่ายที่โด่งดังไปทั่วโลก เรียกได้ว่างานสตรีทอาร์ตของเขา เป็นงานในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง 

งานนี้ ALEX FACE นำเอาไอเดียจากงานที่เคยพ่นบนกำแพงเมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มานำเสนอบนพรม เป็นงานที่มีไอเดียคือ ‘เส้นแบ่ง’ ระหว่าง ‘ความเป็น’ กับ ‘ความตาย’ ในภาวะโรคระบาด โดยเมื่อพ่นบนกำแพงเสร็จ ก็ถ่ายรูป แล้วนำมาวาดเป็นภาพวาดอีกทีหนึ่ง โดยเขาบอกว่าเป็นการ ‘ข้ามแดน’ จากสตรีทอาร์ตมาเป็นภาพถ่าย และกลายมาเป็นภาพวาดในที่สุด

เมื่อนำมาทำเป็นพรม ก็เหมือนกับขยายปริมณฑลงานศิลปะให้กว้างขวางออกไปอีกเป็นวัสดุที่จับต้องได้ สัมผัสได้ เปิดพื้นที่ให้งานนี้เคลื่อนไปสู่มิติอื่นๆ และวัสดุอื่นๆ

“พอเห็นตัวอย่างงานไปทำพรม ตอนแรกก็ลุ้นว่าจะออกมาเป็นยังไง ออกมาเป็นเหมือนกับที่เราคิดไว้ไหม เพราะเป็นเรื่องของเทคนิคที่เราไม่ได้ทำเอง อย่างภาพวาดเราวาดเอง ควบคุมมันด้วยตัวเราเอง แต่พรมมันเหมือนกับเราต้องพึ่งคนอื่นในการทำมันอาจจะต้องมีลุ้นนิดนึง

“ทั้งหมดกลายเป็นสัมผัสใหม่ ภาพวาดเราไม่ได้ไปสัมผัสมัน เราอาจจะชมเฉยๆ ไม่ได้ไปลูบ ไปจับ ไปคลำ อะไรได้ พรมเป็นวัสดุที่ฟังก์ชันของมันคือเราสัมผัสมันได้”

สำหรับงานของ ALEX FACE เป็นงานสเกลขนาดใหญ่ ตั้งอยู่โดดเด่นในงานด้วยความสูงกว่า 6 เมตร ได้ฟีลลิงไม่ต่างกับพ่นบนกำแพง ขณะที่อีกชิ้นงานเป็นภาพวาดภาพเดียวกัน แต่วาดบรรยากาศของกำแพง และมีแลนด์สเคปของกำแพงประกอบบนงานด้วยขนาด 60×80 เซนติเมตร

ก่อนหน้านี้ ALEX FACE เพิ่งจัดงานนิทรรศการ 20 ปี หรืองาน ‘20TH YEAR ALEX FACE’ ที่ 127 ถนน ณ ระนอง ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมปีที่แล้ว จนมาต่อเนื่องด้วยงานนี้เลย ซึ่งทำให้ตัวเขาบอกว่าหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ต้องทำงานหนักพอสมควร

“เอาตรงๆ ตอนแรกก็คิด ‘จะไหวหรือเปล่า’ (หัวเราะ) เพราะว่าถ้าคิดมันก็ต้องโฟกัสเยอะอยู่แล้ว แต่คิดว่าพี่ยอร์ชชวนและก็มีทั้งอาจารย์เต๋อซึ่งป็นอาจารย์เรา และก็ศิลปินหลายๆ คนที่เรารู้จักอยู่แล้วร่วมแสดงด้วย เลยคิดว่าไม่เป็นไร งั้นก็ลุยไปด้วยกัน ทั้งหมดเราคิดว่ามันก็เหมาะ มันก็ดีสำหรับคนที่มาดูงาน มีงานให้ดูเยอะขึ้น มีงานนิทรรศการของศิลปินหลายๆ คนที่กำลัง Opening ในช่วงนี้ ทำให้เมือง ทำให้กรุงเทพฯ มีความเคลื่อนไหวสำหรับคนที่ดูงานศิลปะและรักงานศิลปะ ปลุกวงการนี้ให้ครึกครื้นขึ้นมา

 

“สำหรับเรื่องพรม ผมคิดว่าน่าสนุก เพราะนอกเหนือจากงานภาพวาด ก็ยังมีพรมเป็นงานศิลปะที่สัมผัสได้ มันก็ดี เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วงานศิลปะมีข้อจำกัดคือห้ามจับ แต่งานนี้พรมสามารถจับได้ก็น่าลองมาดูเหมือนกัน” 

ชยาภรณ์ มณีสุธรรม

ไม่นานมานี้ ชยาภรณ์ มณีสุธรรม ศิลปินภาพถ่ายเพิ่งไปจัดแสดงร่วมกับงานของ สมยศ หาญอนันทสุข ในนิทรรศการ ‘Liberated/Possessed’ ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้งานศิลปะในรูปแบบการซ้อนทับภาพถ่ายของเธอน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ชยาภรณ์บอกว่าเธอได้รับการชักชวนให้นำภาพถ่ายของเธอมาทำเป็น ‘พรม’ โดยบอกว่ามีศิลปินชั้นนำอีกหลายคน จากหลากหลายแนวเข้าร่วม จึงไม่อยากพลาดโอกาสที่จะนำงานของเธอไปอยู่บนพื้นผิวใหม่ๆ เช่นกัน

สำหรับงานที่เธอนำไปจัดแสดงชื่อว่า ‘ภวังค์ฝัน’ เป็นภาพแนวแลนด์สเคปที่เหมือนอยู่ในภวังค์ระหว่างความจริงกับความฝัน ที่โดดเด่นที่สุดคือเจ้า ‘เสือ’ ที่ยืนเด่นอยู่ตรงกลางรูป

ชยาภรณ์บอกว่าเมื่อได้โจทย์ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘ความรัก’ จึงค่อยๆ คิดทบทวนว่าช่วงนี้ เธอกำลังรักในอะไร และเริ่มตีความจากตรงนั้น

“ช่วงนี้พี่จะอินเรื่องเกี่ยวกับความฝันเยอะมาก คือพี่ฝันทุกคืน ฝันเยอะมากมาย แล้วฝันร้ายตลอด เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก็เลยรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้น รักมันไปเลยละกัน (ยิ้ม) แล้วพี่ก็เลยตั้งโจทย์ว่าเป็นความรักในความฝัน เลยตั้งชื่อว่าภวังค์ฝัน เป็นความรู้สึกแบบกึ่งหลับกึ่งตื่น ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่จริง ตื่นมาก็งงๆ ว่าจริงหรือเปล่า พี่ก็เลยเอาสิ่งที่จับต้องไม่ได้พวกนี้ให้ออกมาเป็นภาพ”

สำหรับเสือที่อยู่ตรงกลางภาพ เธอเปรียบว่าเหมือนโดนเสือสะกดจิต คอยจ้องอยู่ข้างหลัง ขณะที่รูปที่ซ้อนอยู่นั้นเป็นงานเก่าของเธอ ซึ่งเป็นภาพถ่ายแลนด์สเคป และมีกล่องไฟ LED ตั้งอยู่ด้านหน้า คอยส่องสว่างวาบได้ เมื่อเพ่งดูจึงเหมือนโดนสะกดจิต จากนั้นจึงเอามาซ้อนกับรูปเสือให้เหมือนเป็นธีมเดียวกัน

“เสือนี่พี่ไปที่เชียงใหม่ เราผ่านไปตรงกลางสี่แยก ก็เจอเสือปูนปั้นตั้งอยู่ แล้วก็รู้สึกว่าผ่านไปไม่ได้ ต้องถ่าย แล้วเอาภาพมาซ้อน เสือมันเหมือนสะกดจิตพี่ เหมือนคอยเฝ้าอยู่ตรงนั้น แล้วมันเปรียบเทียบกับความฝันได้ว่าความฝันโดนสะกดจิตเหมือนกันนะ เหมือนอยู่ในจิตใต้สำนึกที่เราบังคับมันไม่ได้”

สำหรับเทคนิคการซ้อนภาพของเธอ คือการนำ ‘ความฝัน’ และ ‘ความจริง’ ทับซ้อนกันไปมา ให้ความรู้สึกดังตกอยู่ในภวังค์ที่แท้จริง

สำหรับผลงานที่อยู่บนพรมนั้น เธอบอกว่าพอต้องอยู่บนพรมมีความยากมาก เพราะรายละเอียดต่างๆ ค่อนข้างซับซ้อน

“ตัวเส้นทอเขามีประมาณล้านเฉดสี ก็ต้องเลือกว่าจะทำอย่างไรให้ได้เฉดที่เราต้องการ จริงๆ ก็ไม่ค่อยตรง แต่เขามีวิธีการของเขา ว่าเขาตีความงานของเรา เข้าใจงานของเราแบบนี้ และคนทำบนพรมก็ต้องมีความเป็นศิลปินเช่นกัน ทั้งหมดคืองานฝีมือ ซึ่งเราก็พยายามบอกเสมอว่าไม่เป็นไร อย่าไปตีกรอบรูปของเรา ให้เป็นเสน่ห์แบบนี้มันดีกว่า”

ชยาภรณ์บอกว่าสำหรับสีต่างๆ ที่ปรากฏในงานนั้น ต้องไปย้อมใหม่ทั้งหมด ให้เป็นสีของเส้นด้าย ซึ่งต้องใช้เวลานาน แต่ทั้งหมดนี้ เธอรู้สึกชอบในความพยายามก้าวข้ามพรมแดน ก้าวข้ามแขนงของงานศิลปะ เป็นส่วนผสมระหว่างความประณีตของภาพถ่าย กับความละเอียดลออของการถักทอเข้าด้วยกัน 

สำหรับงานของเธอถือเป็นงานเดียวที่เป็น ‘ภาพถ่าย’ เมื่ออยู่ท่ามกลางงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ชยาภรณ์บอกว่ายิ่งทำให้เห็นความ ‘ไม่มีพรมแดน’ ของงานต่างๆ และกลายเป็นเรื่องสนุกของการทำงานศิลปะ

“ถ้ามีงานแบบนี้อีก เราคงอยากทำอีก เพราะถือว่าเรามีประสบการณ์แล้ว แต่คงขอไปนั่งเฝ้าเขาทำด้วยนิดหน่อย (หัวเราะ)”

วุฒิกร คงคา

ภาพวาด David ประติมากรรมชิ้นเอกจาก 3 ยุค 3 สมัย ตั้งตระหง่านโดดเด่นด้วยการเล่นสีสดใส เป็นผลงานของ อาจารย์เด๋อ-ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร คงคา อาจารย์สาขาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

วุฒิกรขยายความงานของเขาว่างานเซตนี้มาจากงานภาพวาดเดิมของตัวเอง ที่มักจะใช้รูปปั้นงานโบราณ จำพวกงานศิลปะที่เป็นประวัติศาสตร์ศิลป์และมีเรื่องราวในอดีตกลับมาพูดใหม่ในปัจจุบัน

“สำหรับชิ้นนี้ ผมจะพูดถึงประติมากรรมสมัยเรเนสซองส์ (Renaissance) กับบาโรก (Baroque) คือรูปปั้นเดวิด ทั้ง 3 ชิ้นที่เห็นคือเดวิดเหมือนกัน แต่ประติมากร 3 คน ต่างก็ทำต่างยุค

“ตำนานเดวิดเป็นเรื่องของศาสนายิวโบราณที่อยู่ในคัมภีร์เก่า เดวิดเป็นตำนานเรื่องของเด็กหนุ่มปราบยักษ์โกไลแอทด้วยหินก้อนเดียว คือยักษ์เป็นตัวแทนของอาณาจักรที่จะมายึดอิสราเอล แล้วต้องการท้ารบ ก็มีการถามว่าใครจะสู้บ้างเพื่อไม่ให้เสียดินแดนอิสราเอล กลายเป็นว่าเดวิดขอท้า สุดท้าย เดวิดโดยใช้หินก้อนเดียวปาเข้าไปจนยักษ์ล้ม แล้วใช้ดาบยักษ์ตัดคอ เดวิดเลยเป็นสัญลักษณ์ของคัมภีร์เก่าที่พูดถึงคนตัวเล็กที่ล้มอำนาจของคนตัวใหญ่โดยที่ตัวเองไม่เสียดินแดน นี่คือนิทานและเรื่องเล่าในคัมภีร์”

ในยุคเรเนสซองส์ ประติมากรชื่อดังของโลก มิเกลันเจโล (Michelangelo) สร้างเดวิดขึ้นมาด้วยท่าเตรียมพร้อมที่จะเหวี่ยงหิน และในเวลาถัดมา ในยุคบาโรก เบอร์นินี (Bernini) ก็ทำเดวิดขึ้นมาในท่ากำลังง้างหิน นอกจากนี้ ในยุคเรเนสซองส์ ก่อนที่มิเกลันเจโรจะปั้นเดวิด โดนาเตลโล (Donatello) ก็มีเดวิดอีกเวอร์ชัน เป็นเดวิดในท่าทางที่ตัดหัวยักษ์โกไลแอทสำเร็จแล้ว

“ผมใช้ 3 ภาพที่ต่างแอ็กชัน เป็นเวลาตั้งแต่เริ่มต้นก่อนจะสู้กับยักษ์ กำลังสู้ แล้วก็เสร็จแล้ว เหมือนซีนหนัง แล้วก็ 3 ยุคของประติมากร”

แน่นอนว่าเดวิดของมิเกลันเจโลนั้นโด่งดังมากที่สุด เพราะถูกว่าจ้างให้สร้างเป็นสัญลักษณ์ของเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ประหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมือง ของสาธารณรัฐ สะท้อนความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร

ทว่า ณ ปัจจุบัน เดวิดทั้งสามกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทุกคนที่ไปฟลอเรนซ์ก็ต้องไปดูเดวิด เป็นสัญลักษณ์ที่ทำรายได้ให้กับเมือง

“นั่นแปลว่านิทานเรื่องเดียวมันถูกเปลี่ยนความหมายเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ตามแต่ว่าเราจะมองสิ่งนี้อย่างไร ก็เลยเอาสัญลักษณ์แบบหนึ่งกลับมาสู่ภาพวาด นำรูปปั้นสามมิติมาอยู่ในงานเพนต์ โดยตั้งใจว่าจะเปลี่ยนประสบการณ์ของคนดูได้สำเร็จไหม จะจำเดวิดได้อยู่หรือไม่ เพราะเป็นภาพจำอยู่เดิม แต่ขณะเดียวกัน กระบวนการวาดก็ไม่ได้เหมือนรูปปั้นโดยสิ้นเชิง เป็นจุดประสงค์ของเราในการสร้างสิ่งใหม่ให้เป็นสไตล์ของตัวเอง ให้ดูสวยงามในแบบสมัยใหม่ทั้งแสงและสี”

ด้านสีที่ใช้ วุฒิกรบอกว่าเป็นสีสันที่เป็นสมัยปัจจุบัน สีที่เห็นตามคอมพิวเตอร์ ตามงานโฆษณาต่างๆ มาสร้างเป็นชุดสีใหม่ให้เข้ากับเดวิด ให้ดูเป็นชุดสีที่มีความเก่าและความใหม่ผสมเข้าด้วยกันได้

ความท้าทายอีกอย่างก็คือเมื่อวัสดุเป็นพรม เมื่อไปเห็นโรงงาน ก็รู้สึกว่าอยากเล่นกับ Shape อย่าง ‘ขอบพรม’ อย่างไรก็ตาม การทำพรม ก็ต้องแบ่งเลเยอร์ แยกสี เป็นช่องๆ ซึ่งสอดคล้องกับงานของวุฒิกรพอดี ที่มีการแยกสีและแบ่งเป็นช่องอยู่แล้ว 

“จากรูปปั้นกลมๆ ที่เราเห็นของจริงที่อิตาลี มาเป็นแบนแต๊ดแต๋ ที่เราเห็นด้วยสี เปลี่ยนมาเป็นพรม มันกำลังเคลื่อนไปอีกอย่างแล้ว มันเปลี่ยนของที่เรามีอยู่แล้วให้เป็นสิ่งใหม่เรื่อยๆ พรมก็เป็นอีกความรู้สึกเลย เป็นอิมเมจที่เราก๊อปปี้มา เป็นงานสัมผัสที่มันนูน เราก็จินตนาการแบบนี้ เราก็สนุก อยากเห็นงานเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบ ก็คงอิมเมจเดิม แต่เปลี่ยนคุณลักษณะใหม่ นิ่ม นูน จากเดิมที่มันแบนๆ

“จริงๆ มันเกินกว่าที่คิด ผมไม่คิดว่าจะถอดมาได้ขนาดนี้ มันเกิดเท็กซ์เจอร์ พื้นผิวใหม่ๆ เป็นสัมผัสใหม่ เป็นหน้าตาใหม่ๆ เป็นจุดๆ ที่เข็มกับด้ายจิ้มลงไป”

ในฐานะผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้าน Fine Arts เขาบอกว่าพรมเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวอยู่แล้ว เดิมอาจจะมีความหมายแค่การปูพื้น แต่วันหนึ่งก็ถูกทำให้เป็นของแพง มีการถัก เย็บ ออกแบบให้เป็นลายเฉพาะตัว เหมือนพวกงานเพนติ้งและงานประติมากรรม จึงทำให้พรมเป็นวัสดุที่เขาสนใจอย่างมาก

“ความยากง่ายสำหรับศิลปินคือการจินตนาการว่างานนี้สุดท้ายจะหน้าตาเป็นอย่างไร พรมจะพาเราไปถึงขั้นไหน ก็เป็นความยากที่จะจินตนาการจนกว่าจะได้เห็นของจริง เป็นความยากที่จะคาดคะเน 

“แต่พอทาง Siam Carpets เขาเห็นแบบของผม เขาก็บอกว่าทำได้ แยกสีได้ แล้วเขาก็ขยายแบบเป๊ะ ตามสเกลเลย แล้วก็ปักไปตามช่องว่าง ด้ายเป็นไปตามระบบย้อม เป็นไปตามระบบโรงงาน ความเป็นงานมือ ความละเอียด ไม่ได้ปั๊มแบบอิงก์เจ็ตออกมาจากเครื่อง ก็ทำให้งานนี้ดูมีสีสัน”

‘KULT’ ธีระวุฒิ พลารชุน

‘เพราะพรมเลือกคน…’ งานของ KULT ที่เป็นลักษณะสื่อผสม Interactive โดดเด่นท่ามกลางศิลปะหลากหลายแขนงในงาน YARN

KULT อธิบายงานชิ้นนี้ว่าเป็นงาน ‘ทดลอง’ ที่เล่นกับอัตลักษณ์มนุษย์ วิธีเล่นก็คือหากเดินเข้าไปในงานจะมี QR Code ให้สแกน ให้ผู้ชมกรอกวันเดือนปีเกิด แล้วจะออกมาเป็นงาน Abstract ที่มีรูปลักษณ์แตกต่างกันฉายขึ้นบนจอ สะท้อนยุคสมัยที่ผู้คนต่างค้นหาตัวตนและความเป็นตัวเองภายใต้อิทธิพลของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย

“เขาบอกว่าจะมีงาน Collab กับบริษัทพรม เราก็มีหลายไอเดียเหมือนกัน เพราะเราเป็นคนบ้าพรม ไม่ว่าจะเป็นพรมเปอร์เซีย พรมทอมือ ก็พบว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ใช่คนเลือกพรมอย่างเดียว หากแต่พรมต้องเลือกคน และเลือกที่อยู่ด้วย เพราะบางที ไปเลือกที่ร้านพรมไปปูที่บ้าน อยู่ที่ร้านมันสวย แต่ปูที่บ้านแล้วไม่ได้ก็มี”

เหตุที่ปูไม่ได้อาจจะด้วยสีไม่เข้ากับห้อง ลายไม่เข้ากับเฟอร์นิเจอร์อื่น หรือด้วยแสงที่สาดลงมา เพราะฉะนั้น ร้านพรมหลายร้านเลยมีบริการให้เลือกเลยว่าคนซื้อสนใจประมาณไหน แล้วทดลองมาปูที่บ้านให้ก่อน ซึ่งก็เหมือนกับงานชิ้นนี้ที่พูดถึง ‘อัตลักษณ์’ ของคน

เพราะฉะนั้น เมื่อเดินเข้ามาในงานก็จะมี QR Code ให้สแกน กรอกวันเดือนปีเกิด จากนั้น แอปพลิเคชันก็จะทำหน้าที่ ‘สุ่ม’ ภาพออกมาเป็น Visual ของแต่ละคนได้เลย โดยงานนี้ได้แรงบันดาลใจจากทฤษฎี FORM ของเพลโต (Plato) นักปรัชญาชาวกรีก ซึ่งพูดถึงมนุษย์เกิดจากบล็อกเดียวกัน บวกกับแนวคิดของนักจิตวิทยาที่ชื่อ คาร์ล โรเจอร์ (Karl Roger) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่บอกว่ามนุษย์ อัตลักษณ์ เกิดจากสิ่งแวดล้อม และเกิดจากสิ่งที่แต่ละคนได้เจอมา เป็น Inspiration ที่แต่ละคนได้เจอ แล้วให้ AI ประมวลผลออกมาตามแต่วันเดือนปีเกิดของแต่ละคน 

“การถ่ายทอดผลงานลงบนพรมทำมือ ที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะไม่ต่างจากศิลปะอีกแขนงที่ช่วยผสมผสานแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์บุคคลให้กลมกล่อมขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมตัวชิ้นงานให้ดูมีชีวิตชีวา มีมิติ และน่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย” 

Fact Box

นิทรรศการ YARN จัดขึ้นที่ 515 Victory สามารถเข้าชมฟรีได้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 13.00-20.00 น.

Tags: , , , , , ,