คำว่า ‘บ้าน’ สำหรับคุณคืออะไร?

บ้านสำหรับบางคนหมายถึง ‘ถิ่นที่อยู่’ บ้านสำหรับบางคนหมายถึง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในขณะที่บ้านสำหรับบางคนหมายถึง ‘ใครคนหนึ่ง’

ซูซาน เคลย์ตัน (Susan Clayton) นักจิตวิทยาด้านสิ่งแวดล้อมจากวิทยาลัยวูสเตอร์(The College of Wooster) ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าสำหรับใครหลายคน บ้านเป็นส่วนหนึ่งของการนิยามตัวตนของพวกเขา 

เมื่อกลับไปยังพื้นที่ที่เคยอยู่ มันจะพาพวกเขาย้อนกลับไปนึกถึงผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย เพราะบ้านไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้างรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีไว้พักอาศัย แต่บ้านมีความหมายมากมายกว่านั้น

The Momentum พาชมนิยามของคำว่า ‘บ้าน’ ผ่านสองนิทรรศการที่เล่าเรื่องบ้านบนความเหมือนที่แตกต่าง กับนิทรรศการภาพถ่าย ‘Closure: หากได้บอกลา’ และนิทรรศการศิลปะ ‘Painting is Home’ จัดแสดง ณ VS Gallery ตั้งแต่วันนี้ถึง 2 เมษายน 2566 

‘บ้าน’ ในวันที่สูญเสียคนรัก

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลออกมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยงดจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก อาทิ การจัดคอนเสิร์ต การจัดงานเทศกาล การจัดงานมงคลสมรส รวมไปถึงการจัดพิธีกรรมทางศาสนา ทำให้การจัดงานศพต้องถูกจำกัดทั้งระยะเวลาและจำนวนผู้เข้าร่วม

เมื่องานศพที่เปรียบเสมือนการไว้อาลัยแด่ผู้ล่วงลับ ถูกจำกัดและลดทอนความสำคัญลงไป ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตมีเวลาแสดงความอาลัยและอำลาได้น้อยลง นำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า หากมีโอกาสได้บอกลา ภาพจำและคำอำลาของผู้สูญเสียจะเป็นอย่างไร

Closure: หากได้บอกลา เป็นนิทรรศการภาพถ่ายของ เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพและช่างภาพประจำนิตยสาร National Geographic Thailand ที่เลือกถ่ายทอดเรื่องราวความรักและคำบอกลาจากครอบครัวของที่ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19

เอกรัตน์มองว่าแต่เดิมการจัดงานศพจะช่วยให้ญาติของผู้เสียชีวิตมีระยะเวลาปรับตัวกับการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก แต่การจำกัดระยะเวลาการจัดงานยิ่งทำให้ระยะเวลาในการทำใจนั้นสั้นลงไปด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจะรับมือกับความสูญเสียในครั้งนี้ได้มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

จากผลกระทบของความสูญเสียที่ปราศจากเวลาทำใจนี้ นำไปสู่นิทรรศการ Closure: หากได้บอกลา ซึ่งเอกรัตน์ได้ติดต่อขอให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตเขียนจดหมายอำลาถึงผู้ที่จากไป และถ่ายภาพพื้นที่ในบ้านที่เป็นมุมโปรดของผู้เสียชีวิต พื้นที่ซึ่งมีเพียงคนใกล้ชิดภายในบ้านเท่านั้นที่จดจำพวกเขาได้

Closure: หากได้บอกลา จึงเปรียบเสมือนภาพสะท้อนความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผู้คนมากมายต้องสูญเสียครอบครัวและคนรักไปอย่างกะทันหัน โดยปราศจากคำอำลาและระยะเวลาทำใจ การสร้างโอกาสให้ผู้คนที่สูญเสียได้ปลอบประโลมหัวใจผ่านคำบอกลา ถือว่าเป็นแกนหลักของงานนี้

บรรยากาศภายในงานนิทรรศการนั้นเรียบง่าย ทว่าน่าหลงใหลในเวลาเดียวกัน ภาพถ่ายขนาดใหญ่ถูกจัดไว้บนผนังสีขาว เผยให้เห็นภาพห้องนอนธรรมดา ภาพห้องครัวที่ว่างเปล่า และภาพโต๊ะหน้าทีวีซึ่งไร้คนเปิด มองเพียงผิวเผินอาจทำให้รู้สึกว่ารูปภาพเหล่านี้ดูธรรมดา แต่ถ้ามองไปที่ด้านข้างของภาพถ่ายจะเห็นกระดาษขนาด A3 คล้ายจดหมายแปะไว้ เหมือนเป็นคำบรรยายของภาพนั้นๆ

แม่ครับผมขอให้แม่ได้มีความสุข ส่วนผมไม่ต้องเป็นห่วงผมจะอยู่ให้ได้ ผมจะทำตามที่แม่สอน จะไม่ออกนอกลู่นอกทางอีกแล้ว ผมจะบวชให้แม่นะครับ ขอให้แม่หลับให้สบาย ลูกคนนี้จะเป็นคนดีตลอดไป” – นัทพล ยินดีรัมย์

นอกจากนี้เอกรัตน์ยังเผยว่า สิ่งที่ Closure: หากได้บอกลา กำลังสื่อสารกับผู้คน ไม่ได้มีเพียงเรื่องราวของความสูญเสียและอาลัย แต่ภาพทุกภาพ ข้อความทุกข้อความ สะท้อนถึงช่วงเวลาและยุคสมัย ที่ครั้งหนึ่งผู้คนต่างพรากจากคนที่รักเพราะโรคระบาด ณ ขณะนั้น เปรียบเหมือนเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์แห่งความโศกเศร้า และหวังว่าชิ้นงานของเขาจะสามารถเป็นกระบอกเสียงส่งไปถึงภาครัฐ ให้ตระหนักถึงหลายชีวิตที่ต้องสูญเสียและถูกหลงลืมโดยไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ซึ่งพวกเขาอาจเป็นพ่อ แม่ ภรรยา สามี ลูกสาว ลูกชาย หรือคนรักของใครสักคน

‘บ้าน’ พื้นที่ปลอดภัยที่สวยงาม

‘พื้นที่ปลอดภัย’ อาจหมายถึงพื้นที่เชิงกายภาพหรือพื้นที่ทางจิตใจ ซึ่งแต่ละคนมีพื้นที่ปลอดภัยที่แตกต่างกัน สำหรับบางคนอาจเป็นบ้าน ห้องนอน หรือแม้กระทั่งสิ่งของก็สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้

‘Painting is Home’ เป็นผลงานรูปแบบ Process Painting ที่เน้นความรู้สึกและห้วงอารมณ์ของศิลปินขณะลงมือทำงาน โดยคำนึงถึงกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งศิลปินถ่ายทอดความสงบเงียบและสวยงามผ่านเส้น สี และจุด ประกอบสร้างเป็นชิ้นงานที่บอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกแก่ผู้ชม นั่นทำให้หนึ่งในเสน่ห์ของชิ้นงานที่จัดแสดงคือเรื่องราวที่ศิลปินต้องการสื่อสาร

ชัชชา ทวี เจ้าของนิทรรศการ Painting is Home ผู้ที่ใช้เวลากว่า 25 ปี ในการเรียนและสอนศิลปะอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เผยว่าเธอใช้เวลาในการพัฒนาวิธีการทำงานและวิธีคิดอยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องยากที่จะนิยามว่า Painting is Home เป็นชิ้นงานรูปแบบใด เพราะเธอให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างศิลปินกับผู้ชม เพื่อถ่ายทอดความสงบและอบอุ่นผ่านฉากประทับใจและห้วงเวลาของเธอ

ชิ้นงานได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์และฉากในชีวิตที่ประทับใจของศิลปิน ซึ่งเชื่อมโยงกับความสงบ ความเงียบ และความสบายใจ อาทิ ผลงานชื่อ ‘Peaceful water’ ภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากกระเบื้องของสระว่ายน้ำในขณะที่ดำดิ่งลงไป ทำให้ไม่ได้ยินเสียงรบกวน เห็นเพียงแสงแดดที่กระทบกระเบื้องและความเคลื่อนไหวบนผิวน้ำ เกิดเป็นความสงบเงียบที่น่าหลงใหล ซึ่งศิลปินเล่าเรื่องผ่านเส้นและสีที่มองแล้วรู้สึกสบายตา

Painting is Home มีความโดดเด่นในการเลือกใช้สี โดยเฉพาะการใช้สีเพื่อสื่อความหมายและความรู้สึก เช่น ผลงานชื่อ ‘The Pink Gilded Cage’ ที่สื่อถึงเพศและการกักขัง ศิลปินจึงเลือกใช้สีชมพูเป็นตัวแทนของความเป็นผู้หญิง และเลือกใช้สีน้ำเงินเป็นตัวแทนของความเป็นผู้ชาย แต่ละสีจะมีการไล่ระดับความอ่อนเข้มแล้วแต่ชิ้นงาน ส่วนใหญ่เป็นสีพาสเทลที่มองแล้วรู้สึกสดใสและสบายตา 

นอกจากเรื่องของสี การใช้เส้น จุด และเหลี่ยมมุม ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก ชัชชาอธิบายเพิ่มเติมว่า เส้นทุกเส้น ภาพทุกภาพ ล้วนเกิดจากการรวมกันของจุดแต่ละจุด ประกอบสร้างเป็นโครงของภาพที่ต้องการจะสื่อออกไป แต่ละกระบวนการล้วนผ่านการคิดและสร้างสรรค์อย่างประณีต เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นภาพที่ต้องการจะสื่อ 

ชัชชาไม่ได้คาดหวังว่าเมื่อผู้คนมองมาที่งานของเธอแล้วต้องสะท้อนอะไร หรือจำเป็นที่จะต้องรู้สึกอย่างไร งานที่เธอทำเพียงอยากสื่อสารกับผู้คนว่า ภาพวาดเหล่านี้เปรียบเสมือน ‘บ้าน’ ตัวแทนของความสบายใจ พื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าคุณจะพบเจอกับอะไรมา Painting is Home จะเป็นสถานที่หลบภัยที่สวยงาม

อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่สิ่งที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ คือบ้านเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของเราเสมอ เป็นเครื่องบันทึกความทรงจำไม่ว่าดีและร้าย เป็นสิ่งปลอบประโลมตัวเราในวันที่รู้สึกเหนื่อยหรือสิ้นหวัง เพราะบ้านเป็นมากกว่าสิ่งปลูกสร้างรูปทรงสี่เหลี่ยม แต่บ้านมีความหมายมากมายกว่านั้น

Fact Box

นิทรรศการภาพถ่าย Closure: หากได้บอกลาและนิทรรศการศิลปะ Painting is Home’ จัดแสดง ณ VS Gallery ซอยนราธิวาส 22 ตั้งแต่วันนี้ถึง 2 เมษายน 2566 

Tags: , , , , , ,