ในภาษาอังกฤษ คำคำหนึ่งอาจทำหน้าที่ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น คำว่า smile เป็นได้ทั้งนาม (his smile) และกริยา (He smiled.)
แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า อันที่จริงแล้ว ชื่ออาชีพในภาษาอังกฤษหลายชื่อที่เราคุ้นเคย ไม่ได้ใช้เรียกผู้ประกอบอาชีพนั้นได้อย่างเดียว แต่นำมาใช้เป็นกริยาได้ด้วย
ไปดูกันดีกว่าว่า มีคำเรียกอาชีพอะไรบ้างที่นำมาใช้เป็นกริยาได้ และเมื่อเป็นกริยาแล้วจะมีความหมายอย่างไร ต่างจากอาชีพจริงๆ ไปขนาดไหน
Doctor
คำว่า doctor มาจากกริยา docere ในภาษาละติน หมายถึง สอน แต่เดิมใช้หมายถึง ครูสอนศาสนา ต่อมานำมาใช้เป็นคำนำหน้าสำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้สอน (กลายเป็นที่มาของคำว่า ด๊อกเตอร์ ที่ใช้เรียกผู้จบการศึกษาชั้นปริญญาเอกในปัจจุบัน) ก่อนจะมาใช้หมายถึง แพทย์ อย่างในทุกวันนี้
คำว่า doctor นี้ ถ้านำมาใช้เป็นกริยา จะมีความหมายว่า ตัดต่อ ดัดแปลง มักใช้กับภาพหรือเอกสาร ตัวอย่างเช่น หากเราดูออกว่าภาพแคปหน้าจอที่หลุดออกมาของพี่โป๊ปเป็นภาพตัดต่อ ก็อาจพูดว่า The leaked screenshot has obviously been doctored.
นอกจากนั้น ยังใช้หมายถึง ใส่ยาหรือของที่เป็นพิษในเครื่องดื่มหรืออาหารก็ได้ (คล้ายกับคำว่า spike) เช่น The punch must have been doctored. ก็จะแปลว่า ต้องมีคนแอบใส่อะไรลงไปในน้ำพั้นช์แน่เลย
แต่ถ้ามีคนพูดว่า I’m going to have my dog doctored. ก็ไม่ได้หมายความจะนำหมาไปดัดแปลงหรือใส่ยาแต่อย่างใด เพราะว่า doctor แปลว่า ทำหมัน ได้ด้วย ประโยคนี้จึงแปลว่า พาหมาไปทำหมันนั่นเอง
Nurse
คำที่เราใช้เรียกพยาบาลนี้ หากสืบย้อนกลับไปจะพบว่ามาจากคำละติน nutricius แปลว่า แม่นม มาจากกริยา nutrire ในภาษาละตินที่แปลว่า หล่อเลี้ยง และเป็นที่มาของคำว่า nourish (หล่อเลี้ยง) และ nutrition (สารอาหาร) ในภาษาอังกฤษ
คำนี้แต่เดิมใช้หมายถึง แม่นมหรือผู้หญิงที่จ้างมาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก จนท้ายที่สุดนำมาใช้หมายถึงผู้ดูแลผู้ป่วย แต่เดิมคำว่า nurse ใช้เรียกแต่พยาบาลหญิง ถ้าจะพูดถึงพยาบาลชายต้องใช้คำว่า male nurse แต่ในปัจจุบันคำว่า nurse ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้นแล้ว
คำว่า nurse เป็นอีกชื่ออาชีพที่ใช้เป็นกริยาได้ อาจใช้ในความหมายที่โยงกับอาชีพ คือ รักษา ดูแล ก็ได้ เช่น His father nursed him back to health. ก็จะแปลว่า พ่อดูแลจนหายป่วย กลับมาแข็งแรง หรือจะแปลว่า รักษาอาการบาดเจ็บ ก็ได้ เช่น She is still nursing the injury on her left leg. ก็จะแปลว่า แผลบนขาซ้ายเธอยังไม่หาย ยังต้องรักษาอยู่
แต่ด้วยพยาบาลกับการดูแลเป็นของคู่กัน คำว่า nurse จึงนำมาใช้แปลว่า ดูแล ประคับประคอง ได้ด้วย เช่น She nursed her business through hard times. ก็จะแปลว่า เธอประคองกิจการให้รอดผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้
ทั้งนี้ สิ่งที่ประคองหรือหล่อเลี้ยงไว้อาจเป็นความรู้สึกก็ได้ ดังนั้น nurse จึงนำมาใช้แปลว่า ยังมีความรู้สึกบางอย่าง เก็บงำความรู้สึกหรือความคิดบางอย่างไว้ ได้ด้วย เช่น He is still nursing a grudge against his ex-boyfriend. ก็จะแปลว่า เขายังคงคิดแค้นพยาบาทแฟนเก่า
Engineer
คำว่า engineer มาจากคำว่า ingenium ในภาษาละติน ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า in- ที่แปลว่า ใน รวมกับ gignere ที่แปลว่า ให้กำเนิด ได้ความหมายรวมว่า ลักษณะที่มีมาโดยกำเนิด ต่อมา ความหมายพัฒนาไปเป็น ความฉลาด ทักษะ เล่ห์เหลี่ยม (เป็นที่มาของคำว่า ingenious) เกิดเป็นคำว่า engine หมายถึง สิ่งที่สร้างด้วยทักษะ เครื่องจักรกล และคำว่า engineer หมายถึง ผู้สร้างเครื่องจักรกล ก่อนจะกลายมาเป็นวิศวกรในปัจจุบัน
ที่น่าสนใจคือคำนี้นำมาใช้เป็นกริยาได้ด้วย ถ้าใช้ในทางพันธุศาสตร์ ก็จะหมายถึง ตัดแต่งพันธุกรรม เช่น These crops have been genetically engineered for enhanced resistance to drought. ก็จะหมายถึง พืชเหล่านี้ตัดแต่งพันธุกรรมมาให้ทนความแล้งได้ดียิ่งขึ้น
แต่เนื่องจากคำว่า engineer มีความหมายเดิมเกี่ยวกับความฉลาดแกมโกง คำนี้จึงใช้เป็นกริยาในความหมายว่า ออกอุบาย วางแผนการ ก็ได้ เช่น The downfall of the director was carefully engineered by those closest to him. ก็จะแปลว่า ที่ชีวิตผู้อำนวยการล่มจมนั้นเกิดจากแผนการที่คนรอบตัววางไว้อย่างดี
Soldier
คำนี้มาจากคำว่า soldarius ในภาษาละติน แปลว่า ผู้รับค่าจ้าง ทหารรับจ้าง มาจากคำว่า solidus ที่ใช้เรียกเหรียญทองในสมัยจักรวรรดิโรมัน ภายหลังจึงกลายเป็นมาเป็นทหารที่ประจำการในกองทัพอย่างทุกวันนี้
คำนี้นอกจากจะแปลว่า ทหาร แล้ว ยังนำมาใช้เป็นกริยาได้ด้วย หมายถึง ฝ่าฟัน มุมานะ เพียรทำต่อไป เช่น Despite all the obstacles in their way, the activists soldiered on. ก็จะแปลว่า แม้จะมีอุปสรรคขัดขวาง แต่นักเคลื่อนไหวก็ยังคงมุมานะเดินหน้าต่อไป
Butcher
คำว่า butcher ที่แปลว่า คนขายเนื้อ ว่ากันว่ามาจากคำว่า bouc ที่แปลว่า แพะ และเดิมหมายถึง คนขายเนื้อแพะ
เมื่อนำมาใช้เป็นกริยา นอกจากจะใช้หมายถึง ชำแหละเนื้อสัตว์ ได้แล้ว ยังหมายถึง ฆ่าอย่างเหี้ยมโหด ก็ได้ เช่น The soldier butchered hundreds of innocent villagers during the war. ก็จะหมายถึง ทหารนายนี้ฆ่าชาวบ้านผู้บริสุทธิ์หลายร้อยคนอย่างเหี้ยมเกรียมในช่วงสงคราม
ทั้งนี้ กริยานี้อาจไม่ได้หมายถึง ฆ่าคน แต่หมายถึง ทำอะไรสักอย่างแบบไม่ได้เรื่อง ทำออกมาแล้วพังพินาศ เช่น The contestant completely butchered my favorite song. ก็จะแปลว่า อีนักร้องคนนี้เอาเพลงโปรดของเราไปร้องเสียพินาศหมด หรือเวลาพวกที่ยึดพจนานุกรมราชบัณฑิตเป็นสรณะเห็นคนอื่นพิมพ์คำว่า คะ ว่า คร๊ ก็อาจพูดว่า They are butchering the Thai language. ทำนองว่า คนพวกนี้ทำภาษาไทยวิบัติหมด
บรรณานุกรม
- http://www.etymonline.com/
- American Heritage Dictionary of the English Language
- Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
- Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
- Longman Dictionary of Contemporary English
- Oxford Advanced Learners’ Dictionary
- Shorter Oxford English Dictionary