กรณีสภาเปิดไฟเขียวให้สีจิ้นผิงครองเก้าอี้ประธานาธิบดียาวนานแบบไม่มีวาระ ทำเอานักทฤษฎีหงายหลัง เพราะจีนเล่นวิ่งย้อนศรคำทำนาย โลกาภิวัตน์กลับนำชาติมังกรถอยห่างจากประชาธิปไตย

เป็นไปตามคาด เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว (11 มี.ค. 61) สภาผู้แทนประชาชนลงมติด้วยเสียงเกือบเป็นเอกฉันท์ ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการห้ามประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัยติดต่อกัน ถือเป็นการเปิดทางให้สีจิ้นผิงนั่งเก้าอี้ผู้นำได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา

ความเคลื่อนไหวนี้เรียกเสียงวิจารณ์ทั่วโลก ส่วนใหญ่มองกันว่า จีนกำลังก้าวไปสู่ระบอบอำนาจนิยมโดยผู้นำคนเดียว ละทิ้งการนำรวมหมู่ที่ใช้มานานนับแต่หลังยุคปฏิวัติวัฒนธรรม

การมุ่งไปในทิศทางของอำนาจนิยมนับว่าหักปากกาเซียน นักทฤษฎีเสนอคำทำนายไว้ว่า โลกาภิวัตน์จะชักนำประเทศทั้งหลายไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตย ทว่ากรณีจีนและอีกหลายประเทศ กลับกลายเป็นตรงกันข้าม

อำนาจนิยม

ภายหลังสงครามเย็น ระบอบคอมมิวนิสต์ในโลกตะวันตกล่มสลาย ปัญญาชนนักคิดมากหน้าพร้อมใจคาดการณ์แนวโน้มใหญ่ว่า โลกจะเข้าสู่สภาพการณ์ที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์

ทั้งข่าวสารข้อมูล เงินทุน ผู้คน กระทั่งความคิดความอ่านจะไหลหลากข้ามพรมแดน เมื่อผู้คนได้ประโยชน์จากการค้าเสรี การลงทุนเสรี แรงงานเสรี ใครๆ จะร้องหาแต่ประชาธิปไตย หวงแหนประชาธิปไตย

นักทฤษฎีอย่าง ฟรานซิส ฟูกูยามา ถึงกับประกาศ ‘จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์’ ระบอบเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมจะครองชัยชนะเหนือระบอบคอมมิวนิสต์และเผด็จการเบ็ดเสร็จ

แต่จนถึงวันนี้ คำพยากรณ์ของนักทฤษฎี ว่าด้วยการสร้างประชาธิปไตย ยังไม่เป็นจริง เรากลับได้เห็นระบอบอำนาจนิยม ความคิดชาตินิยม ฟูเฟื่องในหลายภูมิภาค สิทธิพลเมือง หลักนิติรัฐ เสรีภาพสื่อ อันเป็นแก่นแกนของประชาธิปไตย นั่นตะหาก ที่ถูกกลบฝัง

ตัวอย่างที่สะท้อนปรากฏการณ์ที่ว่านี้มีมากมาย เช่น วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย, เรเซป ทายยิป เออร์โดกัน ของตุรกี, อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิสซี ของอียิปต์, โรดริโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์, ฮุน เซนของกัมพูชา

ผลสำรวจสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในปี 2017 ของฟรีดอมเฮาส์ ฉายให้เห็นว่า เสรีภาพของปัจเจกบุคคลลดลงติดต่อกันเข้าปีที่ 12 แล้ว นับเป็นวิกฤตของประชาธิปไตยทั่วโลก

ส่วนจีน ซึ่งไม่มีการเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตย ก็เป็นอีกกรณีในกระแสประชาธิปไตยขาลง

เลิกมโนดีกว่า

ไม่เพียงนักทฤษฎีประชาธิปไตยเท่านั้นที่ทำนายผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาก็พยากรณ์พลาดเกี่ยวกับสีจิ้นผิง

ตอนที่สีก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อช่วงปลายปี 2012 ก่อนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงต้นปี 2013 นักสังเกตการณ์ต่างคาดหมายว่า เขาจะเป็นผู้นำการปฏิรูป

คอลัมนิสต์ชื่อดังของ เดอะนิวยอร์กไทม์ส นิโคลัส คริสทอฟ เขียนเมื่อปี 2013 ว่า สีจิ้นผิงจะเข้ามาปฏิรูปเศรษฐกิจ ผ่อนคลายบรรยากาศทางการเมือง แถมบอกด้วยว่า “ร่างของเหมาเจ๋อตงจะถูกอัญเชิญออกจากเทียนอันเหมิน หลิวเสี่ยวโป นักเขียนรางวัลโนเบล จะได้รับการปล่อยตัวออกจากคุก” กลายเป็นเรื่องมโนล้วนๆ

เหตุที่ใครต่อใครมองอนาคตจีนไปในทางเปิดกว้าง เป็นเพราะเวลานั้น จีนเริ่มมีโซเชียลมีเดีย เศรษฐกิจเปิดเสรีมากขึ้น นักเคลื่อนไหวฟ้องร้องรัฐบาลว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ และเริ่มมีการเลือกตั้งผู้นำระดับหมู่บ้าน เป็นการนำร่องในบางแห่ง

ถึงเวลานี้ สีกุมอำนาจครบวาระแรกแล้ว อินเทอร์เน็ตถูกควบคุมเข้มงวด นักเคลื่อนไหวถูกเล่นงาน จีนยังคงไร้วี่แววของประชาธิปไตยอย่างที่โลกสากลรู้จัก

นัยต่อภูมิภาค

นักวิเคราะห์เตือนว่า การครองรัฐ พรรค และกองทัพยาวนาน บวกกับการกระชับอำนาจของสีจิ้นผิง ก่อให้เกิดความเสี่ยงในสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นผลสะเทือนต่อการเมืองภายใน อีกด้านเป็นความเสี่ยงต่อภูมิภาค

ในด้านแรก การผูกขาดเก้าอี้ผู้นำสูงสุดเกินกว่าสิบปีขึ้นไปอย่างที่เคยเป็นกรอบเวลาดำรงตำแหน่งมาแต่เดิม ทำให้ขาดการฟูมฟัก ประแป้งแต่งตัวว่าที่ผู้นำที่จะรับไม้ต่อ กลไกถ่ายโอนอำนาจจะถูกแช่แข็งไว้ จนกว่าสีจะบอกว่า “ผมพอแล้ว”

คำถามก็คือ เมื่อเวลานั้นมาถึง การเปลี่ยนผ่านผู้นำจะเป็นไปโดยราบรื่นหรือเปล่า การเมืองจีนจะยังคงมีเสถียรภาพ หรือว่าจะเกิดการแย่งชิงความเป็นเจ้าในหมู่ชนชั้นนำ

ในอีกด้าน หากวันหนึ่ง เศรษฐกิจจีนเจอมรสุมหนัก ประธานาธิบดีสีจะเบี่ยงหลบกระแสวิจารณ์ ด้วยการปลุกกระแสชาตินิยม หาแพะรับบาป อย่างที่ผู้นำที่เผชิญปัญหาความชอบธรรมมักทำกันเป็นสูตรสำเร็จไหม

ถ้าชีวิตความเป็นผู้ของผู้คนย่ำแย่ลง สีจิ้นผิงจะโหมไฟข้อพิพาทกับต่างชาติ ใช้มาตรการทางทหารเข้าจัดการ อย่างเช่นเรื่องไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ หรือเปล่า

ผลการโหวตเมื่อ 17 มี.ค. ออกมาเสียงเอกฉันท์ สภาประชาชนจีนต่ออายุให้สีจิ้นผิงทำงานต่ออีกเทอม (ภาพถ่ายโดย Jason Lee/REUTERS)

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 17 มี.ค. สภาตรายางของจีนโหวตด้วยเสียงเกือบเอกฉันท์ คือ 2,970 คะแนน เลือกสีจิ้นผิงเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง ครองอำนาจอีก 5 ปี คาดกันว่า พ้นจากเวลานั้น เขาคงตีตั๋วต่อ

ผู้นำในระบอบการเมืองแบบปิด ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากมติมหาชน จะตัดสินใจอย่างไร มักทำนายยาก เซียนเล็กเซียนใหญ่ถูกหักปากกามาเสียนักต่อนักแล้ว

 

อ้างอิง:

Tags: , ,