มีอยู่วันหนึ่ง หลังจากวิ่งออกกำลังกายในบริเวณซอยแถวห้องอันเงียบสงบเสร็จจนเหงื่อชุ่มและเปลี่ยนจังหวะมาเป็นการเดินช้าๆ เพื่อผ่อนคลาย ก็เป็นเวลาช่วงที่จะเข้าสู่ย่ำค่ำพอดี ปลายท้องฟ้าที่ผมมองเห็นนั้นเป็นสีส้มเรื่อๆ ชมพูจางๆ เหมือนใครใช้พู่กันปาดสีน้ำละเลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘ท้องฟ้า’ อย่างไม่ตั้งใจ
เย็นวันนั้นจึงเป็นท้องฟ้าแบบที่เขาเรียกกันว่า Vanilla sky การได้มองท้องฟ้าลักษณะนี้ในเมืองหลวงนั้นมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะคำว่า ‘เมืองหลวง’ ในความรู้สึกของ ‘เด็กต่างจังหวัด’ อย่างผมที่เข้ามาทำงานในมหานครแห่งนี้ ประกอบไปด้วยปริมาณความเครียด ความกดดัน ความเหงา และอีกสารพัดความรู้สึก ที่มากกว่ายามอยู่บ้านเกิด
ความสวยงามตามธรรมชาติที่ได้มองผ่าน Vanilla sky ซึ่งหาได้ยากในเมืองที่โอบล้อมด้วยป่าคอนกรีตทุกทิศ จึงบรรเทาจิตใจผู้ที่มาจากสถานที่ที่โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติอย่างยิ่ง แม้จะเป็นเพียง ‘ชั่วขณะ’ ก็ตาม
นอกจากนี้ ความหมายของ ‘สี’ ในเชิงจิตวิทยาที่สีฟ้าให้ความรู้สึกปลอดโปร่ง สีชมพูให้ความรู้สึกอ่อนโยน สีส้มให้ความรู้สึกสดใส ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผู้ได้มองรู้สึกดี
เย็นวันนั้น ผมสูดหายใจลึก รับรู้ถึงกลิ่นของอากาศและกลิ่นหอมสดชื่นของฤดูร้อนที่กำลังย่างกรายเข้ามาทีละนิด ชั่วขณะนั้น ผมสัมผัสถึงความรู้สึกเป็น ‘อิสระ’ อย่างน่าประหลาด และก็นึกถึงเรื่องของ ‘เวลา’ ขึ้นมา
เวลาเป็นสิ่ง ‘ไร้ตัวตน’ ที่ถูกกำหนดสร้างให้ ‘มีตัวตน’ ผ่านมุมมอง นิยาม และกรอบความหมายต่างๆ ที่มนุษย์ระบุ ทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรือกระทั่งศาสนา ที่เป็นความรู้สั่งสมมาตั้งแต่อดีต
ไอแซก นิวตัน นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษให้แนวคิดไว้ว่า เวลาเป็นองค์ประกอบพื้นฐานหนึ่งของจักรวาล ให้เหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินอยู่ในนั้น ขณะที่อิมมานูเอล คานต์ นักปรัชญาชาวเยอรมันมองว่า เวลาเป็นสิ่งสมมุติเช่นเดียวกับพื้นที่และตัวเลข มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเป็นลำดับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเวลากับเหตุการณ์เหล่านั้นจะรวมอยู่ด้วยกัน
รู้ตัวอีกที ‘เวลา’ ที่เราไม่เคยเห็นเป็นตัวเป็นตน (เหมือนที่คุณยังไม่เคยเห็นผีหรือเอเลี่ยนตัวเป็นๆ) ก็กลายเป็น ‘สิ่งมีค่า’ ที่คอยกำหนดกิจวัตรประจำวันให้เราเต้นตามตั้งแต่เช้าจรดค่ำหรือดึกดื่น ว่าเวลาไหนเราควรทำอะไร
หากเราลองเปรียบเทียบตามหลักสากลว่า มนุษย์ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงต่อหนึ่งวันเท่ากัน
ในโลกทุนนิยม ‘เวลา’ ถูกหั่นแบ่งเพื่อซื้อ-ขายเหมือนเค้กก้อนใหญ่ หนึ่งชั่วโมงของดาราบางคนที่ไปยืนฉีกยิ้มบนเวทีงานอีเวนต์อาจมีมูลค่านับแสน เช่นเดียวกับหนึ่งชั่วโมงของนักธุรกิจใหญ่ระดับเจ้าสัวอาจมีมูลค่านับล้าน เหมือนคำที่วิชาเศรษฐศาสตร์มองว่า ‘เวลาเป็นเงินเป็นทอง’
ในโลกของการแข่งขัน มนุษย์จำนวนไม่น้อยแข่งกันขีดเส้นเวลาเพื่อกำหนดว่าจะต้อง ‘ทำอะไร’ หรือ ‘ไม่ทำอะไร’ เพราะมันอาจกำหนดผลลัพธ์บางอย่างที่ทำให้เราก้าวไปเหนือกว่าคู่แข่งในสิ่งที่ทำอยู่ เวลาที่ถูกแบ่งให้กับการฝึกฝนและพัฒนาตัวเองมากกว่าการพักผ่อนจึงจำเป็นและชอบธรรมอย่างยิ่ง
ในโลกของจิตวิญญาณ เวลาเป็นสิ่งมีค่าในการใช้ไปกับการไตร่ตรองบางสิ่งด้วยอารมณ์สงบ เพื่อบรรลุความหมายหรือความเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต มันจึงถูกแบ่งสันปันส่วนให้กับการทำสมาธิ ภาวนาสติ หรือฝึกจิต
เราจึงอยู่ในโลกที่เวลา 24 ชั่วโมง ถูกจับจ่ายไปในหลากหลายเหตุผล (เวลาไม่มีวันหมด มันดำรงอยู่เรื่อยมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่หากจะมีจุดสิ้นสุดของเวลาสำหรับคนคนหนึ่ง นั่นก็คงเป็นความตาย) และผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้เวลานั้น
เมื่อชีวิตหมุนวนอยู่ในวงเวียนของการทำทุกเวลาให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุด ไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะเกิดอาการเหนื่อย และพยายามสร้างแนวคิด Work Life Balance ให้ตนเอง (ซึ่งก็เป็นการเอาเวลามาขีดกำหนดอีกว่าควรบาลานซ์ระหว่างการทำงานและการพักอย่างไร) ผมซึ่งอยู่ในวัยทำงานก็ไม่ต่างกัน บ่อยครั้งต้องหัวหมุนกับตารางงานเวลาในแต่ละวัน ทั้งที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องทำอะไร หรือที่แทรกเข้ามาอย่างไม่ตั้งใจ เพื่อให้งานของตนเอง (และของคนอื่น) ลุล่วง ชีวิตวนเวียนเช่นนี้
บางครั้งยังไม่ทันหมดจากตารางเวลาหนึ่ง กลับต้องกังวลถึงตารางเวลาถัดไปที่ต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น หรือแม้กระทั่งหลังเลิกงาน สมองก็ยังไม่วายคิดถึงเวลาของกำหนดการงานต่างๆ ในวันถัดๆ ไปโดยอัตโนมัติ เดดไลน์งาน นัดหมายงาน หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ไม่ใช่งานก็ตาม
ชีวิตจึงถูกควบคุมด้วยไทม์ไลน์ของเวลาแห่งอดีตและอนาคต ทำให้นึกถึงหนึ่งในแนวทางทฤษฎีปรัชญาที่มองแนวคิดเรื่องเวลาว่า ‘มีแต่ปัจจุบันเท่านั้น อดีตและอนาคตเกิดจากการตีความของจิตใจมนุษย์’ ซึ่งสะท้อนว่าแนวคิดนี้ปฏิเสธการมีทิศทางของเวลา
เมื่อ ‘เวลา’ บังคับจิตใจเราให้ตีความถึงอดีต หรืออนาคตที่ไม่มีอยู่จริง มากกว่าปัจจุบัน สิ่งที่ตามมาคือความฟุ้งซ่านเกินเหตุที่ทำให้จิตใจเป็นทุกข์ เหนื่อยหน่าย อ่อนล้า โดยเฉพาะกับชีวิตสังคมมนุษย์ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วย ‘ตัวเร่ง’ ความคิดให้พุ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ
ดังนั้น บางครั้ง ‘เวลา’ ที่ได้ลืม ‘เวลา’ ว่าต้องทำอะไรบ้างที่ถูกกำหนดในชีวิตประจำวัน จึงทำให้ผมรู้สึกมีความสุขอย่างยิ่ง เหมือนสมองได้ล้าง คำว่า ‘เวลา’ ออกไปจนปลอดโปร่ง ไร้ความกังวล มีเพียงปัจจุบันขณะเท่านั้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงผมได้ลบกำหนดการทั้งหลายที่ถูกกำหนดด้วยกรอบของเวลาออกไปด้วย
และสิ่งนั้นมันนำมาซึ่งความรู้สึกชั่วขณะหนึ่งที่ผมชื่นชอบอย่างมาก นั่นคือ ‘อิสรภาพ’
เหมือนประโยคที่คนชอบพูดว่า ‘ทำอะไรบางอย่างเพลินจนลืมเวลา’ นั่นแหละความรู้สึกของอิสรภาพ
ชั่วขณะของอิสรภาพที่ว่านั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสถานการณ์ สำหรับผม มันมักโผล่มาตอนออกเดินทางท่องเที่ยวไปต่างสถานที่ ที่หลายคนมองว่ามันคือการหลบหนีจากชีวิตประจำวันที่เป็นรูทีนซึ่งถูกกำหนดด้วยกรอบของเวลา มันเป็นช่วงเวลาที่ผมตระหนักว่ากำลังถอยห่างออกจากงาน ความสัมพันธ์ อดีต อนาคต เหมือนปลดเปลื้องภาระทั้งหลายที่แบกไว้บนบ่าออกจนหมดสิ้น
หรือแม้กระทั่งช่วงหลังวิ่งเสร็จที่สมองปลอดโปร่ง
เช่นนั้นแล้ว ผมสรุปกับตัวเองว่า ความรู้สึกของอิสรภาพเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา เมื่อไรก็ตามที่เราเป็นอิสระจาก ‘เวลา’
เป็นช่วงเวลาที่ ‘เวลา’ ไม่ได้อยู่ขั้วตรงข้ามคอยกำหนดชีวิตเรา แต่เราต่างหากที่ตระหนักได้ว่า เวลานั้นอยู่ข้างเรา และเราเป็นผู้กำหนดควบคุมมัน
ผมเข้าใจดีว่าชีวิตในสังคมปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่จะได้สัมผัสห้วงความรู้สึกอิสรภาพนั้นบ่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ในเมืองหลวง โชคร้ายก็คือช่วงเวลาแห่งอิสรภาพนั้นแสนสั้น ไม่นานผมก็ต้องกลับไปสู่ชีวิตที่ถูกกำหนดด้วยกรอบเวลาในแต่ละวันเช่นเดิม
แต่อย่างน้อยที่สุด ผมก็มั่นใจได้ว่า ‘อิสรภาพ’ ก็เหมือน ‘เวลา’ มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง
เมื่อชั่วขณะที่มันอุตส่าห์โผล่มาทักทาย คว้าช่วงเวลานั้นไว้ให้มั่น สูดกลิ่นกักเก็บไว้ในใจให้เต็มอารมณ์ โอบกอดให้แน่น ราวกับคนรักที่เราไม่อยากให้จากไป
Tags: From The Desk, คุณค่า, ท้องฟ้า, Value of Time, TIME, เวลา, freedom, อิสรนิยม, ทุนนิยม