เส้นทางสู่ ‘ความสำเร็จ’ ของชีวิตอาจมีได้หลายรูปแบบ และการสอบเข้า ‘มหาวิทยาลัย’ คือหนึ่งในใบเบิกทางที่สำคัญของอนาคต จึงไม่แปลกที่ในแต่ละปีจะเห็น ‘นักเรียนมัธยมปลาย’ ต่างก้มหน้าก้มตาคร่ำเครียดเตรียมตัวอ่านหนังสือ บ้างก็ใช้วิธีจับกลุ่มกันติวข้อสอบ ส่วนครอบครัวไหนพอมีเงินก็ส่งลูก-หลานไปเรียนกับติวเตอร์ที่มีมากมายในตลาดการศึกษาไทย
ทั้งหมดต่างมุ่งสู่จุดประสงค์เดียวกัน นั่นคือเข้าสู่สนามประลองที่ฟาดฟันกันด้วยวิชาความรู้ ที่ในอดีตเรียกกันว่าระบบ ‘เอ็นทรานซ์’ แต่ด้วยปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอบมาแล้วหลากหลายแบบ จนในปัจจุบันเรียกสนามประลองเหล่านี้ว่า ‘TCAS66’
คำถามคือ TCAS66 คืออะไร และ TGAT/TPAT แตกต่างอย่างไรจากระบบการสอบในอดีต?
TCAS (Thai University Center Admission System) เป็นระบบที่ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ซับซ้อนในอดีต
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ลองมาย้อนดูการเปลี่ยนระบบการสอบคัดเลือกในประเทศไทย ซึ่งเปลี่ยนมาแล้วหลายรูปแบบ โดยเริ่มต้นในช่วงปี 2500 เป็นต้นมา การสอบเข้าใช้ระบบเอ็นทรานซ์ (Entrance) สอบครั้งเดียว เลือกคณะครั้งเดียว ต่อมาจึงมีการให้สอบ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้ทำคะแนนสอบได้มากขึ้น ถัดจากนั้นในปี 2549 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนไปใช้ระบบแอดมิชชัน (Admission) มีการเพิ่มระบบการสอบ O-NET คือการสอบขั้นพื้นฐาน 8 วิชา และ A-NET คือการสอบการศึกษาระดับชาติขั้นสูงเข้ามาเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากหลายมหาวิทยาลัยในขณะนั้นมองว่า การสอบ A-NET ไม่ได้มาตรฐานและไม่สามารถชี้วัดความรู้นักเรียนได้จริง จึงขอให้มีการยกเลิกการสอบดังกล่าว
ต่อมาในปี 2553-2560 มีการยกเลิกการสอบ A-NET เปลี่ยนเป็นระบบ GAT/PAT ซึ่ง GAT เป็นการสอบความถนัดทางภาษาทั่วไป โดยแบ่งเป็นภาษาอังกฤษและการสอบภาษาไทยเชื่อมโยง ส่วน PAT เป็นความถนัดวิชาชีพและวิชาการ 7 สาขาตามแต่ละวิชา แต่เนื่องจากมีนักเรียนจำนวนมากต้องการเข้าศึกษาต่อในสายแพทยศาสตร์ ทำให้ทางแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ก็มองว่าการสอบดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ความรู้ที่สามารถวัดนักเรียนได้จริง จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดการสอบ ‘7 วิชาสามัญ’ เกิดขึ้น แม้ว่าในภายหลังจะมีการเปลี่ยนอีกมากมาย เช่น เปลี่ยนจาก 7 วิชา เพิ่มเป็น 9 วิชา ลดวิชาที่ใช้ในการสอบ O-NET ลง และบางมหาวิทยาลัยมีการจัดสอบรับตรงด้วยตัวเองเกิดขึ้น และบางมหาวิทยาลัยยังมีข้อกำหนดว่าต้องมีคะแนนสอบยิบย่อยขึ้นมาอีก เช่น คะแนน IELTS, TOFEl, CU-TEP และ TU-GET
สรุปกันสักนิดในช่วงปีดังกล่าว นักเรียน ม.6 จะต้องสอบทั้งหมด 4 ครั้ง เป็นอย่างน้อย เพราะบางอย่างสามารถสอบได้มากกว่า 1 ครั้ง เช่น GAT
1. สอบ 9 วิชาสามัญ และการสอบ กสพท.
2. สนามสอบ GAT มี 2 วิชา คือภาษาอังกฤษและเชื่อมโยง
3. สนาม PAT แบ่งแยกย่อย 7 วิชา ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าสอบอะไรบ้างตามแต่ละที่มหาวิทยาลัยต้องการ
4. สนามสอบ O-NET เพื่อวัดความรู้วิชาพื้นฐาน
5. การสอบรับตรงที่แต่ละมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจัดขึ้น
6. การสอบภาษาอังกฤษแยกเพื่อนำคะแนนมาใช้ในเกณฑ์การคัดเลือกแต่ละคณะ
แน่นอนว่าการลงชิงชัยในสนามสอบที่มากมายขนาดนี้ทำให้นักเรียนเกิดความเครียดที่มากเกินไป ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบและการเดินทางไปสนามสอบต่างๆ จึงทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกิดขึ้น จึงมีการคิดระบบใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเรียกว่า TCAS
ระบบการสอบแบบ TCAS จัดสอบขึ้นครั้งแรกในปี 2561 เพื่อหวังแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า รวมถึงลดการสอบ GAT/PAT ให้เหลือเพียงครั้งเดียว และรวมวิธีการรับสมัครมหาลัยทั้งหมดเข้าด้วยกัน ให้เหลือเพียง 5 รอบ ประกอบด้วย
1. ยื่นด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ไม่มีการสอบข้อเขียน และให้สถาบันหรือมหาวิทยาลัยคัดเลือก
2. รับแบบโควตา (Quota) มีการจัดสอบข้อเขียน
3. รับตรงร่วมกันรวมทั้ง กสพท. เลือกได้ 4 สาขา โดยไม่มีลำดับ หมายความว่าอาจจะผ่านได้ทั้งหมด 4 อันดับ แล้วค่อยเลือกสาขาที่ต้องการ
4. การรับแบบแอดมิชชัน (Admission) เลือกได้ 4 สาขา โดยมีลำดับ
5. รับตรงแบบอิสระ ซึ่งบางแห่งเรียกว่ารอบเก็บตก คัดเลือกโดยสถาบันหรือมหาวิทยาลัยโดยตรง
แต่จนแล้วจนรอด ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะความต้องการในการแก้ปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ทางการศึกษาก็ไม่ได้จากไปไหน ซ้ำร้ายยังมีปัญหาตามมามากมายไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกสอบ O-NET โดยไม่แจ้งล่วงหน้าทำให้มีผลต่อคะแนนเกรดเฉลี่ย หรือการประกาศเปลี่ยนระบบที่ช้าเกินไปทำให้นักเรียนเตรียมตัวไม่ทัน
ในที่สุดก็ถึงคิวของ ‘TCAS66’ เป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้ต่างไปจากปีก่อนหน้า เพียงแต่ลดขั้นตอนการรับสมัครมหาวิทยาลัยให้เหลือเพียง 4 รอบเท่านั้น โดยรวมรับตรงและแอดมิชชันเข้าด้วยกัน รวมทั้งยกเลิกการสอบ GAT, PAT, O-NET และการสอบวิชาสามัญออกทั้งหมด และเปลี่ยนเป็น TGAT, TPAT และ A-Level แทน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของรายวิชาที่ใช้ในการสอบ อีกทั้งบางการสอบสามารถเลือกได้ว่าจะสอบโดยใช้ภาษาใดในการสอบ รวมถึงจะใช้กระดาษหรือคอมพิวเตอร์
TGAT (Thai General Aptitude Test) พัฒนามาจาก GAT โดยปรับเปลี่ยนให้เป็นการสอบเพื่อวัดสมรรถนะทั่วไป คะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. ทักษะภาษาอังกฤษ
2. การใช้เหตุผลเชิงปริมาณและการคิดอย่างมีตรรกะ และสมรรถนะในการทำงานในอนาคต
จะเห็นได้ว่า TGAT ตัวใหม่มีความซับซ้อนกว่า GAT ตัวเก่า โดยเฉพาะในหัวข้อ ‘สมรรถนะในการทำงานในอนาคต’ ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่าคืออะไรกันแน่ ทั้งนี้ทาง ทปอ. ให้ข้อมูลมาว่าข้อสอบในหมวดนี้จะครอบคลุมในเรื่อง การสร้างคุณค่าและวัฒนธรรม การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การบริหารจัดการอารมณ์ และการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม โดยชี้ว่าในส่วนนี้บางข้ออาจมีคำตอบได้หลายข้อโดยข้อที่ถูกต้องที่สุด จะได้คะแนนมากที่สุด ส่วนตัวเลือกอื่นๆก็จะได้คะแนนไล่ตามลำดับลงมา ซึ่งสร้างความซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
ทางด้าน TPAT ก็คล้ายคลึงกับการสอบ PAT ในอดีต เพียงแต่ลดการสอบลงจาก 7 ตัวให้เหลือเพียง 5 ตัวเท่านั้น เพื่อสะท้อนคะแนนที่ตรงกับความต้องการของแต่ละคณะในมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น โดยทาง ทปอ. ย้ำว่าเนื้อหาการสอบจะไม่เกินความรู้ในระดับ ม.ปลาย ประกอบด้วย
1. ความถนัดทางแพทยศาสตร์ ซึ่งนำการสอบ กสพท. มาอยู่ในนี้
2. ความถนัดทางวิศวกรรม
3. ความถนัดทางครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์
4. ความถนัดด้านสถาปัตยกรรม
5. ความถนัดด้านศิลปกรรม
สุดท้ายคือการสอบ A-Level (Applied Knowledge Level) หรือการวัดความรู้เชิงวิชาการ กล่าวง่ายๆ ว่าเป็นชื่อเรียกใหม่สำหรับ ‘วิชาสามัญ’ กลายเป็น A-Level แทน
ซึ่งคะแนนทั้งหมดต่างที่ความจำเป็นในการยื่นคะแนนในแต่ละรอบ เช่น หากจะยื่นรอบที่ 1 ยื่นด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ก็จำเป็นต้องใช้คะแนน GPAX (เกรดเฉลี่ยสะสม) รวมกับ TGAT และTPAT ดังนั้น อาจจะจำเป็นที่ต้องดูว่าการยื่นรอบนั้นต้องการคะแนนอะไรบ้าง
อาจเห็นได้ว่า ‘ระบบการสอบ’ ในประเทศไทยมีความซับซ้อนมากทีเดียว โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีการปรับเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง และนักเรียนมัธยมปลายในปีการศึกษานี้คงเป็นรุ่นแรกที่ได้ลองการสอบชนิดนี้ ในวันที่ 10-12 ธันวาคม 2565
อย่างไรก็ดี ด้าน ทปอ. เผยว่าในปีนี้มีผู้สมัครสอบ TGAT และ TPAT รวมกันมากกว่า 2.7 แสนคน โดยถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ ทปอ. จัดสอบมา เนื่องจาก ในปีนี้มีการจัดสอบที่เร็วขึ้นกว่าปี 2565 ถึง 3 เดือน ประกอบกับเป็นปีแรกที่พิจารณาให้ใช้คะแนน TGAT และ TPAT เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกในรอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน ซึ่งจากเดิมจะใช้แฟ้มสะสมผลงาน และ GPAX หรือผลการเรียนเฉลี่ยสะสมเท่านั้น สาเหตุที่เปลี่ยนเช่นนี้เนื่องจากในอดีตนักเรียนจะต้องไปสอบเพื่อวัดระดับความรู้ทางภาษาของตามแต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนด การใช้คะแนน TGAT และ TPAT ก็เพื่อลดภาระดังกล่าว อีกทั้งในปีนี้มีนักเรียนมัธยมปลายที่เข้าสอบเลือกสอบผ่านคอมพิวเตอร์กว่า 2.4 หมื่นคน ซึ่งสูงกว่าที่ทาง ทปอ. คาดไว้ถึง 8 เท่า ซึ่งทาง ทปอ. คาดว่าภายใน 5 ปี สามารถเปลี่ยนเป็นการสอบโดยผ่านคอมพิวเตอร์ได้ 100% ยกเว้นในพื้นที่ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้กระดาษคำตอบ
Tags: TCAS, นักเรียน, TCAS66, TGAT, TPAT