สุราแบล็คเลเบิ้ลในไทยขายดีที่สุดในโลก รถเมอร์เซเดสเบนซ์ขายดีเป็นอันดับ 4 ของโลก รถปิกอัพขายดีเป็นอันดับ 2 ของโลก Theirry Mugler ช็อปแบรนด์หรูจากอิตาลีย่านทองหล่อทำยอดขายได้ 2 ล้านบาทต่อวัน กระเป๋าหลุยวิตตองส์รุ่นขนมจีบเป็นไอเท็มยอดฮิตของนักศึกษาและสาวทำงาน การมีบ้านตากอากาศคือสิ่งแสดงชีวิตที่ดี และยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตคือดัชนีวัดความเท่
นั่นคือภาพของสังคมไทยในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ที่โลกสวยหรูดูงามเกินจริง
กระทั่งปี 2538 เหตุแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจทั่วเอเชีย ลามมาถึงปี 2539 และเมื่อล่วงเข้าปี 2540 ฟองสบู่พรายรุ้งก็ทำลายตัวเอง
เพื่อเอาตัวรอดในวันที่ไร้ปีกพยุง ข้าวของที่สะสมกลายเป็นสิ่งสมมติ รถเก๋งเปิดท้ายจอดเรียงกันในลาน สิ่งของประดับเกียรติประดามีถูกนำมาวางขายแลกเปลี่ยนกันเชยชมในราคาต่ำกว่ามูลค่าจนน่าใจหาย ‘ตลาดนัดคนเคยรวย’ เกิดขึ้นทั่วทุกมุมเมือง แม้แต่ครกก็ยังเปลี่ยนที่ทางจากครัวสู่โรงจำนำ
ภาพเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ใน ‘ตลาดนัดคนเคยรวย 2560’ ณ มิวเซียมสยาม ในวันเสาร์ที่ 29 เมษายนนี้ เพื่อกระตุกให้เรากลับมารำลึกถึงรสชาติอันแสบร้อนของต้มยำกุ้ง และเตือนตนให้เตรียมรับมือกับอนาคตที่ไม่อาจหยั่งรู้
เกิดอะไรขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540
ความเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชียเริ่มไกลกว่าฝัน เมื่อปี 2539 เปิดศักราชพร้อมสัญญาณร้าย ตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มตกต่ำ ดัชนีหุ้นล่วงหล่นจากระดับ 1,280 จุด เหลือเพียง 831 จุด การส่งออกที่เคยเติบโต 20 เปอร์เซ็นต์มาตลอดทศวรรษกลายเป็นเลข 0 สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นเท่าตัว เจ้าหนี้เงินกู้ต่างประเทศไม่ต่อสัญญาเงินกู้ เพราะไม่แน่ใจความสามารถในการชำระหนี้
การประกาศปิดสถาบันการเงิน 16 แห่งของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในปี 2540 สร้างความโกลาหลจนคนแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคาร ตามด้วยการโจมตีค่าเงินบาท และนำไปสู่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ 2 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทันที
ต้นปี 2541 เมื่อเงินบาทอ่อนค่าจาก 25 บาท เป็น 56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะล้มคะมำ ระบบธนาคารไม่ทำงาน ภาคการผลิตหยุดชะงัก คนตกงาน วลี ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ กลายเป็นประโยคฮิตของคนที่ตกอยู่ในสถานะลูกหนี้ การฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจของผู้ประกอบการ คือทางออกของภาวะหมดหนทางสู้ พลเมืองไทยทุกคนตกที่นั่งลูกหนี้ในสัดส่วนที่ไม่น้อยหน้ากัน
สิ่งไร้ค่าของมนุษย์ทองคำ
ในรอบสิบปีระหว่าง 2528-2538 ธนาคารโลกรายงานว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตสูงที่สุดในโลก สินค้าส่งออกขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักตลอดสิบปี เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาทั้งในรูปของการลงทุนโดยตรง การกู้ของเอกชนไทย และการเก็งกำไรในตลาดหุ้น เรามีมนุษย์พันธุ์พิเศษที่เรียกว่า ‘มนุษย์ทองคำ’ ทำงานในตลาดหุ้นแล้วได้รับโบนัสปีละ 36 หรือ 48 เดือน กันเป็นเรื่องปกติ
เศรษฐกิจไทยในยุคฟองสบู่นั้น ตลาดหุ้นเป็นแหล่งเงินทุนของนักทำกำไร และเป็นบ่อสร้างเศรษฐีใหม่ แต่เมื่อฟองสบู่แตก 1 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นต้องถอนตัวออกไปเนื่องจากขาดทุนอย่างหนัก มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยจากเดิมวันละ 6 พันล้านบาท ลดลงเหลือวันละ 700 ล้านบาท และหุ้นของบริษัทจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นสิ่งไร้ค่า แม้แต่ปาท่องโก๋หนึ่งตัวก็ยังแพงเสียกว่า
เช่นเดียวกับความล่มสลายของกลุ่มทุนนิยมนายธนาคาร ที่นายธนาคารเคยสามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจได้ผ่านการให้เงินกู้ เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งธนาคารพาณิชย์จึงโดนมรสุมหลายลูก ทั้งหนี้ที่เพิ่มขึ้นมหาศาลจากการลดค่าเงินบาท เกิดหนี้เสีย หรือ NPL ในการปล่อยกู้ที่มีการคอร์รัปชันในระบบพวกพ้อง สถาบันการเงินถูกปิด บวกกับมาตรการใหม่จากไอเอ็มเอฟกับการสำรองหนี้ด้วยมาตรฐานสากล ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีหนี้มหาศาล จนหลายธนาคารต้องถูกรัฐยึดกิจการและหายไปจากสารบบการเงินไทย
นับจากปี 2542 จากมูลค่าหนี้ทั้งหมด เราชำระเงินต้นไปเพียง 33.61 เปอร์เซ็นต์ หรือ 471,027 ล้านบาท ยังคงเหลือหนี้อีก 930,288 ล้านบาท
มาตรการของไอเอ็มเอฟ ที่ปลิดลมหายใจของภาคเศรษฐกิจ
ภายหลังเข้าโครงการกู้เงินกับไอเอ็มเอฟตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 ถึงมิถุนายน 2541 รัฐบาลได้เข้าตรึงอัตราดอกเบื้ยไว้ที่ระดับ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ภาคการผลิตไม่สามารถแบกรับภาระเอาไว้ได้อีก บวกกับการเปลี่ยนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ถูกระงับสินเชื่อกะทันหัน จนเกิดภาวะชะงักทุกภาคเศรษฐกิจ กว่านโยบายดอกเบี้ยสูงจะเปลี่ยนแปลงเมื่อปลายปี 2544 เศรษฐกิจหลายภาคส่วนก็ได้ล้มครืนไปแล้ว เหลือไว้ให้ดูต่างหน้าเพียงอาคารร้างของโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นอนุสรณ์เตือนความเผ็ดร้อนของต้มยำกุ้ง
เราแบกหนี้เอาไว้เท่าไรกัน
กระบวนการโอนหนี้เอกชนที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้งให้เป็นของรัฐ เป็นผลให้คนไทยทั้งประเทศมีหนี้ร่วมกันจำนวน 1,401,450 ล้านบาท นับจากปี 2542 ผ่านมา 18 ปี จากมูลค่าหนี้ทั้งหมด เราชำระเงินต้นไปเพียง 33.61 เปอร์เซ็นต์ หรือ 471,027 ล้านบาท ยังคงเหลือหนี้อีก 930,288 ล้านบาท จากจำนวนประชากรไทย 65,729,098 คนในเวลานี้ ไม่ว่าคุณจะมีเงินในบัญชีอยู่กี่ล้าน หรือจะมีรายได้ติดลบเมื่อเทียบกับรายจ่าย เราทุกคนเสมอภาคกันในการเป็นหนี้ นั่นคือคนละ 14,153 บาท
ผู้เหลือรอดคือผู้ปรับตัว
คนตกงานกันถ้วนหน้า คนเคยรวยกลายเป็นคนจนในชั่ววัน เครื่องบินส่วนตัวลำละ 6 ล้านกว่าบาทของนักธุรกิจคนดังถูกนำมาขายกลางตลาดนัด การ ‘กู้ชาติ’ ให้พ้นภัยเกิดขึ้นทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้วงการสงฆ์ แคมเปญ ‘Amazing Thailand’ ดึงเงินตราจากต่างชาติเข้ามาผ่านนักท่องเที่ยวต่างประเทศ นโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดใหม่ในสมัยนั้น อุดหนุนให้เกิดธุรกิจขนาดย่อมเพื่อดึงลมหายใจกลับมาใหม่ เซียนหุ้นที่เคยทำกำไรวันละ 10 ล้าน เริ่มธุรกิจบนฟุตปาทด้วยแซนด์วิชชิ้นละ 25 บาท จนขยับมาสู่ธุรกิจอาหารเช้าที่มีโลโก้รูปเงินบาทลอยตัวกับเงินกู้ไอเอ็มเอฟ เป็นเครื่องเตือนใจว่าวิกฤตในครั้งนั้นสร้างบาดแผลให้เขามากแค่ไหน บางคนเริ่มต้นกับชีวิตใหม่ด้วยต้นทุนน้อยนิดที่เหลือในมือ และหลายคนกลายเป็นนักธุรกิจรายย่อยหน้าใหม่ ที่อาศัยประสบการณ์จากตลาดนัดคนเคยรวยเป็นจุดเริ่มต้น
ผลพวงที่ทำให้เสือตัวที่ 5 กลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียอาจไม่ใช่บทเรียนที่น่าจดจำ และไม่ควรกลับไป ‘เลียน’ ซ้ำ แต่ในภาวะเศรษฐกิจปีปัจจุบัน ที่หลายภาคส่วนกำลังหายใจไม่ทั่วท้อง การรู้จักตัวเองและรู้วิธีที่จะก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนรวดเร็ว อาจเป็นหนทางหนึ่งที่เราจะรอดจากประสบการณ์เผ็ดร้อนในอดีต
Tags: ไอเอ็มเอฟ, ตลาดนัดคนเคยรวย, ลอยตัวค่าเงินบาท, วิกฤตต้มยำกุ้ง, เศรษฐกิจฟองสบู่, เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย, เศรษฐกิจไทย