ตั้งแต่อดีต สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาเนิ่นนานคือความบันเทิงในรูปแบบ ‘ละครผี’ ที่ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยก็ยังคงถูกสร้าง (รวมถึงรีเมก) อยู่สม่ำเสมอราวกับเป็นของคู่กัน ซึ่งทุกวันนี้ก็หาดูได้ไม่ยาก แม้จะเป็นละครเก่าแค่ไหน
แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในยุคก่อน ที่อินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหรือสตรีมมิงยังเป็นฝันอันห่างไกล เจ้ากล่องสี่เหลี่ยมอย่าง ‘โทรทัศน์’ ถือเป็นช่องทางความบันเทิงหลักที่เราจะได้ดูรายการต่างๆ แน่นอนว่ารวมถึงละครผี ซึ่งในอดีตต้องยอมรับว่าเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตต่างงัดความหลอนมาแข่งกันเสิร์ฟทางช่องทีวีหลักกันไม่เว้น
ผลจึงตกมาอยู่ที่คนดูอย่างเราๆ ทั้งที่ชื่นชอบการเสพละครผียามค่ำคืน และที่บังเอิญกดไปเจอ (หรือได้ฟังคนอื่นเล่า) จนจดจำความน่าสะพรึงของ ‘ผี’ ในเรื่องได้ติดตาจนนอนไม่หลับ บวกกับความที่เป็นยุคอินเทอร์เน็ตยังไม่บูม ยิ่งทำให้ ‘ความกลัว’ ของการดูละครยุคนั้นเข้มข้นมาก และทำให้ ‘ละครผี’ เหล่านี้กลายเป็นหนึ่งในจุดร่วมแห่งความทรงจำของผู้คนในยุคนั้น
แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่าความน่ากลัวที่ฉาบหน้า ไม่มากก็น้อย เนื้อเรื่องของละครผีเหล่านี้ต่างกำลังทำหน้าที่เผยปัญหาหรือสะท้อนประเด็นบางอย่างในสังคมเสมอ ตั้งแต่เรื่องครอบครัวไปจนถึงสเกลใหญ่อย่างสังคม ที่เมื่อสังเกตดีๆ เราจะพบว่า สิ่งเหล่านี้ยังคงซุกซ่อนอยู่ในสังคมไทยเสมอ ไม่ว่าเราจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยแล้วก็ตาม
The Momentum ร่วมฉลองวันฮัลโลวีนกับการรวบรวม ‘ละครผีไทย’ ที่ยังอยู่ในความทรงจำจาก ‘ยุคโทรทัศน์’ เฟื่องฟู เพื่อย้อนรำลึกความหลอนที่เราเคยมีด้วยกันอีกครั้ง ในค่ำคืนแห่ง ‘วันปล่อยผี’ นี้…
ตุ๊กตา (2531)
“หนูอยากกลับบ้าน… หนูอยากกลับบ้าน”
เสียงร้องของหญิงสาวที่ฟังดูเย็นยะเยือกชวนขนลุก จากบทเพลง ‘อยากกลับบ้านใช่ไหม’ จากละคร ‘ตุ๊กตา’ น่าจะเป็นความทรงจำ (แบบหลอนๆ) ของใครหลายคน โดยเฉพาะกับละครเวอร์ชันคลาสสิกในปี 2531 ที่ออกฉายทางโทรทัศน์ช่อง 7 และยังเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้
ละครตุ๊กตา ถูกสร้างจากบทประพันธ์ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนชาวไทยที่พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสตรีสารรายสัปดาห์ ปี 2530 ถูกดาราวิดีโอนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ นำแสดงโดย มยุรา เศวตศิลา, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, กัญญาลักษณ์ บำรุงรักษ์ และมารยาท คำนึงเนตร โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กหญิงที่ถูกจับมาค้าแรงงานให้ทำงานในโรงงานตุ๊กตาเถื่อนหรือโรงงานนรก และถูกกดขี่สารพัดจนล้มป่วย ก่อนที่จิตของเด็กหญิงจะถูกส่งไปสิงอยู่ในตุ๊กตาที่เธอเย็บ และมีครอบครัวหนึ่งซื้อตุ๊กตาตัวดังกล่าวไปให้ลูกสาว เรื่องราวน่าขนลุกจึงเริ่มต้นขึ้น พร้อมกับการตามหาความจริงผ่านตุ๊กตาตัวนั้น
แม้ในละครตุ๊กตาอาจจะไม่มีผีออกมาเลย แต่บรรยากาศและเนื้อเรื่องจากฝีมือของผู้เขียนบทและผู้กำกับ ก็ชวนให้คนที่ดูจากโทรทัศน์ขนลุกขนพองไปตามๆ กัน ถึงกับมีเรื่องเล่าว่าเคยมีคนดูเขียนจดหมายไปถามช่อง 7 ระหว่างละครออนแอร์ว่า ตุ๊กตาเป็นผีหรือไม่ จนทางช่องออกมาตอบว่า ต้องติดตามดูตอนจบเองจึงจะทราบ
นอกจากนี้ ตุ๊กตา เวอร์ชันปี 2531 ยังสะท้อนสังคมตามที่นวนิยายของวาณิชเขียนไว้ได้ดีมากๆ โดยเฉพาะเรื่องความไม่เท่าเทียมในสังคมและการกดขี่แรงงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจน่ากลัวกว่าผีจริงๆ เสียอีก หากมันปรากฎในสังคม
บ่วง (2535)
ในยุคแอนะล็อก บ่วง เวอร์ชันที่ พิมพ์ผกา เสียงสมบุญ แสดงเป็น ‘ผีอีแพง’ ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากถึงความสยดสยอง ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ ‘ความมืด’ ผสมผสานกับอารมณ์แบบล้านนา ฉากที่หลายคนจำได้จนถึงวันนี้ คือฉากที่พี่อีแพงขึ้นไปนั่งบนขื่อคอยหลอกหลอนทุกคน
ตามนวนิยายของ หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ หรือนามปากกาว่า จุลลดา ภักดีภูมินทร์ เป็นเรื่องของ ‘นางแพง’ วิญญาณที่ยังไม่ไปผุดไปเกิด คอยหลอกหลอนครอบครัวของ ‘ศามน’ และ ‘รัมภา’ ร่างปัจจุบันของอดีตคุณพระภักดีบทมาลย์ ชายหนุ่มที่อีแพงเคยหลงรัก และชื่นกลิ่น ภริยาของคุณพระภักดีบทมาลย์ คนที่อีแพงอาฆาตแค้นมากที่สุด
สำหรับอีแพงนั้น เป็นภาพสะท้อนของ ‘ไพร่’ และชนชั้นล่างที่ใช้มนตร์ดำเพื่อให้คุณพระภักดีบทมาลย์ หรือ ‘คุณหลวง’ หลงรัก แต่สุดท้ายเธอกลับถูกลงโทษจากการใช้มนตร์ดำ และกลายเป็นวิญญาณหลอกหลอนคุณหลวงจนข้ามมาอีกชาติ
บ่วง (2535) ถือเป็นผลงานสร้างชื่อของพิมพ์ผกา สำหรับผู้แสดงเป็นพระเอกได้แก่ เล็ก ไอศูรย์ กับการแสดงโดย สุพล วิเชียรฉาย ขณะที่เวอร์ชันปี 2555 ที่นำแสดงโดย ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน สะท้อนว่าเรื่องราวของบ่วงยังคง ‘ร่วมสมัย’ อยู่เสมอ
ศีรษะมาร (2536)
ศีรษะมาร มาจากนิยายของ จินตนา ภักดีชายแดน หรือนามปากกาว่า จินตวีร์ วิวัธน์ นักเขียนนิยายแนวสยองขวัญชื่อดัง สำหรับศีรษะมาร ถือเป็นนิยายที่ผสมผสานระหว่างเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องลึกลับ และเรื่องสยองขวัญ โดยพูดถึง ‘ปี๋’ หญิงสาวผู้มีพลังจิต ที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้ศีรษะและลำตัวขาดออกจากกัน นายแพทย์ปิติผู้เป็นลุงจึงช่วยปี๋ให้มีชีวิตกลับมา โดยกระบวนการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์กับพลังจิต ทำให้เธอมีรูปร่างที่เกือบจะเหมือนเดิม
วันหนึ่ง ปี๋แอบหนีออกไปข้างนอกและเจอกับโจร ปี๋จึงได้ถอดร่างออกเหลือแต่หัวเพื่อต่อสู้กับโจรและกัดคอโจรจนตาย ปี๋จึงได้รู้ว่า ‘เลือดมนุษย์’ เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างเธอได้
ศีรษะมาร สร้างเป็นละครช่อง 7 ครั้งแรกเมื่อปี 2537 สร้างขึ้นโดยดาราวิดีโอเช่นเดียวกัน โดย ชฎาพร รัตนากร รับบทเป็นปี๋ ภาณุเดช วัฒนสุชาติ รับบทเป็นนายแพทย์ปิติ และบิลลี่ โอแกน รับบทเป็นสักการ พระเอกของเรื่อง โดยเป็นละครสยองขวัญในความทรงจำของใครหลายๆ คน ทั้งด้วยบรรยากาศยุคทีวีจอตู้ และสเปเชียลเอฟเฟกต์แบบ Practical Effect ล้วนสร้างบรรยากาศให้ตัวละครของ ‘ปี๋’ ซึ่งมีแต่หัว ไม่มีร่างนั้น น่ากลัวมากยิ่งขึ้น
กระสือ (2537)
จุดเริ่มต้นของกระสือ เกิดจากข้อเขียนของนักประพันธ์อย่าง ‘เสถียรโกเสฐ’ โดยระบุว่า ผู้ที่เป็นกระสือมักจะเป็นผู้บูชามนตร์ดำ และนำมนตร์ดำไปใช้ในทางที่ผิด จนทำให้เหลือเพียงหัวกับไส้ลอยไปมา กระสือปรากฏเป็นครั้งแรกในหนังสือการ์ตูนของศรีสยาม ภายใต้ฝีมือการวาดของ ทวี วิษณุกร และปรากฏบนแผ่นฟิล์มครั้งแรกเมื่อปี 2516 โดยมี พิศมัย วิไลศักดิ์ รับบทเป็น ‘กระสือ’ คนแรก
สำหรับละครกระสือในความทรงจำของใครหลายคน ออกฉายเมื่อปี 2537 โดยอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของค่าย ‘ดาราวิดีโอ’ ซึ่งดูแลละครผีระดับตำนานของช่อง 7 หลายเรื่อง โดยเวอร์ชันนี้ถือเป็นละครทีวีเวอร์ชันที่ 3 ตามหลังเมื่อปี 2522 และ 2525 โดยมี ต้อม-รชนีกร พันธุ์มณี นำแสดงเป็นกระสือ และศตวรรษ ดุลยวิจิตร รับบทเป็นพระเอก
เนื้อเรื่องของกระสือ เป็นเรื่องราวของการสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่นจาก ‘คุณยาย’ ซึ่งรับบทโดยนักแสดงอาวุโส น้ำเงิน บุญหนัก กระสือที่มีแต่หัวและไส้จำเป็นต้องปิดเป็นความลับไม่ให้ชายคนรักรู้ แต่ในเวลาเดียวกัน การปรากฏกายของกระสือก็ทำให้ชาวบ้านต่างหวาดผวา
รัชนีกรเคยให้สัมภาษณ์ว่า การรับบทเป็นกระสือ จำเป็นต้องแบกไส้ที่ทำจากซิลิโคนหนักกว่า 1 กิโลกรัม โดยมีอยู่ซีนหนึ่ง กระสือต้องติดกับแหชาวบ้าน จนเธอต้องแบกน้ำหนักทั้งไส้ซิลิโคน แห และผ้าบลูสกรีน ทั้งยังต้องยกคอขึ้นลง ทำหัวส่ายไปมา จนทำให้เกือบเป็นลมในฉากนี้
ละครกระสือใช้เวลาในการถ่ายทำนานกว่า 3 เดือน ตามแบบฉบับของค่ายดาราวิดีโอ ที่ถ่ายไปด้วยออกอากาศไปด้วย แต่สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ เป็นละครที่น่ากลัวที่สุดในปี 2537
ดารายัณ (2539)
หนึ่งในละครสุดหลอนของยุคโทรทัศน์ไทย ที่บางคนยกให้น่ากลัวที่สุด และทำเอาคนนอนดึกไม่กล้ากดทีวีช่อง 5 ในยามค่ำคืนของยุคนั้นเลยทีเดียว เพราะกลัวว่าจะกดไปเจอภาพวิญญาณของดารายัณ ที่แสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช บนหน้าจอโทรทัศน์
ดารายัณเป็นเรื่องราวที่เริ่มจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทหารญี่ปุ่นได้ขนทองมาไว้ที่เกาะบายู เกาะเล็กๆ ทางภาคใต้ของไทย ซึ่งดารายัณเป็นลูกสาวของผู้ใหญ่บ้านบนเกาะที่ให้ความร่วมมือกับทหารญี่ปุ่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ กระทั่งพบรักกับหารญี่ปุ่น จนเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เธอต้องตายกลายเป็นผีเฮี้ยนเฝ้าสมบัติบนเกาะ และเรื่องราวทั้งหมดก็พาทุกคนมาพบเจอกันอีกครั้งในปัจจุบัน ที่ดารายัณจะจัดการกับแต่ละคนที่เคยทำไม่ดีกับเธอเอาไว้ในชาติที่แล้ว
ดารายัณเป็นละครผีที่ได้รับคำชื่นชมจากการดีไซน์ความน่ากลัวออกมาได้เป็นอย่างดี รวมถึงการแต่งกาย วิธีการพูด และการปรากฏกายในแต่ละครั้ง รวมถึงเนื้อเรื่องที่สะท้อนความอาฆาตพยาบาทของหญิงสาวที่ต้องทุกข์ทรมานจากคนที่กระทำ ทั้งยังพูดถึงเรื่องความรักและภักดีของหญิงสาวที่ซื่อสัตย์ต่อชายหนุ่มที่เธอรัก และเฝ้ารอการกลับมาอยู่ด้วยกัน
ปอบผีฟ้า (2540)
“ผีฟ้าเอย…”
อีกหนึ่งละครที่มีบรรยากาศของความหลอนแบบไทยๆ ที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนดู เรื่องราวของความรักที่กลายเป็นความอาฆาตแค้น หลังจากเจ้าหลวงภูคำ ได้พาแสงหล้า ซึ่งเป็นหญิงงามจากต่างเมืองกลับมาที่เมืองภูคำ จึงทำให้เจ้านางละอองทองซึ่งเป็นชายาของพระองค์ไม่พอพระทัย จึงเกิดเป็นความริษยาอาฆาต และการเข้าป่าบูชาขอผีเจ้าให้บันดาลอำนาจแก่ตน แต่กลับต้องคำสาปให้กลายเป็นทายาทที่ต้องรับใช้ปอบผีเจ้าตลอดไป เพื่อแลกกับการเป็นอมตะ
ปอบผีฟ้า ถือเป็นละครแจ้งเกิดของนางเอกดังอย่าง นุ่น-วรนุช และมีนักแสดงอีกมากมาย อาทิ นุติ เขมะโยธิน, สุภาภรณ์ คำนวณศิลป์, อนันต์ บุนนาค และหยาดทิพย์ ราชปาล ซึ่งทำให้ปอบผีฟ้าเวอร์ชันนี้กลายเป็นที่จดจำ รวมถึงการเขียนบท องค์ประกอบศิลป์ และเพลงประกอบ ที่ทำให้มวลรวมของเรื่องดู ‘สนุก’ และ ‘น่ากลัว’ ในเวลาเดียวกัน
สุสานคนเป็น (2545)
สุสานคนเป็น ถือเป็นละครไทยอีกเรื่องที่มี ‘ผี’ ตราตรึงมากที่สุดกับบท ‘คุณนายลั่นทม’ ซึ่งแสดงโดย แอน-สิเรียม
ละครเรื่องนี้เล่าถึง ลั่นทม เศรษฐีนีเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียงและร่ำรวย แต่มีโรคประจำตัวที่แปลกประหลาด คืออาการแน่นิ่งไม่หายใจ ทั้งที่รู้สึกตัวดีทุกอย่าง กระทั่งวันหนึ่งที่เธอประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ แม้ร่างกายไม่มีบาดแผล แต่ก็แน่นิ่งไม่เคลื่อนไหวใดๆ รวมถึงไม่มีลมหายใจ แพทย์ลงความเห็นว่าเธอตายแล้ว ยกเว้นอุษา หลานสาวที่ยืนยันว่าลั่นทมยังไม่ตาย เพราะสัมผัสบางอย่างได้
เรื่องเกิดขึ้นเพราะ ชีพ (นำแสดงโดย บิลลี่ โอแกน) กลับรู้สึกยินดีที่ภรรยาตนตาย เพราะจะได้ไปอยู่กินกับเมียลับ รสสุคนธ์ อย่างเปิดเผย รวมถึงจะได้ครอบครองทรัพย์สมบัติของลั่นทมทั้งหมด ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตามหลอกหลอนสามีและเมียน้อยให้ขวัญกระเจิง เพราะไม่อยากให้ได้สมบัติ!
นอกจากเรื่องความแค้น ความรัก และการหักหลัง ที่สะท้อนรูปแบบของละครไทยแล้ว อย่างที่กล่าวไปว่า การออกแบบ ‘ผีลั่นทม’ ทั้งการเมกอัปผีให้มีใบหน้าซีดขาว วงรอบดวงตาและปากเป็นสีดำ รวมถึงทรงผมและการแต่งกาย ที่ดูสมกับเป็น ‘คุณนาย’ มากๆ ก็ทำให้ผีลั่นทมกลายเป็นที่จดจำ (รวมถึงถูกทำเป็นมีมทั้งในแง่การแต่งกาย และเรื่องของการตามหลอกหลอนเมียน้อยหลายครั้งหลายครา) ของคอละครผีไทยในยุคโทรทัศน์อย่างมาก
Tags: ผี, Halloween, ละครผีไทย, Thai Horror Drama, ละครผีไทยยุคโทรทัศน์