ในที่สุด อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเทสลามอเตอร์ (Tesla, Inc.) และบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ก็สามารถปิดดีลซื้อทวิตเตอร์ (Twitter) ได้สำเร็จด้วยมูลค่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท) หลังจากมัสก์ทวีตข้อความว่า ต้องการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มดังกล่าวมานานเกือบหนึ่งปี
สำนักข่าวเอบีซีนิวส์ (abc News) อธิบาย ‘กลยุทธ์’ ที่มัสก์ใช้เพื่อครอบครองทวิตเตอร์ว่า เริ่มจากการซื้อหุ้นของแพลตฟอร์มนี้ทีละนิด ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2022 จนกระทั่งมีหุ้นในมือราว 5% ภายในกลางเดือนมีนาคม 2022
26 มีนาคม 2022 – มัสก์ทวีตข้อความในบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวว่า เขาคิดไม่ตกว่าจะสร้างโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มชนิดไหนมาเป็นทางเลือกนอกจากทวิตเตอร์ เนื่องด้วยทวิตเตอร์มีปัญหาเรื่องการจำกัด ‘เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น’
จากนั้น มัสก์เข้าไปเจรจากับผู้บริหารของแพลตฟอร์มดังกล่าว หนึ่งในนั้น คือ แจ็ก ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ผู้ร่วมก่อตั้งและเพื่อนของเขา
หนึ่งวันถัดมา มัสก์แจ้งให้ผู้บริหารทวิตเตอร์ทราบว่า เขามีหุ้นของบริษัทอยู่ในมือจำนวนหนึ่ง และเริ่มหาทางเข้าไปเจรจากับฝ่ายบริหารเพื่อขอเข้าไปนั่งในบอร์ด
4 เมษายน 2022 – หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ออกมาเปิดเผยว่า มัสก์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทวิตเตอร์ ‘อย่างรวดเร็ว’ โดยเขาถือหุ้น 9% ของทั้งบริษัท หรือกว่า 73.5 ล้านหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท) ในวันเดียวกัน เขาตั้งโพลในบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวว่า “อยากให้ทวิตเตอร์มีปุ่มแก้ไขหรือเปล่า” จนสื่อหลายสำนักกล่าวถึง
วันถัดมา ปารัก อักราวัล (Parag Agrawal) ผู้บริหารสูงสุดเชิญมัสก์ไปนั่งในคณะผู้บริหารทวิตเตอร์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ถือหุ้นเกิน 14.9%
9 เมษายน 2022 – ความสัมพันธ์ระหว่างอักราวัลกับมัสก์ เริ่มระหองระแหงหลังจากมัสก์ทวีตข้อความว่า “ทวิตเตอร์กำลังจะตายหรือเปล่า” จนอักราวัลส่งข้อความไปหาเขาว่า “คำวิจารณ์แบบนั้นมันไม่ช่วยให้บริษัทดีขึ้นสักนิด” มัสก์จึงโต้ว่า “เสียเวลา เดี๋ยวจะทำเรื่องขอซื้อทวิตเตอร์”
11 เมษายน 2022 – อักราวัลประกาศว่า มัสก์จะไม่เข้ามานั่งในบอร์ดบริหารอีกแล้ว
14 เมษายน 2022 – ทวิตเตอร์เปิดเผยว่า มัสก์ทำหนังสือชี้ชวนขอซื้อกิจการด้วยเงิน 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท)
15 เมษายน 2022 – บอร์ดบริหารทวิตเตอร์พยายามทำให้ความต้องการ ‘ครอบงำ’ กิจการของมัสก์ยากขึ้น ด้วยการทำให้บริษัทมีต้นทุนสูงขึ้น ผ่านการออกหุ้นเพิ่มเติมในราคาที่ถูกลงและขายให้กับนักลงทุนรายอื่น
21 เมษายน 2022 – มัสก์รวมเงินกว่า 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท) เพื่อขอเข้าซื้อกิจการ ทำให้ในตอนนี้ บอร์ดบริหารของทวิตเตอร์อยู่ในสภาวะบีบบังคับให้ต้องเข้าเจรจา
25 เมษายน 2022 – มัสก์ ‘บรรลุข้อตกลง’ ขอซื้อทวิตเตอร์ด้วยราคาตอนต้นที่เขาเสนอเมื่อ 14 เมษายน 2022
29 เมษายน 2022 – มัสก์ขายหุ้นมูลค่าประมาณ 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท) ให้กับบริษัทเทสลามอเตอร์ เพื่อช่วยเป็นเงินทุนให้ทวิตเตอร์
5 พฤษภาคม 2022 – มัสก์พยายามขอซื้อหุ้นของทวิตเตอร์เพิ่มอีกราว 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท) จากผู้ถือหุ้นหลากหลายกลุ่ม
10 พฤษภาคม 2022 – มัสก์เริ่มเผยอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาอยากเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ คือเขาต้องการยกเลิกการแบนบัญชีผู้ใช้ของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ทรัมป์ทวีตระดมผู้สนับสนุนให้เข้าไปก่อการจลาจล ณ สภาคองเกรส สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 โดยมัสก์ระบุว่าการแบนทรัมป์ “เป็นการตัดสินใจที่แย่และโง่มากที่สุด”
13 พฤษภาคม 2022 – มัสก์ประกาศยุติแผนซื้อทวิตเตอร์ลงชั่วคราว เพราะเขาต้องการหาจำนวนบัญชีผู้ใช้แบบสแป และบัญชีผู้ใช้ปลอมทั้งหมดให้ได้ก่อน
ประกาศดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นทวิตเตอร์ร่วงลง ในขณะที่ราคาหุ้นบริษัทเทสลามอเตอร์พุ่งกลับขึ้นมาเป็นบวกอย่างรวดเร็ว
6 มิถุนายน 2022 – มัสก์ขู่ว่าจะยกเลิกดีลเข้าซื้อทวิตเตอร์ตามที่ตกลงไว้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน โดยอ้างว่าทวิตเตอร์ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลสแปมและบัญชีผู้ใช้ปลอม
8 กรกฎาคม 2022 – มัสก์ย้ำว่าจะยกเลิกดีลดังกล่าวหลังจากที่บริษัทไม่ส่งข้อมูลให้
12 กรกฎาคม 2022 – ทวิตเตอร์ฟ้องเพื่อบังคับให้มัสก์จ่ายเงินซื้อกิจการตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 25 เมษายน และไม่นานจากนั้น มัสก์ก็ฟ้องกลับ
19 กรกฎาคม 2022 – ผู้พิพากษาของศาลของมลรัฐเดลาแวร์ (Delaware) ระบุว่า คดีของมัสก์และทวิตเตอร์จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในเดือนตุลาคม 2022
23 สิงหาคม 2022 – เพเทอร์ มัดจ์ แซตโก (Peiter Mudge Zatko) อดีตหัวหน้าทีมรักษาความปลอดภัยของทวิตเตอร์ ออกมายอมรับว่า ระบบภายในของทวิตเตอร์มีช่องโหว่จำนวนมาก การรักษาความปลอดภัยระบบไซเบอร์ต่ำ และเจ้าหน้าที่เพิกเฉยต่อการตรวจสอบบัญชีผู้ใช้ปลอม
ต่อมา มัสก์จึงอ้างเหตุผลดังกล่าวเพื่อล้มดีลเข้าซื้อทวิตเตอร์
5 ตุลาคม 2022 – ผ่านมาราว 2 เดือน มัสก์ระบุว่าจะดำเนินการซื้อทวิตเตอร์ตามแผนเดิม ด้านบอร์ดบริหารระบุ “จะปิดดีลทันทีเมื่อได้รับเงิน”
6 ตุลาคม 2022 – ผู้พิพากษาของศาลรัฐเดลาแวร์เลื่อนพิจารณาคดีออกไป จากเดิมวันที่ 17 ตุลาคม เป็นเดือนพฤศจิกายน 2022 และให้เวลาทั้ง 2 ฝ่ายเจรจากันจนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2022
20 ตุลาคม 2022 – สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) รายงานว่า มัสก์ให้ข้อมูลกับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนกับทวิตเตอร์ในอนาคตว่า เขาจะปลดพนักงาน 75% ของพนักงานทั้งหมด 7,500 คน
26 ตุลาคม 2022 – มัสก์ทวีตวิดีโอของตัวเองกำลังเดินเข้าไปในสำนักงานใหญ่ทวิตเตอร์ ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ พร้อมถือ ‘ซิงก์ล้างจาน’ คล้ายเป็นสัญลักษณ์ว่าดีลเข้าซื้อทวิตเตอร์กำลัง ‘Sync In’ หรือกำลังเป็นไปด้วยดี
ล่าสุด 27 ตุลาคม 2022 – มัสก์เข้าควบคุมทวิตเตอร์และปลดผู้บริหารสูงสุด หัวหน้าฝ่ายการเงิน และที่ปรึกษาทั่วไปออก พร้อมทวีตว่า “ทวิตเตอร์จะไม่เป็นนรกอีกต่อไป”
หลังจากใช้เวลาหลายเดือน ตั้งแต่มกราคมจนกระทั่งตุลาคม 2022 มัสก์ก็ ‘ครอบงำ’ ทวิตเตอร์ได้สำเร็จ วันนี้ (28 ตุลาคม 2022) สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) ระบุว่าหลังจากนี้ มัสก์อาจจะ ‘ปฏิรูป’ ทวิตเตอร์ใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. ทำให้ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากที่สุด – มัสก์ระบุว่า เขาจะยกเลิกระบบเซนเซอร์ทั้งหมดที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด รวมถึงยกเลิกการแบนนักการเมืองอย่างทรัมป์ด้วย
2. ลดงบประมาณ – ตามที่ระบุไปตอนต้นว่า มัสก์จะปลดพนักงานราว 75% ของพนักงานทั้งหมด 7,500 คน ประกอบกับในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เขากล่าวกับพนักงานทวิตเตอร์ว่า “สุขภาพการเงินของบริษัทต้องดีกว่านี้ ตอนนี้แย่มาก ต้นทุนมากกว่ากำไรแล้ว”
3. สร้าง ‘Everything App’ – มัสก์ทวีตผ่านบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวว่า การเข้าซื้อทวิตเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของการเร่งสร้าง ‘X’ ซึ่งเขาขยายความว่าคือ ‘Everything App’ หรือแอปพลิเคชันสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ทว่าเขายังไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมมากนัก
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่า มัสก์อาจได้แนวคิดการสร้างแอปพลิเคชันดังกล่าวมาจากประเทศจีน เนื่องจากในการประชุมกับคณะทำงานของทวิตเตอร์ในเดือนมิถุนายน เขาแสดงความคิดเห็นว่า ทวิตเตอร์ควรพัฒนาระบบให้ทัดเทียมกับ ‘วีแชต’ (WeChat) แอปพลิเคชันสำหรับพูดคุย พบปะเพื่อนฝูง และจ่ายเงินของจีน
มัสก์ระบุในการประชุมครั้งนั้นว่า “ถ้าเราสามารถทำให้ทวิตเตอร์เป็นแบบนั้นได้ จะเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่”
4. เพิ่มกำไรให้บริษัท – หลังจากเข้าซื้อกิจการสำเร็จ มัสก์ระบุว่าต้องการทำกำไรจากทวิตเตอร์เป็น 5 เท่า หรือประมาณ 2.6 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (9.9 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2028
5. จัดการบัญชีผู้ใช้แบบสแปมและบัญชีผู้ใช้งานปลอม – มัสก์ระบุว่า ระบบทวิตเตอร์มีบัญชีผู้ใช้แบบสแปม หรือบัญชีผู้ใช้ที่ส่งข้อมูลที่ผู้รับสารไม่ต้องการจำนวนมาก บัญชีดังกล่าวสร้างความรำคาญให้ผู้ใช้งาน รวมทั้งยังมีบัญชีผู้ใช้ที่ไม่ตรงกับตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้งานด้วย
มัสก์ระบุว่า “ผมต้องการให้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่มีแต่คนจริงๆ เท่านั้น”
6. แก้ปัญหาที่ได้รับจาก Whistleblower (ผู้ที่แจ้งเบาะแส) มากขึ้น – จากกรณีที่ เพเทอร์ มัดจ์ แซตโก อดีตหัวหน้าทีมรักษาความปลอดภัยของทวิตเตอร์ ออกมายอมรับว่า ระบบหลังบ้านของทวิตเตอร์มีช่องโหว่จำนวนมาก และมัสก์ก็พยายามใช้ข้อโต้แย้งดังกล่าวในการพยายามล้มดีลกับทวิตเตอร์ครั้งแรก
ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมองว่ามัสก์อาจเห็นความสำคัญและให้ความสำคัญกับ Whistleblower มากขึ้น
ที่มา
https://abcnews.go.com/Technology/wireStory/timeline-billionaire-elon-musks-bid-control-twitter-92222989
https://www.theguardian.com/technology/2022/oct/28/elon-musk-twitter-takeover-complete-what-he-might-do-happens-next-deal-free-speech-private-bots
https://www.nytimes.com/2022/05/06/technology/elon-musk-twitter-pitch-deck.html
Tags: อีลอน มัสก์, Elon Musk, ทวิตเตอร์