จากกรณีผู้ประกอบการสร้างบ้านเพื่อขายให้กำลังพล 2 ราย พร้อม ไพศาล เรืองฤทธิ์ ทนายความ ยื่นเรื่องขอให้กระทรวงยุติธรรมคุ้มครองวันนี้ (18 ตุลาคม 2565) เนื่องจากมีผู้ประกอบการ 2 ราย ทราบความลับเกี่ยวกับการกู้เงินจากกรมสวัสดิการกองทัพบก ในการขายบ้านให้ทหารชั้นผู้น้อยว่า กรมสวัสดิการฯ หักเงินในอัตรา 5% จากผู้กู้อย่างผิดกฎหมาย และพวกเขายังถูกทหารจากกองทัพบกขู่ให้หยุดเผยแพร่เรื่องดังกล่าว

ว่ากันว่าระบบการกู้เงินจากกรมสวัสดิการทหารบก เพื่อขายบ้านให้ทหารดังกล่าวมีความไม่ชอบมาพากล และเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อปี 2563 และยังเป็นชนวนค้างคา ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาอาจมีนายทหารที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการนี้กว่า 400 ราย The Momentum สรุปข้อมูลเบื้องต้นได้ดังนี้

1

ปกติแล้ว หากกำลังพลต้องการซื้อที่อยู่อาศัยกับผู้ประกอบการสร้างบ้าน ต้องทำเรื่องกู้ไปที่ ‘กรมสวัสดิการทหารบก’ จากนั้นกรมสวัสดิการฯ จะหัก ‘ค่าธรรมเนียมกองทัพบก’ ในอัตรา 5% นอกจากนี้ ในส่วนที่ 2 ผู้ประกอบการสร้างบ้านจะได้รับเงินหลังจากหักค่าธรรมเนียมแล้ว และผู้ประกอบการต้องจ่ายคืนให้ทหารผู้กู้ราว 4 แสนบาท เพื่อเป็นทุนสำหรับตกแต่งบ้าน ท้ายที่สุด เงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายทั้งสองจึงเป็นเงินสุทธิในการสร้างบ้าน

ตัวอย่างเช่น กำลังพลมีสิทธิกู้เงินเพื่อซื้อบ้านในโครงการสูงสุดจำนวน 1.5 ล้านบาท โดยในเงินดังกล่าวต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกองทัพบก 5% หรือ 7.5 หมื่นบาท ให้กรมสวัสดิการทหารบก หลังจากนั้น ผู้ประกอบการสร้างบ้านจะได้รับเงินหลังจากหักค่าธรรมเนียมแล้ว และให้ทหารผู้กู้ประมาณ 4 แสนบาทเป็นเงินตกแต่งบ้าน

2

อย่างไรก็ตาม ไพศาล เรืองฤทธิ์ พร้อมกับผู้ประกอบการสร้างบ้านพักสวัสดิการทหารบก 2 ราย เปิดเผยว่า จากการร้องเรียนหลายครั้งพบว่า กองทัพบกให้ข้อมูลว่าไม่มีระเบียบจัดเก็บค่าธรรมเนียม 5% ดังกล่าว ทั้งหมดเป็นการหักเงิน ‘เข้ากระเป๋า’ นายทหารภายในกรมสวัสดิการฯ คนหนึ่งเท่านั้น และบางคนอาจเป็นนายทหารในระดับ ‘นายพล’

หนึ่งในผู้ประกอบการให้สัมภาษณ์ว่า “พี่โดนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 5% พี่จ่ายไปแล้วทุกหลัง ถ้าไม่จ่ายให้กองทัพบก ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้ รวมทั้งยังต้องจ่ายเงินค่าตกแต่งบ้านให้ทหารผู้กู้ด้วย ทั้งหมดคือภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ นอกจากค่าสร้างบ้าน”

และหลายครั้งเป็นการเก็บเงินไว้ล่วงหน้า บางครั้งอาจเกิน 5% และราคาบ้าน 1.5 ล้านบาท อาจโดนเรียกเก็บเงินถึง 1.25 แสนบาท

3

เหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นกับกรณีกราดยิงที่โคราชในปี 2563 จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ผู้ก่อเหตุกราดยิง กู้เงินจากกรมสวัสดิการฯ เพื่อซื้อบ้านในโครงการจำนวน 1.5 ล้านบาท ในโครงการของ อนงค์ มิตรจันทร์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์วัย 63 ปี

ตามการตกลงขั้นต้น ผู้ก่อเหตุต้องได้รับเงินคืนราว 4 แสนบาทสำหรับตกแต่งบ้าน ทว่าเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ผู้ก่อเหตุกลับไม่ได้รับเงินจำนวนนั้นจากอนงค์ ด้วยความกดดันและไม่พอใจจึงตัดสินใจก่อเหตุกราดยิงโดยมุ่งเป้าไปที่อนงค์ จนท้ายที่สุด นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คนดังกล่าวเสียชีวิต โดยมีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า “ร่ำรวยจากการโกง การเอาเปรียบคนอื่น มันคิดว่ามันจะเอาเงินไปใช้ในนรกได้รึไง” “ยังไงก็หนีความตายไม่พ้นทุกคน” และ “ยิง 3 ศพ เพื่อล้างแค้น นอกนั้นป้องกันตัว”

จ่าสิบเอกจักรพันธ์ก่อเหตุยิงตั้งแต่บ่ายวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถึงช่วงเช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ตอนแรกเขาลั่นไกสังหาร พันเอก อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ ผู้บังคับบัญชา และต่อด้วยอนงค์ ซึ่งเป็นแม่ยายของพันเอกอนันต์ฐโรจน์ จากนั้นจึงเดินทางไปที่วัดป่าศรัทธารวมและห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ท้ายที่สุดมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวประมาณ 30 ราย

หลังเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา มีความพยายามจาก พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ในการจัดระเบียบเรื่องสวัสดิการทหารบกใหม่ แต่หลังจากผ่านไปได้ระยะหนึ่ง เรื่องดังกล่าวก็เงียบไป

4

จากคำให้การของไพศาลและผู้ประกอบการสร้างบ้านทั้ง 2 รายพบว่า ปัจจุบันมีทหารที่ประสบชะตากรรมคล้ายกับผู้ก่อเหตุที่นครราชสีมาอีกประมาณ 400 คน หากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่รีบจัดการปัญหาดังกล่าว อาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

อย่างไรก็ตาม พลโท นิรันดร ศรีคชา รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะโฆษกกองทัพบก ระบุเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ กองทัพบกอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และย้ำว่ากรณีทั้งหมดเกิดขึ้นนานแล้ว อีกทั้งยังไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา

ส่วนว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คดีนี้จำเป็นต้องสอบสวนเส้นทางการเงินทั้งหมด 2 ส่วน คือดูว่าเงินค่าธรรมเนียมกองทัพบก 5% และเงินทอนส่วนต่างเพื่อตกแต่งบ้านอีกราว 4 แสนบาท อยู่ที่กลุ่มบุคคลใดบ้าง

Tags: , , ,