จากกรณีที่กลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) หรือกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน 24 ประเทศ ประกอบด้วย 14 ชาติของ โอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries: OPEC) ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นหัวเรือใหญ่ และสมาชิกที่ไม่ใช่โอเปกอีก 10 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือรัสเซีย ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ความต้องการขายน้ำมันทั่วโลกลดลง ส่งผลให้ภาพรวมตลาดค้าน้ำมันดิบอยู่ในสภาวะตึงตัว และราคาพุ่งสูงขึ้นตามกลไกตลาด ในขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยกับการลดกำลังการผลิตดังกล่าว

ว่ากันว่าการปรับกลไกตลาดครั้งนี้จนทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศใช้น้ำมันดิบระดับต้นๆ ของโลก และอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อความนิยมของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

วันนี้ (12 ตุลาคม 2022) สำนักข่าวอัลจาซีรา (Aljazeera) รายงานถ้อยแถลงของไบเดนว่าจะ ‘ประเมิน’ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุฯ ในฐานะประเทศผู้นำกลุ่มค้าน้ำมันรายใหญ่ ซึ่งมีอำนาจกำหนดชะตากรรมของตลาดน้ำมันโลกอีกครั้ง

เมื่อวานนี้ เนด ไพรซ์ (Ned Price) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวย้ำอีกว่า สหรัฐฯ กําลัง ‘ทบทวน’ ความสัมพันธ์กับซาอุฯ ผ่านการปรึกษาหารือกับฝ่ายนิติบัญญัติในกรุงวอชิงตันและพันธมิตรต่างประเทศ

“สหรัฐฯ กำลังทบทวนว่าขณะนี้ความสัมพันธ์ของเรากับซาอุฯ อยู่ในขั้นไหน และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งพูดคุยและถามความเห็นจากทุกฝ่าย”

เขากล่าวต่อว่าก่อนหน้านี้ ไบเดนเคยกล่าวว่าสหรัฐฯ ควร ‘ปรับเปลี่ยน’ ความสัมพันธ์กับซาอุฯ ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ซึ่งแนวคิดการปรับเปลี่ยนดังกล่าวมาจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุฯ อย่างที่กล่าวมา

“หลักคิดของสหรัฐฯ คือเราจะมองว่าความสัมพันธ์ในลักษณะใดที่เป็นผลประโยชน์กับประเทศมากที่สุด และความสัมพันธ์กับซาอุฯ ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในลักษณะทวิภาคีที่สนับสนุนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อีกต่อไป”

นักวิชาการในประเทศกลุ่มโอเปกส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า การควบคุมการผลิตน้ำมันครั้งนี้เป็นเพียงความต้องการบังคับให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และสร้างผลกำไรให้รัสเซียในฐานะหนึ่งในสมาชิกโอเปกพลัส เพื่อนำเงินไปสนับสนุนสงครามในยูเครน เพราะขณะนี้รัสเซียถูกคว่ำบาตรจากประเทศพันธมิตรตะวันตก

ไพรซ์กล่าวหาโอเปกพลัสว่าให้การสนับสนุนสงครามรัสเซีย-ยูเครน และต่อต้านผลประโยชน์สาธารณะของชาวอเมริกัน

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ซาอุฯ ระบุว่า การลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเพียงความต้องการทำให้ตลาดค้าน้ำมันทั่วโลกเข้าสู่สภาวะ ‘ปกติ’ และมี ‘เสถียรภาพ’ เท่านั้น ไม่ใช่ความต้องการปั่นราคาหรือหากำไร เพราะขณะนี้ ทั้งโลกกำลังจะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับความท้าทายจากดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้นจากคำสั่งธนาคารกลาง

ผู้สนับสนุนแนวคิดของซาอุฯ จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุฯ เป็นความสัมพันธ์แบบได้ประโยชน์ร่วมกัน มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว

จอห์น เคอร์บี้ (John Kirby) โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติทําเนียบขาวกล่าวกับสำนักข่าว CNN ว่า “ไบเดนเต็มใจประเมินความสัมพันธ์กับซาอุฯ ใหม่อีกครั้ง”

เมื่อวานนี้ ไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอุด (Faisal Bin Farhan Al Saud) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุฯ กล่าวว่า การตัดสินใจของโอเปกพลัสล้วนเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น ทั้งหมดเป็นข้อตกลงเอกฉันท์ของสมาชิก และยกย่องความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ว่าเป็น ‘ความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์’

“ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดทางการทหาร ที่ต้องการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคนี้”

ว่ากันว่าความตึงเครียดของทั้ง 2 ประเทศเกิดขึ้น 3 เดือนหลังจากไบเดนเยือนซาอุฯ เพื่อพบกับผู้นําระดับสูง หนึ่งในนั้นคือ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Crown Prince Mohammed Bin Salman)

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) วิเคราะห์ ‘ความเป็นไปได้’ ของการลดการผลิตน้ำมันว่ามี 4 ประการคือ

1. น้ำมันกับความมั่นคง – ว่ากันว่าสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนทหารในการปกป้องราชอาณาจักร แลกกับการที่ซาอุฯ เป็นแหล่งน้ำมันที่เชื่อถือให้สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม คณะทำงานชาวซาอุฯ จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เริ่มจะเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘ไม่เท่าเทียม’

สหรัฐฯ ไม่สนับสนุนทางการทหารเพื่อปกป้องซาอุฯ เท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ศัตรูในภูมิภาคของซาอุฯ หรือการที่สหรัฐฯ ไม่ปกป้องซาอุฯ จากการโจมตีโดยกลุ่มผู้สนับสนุนอิหร่าน (Iranian-Backed Proxies)

2. การเถลิงอำนาจของซาอุฯ – เจ้าชายโมฮัมเหม็ดวัย 37 ปี ในฐานะผู้นำซาอุฯ และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และประธานกองทุนความมั่งคั่ง ต้องการประกาศให้ทั้งโลกรู้ว่า ซาอุฯ คือผู้เล่นหลักในตลาดค้าน้ำมันทั่วโลก

3. เศรษฐกิจ – อับดุลลาซิซ บิน ซัลมาน (Abdulaziz Bin Salman) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุฯ กล่าวว่าการตัดสินใจของโอเปกพลัสได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานของตลาด และกลุ่มฯ จําเป็นต้องทํางานเชิงรุกอย่างการลดกำลังการผลิตน้ำมันในช่วงที่ตลาดผันผวนรุนแรงนี้ เพื่อแก้ไขไม่ให้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกรุนแรงมากกว่าเดิม

4. สมดุลของอำนาจ – เจ้าหน้าที่ซาอุฯ จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า ประเทศจำเป็นต้องหาสมดุลระหว่างการทำตามสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ และทำตามสิ่งที่รัสเซียต้องการ เนื่องจากรัสเซียกับซาอุฯ ต่างมีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่เพียงประเด็นด้านพลังงาน แต่รวมไปถึงประเด็นความขัดแย้งภายในภูมิภาคตั้งแต่ซีเรียไปจนถึงลิเบียด้วย

ที่สําคัญ รัสเซียมีส่วนร่วมเจรจาเพื่อลดความรุนแรงกับอิหร่านให้ซาอุฯ อีกทั้งรัสเซียไม่วิพากษ์วิจารณ์ซาอุฯ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนที่สหรัฐฯ ทำ

Tags: , ,