เคยคิดเหมือนกันว่า ในฐานะที่เป็นหมอ ตัวเองจ่ายยารักษาโรคหวัดมากเกินไปหรือเปล่า ในวันที่ต้องเขียนใบสั่งยาโรคหวัดเป็นจำนวนหลายใบติดต่อกัน ถ้าทำได้ก็พยายามจำกัดไม่ให้เกินสามตัว เพราะโรคหวัดไม่มียา ‘รักษาเฉพาะ’
ที่ว่าไม่มียารักษาเฉพาะ หมายความว่าไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง หมอจึงจ่ายให้แต่ยา ‘รักษาตามอาการ’ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอาการไอ มีน้ำมูก คัดจมูก หรือเจ็บคอ ล้วนแล้วแต่เชื่อว่าสร้างความรำคาญไม่น้อยทีเดียว บางคนก็ทนบางอาการไหว บางคนก็ทนบางอาการไม่ไหว ถามอาการอะไรก็มีหมด หมอเลยต้องจ่ายยาให้ไปรักษาเสียทุกอาการ อาการละหนึ่งตัว ซึ่งเคยจ่ายที่รพ.เอกชนมากสุด 6-7 ตัวตามที่คนไข้ร้องขอ
ในขณะที่หากหมอไม่จ่ายยาอะไรเลยให้คนไข้ เพียงแนะนำว่าหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา คนไข้ก็อาจรู้สึกว่า “มาทำไม?” “มาแล้วหมอไม่ทำอะไรให้เลย” หรือแม้กระทั่ง “จะหายหรือ ถ้าไม่กินยา โดยเฉพาะ ‘ยาฆ่าเชื้อ’ (แบคทีเรีย)”
จริงๆ แล้วจำนวนยาที่จ่ายในการรักษาโรคหวัดอยู่บนพื้นฐานของ ‘ศิลปะ’ มากกว่า ดังที่แต่ก่อนจะเรียกใบประกอบวิชาชีพว่า ‘ใบประกอบโรคศิลป์’ ศิลปะที่ว่าก็คือศิลปะในการทำให้คนไข้คลายความกังวลใจลง
‘ยา’ ก็เป็นหนึ่งใน ‘ศิลปะ’ ที่ว่านั้น
หลักๆ คือยาพาราเซตามอล
หากพูดว่า “ถ้าหมอป่วยนะ…” ก็ไม่รู้คนไข้จะเชื่อมากขึ้นหรือเปล่า เวลาเป็นหวัด ผมกินยาแค่ 1-2 ตัว หลักๆ คือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาที่ทุกคนคิดว่าหมอจ่ายบ่อยที่สุด ไข้ตัวร้อนก็จ่าย ปวดหัวก็จ่าย ปวดหลังก็จ่าย ป่วยประจำเดือนก็จ่าย
ยาพาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ปลอดภัยที่สุด ชื่อทางการค้าที่คุ้นเคยกันทางโฆษณา เช่น ซาร่า (Sara) ไทลินอล (Tylenol) ขนาดยาคือหนึ่งเม็ด กินซ้ำได้ทุกสี่ชั่วโมง เน้นว่ากินทีละหนึ่งเม็ดเท่านั้น ถ้าจะกินสองเม็ดเหมือนที่เคยกินกันมาในอดีต ก็ต้องกินห่างขึ้นเป็นทุกหกชั่วโมง เพราะขนาดยาสูงสุดที่จะทำให้เป็นพิษต่อตับคือไม่เกิน 4 ก./วัน หารด้วยเม็ดละ 500 มก. ตกอยู่ 8 เม็ดต่อวัน หน้าซองยาจึงเขียนไว้ที่ทุก 4-6 ชั่วโมง
ยาแก้หวัดในท้องตลาดที่มักเป็นยาผสมระหว่างยาพาราฯ ยาแก้แพ้ และยาแก้คัดจมูก เช่น
- ทิฟฟี่ (Tiffy), ดีคอลเจน (Decolgen) = พาราฯ 500 มก. + คลอร์เฟนิรามีน 2 มก.
- ทิฟฟี่ เดย์ (Tiffy day), ดีคอลเจน พริน (Decolgen prin) = ทิฟฟี่/ดีคอลเจน + ฟินิลเอฟรีน 10 มก.
ดังนั้น หากกินยาที่มีชื่อการค้าเหล่านี้แล้ว ต้องระมัดระวังการกินยาพาราฯ ซ้ำซ้อนอีก
แล้วถ้าไข้ไม่ลงล่ะ? หลายคนก็จะนึกถึงยาลดไข้สูง เมื่อก่อนอาจเป็นยาแอสไพริน (ASA) หรือชื่อการค้าว่า ทัมใจ เดี๋ยวนี้ก็อาจเป็นยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
ยาตัวนี้หมอเด็กมักจะเป็นคนจ่ายให้ เพราะกลัวเด็กชักจากไข้สูง ส่วนในผู้ใหญ่ หมอมักจ่ายยาตัวนี้ให้เพื่อช่วยอาการปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามตัวที่กินยาพาราฯ แล้วยังปวดอยู่ แต่ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียง อาจทำให้เลือดออกง่าย หมอจึงเลือกจ่ายเป็นกรณีไป เช่น ไข้หวัดใหญ่ แต่จะหลีกเลี่ยงจ่ายให้คนไข้ที่แค่ไข้สูงอย่างเดียว เพราะอาจเป็นอาการของไข้เลือดออก ไม่ใช่ไข้หวัดที่จะต้องมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
ยาตัวต่อมา ยาลดน้ำมูกและคัดจมูก
นอกจากอาการไข้และปวดหัวแล้ว อาการที่ผมคิดว่าน่ารำคาญรองลงมาไม่แพ้กันคือ อาการน้ำมูกไหลติ๋งๆ ถ้าไหลไม่หยุดก็ต้องพกผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู่ไว้ตลอดเวลา ยิ่งตกกลางคืน อาการฟึดฟัดคัดจมูกจะเริ่มหนักขึ้นจนต้องอ้าปากหายใจ ยิ่งชวนให้อึดอัดเข้าไปกันใหญ่ ยาตัวต่อมาจึงเป็นยาลดน้ำมูกและคัดจมูก ซึ่งผมขอแบ่งตามวิธีการใช้เป็นสองชนิด คือชนิดกิน กับชนิดใช้เฉพาะที่ คือ หยอด/พ่นจมูก โดยแต่ละชนิดก็มีกลุ่มยาแยกย่อยลงไปอีก
เริ่มต้นด้วยยาลดน้ำมูกชนิดกิน แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย
กลุ่มที่ 1 คือ ยากระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกยุบบวมลง ลดทั้งอาการน้ำมูกไหลและคัดจมูกจน “แห้งสบายอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน” อาจารย์ท่านหนึ่งเคยเปรียบเทียบไว้กับผ้าอนามัยยี่ห้อหนึ่ง ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) น่าเสียดายที่ยาตัวนี้สามารถนำไปผลิตสารเสพติดเมทแอมเฟตามีนได้ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาจึงมีการควบคุมที่เข้มงวดและจำกัดการจ่ายยานี้ ให้จ่ายเฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น โรงพยาบาลชุมชนที่ผมทำงานอยู่ก็ไม่ได้นำยาตัวนี้เข้ามาใช้ ทำให้ผมเห็นใจคนไข้ไม่น้อย เพราะในความคิดของผม ยาตัวนี้เป็นยาที่ใช้ง่ายและมีประสิทธิภาพ
ยาอีกตัวในกลุ่มเดียวกัน แต่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า คือ ฟินิลเอฟรีน (Phenyleprine) ยาตัวเดียวกับที่ผสมอยู่ในทิฟฟี่ เดย์ และดีคอลเจน พริน นั่นเอง แต่ถ้าจะใช้เป็นยาเดี่ยวกินคู่กับยาพาราฯ ต่างหากก็มีเช่นกัน ใช้ชื่อการค้าว่า นาโซแท็ป (Nasotapp)
กลุ่มที่ 2 คือ ยาแก้แพ้ที่ออกฤทธิ์ลด ‘น้ำมูก’ ได้ เขียนอย่างนี้ก็แสดงว่าจริงๆ แล้วยาแก้แพ้ไม่ช่วยอาการ ‘คัดจมูก’ สักเท่าไร เพราะมียาแก้แพ้บางตัวเท่านั้นที่มีสรรพคุณลดน้ำมูกใน ‘โรคหวัด’
อ่านถึงตรงนี้อาจจะเริ่มสับสน ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า น้ำมูกเกิดจากสองกลไก คือ หากเป็นหวัด น้ำมูกเกิดเพราะติดเชื้อไวรัส กับหากเป็นภูมิแพ้ น้ำมูกเกิดเพราะแพ้สิ่งกระตุ้น ดังนั้นยาแก้แพ้ทุกตัวจะช่วยลดน้ำมูกในกรณีหลัง
แต่ยาแก้แพ้บางตัวช่วยลดน้ำมูกได้ผ่านกลไกอื่นที่เข้าไปยับยั้งสารสื่อประสาทในสมอง พอยาผ่านเข้าไปในสมองได้ ก็จะทำให้ง่วงนอน ใช่แล้วครับ! “ยาแก้แพ้ที่ง่วงนอน คือยาลดน้ำมูก” และ “ยาแก้แพ้ที่ไม่ง่วงนอน ใช้กับโรคหวัดไม่ได้”
อาจารย์ที่สอนการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลจะย้ำตรงนี้กับนักศึกษาแพทย์เสมอ ยาแก้แพ้ที่กินแล้วง่วงนอนและลดน้ำมูกได้ คือยาแก้แพ้กลุ่มเก่า เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) หรือที่เรียกชื่อย่อกันติดปากว่า ซีพีเอ็ม (CPM) ถ้าบอกลักษณะว่าเม็ดเล็กๆ สีเหลืองๆ หลายคนน่าจะนึกออก กินครั้งละหนึ่งเม็ดสามเวลา หลังอาหารเช้า-เที่ยง-เย็น
ดังนั้น การที่หมอจ่ายยาแก้แพ้ให้แล้วคนไข้บอกว่า “ขอชนิดที่ไม่ง่วงได้มั้ย” ถ้าเจอหมอที่ชอบอธิบายก็โชคดีไป คนไข้จะเข้าใจตรงนี้ แต่ถ้าเจอหมอพูดน้อยก็อาจจะเปลี่ยนเป็นยาแก้แพ้เม็ดรีๆ สีขาว กินวันละครั้ง อาจจะหลังอาหารเช้า หรือก่อนนอนก็ได้ ที่ชื่อ เซทิริซีน (Cetirizine) มาให้แทน ซึ่งเป็นชนิดง่วงน้อย ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการหวัด ยิ่งไปกว่านั้น หมอรพ.เอกชนอาจเปลี่ยนเป็นยาแก้แพ้ที่มีราคาค่อนข้างแพงอย่างเฟโซเฟนาดีน (Fexofenadine) หรือชื่อการค้าว่า เทลฟาส (Telfast) ที่เหมาะกับคนไข้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิมมากกว่า
ย้อนกลับมาตั้งต้นที่ชนิดของยาลดน้ำมูก ผมพูดถึงชนิดกินไปแล้ว แต่ยังมียาลดน้ำมูกชนิดใช้เฉพาะที่ หมายถึงยาที่หยอดหรือพ่นเข้าไปในจมูกโดยตรง ซึ่งสำหรับคนทั่วไป ขอแนะนำให้รู้จักเพียงชนิดเดียว คือ ออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) หรือชื่อการค้าว่า อิลิอาดิน (Iliadin) มีความเข้มข้นสองระดับ คือ 0.025% ใช้ในเด็กอายุ 1-6 ปี ส่วน 0.05% ใช้ในเด็กอายุมากกว่า 6 ปี รวมถึงผู้ใหญ่ ออกฤทธิ์กระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด ซึ่งก็คือกลุ่มเดียวกับยากินลดน้ำมูกในกลุ่มแรก ดังนั้น จึงต้องเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าจะใช้ชนิดกินหรือชนิดหยอด/พ่น
แต่ที่สำคัญ ยาลดน้ำมูกเฉพาะที่นี้ ห้ามใช้ติดต่อกันเกินห้าวัน เนื่องจากจะทำให้เกิดผลย้อนกลับ (Rebound nasal congesion) คือมีอาการคัดจมูกมากขึ้นแทน วิธีเลี่ยงผลข้างเคียงนี้คือ เว้นวันใช้ยานี้ 1-2 วันก็สามารถกลับมาใช้ต่อได้หากยังมีอาการอยู่
อาการไอเกิดได้จากหลายสาเหตุ
จะว่าไปแล้ว อาการไอคืออาการเด่นของโรคหวัดเลยก็ว่าได้ เพราะเชื้อไวรัสจะสร้างสารกระตุ้นการไอโดยตรง ฉะนั้น ถ้ามีอาการเจ็บคอแต่ไม่ไอเลย หมอก็จะคิดถึงการติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องตรวจร่างกายร่วมด้วย ขณะเดียวกัน การมีเสมหะหรือน้ำมูกไหลลงคอก็ทำให้ไอได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า การไอเกิดได้จากหลายสาเหตุ ยาแก้ไอจึงมีสามกลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรก คือยาละลายเสมหะ (Mucolytic – muco แปลว่า เมือก ส่วน lytic แปลว่าสลาย) เป็นยาแก้ไอที่มีส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุด และเป็นยาแก้ไอที่หมอนิยมจ่ายให้คนไข้มากที่สุด แม้จะไม่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเพราะไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือสนับสนุนประสิทธิผลของยานี้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายานี้จะไปช่วยสลายเสมหะที่เหนียวข้นในคอให้เหลวขึ้น ทำให้ไอน้อยลง ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ บรอมเฮกซีน (Bromhexine) หรือชื่อการค้าที่น่าจะเคยได้ยินติดหูจากโฆษณาทีวีคือ ไบโซลวอน (Bisolvon) มีแบบยาเม็ด กินครั้งละหนึ่งเม็ด วันละสามครั้งหลังอาหาร และอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcystein) มีทั้งยาเม็ด และยาผงชงกับน้ำดื่ม
กลุ่มที่ 2 คือยาขับเสมหะ (Expectorant) ภาษาอังกฤษใช้คำว่า expect ที่แปลว่าคาดหวัง แต่ในกรณีนี้น่าจะแปลว่า คาดคั้น มากกว่า เพราะยาจะไปทั้งคาด ทั้งคั้น ให้เยื่อบุทางเดินหายใจหลั่งสารน้ำออกมาชะล้างเสมหะมากขึ้น ดังนั้น หากกินยาชนิดนี้ ต้องดื่มน้ำให้มากพอด้วย
ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไกวเฟเนซิน (Guaifenesin) ตั้งแต่เรียนจบทำงานมาผมไม่มีโอกาสได้จ่ายยาตัวนี้เลย เพราะโรงพยาบาลไม่ได้นำเข้ามาในบัญชียาโรงพยาบาล ทั้งที่ยาตัวนี้จัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติก็ตาม แต่ล่าสุดจากการสืบค้นข้อมูลการรักษาโรคหวัดในผู้ใหญ่จากฐานข้อมูลทางการแพทย์ Uptodate ได้จัดให้กลุ่มยานี้อยู่ในส่วนของการรักษาที่ได้ผลน้อยหรืออาจไม่ได้ผล (Therapies with minimal or uncertain benefits)
กลุ่มแก้ไอสุดท้าย คือยากดอาการไอ (cough suppressant) แปลตรงตัวมาจากภาษาอังกฤษ เป็นยาที่ยอมรับว่าสามารถหยุดอาการไอได้ดีที่สุด เนื่องจากยาไปออกฤทธิ์โดยตรงที่ศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง โดยไม่สนว่าจะมีไวรัสสร้างสารกระตุ้นให้ไอหรือกำลังมีเสมหะอยู่ก็ตามที อาจารย์ที่สอนผมจึงเห็นว่า ยากลุ่มนี้อาจทำให้เสมหะคั่งค้างอยู่ในทางเดินหายใจและเกิดการอุดตันตามมา แต่ขณะเดียวกัน ยากลุ่มนี้ก็หยุดความลำไย เอ้ย! รำคาญจากการไอได้ชะงัด ผมเลยเลือกจ่ายให้คนไข้เป็นรายๆ ไป เช่น กินยาละลายเสมหะแล้วยังไอมากอยู่ ไอมากจนนอนไม่หลับ เป็นต้น
ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) กินครั้งละหนึ่งเม็ด วันละสามครั้ง หลังอาหาร แต่สำหรับผมจะจ่ายให้คนไข้กินครั้งละหนึ่งเม็ดก่อนนอน ด้วยเหตุผลในย่อหน้าที่ผ่านมา และบอกคนไข้ทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าจำเป็นจริงๆ จะเอายาก่อนนอนมากินแทนยาแก้ไออีกตัวช่วงกลางวันก็ได้ แต่ไม่ควรกินพร้อมกับยาแก้ไอกลุ่มอื่น เช่น ยาละลายเสมหะ เพราะกลไกการออกฤทธิ์ยาหักล้างกัน
นอกจากชนิดเม็ดแล้ว ยากดอาการไอที่หลายคนรู้จะน่าจะเป็นชนิดน้ำอย่างยาแก้ไอน้ำดำ (Brown’s Mixture แต่ฝรั่งบอกว่าสีน้ำตาล) ซึ่งมีส่วนผสมของทิงเจอร์ฝิ่นการบูร (Camphorated Opium Tincture) ที่ออกฤทธิ์กดการไอเช่นกัน กินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง มีข้อแม้ว่าไม่ควรจิบเพราะจะทำให้ได้รับยาเกินขนาด และไม่ควรกินติดต่อกันเกินเจ็ดวัน เพราะอาจทำให้เสพติดได้
นอกจากนี้ ยาแก้ไอน้ำดำยังมีส่วนผสมของชะเอมเทศ ช่วยให้ชุ่มคอ ซึ่งยาสมุนไพรอื่นที่มีขายในท้องตลาด เช่น ยาอมหรือยาน้ำมะขามป้อม ยาอมหรือยาน้ำมะแว้ง ก็ช่วยขับเสมหะ รักษาอาการไอได้เช่นกัน ที่สำคัญยาสมุนไพรเหล่านี้จัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ดังนั้นในโรงพยาบาลที่มียาสมุนไพรกลุ่มนี้อยู่จึงส่งเสริมให้หมอจ่ายแทนยาขับเสมหะแผนปัจจุบัน และหมอเองก็ไม่ต้องเสียเวลาเซ็นอนุมัติการใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ ด้วย
มียาแก้เจ็บคอหรือเปล่า?
หลังจากทวนยาที่ผมสั่งจ่ายให้คนไข้ฟังแล้วว่า “มียาทั้งหมดสามตัว ได้แก่ ตัวแรกคือยาพาราฯ ลดไข้ ยาตัวต่อมาคือยาลดน้ำมูก และตัวสุดท้ายคือยาแก้ไอ ทั้งหมดนี้เป็นยารักษาตามอาการ หมายความว่าถ้าไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องกินยาต่อ ให้เก็บไว้กินตอนป่วยครั้งหน้า ส่วนอาการเจ็บคอ แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่น” คนไข้บางคน โดยเฉพาะคนไข้ที่รพ.เอกชนก็มักจะมีคำถามต่อว่า “คุณหมอมียาแก้เจ็บคอหรือเปล่า?” ซึ่งคำถามนี้ผมจะต้องถามคนไข้กลับเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างหมอกับคนไข้ว่า ‘ยาแก้เจ็บคอ’ ที่ว่าหมายถึงยาอะไร
ก. ยาฆ่าเชื้อ ถ้ายาแก้เจ็บคอของคนไข้หมายถึงยาฆ่าเชื้อ ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่ที่สาเหตุของโรคหวัดว่าเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งในปัจจุบันมียาฆ่าเชื้อไวรัสที่ก่อโรครุนแรงเท่านั้น ไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสหวัดธรรมดา ส่วนยาฆ่าเชื้อที่คนทั่วไปคุ้นเคย หรือที่เคยเรียกกันติดปากว่า ‘ยาแก้อักเสบ’ เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นเชื้อคนละชนิดกันกับที่ก่อโรคหวัด
ดังนั้นการกินยาฆ่าเชื้อจึงไม่ช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นแต่อย่างใด แต่จากประสบการณ์ของคนไข้ที่เคยได้รับยาฆ่าเชื้อมาก่อนจะบอกว่ากินแล้วดีขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าอาการของโรคหวัดจะเป็นหนักสุดในช่วง 2-3 วันแรกแล้วจะค่อยๆ ลดลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว การที่กินยาฆ่าเชื้อเข้าไปในช่วงหลังจากสามวันแรกเป็นต้นมาจึงประจวบเหมาะกับที่ร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสได้เองพอดี
ข. ยาอม ถ้ายาแก้เจ็บคอของคนไข้หมายถึงยาอมแก้เจ็บคอ ก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ากลไกการออกฤทธิ์ของส่วนประกอบที่ต้องการคือยาชาหรือแก้ปวดเฉพาะที่ทำให้ลดอาการเจ็บคอ และการอมยาอมกระตุ้นการหลั่งน้ำลายทำให้ชุ่มคอ มากกว่าส่วนประกอบที่เป็นสารฆ่าเชื้อ (antiseptic) เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ในขณะที่บางสาร เช่น ซีทิวไพริดิเนียม คลอไรด์ (cetylpyridinium chloride) ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นหลัก ซึ่งไม่ตรงกับเชื้อก่อโรคหวัด หรือแม้แต่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น นีโอมัยซิน (neomycin) ที่ผสมในยาอม ก็ไม่ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในคอ แต่จะมีผลกับเชื้อแบคทีเรียในลำไส้แทน จึงอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยามากขึ้นได้ เพราะฉะนั้น จึงควรอ่านฉลากและตรวจสอบคุณสมบัติของส่วนประกอบในยาอมก่อน
ค. ยาพ่น ถ้ายาแก้เจ็บคอของคนไข้หมายถึงยาพ่น ก็ต้องบอกกันตามตรงว่า ประสิทธิภาพของยาไม่ชัดเจน เท่าที่คนไข้บางคนเคยใช้แล้วดีก็จะขอติดไปด้วย แต่บางคนที่เคยใช้แล้วไม่ได้ผล ก็ปฏิเสธที่จะรับไปใช้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่มีงานวิจัยรองรับประสิทธิภาพของยาเพียงพอ กลไกการออกฤทธิ์ที่ต้องการก็คล้ายกับยาอม คือเป็นยาชาหรือแก้ปวดเฉพาะที่
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อยากจะชวนรื้อถุงยาเก่าๆ ที่เคยได้จากหมอตอนป่วยเป็นหวัดครั้งก่อน หรือบางคนอาจกำลังป่วยเป็นหวัดแล้วเพิ่งได้ยาจากหมอมา ค่อยๆ ทำความรู้จักยาไปทีละตัว ว่าตัวไหนเป็นยาอะไรอย่างที่ผมแนะนำไปข้างต้น
ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้คนไข้รบกวนให้หมอช่วยทวนชื่อยาทั้งหมดให้ฟังตั้งแต่ในห้องตรวจเลยว่ามียาอะไรบ้าง ถ้ามียาแก้แพ้ชนิดกิน คนไข้ลองแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ผมอธิบายให้ข้างต้นกับหมอที่ตรวจดูครับ
ยืนยันอีกครั้งว่า โรคหวัดเป็นโรคที่ร่างกายสามารถรักษาตัวเองได้เอง และคนไข้เองก็สามารถซื้อและใช้ยารักษาอาการเบื้องต้นได้เองเช่นกัน
Tags: สุขภาพ, การแพทย์, ยา, หวัด