เมื่อพูดถึงประโยชน์ของโซเชียลมีเดีย ตัวอย่างคลาสสิกหนึ่งคือ กรณี ‘อาหรับสปริง’ เมื่อปี 2011 ที่มวลชนใช้โซเชียลมีเดียเพื่อนัดรวมกลุ่มกัน และทำให้รวมพลังโค่นล้มผู้นำเผด็จการได้ในอียิปต์ได้ ผ่านไปไม่ถึงสิบปี คนทั่วโลกได้เจอทั้งด้านบวกและลบการพลังโซเชียลมีเดียในรูปแบบที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

ในการประชุมด้านความปลอดภัยมิวนิค เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ก.พ. 2018) โคฟี อันนัน (Kofi Annan) อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติกล่าวบนเวทีสัมมนาร่วมกับตัวแทนจากเฟซบุ๊ก กูเกิล และไมโครซอฟต์ ในเรื่องความเสี่ยงจากนวัตกรรมที่บริษัทเหล่านี้เกี่ยวข้อง

อันนัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2001 จากการทำให้ ‘โลกสงบมากขึ้น’ กล่าวถึง “การปฏิวัติโดยโซเชียลมีเดีย” ในอียิปต์เมื่อปี 2011 ที่ผู้ประท้วงสามารถรวมกลุ่มกันได้ด้วยทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก จนในท้ายที่สุดสามารถโค่นประธานาธิบดีมูบารัค ผู้นำเผด็จการได้

“แต่การขาดภาวะผู้นำทำให้การปฏิวัติล้มเหลว ทหารกลับมาและขึ้นครองอำนาจ ตอนนี้พวกเขาทำสิ่งที่มูบารักไม่แม้แต่จะคิดได้”

นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อประชาธิปไตยที่ชัดเจนมากคือ ความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย

“รัฐบาลเผด็จการตัดสินใจจำกัดการใช้เครื่องมือเหล่านี้ บางแห่งไม่เพียงแต่ปิดกั้นการเข้าถึง แต่ยังใช้มันควบคุมประชาชน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เครื่องมือทางสังคมเหล่านี้ใช้เพื่อปลดปล่อยอิสรภาพหรือควบคุมกันแน่?”
ในการประชุมด้านความปลอดภัย (Munich Security Conference) ที่มิวนิค เยอรมนี นักการเมือง ตัวแทนจากบริษัทไอทีชั้นนำ เตือนให้ระวังการคุกคามครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง

แม้อินเทอร์เน็ตช่วยเปลี่ยนวิธีการทำงานของประชาธิปไตยในสมัยใหม่ สิบปีก่อน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่เคยคิดว่าผู้นำของพวกเขาจะประกาศนโยบายทางทวิตเตอร์ หรือแลกเปลี่ยนความเห็นในการตัดสินใจทางพอดแคสต์

แต่ก็เหมือนกับทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงสังคม อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องนำพาความเสี่ยงมาด้วย

นับตั้งแต่การลุกขึ้นมาประท้วงของประชาชนที่อียิปต์ โซเชียลมีเดียก็แพร่หลายทั่วไป เทคโนโลยีไม่เพียงแต่เป็นภัยต่อรัฐบาลที่กดขี่ประชาชนเท่านั้น รัฐบาลประชาธิปไตยในโลกตะวันตกก็สั่นคลอนเช่นกัน ดังเช่นการแทรกแซงจากรัสเซียระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี 2016

“เมื่อพิจารณากิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราพบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารจากรัส เซียบนเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการลงคะแนนเสียงแบบไพรมารีโหวต มีเนื้อหาอีกจำนวนมากมาหลังจากการเลือกตั้ง” อเล็กซ์ สเตมอส (Alex Stamos) ผู้บริหารด้านความปลอดภัยของเฟซบุ๊กกล่าว
การแก้ไขประเด็นเหล่านี้ไม่ง่าย สำหรับแบรด สมิธ (Brad Smith) ประธานของไมโครซอฟต์ รัฐบาลและบริษัทต่างๆ ต้องตระหนักว่าสื่อที่แตกต่างกันต้องใช้วิธีแกัปัญหาเฉพาะของมันเอง

“มีประโยชน์ที่จะพิจารณาระดับของความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยีที่ต่างชนิดกัน ถ้าเราคิดว่ามาตรฐานที่ใช้กับเว็บที่เป็นเสิร์ชเอ็นจินเหมือนกับชุมชนโซเชียลมีเดีย ก็จะกีดกันความสามารถของผู้คนทั่วโลกในการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้

ขณะที่ความสามารถทางเทคโนโลยีในการบ่อนเซาะประชาธิปไตยหรือคุกคามเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นประเด็นหลักในการสนทนา ในการพูดคุยกันก็ได้กล่าวถึง AI (Artificial Intelligence) ว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายทางเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง

“ผมคิดว่าไม่ถูกนักที่เราคิดว่า เราสามารถสร้าง AI โดยปราศจากอคติได้ มันอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ ในโลกอุดมคติ (techno-utopia) แต่ที่สุดแล้วการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) สะท้อนอคติของคนที่สร้างมันขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป” สตามอสกล่าว

สตามอสกล่าวถึงงานวิจัยซึ่งศึกษาซอฟต์แวร์ที่ใช้เพื่อตัดสินโทษและกำหนดเกณฑ์ทัณฑ์บนในสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อ COMPAS (Correctional Offender Management Profiling for Alternative Sanctions) หลายศาลพบว่า การใช้ซอฟต์แวร์เพื่อประมวลข้อมูลอาชญากรรมและประเมินความเสี่ยงของผู้กระทำผิดไม่ได้แม่นยำกว่าข้อมูลจากผู้ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ในปี 2016 เว็บไซต์โปรพับลิกา (ProPublica) รายงานว่าซอฟต์แวร์นี้มีอคติต่อคนผิวสี โดยทำนายว่าพวกเขาจะกระทำผิดซ้ำสองมากกว่าคนผิวขาวสองเท่า AI อาจจะสร้างปัญหาคล้ายกันในพื้นที่อื่นๆ

แต่สำหรับเอริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) ที่ปรึกษาของกูเกิลมองถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เขาเห็นว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เขาทำงานอยู่

“มันจะราคาถูกลง ยืดอายุขัยให้ยาวขึ้น ปรับปรุงการดูแลสุขภาพ การเข้าถึง เป็นต้น ทั้งหมดนี้มีความลึกซึ้ง แน่นอนว่ามันจะมาพร้อมกับประเด็นต่างๆ ซึ่งเราต้องทำให้ลดลง แต่กรุณาจำไว้ว่า ยังมีประโยชน์มากมายที่เกิดจากความฉลาดที่มากขึ้นในหลายๆ แขนง”

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Michaela Rehle

ที่มา:
http://www.dw.com/en/does-technology-threaten-democracy/a-42621230

Tags: , , , ,