1.
“อัล-ซาวาฮิรี จากนี้อยู่ให้ห่างจากการเมืองนะ”
“ได้เลยเพื่อน”
11 กันยายน 2022 ครบรอบ 21 ปี เหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด เซนเตอร์ สหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก โลกหลังจากนั้นไม่เหมือนเดิม เกิดสงคราม การรุกราน การกวาดล้าง การไล่ล่าอย่างต่อเนื่อง ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ถูกสังหารดับดิ้นกันไปหมด ทั้งผู้นำอัลกออิดะห์ อย่างลูกอภิมหาเศรษฐี โอซามา บินลาเดน (Osama bin Laden) คีย์แมนคนสำคัญ
อย่างไรก็ดีในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่เซฟเฮาส์ในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน ที่กลับมายึดครองประเทศอีกครั้ง หลังหลุดจากอำนาจเมื่ออเมริกาบุกเข้ามา โดรนสังหารได้ยิงมิสไซล์สองลูก ใส่เป้าหมาย ขณะเจ้าตัวออกมายืนอยู่ที่ระเบียงบ้าน หลังจาก 21 ปีแห่งการไล่ล่า ในที่สุด อัยมาน อัล-ซาวาฮิรี (Ayman al-Zawahiri) ก็ถูกฆ่า
“ความยุติธรรมเกิดขึ้นแล้ว และผู้นำก่อการร้าย จะไม่มีอีกต่อไป” คำกล่าวของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) หลังเหตุการณ์สังหารนี้
ที่ผ่านมาคนมักจะคิดว่า โอซามา บินลาเดน คือผู้วางแผนเหตุการณ์ 9/11 แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ดีมีน้อยคนที่จะระลึกได้ว่าอัล-ซาวาฮิรี คือผู้บงการวางแผนและเป็นเหมือนอาจารย์ให้กับบินลาเดนเสมอมา
จากบินลาเดน เราต้องย้อนมอง อัล-ซาวาฮิรี เดินออกจากกลุ่มอัลกออิดะห์ ถอยห่างจากอัฟกานิสถาน เข้าสู่อียิปต์ ดินแดนมากมนต์ขลัง สถานที่เพาะบ่มความรุนแรง
ที่ซึ่งอัล-ซาวาฮิรีถือกำเนิดมา
2.
ครอบครัวอัล-ซาวาฮิรี เรียนเก่งกันทั้งตระกูล ถ้าไม่เป็นหมอ ก็ต้องทำงานวิศวกร พวกเขามีฐานะ มีชื่อเสียง ญาติเยอะเป็นโขยง เมื่ออัยมาน อัล-ซาวาฮิรี ถือกำเนิดมา ครอบครัวของเขาไม่ได้ฟุ้งเฟ้ออะไรมาก พ่อกับแม่อาศัยอยู่ในบ้านหลังธรรมดา มีชีวิตเรียบง่าย
แม้ตัวอัยมานจะสามารถเข้าเรียนโรงเรียนผู้ดีของอียิปต์ ที่ซึ่งมีศิษย์เก่าเป็นคนโด่งดังมีชื่อเสียง ทั้งตำนานดาราหนังฮอลลีวูด อย่างโอมาร์ ชารีฟ (Omar Sharif) ทั้งกษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดน (Hussein of Jordan) แต่ครอบครัวกลับพาเขาเข้าเรียนในโรงเรียนปกติทั่วไป ที่ซึ่งเขาได้พบกับลูกชาวบ้านที่ครอบครัวหาเช้ากินค่ำในอียิปต์
โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้หรูหรา มีฐานะ ว่ากันว่าตัวอัยมานต้องดิ้นรนเอาตัวรอดในโรงเรียน ลูกชาวบ้านที่หมั่นไส้ การแกล้งกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนยกย่องก็คือ เขาเรียนเก่งมาก และเข้าสู่เส้นทางที่ครอบครัวอัล-ซาวาฮิรีเป็นกัน ก็คือ หมอ
ตอนเด็กอัยมาน ชอบการสวดมนต์ และเคร่งครัดในศาสนาอิสลาม เขาได้รับอิทธิพลเรื่องนี้จากหนังสือของซัยยิด กุฏุบ ผู้เดินทางไปอเมริกา และเห็นความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม กุฏุบเร่งเร้าให้ดินแดนในตะวันออกกลางกลับเข้าสู่ความบริสุทธิ์ แนวคิดบางอย่างของเขาเข้าขั้นหัวรุนแรง จนเจ้าตัวถูกตัดสินประหารชีวิต
แต่ดังที่กุฏุบว่าไว้ เขาพร้อมที่จะสละชีพมานานแล้ว เมื่อถูกประหาร เขาไม่ยี่หระมันแม้แต่น้อย โดยมั่นใจว่าความเชื่อและแนวคิดของตัวเองจะได้รับการส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง แล้วอัยมานก็ได้รับแนวคิดนี้มาเต็มๆ ภายใต้อิทธิพลของลุง ซึ่งสนิทกับกุฏุบ อุดมการณ์ถูกเพาะสร้าง มุ่งหวังที่จะให้อียิปต์กลับสู่ความรุ่งเรือง โดยใช้แนวคิดของมุสลิมในการปกครองอย่างเคร่งครัด อัยมานและคนหนุ่มจำนวนมาก เชื่อว่าการแยกรัฐออกจากศาสนา เป็นรัฐฆราวาสนั้นไม่ถูกต้อง
พวกเขาต่อต้านประชาธิปไตย และต้องการพาประเทศกลับเข้าสู่ความเข้มข้นแห่งศาสนา ดังยุครุ่งเรืองแต่โบราณของอาณาจักรที่ใช้ศาสนานำทาง
เพียงแค่อายุ 15 ปี เขาก็ฉายแววกบฏ ครั้งหนึ่งขณะเดินกลับบ้าน รถของผู้พิพากษาได้จอดแวะรับเพื่อจะได้กลับไปด้วยกัน แต่อัยมานตะโกนว่าจะไม่มีวันขึ้นรถกับคนที่มีส่วนร่วมในการประหารกุฏุบเด็ดขาด
เส้นทางนักปฏิวัติทางศาสนาของอัยมานเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียน เขาร่วมก่อตั้งดึงเพื่อนฝูงเข้าสู่แนวคิดและยึดถือหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด ในรั้วมหาวิทยาลัย เขาระดมพล ปราศรัย ส่งต่อแนวคิดได้อย่างลือชื่อ ตัวอัยมานเป็นคนที่โดดเด่นในเรื่องการเกณฑ์คนร่วมองค์กรพี่น้องมุสลิม ที่ยึดถือความเคร่งครัดให้หลักศาสนา
และมุ่งมั่นโค่นล้มรัฐบาลทหารของอียิปต์ เพื่อนำพาประเทศสู่รัฐมุสลิมเต็มรูปแบบ
ด้วยร่างผอมสูงดูมีเสน่ห์ และมีบารมี ส่งผ่านให้เขาเป็นที่รู้จักในกลุ่มเคร่งศาสนา เมื่อเขาเติบโตทำงานเป็นหมอ นายแพทย์หนุ่มรักษาคนไปทั่วตามอุดมการณ์ แต่ในคลินิกที่เขาเปิด ก็เป็นที่เกณฑ์คนมาร่วมงานให้กับองค์กรของตัวเอง ซึ่งมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาล
ถึงตอนนี้อัยมานเป็นกบฏอย่างแท้จริง และถูกจับตาโดยหน่วยงานความมั่นคงเรียบร้อยแล้ว
ตัวเขามีส่วนร่วมรับรู้ในการแผนการลอบสังหารประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต (Anwar Sadat) ซึ่งถูกบุกยิงตายในงานสวนสนาม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1981 ซึ่งแม้กลุ่มคลั่งศาสนาหัวรุนแรงจะต้องการทำรัฐประหารยึดอำนาจเปลี่ยนประเทศกลับสู่ความเข้มข้นแห่งศาสนา แต่ดูเหมือนกองทัพจะไม่ยินยอมด้วย พวกเขาเปิดทางให้กับฟาโรห์องค์ใหม่อย่างนายพลฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak) ขึ้นครองอำนาจ
แล้วการกวาดล้างกลุ่มหัวรุนแรงก็เกิดขึ้น
3.
มีคนวิเคราะห์ว่า แผนการโจมตีอเมริกาเกิดขึ้นในเรือนจำของอียิปต์ นักโทษทางการเมืองไม่ได้วางแผนมั่วสุมกัน แต่เป็นผลจากการถูกทรมานอย่างรุนแรง พวกเขากล่าวโทษอเมริกาและตะวันตก ในความคิดของพวกคลั่งศาสนา ถือว่าโลกนี้มี 2 ขั้วที่ชัดเจน มุสลิมกับกลุ่มไม่ใช่มุสลิม พวกตะวันตกคือภัยคุกคาม และอเมริกานี่แหละคือผู้ที่ทำให้อียิปต์และตะวันออกกลางย่อยยับ ไร้ศักดิ์ศรี พระเจ้าไม่เข้าข้าง
ยิ่งพวกเขาถูกทำร้ายในคุกเพื่อรีดคำรับสารภาพ ความแค้นต่ออเมริกาก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อัยมาน มีส่วนรู้เห็นในการลอบสังหารประธานาธิบดีซาดัต เขาถูกจับกุมที่ด่าน เมื่อพาตัวมาโรงพัก ชายที่คนรู้จักบอกว่าสุภาพนอบน้อม ไร้ซึ่งความรุนแรง ได้เผชิญหน้ากับหัวหน้าสถานี ซึ่งได้ตบหน้าอัยมานอย่างจัง
ในเสี้ยววินาทีนั้น ไม่มีใครคาดคิด หมอหนุ่มได้ตบหน้าหัวหน้าสถานีคืนเช่นกัน เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮามาก เพราะอัยมาน หมอที่สุภาพอย่างสุดๆ ได้ฉายแววความรุนแรงออกมา
เขาได้รับฉายาว่า ชายที่ตบหน้าโต้กลับ
แต่ในคุกอัยมาน ไม่อาจตบหน้าใครได้ เขาได้รับการทรมานอย่างถึงที่สุด จนมีแผลเป็นตามตัว ในเรือนจำ อัยมานถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมรีดให้ปรักปรำอีกฝ่าย เรื่องนี้คือความน่าอับอายที่เขาไม่ค่อยอยากเล่าถึงมันมาก
ขณะถูกนำตัวขึ้นศาล อัยมานอยู่ในลูกกรง ได้กล่าวเป็นภาษาอังกฤษ ยืนยันความเชื่อของตัวเอง พวกเขาต้องการให้อียิปต์ปกครองด้วยหลักการแห่งศาสนา เป็นต้นแบบแห่งรัฐอิสลามในภูมิภาคนี้
ช่วงเวลาก่อนติดคุก อัยมานเคยเดินทางไปปากีสถาน เพื่อทำงานหมอช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอัฟานิสถาน จากการรุกรานของสหภาพโซเวียต เขาได้พบกับนักรบมูจาฮีดินที่สู้เพื่อแผ่นดินโดยพร้อมสละชีพ และได้เห็นการส่งอาวุธช่วยเหลือคนอัฟกานิสถานโดยพวกอเมริกัน
แม้อัยมานจะรับรู้เรื่องนี้ แต่เขาก็มองว่าพวกอเมริกันก็เลวพอกับพวกโซเวียต
เมื่อถูกทรมานทั้งทางกายและจิตใจ มันทำให้อดีตนักโทษรู้แล้วว่า การจุดไฟปฏิวัติศาสนาในอียิปต์ไม่ใช่เรื่องง่าย ดินแดนที่มีแม่น้ำไนล์ไหลผ่าน ยากที่จะตั้งป้อมปราการสะสมอาวุธลับๆ ปราศจากการรู้เห็นของทางการได้ เป้าหมายของเขาคืออัฟกานิสถาน ดินแดนแห่งนี้ต่างหาก ที่จะทำให้การปฏิวัติแห่งศาสนาสำเร็จได้ จากนั้นค่อยส่งออกความเชื่อกลับไปยังอียิปต์อีกครั้ง
เบื้องลึกของอัยมาน มีคนพิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้ว การติดคุกถูกทรมานในคุกอียิปต์ ทำให้ชายหนุ่มขายเพื่อน บอกความลับเพื่อแลกกับการหยุดซ้อม นั่นทำให้เขาอับอาย และสูญเสียความน่าเชื่อถือจากเพื่อนร่วมคุกด้วยกันเอง แม้จะมีบารมี ทักษะทางการเมืองในการโน้มน้าวคน แต่อัยมานก็เสียใจกับเหตุการณ์ในเรือนจำ เขาต้องการสถานที่ชะล้างจิตใจตัวเอง
เริ่มแรกเขาลอบเดินทางออกจากอียิปต์ (เพราะทางการไม่อนุญาตให้เขาไปต่างประเทศได้ หลังออกจากคุก) โดยใช้หนังสือเดินทางปลอมไปตูนิเซีย ก่อนเดินทางไปทำงานคลินิกในซาอุดิอาระเบีย
ที่นั่นเขาได้พบกับโอซามา บินลาเดน
และฝันร้ายของโลกใบนี้ก็เกิดขึ้น
4.
บินลาเดนและอัล-ซาวาฮิรี เป็นคู่ที่เติมเต็มกันและกันได้อย่างลงตัวมาก ก่อนการพบกัน บินลาเดนให้ทุนคนอาหรับจากทั่วโลก ตั้งค่ายฝึกอาวุธ เพื่อเดินทางไปรบในอัฟกานิสถาน ตำนานความกล้าหาญในสงครามครั้งนั้นของบินลาเดนเป็นเรื่องตลก มีคนพบว่าเขาเป็นลม ขณะเข้าตีฐานทัพโซเวียต นักรบอัฟกานิสถานก็ส่ายหน้าให้กับกำลังอาหรับที่บินลาเดนจัดหามา
แถมพวกอาหรับที่อาสาไปรบก็เชื่อว่าถ้าตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ นั่นทำให้พวกเขาไม่มุ่งหวังทางยุทธวิธีทหารเท่าไรนัก สร้างความปวดหัวให้กับนักรบกู้ชาติอัฟกานิสถานเป็นอย่างมาก
แต่เจ้าความเชื่อสละชีพนี้ รวมถึงเงินทุน ค่ายฝึกคนของบินลาเดน มันได้เป็นเชื้อมูลอย่างดีของการเริ่มต้นองค์กรอัลกออิดะห์ในอนาคต
สำหรับอัล-ซาวาฮิรีนั้น เขาเปลี่ยนความคิด หลังวาดฝันว่าการก่อตั้งรัฐอิสลามจะต้องเสียเลือดเนื้อให้น้อยที่สุด ด้วยความเชื่อของพวกคลั่งศาสนาที่ตีความหลักคำสอนผิดๆ ก่อนหน้าเขา และการติดคุกทำให้อัล-ซาวาฮิรีหันไปรับความเชื่อสุดโต่งว่า คนที่ต่อต้านรัฐอิสลาม ต่อให้เป็นมุสลิมก็ต้องฆ่า หากขวางทางเดินไปสู่เป้าหมาย
ถึงจุดนี้ทั้งบินลาเดนและอัล-ซาวาฮิรีก็ร่วมอุดมการณ์สร้างฝันด้วยความรุนแรงขึ้นมาในที่สุด
ทั้งสองเคร่งศาสนา มาจากครอบครัวฐานะดี บินลาเดนมีอุดมการณ์แรงกล้า แต่ไม่มีทักษะการสร้างองค์กรหรือจัดระบบเหมือนอัล-ซาวาฮิรี แต่บินลาเดนมีเงินทุนไม่อั้น การเจอกันของทั้งสองจึงสานฝันสำคัญ การก่อตั้งมหาอาณาจักรมุสลิมในดินแดนตะวันออกกลาง ขับไล่อิสราเอล
ที่สำคัญคือทำลายการรุกรานของนักล่าอาณานิคมอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มาตั้งฐานทัพในซาอุดิอาระเบีย
เดิมทีบินลาเดนอาจจะยังไม่ได้มีแนวคิดนักปฏิวัติ แต่เพราะอัล-ซาวาฮิรีที่แก่กว่า 6 ปี ค่อยๆ เพาะบ่มแนวคิด จนสุดท้ายทั้งสองก็เริ่มก่อตั้งองค์กรอัลกออิดะห์ และเริ่มงานเขย่าโลกในที่สุด
ทั้งคู่เดินทางไปหลายที่ อัฟกานิสถาน ซูดาน ซาอุดิอาระเบีย ด้วยเงินทุนของบินลาเดน และมันสมองของอัล-ซาวาฮิรี นั่นทำให้พวกเขาดึงดูดคนหนุ่มที่คลั่งศาสนาจากทั่วทั้งโลก
อัล-ซาวาฮิรีวางแผนโจมตีอเมริกาในต่างแดน ทั้งในสงครามกลางเมืองโซมาเลีย การระเบิดสถานทูตในเคนยา การระเบิดเรือรบในเยเมน เขาสละชีพคนหนุ่ม เด็กให้สังเวยให้กับการก่อการร้าย เพื่อมุ่งมั่นขับไล่อเมริกา
และผลงานลือลั่นชิ้นสำคัญก็คือเหตุการณ์ 9/11
ตลอดเวลาที่อัล-ซาวาฮิรีกับบินลาเดนวางแผนผลักดันอัลกออิดะห์อยู่นั้น อเมริกาเองก็รับรู้ภัยนี้เรื่อยมา แต่พวกเขาไม่อาจยับยั้งได้ทัน เพราะการไม่เห็นด้วยในการทำงานระหว่างหน่วยข่าวกรองซีไอเอ กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเอฟบีไอ ฝ่ายหนึ่งต้องการเด็ดหัวนายใหญ่ โดยปะติดปะต่อจากคนตัวเล็กขยายไป ขณะที่เอฟบีไอ ต้องการจับกุมผู้เกี่ยวข้องนำตัวมาดำเนินคดีได้ทั้งหมด
ความขัดแย้งนี้นำไปสู่การปกปิดข้อมูลอย่างน่าเศร้า จนสุดท้ายเหตุการณ์ 9/11 จึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวด ดังที่นักข่าวที่เกาะติดเรื่องราวของกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางมายาวนาน ได้เขียนไว้อย่างน่าหดหู่ว่า
“9/11 เป็นสิ่งที่เราสามารถยับยั้งได้”
5.
อย่างไรก็ดี โลกหลังจากนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่บินลาเดน และอัล-ซาวาฮิรีคิด ทั้งสองคาดว่าถ้าอเมริกาถูกโจมตีอย่างหนักหน่วง ก็จะถอนตัวจากตะวันออกกลางไปเอง แต่มุมกลับที่ทั้งคู่อาจจะคิดน้อยไปก็คือ มันเปิดให้มหาอำนาจขยายอิทธิพลทางกองทัพเข้าไปในตะวันออกกลางมากกว่าเดิม กลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานถูกกวาดล้าง อิรักก็พลอยซวยไปด้วย ความผันผวนในตะวันออกกลางเกิดขึ้นไปทั่ว และมีคนตาย บาดเจ็บ สูญเสียตลอด 21 ปีที่ผ่านมา
สุดท้ายองค์กรอัลกออิดะห์ก็ปั่นป่วน บินลาเดนต้องหนีหัวซุกหัวซุน จนไปถูกยิงตายในบ้านพักที่ปากีสถาน ส่วนอัล-ซาวาฮิรี ยังมีทักษะหนีเก่งกว่า 21 ปี แต่สุดท้ายเขาก็มาถูกยิงตายที่บ้านพักในอัฟกานิสถานจนได้
ชาย 2 คนที่มีความฝัน และอุดมการณ์อย่างแรงกล้า ต้องการสร้างสังคมตามที่ใจคิด โดยไม่ได้คำนึงว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่สนคนอื่น ไม่สนผู้บริสุทธิ์ พวกเขามั่นใจว่าการสังเวยชีวิตผู้อื่น จะคุ้มค่าได้ตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ
แต่สุดท้ายชายฐานะดีสองคน ล้วนพบจุดจบอย่างอเนถอนาถ
อย่างไรก็ดีความตายของพวกเขา หาใช่บทสรุปแห่งจุดสิ้นสุดขององค์กรคลั่งศาสนาก่อการร้ายไม่ เพราะเมื่อไล่เรียงประวัติศาสตร์มา ก็คงจะเห็นภาพว่าสงครามที่ผู้ก่อการร้ายประกาศไว้เมื่อหลายปีก่อน จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างแน่นอน
เหมือนคำพูดของอัล-ซาวาฮิรีที่พูดไว้ที่ศาลขณะถูกขังในอียิปต์ว่า
“พวกเราไม่เสียใจในสิ่งที่ทำลงไปเพื่อศาสนา ต่อให้จะต้องเสียสละมากกว่านี้ พวกเราก็พร้อม”
ข้อมูลอ้างอิง
-
https://www.newyorker.com/magazine/2002/09/16/the-man-behind-bin-laden
-
https://www.newyorker.com/books/double-take/the-death-of-ayman-al-zawahiri
-
https://www.newyorker.com/news/daily-comment/ayman-al-zawahiri-and-the-taliban
-
หนังสือ The Looming Tower: Al Qaeda and the Road to 9/11 โดย Lawrence Wright